กิจกรรมบำบัดในผู้ใหญ่ Vs. ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางจิตสังคม


จากบันทึกก่อนหน้านี้ ที่ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับ "บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในการให้การดูแลรักษาเด็กและวัยรุ่นที่มีความบกพร่องทางจิตสังคม" ไปแล้ว บันทึกนี้จะเป็นความแตกต่างของวัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางจิตสังคมบ้าง ผู้ที่เข้าข่ายในกลุ่มนี้อาจมีอาการต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็ก ได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือการถูกทิ้งให้อยู่ลำพังในผู้สูงอายุ เป็นต้น


จะมีกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดที่เหมือนกันในเด็กและวัยรุ่น ได้แก่

  • การรวบรวมข้อมูล สามารถค้นหาข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ผู้รับบริการ ญาติหรือผู้ดูแล  หรือการอ่านข้อมูลจากแฟ้มประวัติ รวมทั้งจากการประเมินทางกิจกรรมบำบัด 
  • การแปลผลข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงปัญหาต่างๆ
  • การกำหนดเป้าหมาย
  • วางแผนการรักษาว่าจะใช้วิธีการรักษาแบบใด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
  • การให้การรักษา โดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ คือ ตัวผู้รับบริการ การเลือกใช้กิจกรรมที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วให้เหมาะสม รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นปัจจัยที่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรม
  • การประเมินซ้ำ เพื่อดูผล การเปลี่ยนแปลง ให้สามารถปรับ/เปลี่ยนกิจกรรมตามความเหมาะสม

สิ่งที่แตกต่าง คือ

วัยผู้ใหญ่ - งานด้านกิจกรรมบำบัดสามารถเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการบำบัดรักษาอาการ ฟื้นฟูทักษะต่างๆที่จำเป็น เช่น การดูแลตนเอง ทักษะทางสังคม เน้นทักษะในการทำงาน เตรียมความพร้อมเพื่อการกลับไปประกอบอาชีพ เนื่องจากวัยผู้ใหญ่ยังเป็นวัยที่ต้องมีการทำงาน(work)เพื่อหาเลี้ยงตนเองหรือเลี้ยงครอบครัวและยังมีกำลังแรงที่จะสามารถประกอบกิจกรรมต่างๆได้ และต้องกลับไปใช้ชีวิตในสังคมชุมชนตามเดิม คนในชุมชนให้การยอมรับ จัดกิจกรรมกลุ่มส่งเสริมทักษะต่างๆ รวมถึงการเป็นผู้คอยให้คำปรึกษา


วัยผู้สูงอายุ - เนื่องด้วยความเสื่อมถอยของระบบต่างๆในร่างกาย รวมทั้งภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางจิตสังคมเกิดการลดบทบาทของตัวเองลง ค่อยๆถอนตัวเองออกจากการทำกิจกรรมต่างๆที่เคยทำ คิดว่าตนเองไร้ค่า เป็นภาระของผู้อื่น ความมั่นใจในตนเองลดลง ทำให้ไม่อยากเข้าสังคม นักกิจกรรมบำบัดใช้การวิเคราะห์ ปรับ/ประยุกต์กิจกรรมให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดและเน้นการมีส่วนร่วมโดยกิจกรรมต้องเป็นกิจกรรมที่ผู้รับบริการสนใจ มีคุณค่าและมีความหมาย 


นอกจากนี้นักกิจกรรมบำบัดยังสามารถส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันความบกพร่องของทักษะทางจิตสังคมในบุคคลทั่วไปได้อีกด้วย อาจเป็นที่ปรึกษาหรือวางโปรแกรมกิจกรรม เช่น แนะนำเทคนิคการจัดการความเครียด การเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุ การจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน เป็นต้น


นางสาวจันทร์จิรา  แสงสินธุ์

หมายเลขบันทึก: 516176เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2013 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2013 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ูมีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คุณพ่อ นักร้องชื่อดัง ติ๊ก อะไรนี่ ท่านบอกว่า "ให้หมั่นออกจากบ้าน คบเพื่อนต่างวัย" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท