การพัฒนาครูเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง สำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 โดยใช้ชุดฝึกอบรมครู


การพัฒนาครูเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง

ชื่อผลงาน  การพัฒนาครูเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง  สำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
                 ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25
                 โดยใช้ชุดฝึกอบรมครู 

ผู้ศึกษา      นายภาณุพงศ์ แสงดี

ปีที่พิมพ์     มิถุนายน  2555

บทคัดย่อ

             การวิจัยเรื่องการพัฒนาครูเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง  สำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 โดยใช้ชุดฝึกอบรมครู  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจของครู ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริง  ศึกษาความสามารถของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมในการนำความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงไปใช้พัฒนาผู้เรียนในชั้นเรียน ศึกษาความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรม  ที่มีต่อความเหมาะสมของกระบวนการฝึกอบรม ศึกษาความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริง  ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการประเมินตามสภาพจริง  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ  ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่  การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25  จำนวน  33  คน  ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน  33  คนและนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ใน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีครูกลุ่มตัวอย่าง  จำนวน  180  คน  ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมในการพัฒนาครู คือชุดฝึกอบรมครูเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง  สำหรับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ขั้นตอนการดำเนินการพัฒนาใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research)  เป็นกระบวนการประกอบด้วย  4  ขั้นตอน คือ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติการ (Action)  การสังเกตการณ์  (Observation)  และขั้นสะท้อนผล(Reflection)  และการวิจัยครั้งนี้ดำเนินการกับกลุ่มตัวอย่างตลอดปีการศึกษา 2554  การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลายในการวิจัยครั้งนี้  ได้แก่  แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับการประเมินสภาพจริง  แบบประเมินความสามารถของครูเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง  แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อกระบวนการฝึกอบรมการประเมินตามสภาพจริง  แบบสอบถามความคิดเห็นของครูต่อการประเมินตามสภาพจริงและแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ของครูเกี่ยวกับการประเมินตามสภาพจริง การรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพโดยสรุปประเด็นจากแบบสัมภาษณ์  นำเสนอผลงานและ  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างการประชุมสัมมนาและใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา  (Content Analysis) ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้คอมพิวเตอร์เพื่อหาค่าสถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย  ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) ค่าร้อยละและข้อมูลเชิงคุณภาพ  วิเคราะห์โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิจัยพบว่า

         1.  ความรู้ความเข้าใจของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการประเมินตามสภาพจริง โดยภาพรวมพบว่า  ครูมีคะแนนรวมทดสอบหลังการอบรม  1015  คะแนน  เฉลี่ยเท่ากับ  25.37 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 84.58 มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.01  แตกต่างและสูงขึ้นมากกว่าคะแนนก่อนการอบรม  มีคะแนนพัฒนาการรวม 604  คะแนน คิดเป็นร้อยละ 50.33

         2.  ผลการประเมินความสามารถของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมในการนำความรู้เรื่องการประเมินตามสภาพจริงไปใช้พัฒนาผู้เรียนในชั้นเรียน

                  2.1  จากคะแนนการปฏิบัติโดยภาพรวมพบว่า  ผลการประเมินครูด้านการปฏิบัติงานการประเมินตามสภาพจริงในชั้นเรียนครูมีการปฏิบัติอยู่ในระดับคุณภาพระดับดี  ทุกรายการ

                  2.2  ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการวิเคราะห์เนื้อหาจากบันทึกประจำวัน บันทึกสะท้อนตนเองและบันทึกหลังการสอน พร้อมผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา  และนักเรียนเพื่อประเมินครูด้านการปฏิบัติงานการประเมินตามสภาพจริงในชั้นเรียน  สรุปได้ดังนี้

                        2.2.1  วิเคราะห์ความสามารถของครูในการนำเครื่องมือประเมินผลไปใช้ในชั้นเรียนจากข้อความในบันทึกประจำวัน  บันทึกสะท้อนตนเองและบันทึกหลังการสอน  สรุปได้ว่า 

                                  1)  ความรู้ที่ครูได้รับจากวิทยากรและจากผู้วิจัย  ครอบคลุมเนื้อหาที่ปรากฏในชุดฝึกอบรม

                                  2) การนำไปใช้ในชั้นเรียน สรุปได้ว่าครูทุกคนคาดหวังว่าจะสามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนได้และบางคนจะนำไปบูรณาการกับสาขาวิชาอื่น ๆ

                                 3) ความมั่นใจ สรุปได้ว่าครูทุกคนมั่นใจว่าจะนำความรู้เรื่องการประเมินที่ได้รับไปใช้ได้จริง แต่ครูร้อยละ 50 มีความเห็นว่าอาจจะไม่ดีเท่าที่ควรหรือไม่สามารถดำเนินงานได้ครบทุกขั้นตอน

                                 4)  ความสนใจ สรุปได้ว่าครูร้อยละ 80 สนใจการบรรยาย เรื่องการประเมินผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยวิทยากร  เพราะเห็นตัวอย่างในการประเมินชัดเจนและให้ความสนใจในเรื่องการวิเคราะห์สิ่งที่ต้องประเมินจากมาตรฐานการเรียนรู้และการสร้างเกณฑ์  การประเมินผล

                                 5) ความรู้สึกของการทำงานเป็นทีม สรุปได้ว่ารู้สึกดี สนุก ไม่เครียด ได้แลกเปลี่ยนความรู้มีหลากหลายทางความคิดช่วยให้ได้ข้อยุติที่ดี เพื่อให้ข้อคิด เกิดความมั่นใจเพราะเพื่อนให้ความร่วมมือในกิจกรรมดี รู้สึกสบายใจมากขึ้นว่าเพื่อนผู้ร่วมกลุ่ม  พบปัญหาในการประเมินลักษณะใกล้เคียงกัน

                                 6) ปัญหาและอุปสรรคที่พบ สรุปได้ว่าครูรู้สึกว่าตนเองขาดทักษะการสอนวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ได้จบสาขาวิทยาศาสตร์ เวลาไม่พอเพราะครูมีงานสอนมาก นักเรียนมีจำนวนมาก การสร้างเกณฑ์การประเมินต้องใช้เวลานาน กลัวว่าทฤษฏีที่ได้รับเมื่อนำไปใช้แล้ว จะได้ผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

                                 7) ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีข้อเสนอแนะว่า  บรรยากาศการฝึกอบรมอบอุ่น เป็นกันเองทั้งผู้เข้ารับการฝึกอบรมและผู้ให้การฝึกอบรม  ควรมีตัวอย่างการประเมินผลตามสภาพจริงหลายๆตัวอย่าง ควรมีการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ทุกเรื่องรวมไว้เป็นเล่มเพื่อใช้ประโยชน์แก่ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ ควรสร้างเครื่องมือประเมินที่ได้มาตรฐานให้ครูนำไปใช้ ครูทุกคนในโรงเรียนควรมีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมแบบนี้  วิทยากรและเพื่อนวิทยากรให้ความรู้ได้ชัดเจนดี  ควรมีการติดตามผลการฝึกอบรมเพื่อกระตุ้นให้ครูนำไปใช้  ควรมีการฝึกอบรมเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ  และให้มีการจัดฝึกอบรมการทำเครื่องมือประเมินอย่างชัดเจน

                               8)  จากการวิเคราะห์บันทึกประจำวันที่ผู้วิจัยไม่ได้กำหนดกรอบการบันทึกพบว่าครูส่วนใหญ่จะบันทึกเกี่ยวกับบรรยากาศการเรียนการสอนในชั้นเรียนและปัญหาที่พบ เช่นด้านผู้เรียน โดยครูใช้การสังเกตพฤติกรรม พบว่า นักเรียนให้ความสนใจร่วมกิจกรรมการทดลอง (แสง น้ำ ฟ้า ดวงดาวและสารเคมี) นักเรียนช่างสังเกต และร่วมกิจกรรมกลุ่มมากขึ้น นักเรียนยังขาดทักษะพื้นฐาน ต้องปรับปรุงแผนการสอน นักเรียนร่วมอภิปรายน้อย เพราะสนใจการทดลองมากกว่า นักเรียนบางกลุ่มสรุปผลไม่ได้ ครูเสนอแนะว่า ควรมีการให้นักเรียนทดลองและสรุปผลทีละคน นักเรียนยังออกแบบการทดลองไม่ได้ ผลงานนักเรียนยังไม่ดีเท่าที่ควร  ปัญหาเรื่องเวลา เช่น การประเมินผลไม่ครอบคลุมทุกเรื่องเพราะเวลาจำกัดและไม่มีเวลาเตรียมการสอน

                              9)  บันทึกสะท้อนตนเอง จากการวิเคราะห์สรุปได้ว่าภาระงานประเมิน  ครูร้อยละ 70 เห็นว่าควรนำมาใช้อีก ร้อยละ 30 เห็นว่าต้องนำมาใช้และครูทุกคนเห็นว่าการประเมินด้วยภาระงานมีข้อดีมากกว่าข้อจำกัด เช่น ช่วยให้การวัดผลประเมินผลชัดเจนขึ้นนักเรียนมีส่วนร่วมสามารถวัดความคิดขั้นสูงของผู้เรียนได้  เป็นปัญหาที่เลียนแบบธรรมชาติ ครูได้พบข้อบกพร่องเพื่อพัฒนาผู้เรียน ข้อจำกัดที่พบอยู่บ้างคือมีความยุ่งยากในการสร้างเกณฑ์การประเมิน  นักเรียนที่อ่านและเขียนไม่คล่องจะเบื่อไม่เหมาะกับนักเรียนที่ไม่เอาใจใส่ในการเรียน

                            10) บันทึกหลังการสอน  จากการวิเคราะห์บันทึกหลังการสอนโดยครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือ ผลการจัดการเรียนรู้ ปัญหา/อุปสรรคและข้อเสนอแนะพร้อมแนวทางแก้ไข  สรุปได้ว่าครูมีการวัดและประเมินผลผู้เรียนทั้งก่อนสอน ระหว่างสอนและหลังสอน ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายตามแผนการประเมินที่ระบุไว้ โดยเฉพาะภาระงาน นอกจากนั้นมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างใกล้ชิดทุกระยะ

                   2.2.2  ผลการสัมมนาและจัดนิทรรศการ สรุปได้ว่า ครูสามารถนำเครื่องมือประเมินผลไปใช้ในชั้นเรียนได้ตามแผนการประเมินที่วางไว้ โดยกลุ่มครูในแต่ละศูนย์เครือข่ายร่วมกันประเมินว่าสามารถดำเนินงานตามแผนได้ประมาณร้อยละ 80  ทั้งนี้ในส่วนที่ไม่สามารถดำเนินงานตามแผนได้นั้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ทั้งที่ตัวครู เครื่องมือประเมิน และตัวนักเรียน เช่น ครูขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องที่จะประเมิน ครูสอนหลายวิชา เกณฑ์ประเมินยุ่งยากซับซ้อน ครูและนักเรียนยังไม่คุ้นเคยในการใช้เครื่องมือประเมิน ต้องใช้เวลามากในการสร้างเกณฑ์การประเมิน  มีกิจกรรมโรงเรียนมาก ประเมินได้ไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด  ผู้เรียนขาดความรับผิดชอบในการประเมินความพร้อมของผู้เรียน นักเรียนบางคนไม่กล้าแสดงออก และเมื่อตรวจแผนการจัดการเรียนรู้และภาระงานประเมินของครู พบว่า การประเมินผลของครูมีการประเมินตามสภาพจริงครบถ้วนตามภาระงานที่ตั้งไว้

            3.  ผลการประเมินความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อความเหมาะสมของกระบวนการฝึกอบรมมีค่าเท่ากับ 4.71 มีความเหมาะสมของกระบวนการฝึกอบรมอยู่ในระดับมากที่สุด 

            4.  ผลการประเมินความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีต่อการประเมิน ตามสภาพจริงมีระดับความคิดเห็นหรือความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ทุกประเด็น

            5.  ผลการประเมินความคิดเห็นของนักเรียนต่อการประเมินตามสภาพจริงโดยภาพรวมมีค่าเท่ากับ  3.67 มีความคิดเห็นหรือความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก


หมายเลขบันทึก: 516272เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2013 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2013 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท