Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนวคิดพื้นฐานในการสร้างองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในประชาคมอาเซียนเพื่อแสดงมุทิตาจิตต่อศ.คนึง ฦๅไชย


การพัฒนานักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Lawyers) ย่อมหมายถึงการพัฒนาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law) ดังนั้น การสัมมนาครั้งจึงทำขึ้นภายใต้แนวคิดที่จะสร้าง “พื้นที่วิชาการ” ระหว่างนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ทำงานสอนและวิจัยในมหาวิทยาลัย และที่ทำงานด้านปฏิบัตินอกมหาวิทยาลัย


แนวคิดพื้นฐานของการจัดวิชาการรำลึก TU Law Conference ปาฐกถานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 

ชุด ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชย เรื่อง“ภารกิจของนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประชาคมอาเซียน”

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖

----------------------------------------------------------------

                ด้วยดิฉันได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการเพื่อจัดทำโครงการวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (ห้อง LT.๑) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และงานวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงคุณูปการในทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชย ที่มีต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 หัวข้อของสัมมนาครั้งนี้ ก็คือ “ภารกิจของนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประชาคมอาเซียน” ทั้งนี้ เพราะท่านศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย มีความตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องพัฒนานักกฎหมายด้านนี้เพื่อทำงานในสังคมไทยซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับสังคมอาเซียนและสังคมโลกมากขึ้น โดยความมีผลของกฎบัตรอาเซียนตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ อันทำให้เกิด “พื้นที่ระหว่างประเทศที่ชัดเจนและง่ายต่อการเข้าถึงสำหรับเอกชน” มากขึ้น ทั้งในระหว่าง ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกลุ่มประเทศที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและแนบชิดมากขึ้นภายใต้กรอบของ “เพื่อนอาเซียน (Friends of ASEAN)”

                  การพัฒนานักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Lawyers) ย่อมหมายถึงการพัฒนาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law) ดังนั้น การสัมมนาครั้งจึงทำขึ้นภายใต้แนวคิดที่จะสร้าง “พื้นที่วิชาการ” ระหว่างนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ทำงานสอนและวิจัยในมหาวิทยาลัย และที่ทำงานด้านปฏิบัตินอกมหาวิทยาลัย ซึ่งการทำงานความคิดของนักวิชาการดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นใน ๒ ทิศทาง ดังต่อไปนี้

                   ทิศทางแรก ก็คือ การทำงานของนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ “ที่ทำงานสอนและวิจัยในมหาวิทยาลัย” จะทำหน้าที่ทบทวนองค์ความรู้ที่สอนอยู่ในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลตามแนวสังเขปลักษณะวิชาที่กำหนดในหลักสูตรที่กำหนดในทางปฏิบัติของมหาวิทยาลัยไทย

                   ซึ่งก็มีอยู่ ๔ หัวข้อหลัก ก็คือ (๑.) การจัดการเอกชนระหว่างประเทศ (๒.) สถานภาพทางกฎหมายของเอกชน (๓.) การขัดกันแห่งกฎหมาย และ (๔.) การขัดกันแห่งอำนาจศาล โดยคณาจารย์ซึ่งทำหน้าที่สอนวิชานี้อยู่จริง ๔ ท่าน[1]ได้ทำหน้าที่ทบทวนความคิด และจะเขียนออกมาเป็นเอกสารวิชาการประมาณ ๕ หน้า เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะถึง “ภารกิจของนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประชาคมอาเซียน” เราคาดคิดว่า ข้อวิเคราะห์และข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเริ่มปรากฏเพื่อชักชวนแวดวงวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศที่จะทบทวนความคิดประเด็นนี้ในราววันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ และเราคาดคิดต่อไปว่า บรรยากาศทางความคิดที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลให้เหมาะสมที่จะสร้างนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีศักยภาพที่จะทำงานได้จริงในประชาคมระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นจากกฎบัตรอาเซียน เราย่อมตระหนักว่า กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลเป็นวิชากฎหมายระหว่างประเทศที่มุ่งกำหนดสิทธิหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งในวันนี้ กฎบัตรอาเซียนเรียกเอกชนนี้ว่า “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People)” ด้วยการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่เหมาะสม ประชาชนอาเซียนก็น่าจะมีศักยภาพที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในบริบทของสังคมระหว่างประเทศที่ก่อตั้งโดยกฎบัตรอาเซียน และสนับสนุนเสรีภาพในการเคลื่อนไหวโดยความตกลงก่อตั้งองค์การการค้าโลกและความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ

                  ทิศทางที่สอง ก็คือ การทำงานของนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ “ที่ปฏิบัติงานนอกมหาวิทยาลัย” ซึ่งอาจเข้าร่วมทบทวนองค์ความรู้ด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลใช้อยู่ในชีวิตจริง

                   ท่านเหล่านี้น่าจะตระหนักในข้อเด่นข้อด้อยขององค์ความรู้ที่สอนและวิจัยในมหาวิทยาลัย และทำหน้าที่เป็น “กระจกสังคม” เพื่อสะท้อนภารกิจของการศึกษาวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่เป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย  และอาจทำหน้าที่ “เข็มทิศทางสังคม” เพื่อเสนอแนะทิศทางการศึกษาวิชาการด้านนี้สำหรับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ดิฉันจึงขอเชิญชวนเหล่านักวิชาการสายปฏิบัติให้ร่วมทบทวนความคิด โดยเขียนออกมาเป็นเอกสารวิชาการประมาณ ๕ หน้า เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะถึง “ภารกิจของนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในประชาคมอาเซียน” เช่นกัน ซึ่งอาจทำขึ้นเลย หรือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่านักวิชาการในมหาวิทยาลัยซึ่งกำลังเขียนงานและจะเผยแพร่ในไม่ช้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสายปฏิบัตินี้ได้รับเชิญให้เข้าร่วมทบทวนความคิดของในการสัมมนา และจะมีการบันทึกความคิดของท่านเหล่านี้เพื่อจัดทำเป็นเอกสารวิชาการเผยแพร่ต่อไป งานความคิดในทิศทางที่สองนี้จะทำให้เกิด “องค์ความรู้ด้านปฏิบัติในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล” และสร้างบรรยากาศวิชาด้านนี้นอกมหาวิทยาลัย

                 ดังเราจะตระหนักว่า การสร้างบรรยากาศทางความคิดในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลครั้งนี้จะนำเราไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติระหว่างนักวิชาการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย และความร่วมมือระหว่างนักวิชาการทั้งสองก็เป็นสิ่งที่ ท่านศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ครั้งนี้ ก็เช่นกัน เราจึงควรจะมีความร่วมมือในลักษณะนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความยั่งยืนด้วยความถูกต้องทางทฤษฎีความคิด และความเหมาะสมที่จะปฏิบัติได้จริง อันนำมาสู่ความยุติธรรมระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนสำหรับมนุษย์ที่มีลมหายใจบนแผ่นอาเซียน ซึ่งก็คือแผ่นดินไทยของเรารวมอยู่ด้วย

                 ดิฉันขอเชิญชวนให้เราแสดงมุทิตาจิตต่อ ท่านศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย ของเราด้วยการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเป็นวิชาการหนึ่งที่ท่านอาจารย์ของเรามีความเชื่อ และทำหน้าที่ครูสอนกฎหมายนี้มาตลอดชีวิตของท่าน

                 ด้วยว่า ท่านทั้งหลายเป็นมวลมิตรทางวิชาการของท่านศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย หรือเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อกลับมายังดิฉัน เพื่อร่วมทำงานวิชาการครั้งนี้ด้วยกัน

                 นอกจากนั้น งานสัมมนาวิชาการครั้งนี้จะมีการทำแผ่นพับและนิทรรศการเกี่ยวกับท่ท่านศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย โดยคณาจารย์สายกฎหมายระหว่างประเทศรุ่นเยาว์[2]ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โปรดอย่าลังเลที่จะส่งแนวคิดของท่านต่อประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น  รวมตลอดถึงภาพถ่ายของท่านและท่านศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชยมายังดิฉันได้เลย ดังปรากฏความเป็นไปได้ที่จะติดต่อกลับด้านล่างของหนังสือฉบับนี้

                 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาร่วมงานวิชาการนี้กับเรา

---------------------------------------------------------------------------------

[1] ๑. รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ๒. อาจารย์ ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน ๓. อาจารย์ อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ และ ๔. อาจารย์ ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา

[2] อาจารย์ นพร โพธิ์พัฒนชัย และ อาจารย์ ดร.จารุประภา รักพงษ์

คำสำคัญ (Tags): #ศ.คนึง ฦๅไชย
หมายเลขบันทึก: 514945เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2013 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท