การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End of Life Care)


ผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าสภาวะของการป่วยไข้เป็นระยะลุกลาม เรื้อรัง หรือเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งไม่มีวิธีรักษาให้หายได้

         จากการฟังบรรยายเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End of Life Care) จากอาจารย์รัชณีย์ ป้อมทอง                        ณ ห้องAuditorium คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2556 เวลา 13.00-15.00น. ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจถึงความตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติื แต่การตายโดยธรรมชาติเป็นเรื่องยากและมีโอกาสเป็นได้น้อย การตายตามธรรมชาติ คือการตายดี เป็นการจากไปอย่างสงบ การตายที่ปลอดจากความทุกข์ทรมาน

         การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ต้องอาศัยการทำงานของสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และบุคลากรด้านการแพทย์อื่นๆ โดยดูแลแบบองค์รวม(Holistic care) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมานต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยให้เสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด

         การดูแลแบบประคับประคอง(Palliative care) คือการดูแลผู้ป่วยโรครุนแรง และอาจคุกคามต่อชีวิต โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพทุกมิติทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ เป็นการดูแลเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ไม่เร่งหรือเหนี่ยวรั้งการเสียชีวิต การดำเนินชีวิตและความตายเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มป่วย


จาการฟังบรรยายสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการให้บริการทางกิจกรรมบำบัด ดังนี้

บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

- ให้ข้อมูลผลกระทบจากโรค และวิธีการบำบัดฟื้นฟูด้วยข้อมูลที่แท้จริง เพื่อให้ผู้ป่วยรับรู้สภาพร่างกายของตนเอง(Self-identity) และเกิดการยอมรับว่าการเสียชีวิตเป็นเรื่องธรรมชาติ
เทคนิควิธีการกระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมทำกิจกรรม เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่า มีความสามารถ มีความภาคภูมิใจ มีความหมาย และมีความเป็นอิสระในตนเอง
- ด้านร่างกาย ส่งเสริมให้ผู้รับบริการดูแลตนเอง(Self-care) ตามความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ โดยให้พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด ส่งเสริมเรื่องการออกกำลังกายแบบเบา เช่นการยกแขนขึ้นลงประกอบเพลง
- ด้านจิตใจ การให้กำลังใจที่ดีที่สุดในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือการรับฟังผู้ป่วยอย่างตั้งใจ โดยเปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึกออกมา จัดกิจกรรมที่ผู้ป่วยสนใจเพื่อกระตุ้นแรงจูงใจในการทำิกิจกรรม และส่งเสริมSelf-esteem
- ด้านจิตวิญญาณ บริบทด้านศาสนาเป็นปัจจัยด้านบุคคลที่สำคัญ ควรสนับสนุนและอำนวยความสะดวกตามความต้องการด้านความเชื่อและพิธีทางศาสนา เช่นศาสนาพุทธ จัดให้มีวิทยุเทปบทสวดมนต์ การอ่านหนังสือธรรมะ  ศาสนาคริสต์จัดบทสวด สายประคำ และมีนักบวชมาเยี่ยมบรรเทาใจผู้ป่วยและญาติ
- การตั้งเป้าหมายการบริการทางกิจกรรมบำบัดและการวางแผนก่อนการเสียชีวิตร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว (เน้นClient Center)
-  ประเมินว่า ผู้สูงอายุต้องการอะไรในระยะสุดท้าย อยากสื่อสารความรักและความเห็นอกเห็นใจกับญาติอย่างไร
- การส่งเสริมการยอมรับการเสียชีวิตโดยไม่วิตกกังวล เช่นส่งเสริมการเรียนรู้ความหมายของการเสียชีวิตและช่วยให้ยอมรับการเสียชีวิตที่จะมาถึง การกระตุ้นให้ผู้ป่วยระลึกถึงความดีที่ได้กระทำมาแล้ว และจิตใจจดจ่อต่อสิ่งที่ดีงาม การสื่อสารเรื่อง “มรณสติ” เพื่อพิจารณาความตายอย่างสม่ำเสมอ เตือนตนเองให้ทำความคุ้นเคยกับความตายของผู้อื่น แล้วเชื่อมโยงกับชีวิตที่กำลังจะตายอย่างสงบสุขของตนเอง
แนะนำญาติทำกิจกรรมที่มีคุณค่า เช่น คุยสิ่งที่ประทับใจในตัวผู้สูงอายุ อาบน้ำเช็ดตัวให้ผู้สูงอายุ หาของทำบุญหรือทำพิธีกรรมทางศาสนา ปรับสภาพอาหารที่ชอบ จัดเหตุการณ์และกิจกรรมเบี่ยงเบนความคิดหมกมุ่นกับโรคและความตาย
- การให้กำลังใจครอบครัวของผู้ป่วย
- กิจกรรมผ่อนคลาย เทคนิคการจัดการความเครียดและความเหนื่อยล้า
- ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับวิถีการดำเนินชีวิต
- การประเมินFACIT-Sp เพื่อประเมินความเป็นอยู่ที่ดีในการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเรื้อรัง

กรอบอ้างอิง Psychospiritual Integration Frame of Reference(Kang, 2003) เป็นกรอบอ้างอิงที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

                                    

  1. Becoming การรับรู้ตนเองทั้งสภาพร่างกาย อารมณ์ จิตใจและจิตวิญญาณ รับรู้โรคที่ตนเองเป็นอยู่
  2. Meaning การส่งเสริมการให้คุณค่าและความหมายในชีวิต นักกิจกรรมบำบัดบำบัดฟื้นฟูผ่านกิจกรรมที่มีความหมาย เหมาะสมกับบริบทและผู้ป่วยสนใจทำกิจกรรม รวมถึงการวางแผนการดำเนินชีวิตในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างมีความสุข
  3. Centredness การมีคุณค่าและมีความสุข การระลึกถึงการกระทำที่มีความสุข การทำดี ช่วยเหลือผู้อื่น การทำบุญ นึกถึงคุณงามความดีของตนเอง
  4. Connectedness การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและบริบทต่างๆ เช่นSociety(สังคม) Culture(วัฒนธรรม) Ecology(นิเวศวิทยา) Cosmos(จักรวาล) เช่นการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย
  5. Transcendence นิพพานหรือความสุขที่สูงสุดในชีวิต เช่นการมีความเป็นอยู่ที่ดี การตายโดยธรรมชาติ การจากไปอย่างสงบ การระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเสียชีวิต

ชีวิตของมนุษย์นั้นสั้นนัก การได้เกิดมาบนโลกใบนี้ไม่ใช่เป็นการชดใช้กรรม แต่เกิดมาเพื่อสร้างความดีให้กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ จงใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันเพื่ออนาคตที่ดี และนำอดีตมาเป็นบทเรียนของปัจจุบันเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม ไม่มีบุคคลใดในโลกนี้ที่สามารถหลุดพ้นความตายไปได้ ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนอนิจจัง

หมายเลขบันทึก: 516178เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2013 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2013 01:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท