ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของ นายชาญ สุจินดา (ลุงตู่) ชายชราอายุ 71 ปี คนเสมือนไร้รากหง้า ซึ่งยังคงไร้สัญชาติและไร้บ้าน ในชุมชนนางเลิ้ง


นายชาญ สุจินดา หรือลุงตู่ ชายชรา อายุ 71 ปี เกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาโดยตลอด แต่เป็นคนเสมือนไร้รากเหง้าเนื่องจากเดิมไม่มีเอกสารพิสูจน์ตน และญาติพี่น้องใกล้ชิดนั้นได้เสียชีวิตไปหมดจนต้องอยู่ตามลำพังไม่มีคนดูแล ลุงตู่อาศัยรวมกับกลุ่มของคนเร่ร่อนอยู่ที่วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) มีห้องนอนเป็นลานคอนกรีตไร้หลังคาบริเวณใต้ต้นโพธิ์วัดแคนางเลิ้ง มากว่า 20 ปี ประกอบอาชีพเก็บขยะขายในชุมชนนางเลิ้งและทำความสะอาดวัด ได้รายได้เดือนละประมาณ 2,000 บาท 



อ่านประวัติลุงตู่และครอบครัวได้ที่ http://www.researcher.in.th/posts/514524


วิเคราะห์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของนายชาญ สุจินดา (ลุงตู่) 

การได้มาซึ่งสัญชาติ การเสียสัญชาติ และการคืนสัญชาตินั้น พิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติ ซึ่งการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้น พิจารณาได้จากข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยได้ 2 ประการ คือ การได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต และการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน เมื่อต้องการพิจารณาความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย จึงต้องพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศไทยในขณะที่บุคคลนั้นเกิด ซึ่งข้อเท็จจริงของลุงตู่ปรากฎทั้งกรณีมีบุพการีเป็นคนสัญชาติไทย และเกิดในประเทศไทย จึงต้องพิจารณาการได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต และหลักดินแดน

ลุงตู่ เกิดปี พ.ศ. 2484 กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศไทยที่จะมาอธิบายความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของลุงตู่ คือ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 ถึง 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสัญชาติอันมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะที่ลุงตู่เกิด

มาตรา 3 บัญญัติว่า “บุคคลเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเป็นคนไทย คือ

(1) บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่บิดาเปนคนไทย แม้เกิดในราชอาณาจักรก็ดี เกิดนอกราชอาณาจักรก็ดี

(2) บุคคลนั้นได้กำเนิดแต่มารดาเปนคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏ

(3) บุคคลผู้กำเนิดในพระราชอาณาจักรสยาม

(4) หญิงผู้ได้ทำงานสมรสกับคนไทยตามกฎหมายประเพณี

(5) คนต่างประเทศได้แปลงชาติมาถือเอาสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติ”


วิเคราะห์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของลุงตู่ ตามหลักสืบสายโลหิต

การได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา

การวิเคราะห์สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตนั้น ต้องพิจารณาตาม มาตรา 3(1) และ3(2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 กล่าวคือ พิจารณาว่า กรณีหากบิดาของลุงตู่มีสัญชาติไทย ลุงตู่จะมีสัญชาติไทย ตามมาตรา 3(1) หรือกรณีหากไม่ปรากฎตัวของบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ บิดามารดาไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่ามารดาของมีสัญชาติไทย ลุงตู่จะมีสัญชาติไทย ตามมาตรา 3(2) ดังนั้น จึงต้องพิจารณาสถานะภาพการสมรสของบิดามารดาในขณะที่ลุงตู่เกิด

เนื่องด้วยตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฎเอกสารการสมรสของบิดามารดาของลุงตู่ จึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ พี่ชายคนโตของลุงตู่ คือ นายสัญญา กิจเกษม เกิดปี พ.ศ. 2479 จึงคาดหมายได้ว่าบิดาและมารดาของลุงตู่นั้นอยู่กินกันฉันสามีภรรยาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 การสมรสก่อนหน้าช่วงเวลาดังกล่าวจึงบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งอาศัยเพียงข้อเท็จจริงที่ว่าชายหญิงนั้นอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยเปิดเผย ถือว่าเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรสกันอีก ดังนั้น นายป่วน สุจินดา จึงเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของลุงตู่ เมื่อปรากฏว่าลุงตู่มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย การพิจารณาสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 3(1) คือ พิจารณาว่านายป่วนมีสัญชาติไทยหรือไม่ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแม้ว่าลุงตู่ และลุงแกละ จะยืนยันว่าบิดาเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฎหลักฐานรับรองคำกล่าวข้างต้น รวมถึงไม่มีพยานบุคคลใดสามารถยืนยันถึงบรรบุรุษชั้นปู่ย่า ซึ่งจะมาใช้พิจารณาสัญชาติของนายป่วนได้ เนื่องจากทุกคนเสียชีวิตหมดแล้ว การพิสูจน์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของลุงตู่โดยหลักการสืบสายโลหิตจากบิดาจึงไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ลุงตู่จึงไม่อาจอ้างสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต ตามมาตรา 3(1) ได้

การได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา

แต่อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 การได้สัญชาติไทยโดยการเกิดของบุคคลได้มีการแก้ไขให้บุตรของหญิงไทยสามารถมีสัญชาติไทยได้โดยหลักสืบสายโลหิตด้วยตามหลักการความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ดังนั้น จึงมีการแก้ไขมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

มาตรา 7 บัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1)  ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย”

ซึ่งมาตรา 7(1) นั้นมีผลย้อนหลังไปบังคับใช้กับผู้ที่เกิดก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ[1] กล่าวคือ มีผลให้บุตรของหญิงสัญชาติไทยซึ่งเกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ผลของบทบัญญัติข้างต้นจึงส่งผลต่อลุงตู่ซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2484 ด้วย จึงต้องพิจารณาว่ามารดา คือ นางผิว กิจเกษม มีสัญชาติไทยหรือไม่ ซึ่งเมื่อศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตัวนางผิว ปรากฎว่าใบมรณะบัตรของนางผิวซึ่งออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นแขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เทศบาลนครกรุงเทพ ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2489 รับรองว่านางผิวเกิดในประเทศไทย มีเชื้อชาติไทย และสัญชาติไทย ดังนั้น ลุงตู่จึงมีสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา 7(1) ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ซึ่งการที่ลุงตู่จะพิสูจน์ความเป็นผู้ทรวงสิทธิในสัญชาติไทยตามกรณีนี้นั้น ลุงตู่ต้องพิสูจน์ว่าตนเป็นบุตรของนางผิว โดยการพิสูจน์นั้นอาจใช้พยานหลักฐานทางเอกสาร พยานบุคคล หรือพยานทางวิทยาศาสตร์ อาทิเช่น การตรวจสารพันธุกรรม (DNA) แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไม่ปรากฏพยานเอกสารใด ๆ มารับรองความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับบุตรของนางผิวและลุงตู่ จึงต้องพิจารณาใช้พยานบุคคลยืนยัน โดยอาจเป็นญาติพี่น้องที่ยังคงมีชีวิตอยู่ เช่น ลุงแกละ พี่ชายต่างบิดา และนางเล็ก แซ่ตั้ง (ป้าเล็ก) พี่สะใภ้ รวมถึงคนในชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งทราบถึงประวัติครอบครัวของลุงตู่ หรืออาจใช้การตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ระหว่างลุงตู่ และลุงแกละ เพื่อยืนยันความเป็นพี่น้องร่วมมารดา อันนำไปสู่การพิสูจน์ความเป็นบุตรนางผิวของลุงตู่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการนำไปสู่ความทรงสิทธิในสัญชาติไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

วิเคราะห์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของลุงตู่ ตามหลักดินแดน

การวิเคราะห์สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนนั้น ต้องพิจารณาตาม มาตรา 3(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 กล่าวคือ พิจารณาว่า หากลุงตู่เกิดในประเทศไทย ลุงตู่ย่อมมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไม่ปรากฏพยานเอกสารใด ๆ มารับรองว่าลุงตู่เกิดในซอยตรอกสะพานยาว (ตลาดนางเลิ้ง) ถนนพะเนียง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ดังนั้น จึงต้องดำเนินการจัดทำหนังสือรับรองการเกิดให้แก่ลุงตู่

หนังสือรับรองการเกิด เป็นเอกสารตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่รับรองสภาพบุคคลตามกฎหมายมหาชน ที่แสดงถึงสถานที่เกิดและสถานะความเป็นราษฎรไทย เนื่องจากลุงตู่เกิดนอกโรงพยาบาล ตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 การขอหนังสือรับรองการเกิดจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ในการพิจารณาออกหนังสือรับรองการเกิดเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าลุงตู่เกิดในประเทศไทย ซึ่งในการยื่นคำขอดังกล่าวทะเบียนอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายจำเป็นต้องสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นหลักฐาน และบันทึกคำให้การในแบบบันทึกปากคำ ปค. 14 โดยต้องสอบปากคำผู้ขอหนังสือรับรองการเกิด คือ ลุงตู่ และพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถรับรองสถานที่เกิดและประวัติความเป็นมาของผู้ขอหนังสือรับรองการเกิด ในที่นี้ คือ ลุงแกละ พี่ชายต่างบิดา และนางเล็ก แซ่ตั้ง (ป้าเล็ก) พี่สะใภ้ รวมถึงคนในชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งทราบถึงประวัติครอบครัวของลุงตู่ เพื่อยืนยันว่าลุงตู่เกิดในประเทศไทย อันเป็นเหตุผลสำคัญในการนำไปสู่ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน

วิเคราะห์เหตุแห่งการเสียสัญชาติไทยของลุงตู่

ในปี พ.ศ. 2515 เป็นยุคที่มีการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งรัฐไทยมีความหวาดหวั่นต่อลัทธิคอมมิวนิสต์และบุคคลต่างด้าวซึ่งอพยพหรือลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยจะนวนมากว่าอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐไทยซึ่งปกครองโดยคณะปฏิวัติขณะนั้น ได้อ้างถึงความมั่นคงของประเทศและอ้างถึงความไม่จงรักภักดีบุตรคนต่างด้าวดังกล่าวจึงได้มีการออกประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “ปว. 337” มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2535อันมีผลเป็นปฏิเสธสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและมีสถานะเข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร

ข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า “ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะทีเกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น”

เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฎว่าลุงตู่นั้นเกิดในประเทศไทย ซึ่งลุงตู่ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนตามมาตรา 3(3) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 ซึ่งนายป่วน สุจินดา บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของลุงตู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานรับรองว่ามีสัญชาติไทย การไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสัญชาติไทยนั้น อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสันนิษฐานว่าบิดาของลุงตู่มีสถานะเป็นคนต่างด้าว และเมื่อปรากฎหลักฐานการเข้าเมืองของบิดา ก็อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสันนิษฐานว่าบิดาของลุงตู่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งการสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอาจพิจารณาว่าลุงตู่ถูกถอนสัญชาติไทย ตามข้อ 1(3) แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2515) เนื่องจากมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ในปี  พ.ศ. 2535 ลุงตู่ได้รับผลดีจากการย้อนหลังของกฎหมายซึ่งบัญญัติให้บุตรของหญิงสัญชาติไทยได้สัญชาติตามหลักสืบสายโลหิตของมารดาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น แม้ว่า ลุงตู่อาจถูกสันนิษฐานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองให้ต้องถูกถอนสัญชาติ แต่ก็ไม่กระทบต่อความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยของลุงตู่ ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่วันที่  26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด ดังนั้น กระบวนการสำคัญอันนำไปสู่การพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของลุงตู่ โดยการพิสูจน์ความเป็นบุตรของ นางผิว กิจเกษม มารดาซึ่งมีสัญชาติไทย จึงเป็นหลักฐานชิ้นที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุด


หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อเท็จจริงของลุงตู่ ซึ่งได้มาจากการศึกษาของนักศึกษา ภาคบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทีมโดยคุณสายชล สิมะกุลธร คุณเทพสุดา เกรียรติสุขสถิตย์ และคณะทำงาน ซึ่งจัดทำรายงานวิชาหลักชีพนักกฎหมาย น. 461 กรณีศึกษาชุมชนวัดแคนางเลิ้ง โดยให้ความช่วยเหลือ นายชาญ สุจินดา ให้ได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคล



[1] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้ที่เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

หมายเลขบันทึก: 514686เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2013 02:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2013 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การดำเนินการไปถึงไหนแล้วครับ

เป็นกำลังใจให้นะคะ ชีวิตต้องฝ่าฝันกันต่อไป ขอให้สำเร็จค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท