จาก บุนคูณลานกลายมาเป็น ,บุนกุ้มข้าวใหญ่ ที่มา- พิธีกรรม ความเปลี่ยนแปลงกับการ ประยุกต์ใช้ฮีตสิบสองให้เหมาะสบกับยุคปัจจุบัน


สาเหตุที่ทำบุญคูนลานหรือบุญคูณข้าวนั้น เนื่องมาจากเจ้าของนาต้องการให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ที่นาและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำนา

บุนคูนลาน” (บุญคูณลาน) หรือ บุญคูนเข่า” (บุญคูณข้าว)  ก็เรียกเป็น ฮีดประจำเดือนยี่จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า บุญเดือนยี่มูลเหตุที่ทำพิธีมีนิทานเล่าว่า สมัยสศาสนาของพระกัสสปะมีพี่น้องสองคนน้องชายเป็นคนใจบุญชวนพี่ชายทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ ส่วนพี่ชายมีใจคับแคบไม่ชอบทำบุญทำทานจึงปฏิเสธ  ต่อมาพี่น้องคู่นี้ เลยแบ่งที่นากันคนละครึ่ง ฝ่ายน้องเมื่อทำนาเสร็จในแต่ละขั้นตอน ก็ทำบุญถวายทานพระสงฆ์ทุกครั้ง เช่น พอรวงข้าวแก่พอทำข้าวเม่าก็ทำข้าวเม่าถวายพระสงฆ์เวลาจะลงมือเกี่ยวข้าว เวลากองลอม ข้าวเสร็จเวลาจะขนข้าวเปลือก จากลานขึ้นไปเก็บในยุ้งฉาง จะทำบุญถวายทานพระสงฆ์โดยตั้งปณิธานให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พอถึงยุคพระพุทธศาสนาพระสมณะโคดม จึงเกิดเป็นโกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้เป็นปฐมสาวกของพระพุทธเจ้าและเป็นพระอรหันต์ องค์แรกของศาสนาพุทธชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะส่วนผู้พี่ชาย เมื่อทำนาเสร็จจนเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งขึ้นฉางเสร็จ จึงทำบุญทำทาน ครั้งเดียวก็ได้มาเกิดเป็น สุภัททปริพาชกในสมัยศาสนา พระสมณโคดมและได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้าย ซึ่งเป็นสาวกทันตาเห็น ของพระพุทธเจ้า

อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำบุญคูนลานหรือบุญคูณข้าวนั้น เนื่องมาจากเจ้าของนาต้องการให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ที่นาและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำนา มีควายและวัวตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ไถนา เช่น ไถ คราด เคียว แอกน้อย แอกใหญ่ วี ไม้ตีข้าว กระบุง กระด้ง ฯลฯ นอกจากนี้เจ้าของนาเองก็เกิดปิติที่ได้เห็นข้าวเปลือกกองโตเรียกว่า กุ้มเข่าใหย่” (กองข้าวเปลือกกองใหญ่) หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอดปี ซึ่งเป็นผลิตผลที่ได้จากนาจึงอยากเห็นในปีต่อไปให้กองข้าวเปลือกที่นวดหรือตีจากลอมข้าว ให้เพิ่มมากขึ้นสูงใหญ่ขึ้นเป็นทวีคูณจึงได้ทำพิธี ทำบุนคูณลานหรือ บุนคูณเข่าเพราะคำว่า คูณนี้มาจาก ค้ำคูณหมายถึง อุดหนุนให้ดีขึ้น ช่วยให้เจริญขึ้น ซึ่งเดิมบุญคูณลาน น่าจะมาจาก บุญค้ำคูณเข่าก็กร่อนมาเป็น บุนคูณเข่าเช่นกัน ดังนั้น ฮีดที่ ๒ จึงชื่อว่า บุนคูณเข่าหรือ บุนคูณลาน

 

พิธีกรรม

ผู้ประสงค์จะทำบุนคูณเข่าหรือบุนคูณลาน ต้องจัดสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตนนั้นเอง โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ มีการวางด้ายสายสิญจน์รอบกุ้มข้าว (กองข้าวเปลือกที่นวดแล้ว) เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์

จากนั้น นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงญาติพี่น้องผู้มาร่วมทำบุญ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ลอมข้าว ให้เจ้าภาพทุกคนที่มาร่วมทำบุญเสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัวควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล และเชื่อว่าผลของการทำบุญจะช่วยเกื้อหนุนเพิ่มพูนให้ข้าวมากขึ้นทุกๆ ปี เป็นการคูณให้ใหญ่ขึ้นและคูณให้สูงขึ้น

ในปัจจุบันนี้ บุนคูณเข่าหรือ บุนคูณลานค่อยๆเลือนลางและจะหายไปในที่สุด เพราะไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติปฏิบัติกันประกอบกับในทุกวันนี้ ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน ซึ่งปัจจุบันเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จและมัดเป็นฟ่อนๆแล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งของที่นา โดยไม่ต้องมีลานนวดข้าว จากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงบรรจุในกระสอบป่านเลยและที่ทันสมัยยิ่งกว่านี้คือ ใช้รถเกี่ยวข้าว ลุยลงไปเกี่ยวข้าวในท้องนาเลย จากนั้นรถก็จะปั่นฟางข้าวออกไปทาง และแยกเมล็ดข้าวเปลือกบรรจุใส่กระสอบให้เสร็จ

แต่ก็ยังดีในปัจจุบันในบางหมู่บ้านหรือบางตำบลและบางแห่ง รวมทั้งอำเภอ ให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน เป็น กุ่มข้าวใหย่” (กุ้มข้าวใหญ่) แล้วทำบุญร่วมกัน เรียกว่า บุนกุ้มข้าวใหญ่  แทนการทำบุนคูณลานหรือบุนคูณเข่าซึ่งให้ชาวบ้านทุกครัวเรือน นำข้าวเปลือกของตนมากองรวมกัน ณ สถานที่นัดหมายตอนเย็น มีการเจริญพระพุทธมนต์รับศีล และฟังพระธรรมเทศนา ตอนกลางคืนมีมหรสพพอตอนเช้าวันรุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ถวายข้าวเปลือกแล้วรับพร

 

การทำบุนกุ้มข้าวใหญ่ ถือว่าได้ทำบุญได้กุศลมากประกอบกับทุกวันนี้ ไม่มีลานนวดข้าวเพราะใช้รถสีข้าวกันทั้งนั้น ชาวบ้านจึงนิยมทำบุญ กุ้มข้าวใหญ่แทน บุญคูณลานนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ฮีตสิบสองให้เหมาะสบกับกาลสมัย

 

 

**

 

หมายเหตุ  ฮีตสิบสอง มาจากคำ 2 คำ คือ ฮีต กับ  สิบสอง

ฮีต  มาจากคำว่าจารีต ซึ่งหมายถึง สิ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน เรียกว่า จารีต หรือ ฮิต

 

สิบสอง หมายถึง เดือนทั้ง 12 เดือน ในหนึ่งปี

 

ฮิต สิบสอง จึงหมายถึง ประเพณีที่ประชาชนชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปี

 

ประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมานั้นล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสมานสามัคคีมีความรักใคร่กันของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน

 

บันทึกนี้ เป็นการรวมประเพณีขอภาคอีสานสิบสองเดือน ต้องการที่จะให้ผู้สนใจแลเห็นคุณค่าของประเพณีงานบุญ ของภูมิปัญญาอีสาน นอกจากฮิตสิบสองหรือประเพณี 12 เดือนของชาวอีสานแล้ว ยังมีงานบุญอีกมากมายที่น่าศึกษา  ทำไมชาวอีสานจึงมีนิสัยอ่อนโยน รักสงบ เกื้อหนุน ซึ่งกันและกัน ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ มีความเป็นเครือญาติกันสูงมาก พิธีบุญ ความเชื่อ และประเพณีต่างๆ คือ เป้าหลอมกรอบคิดให้ชาวอีสาน มีอัตลักษณ์ดังกล่าว

 


ประสาน กำจรเมนุกูล

รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์

ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกาฬสินธุ์

(ผู้เรียบเรียงข้อมูล)

 


 

หมายเลขบันทึก: 51556เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2006 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท