500. "วิธีสร้างโรงเรียนด้วยเงิน 80,000 บาท (The Theory of Dinner Ledership)"


ว่าด้วยวิธีการบริหารจัดการความเป็นไปได้ในทุกเรื่องครับ

หลังโลกแตกไปหนึ่งวัน ความฝันเรื่องหนึ่งผมก็เป็นจริงครับ คือผมเขียน Blog เพื่อถ่ายทอด เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ Appreciative Inquiry (AI) ซึ่งเป็นวิชาที่ผมรัก และมีความสุขทุกวัน มาได้เป็นตอนที่  500 แล้ว  วันนี้มาต่อกันนะครับ

ทุกวันนี้เวลาผมสอน AI ผมจะมีสไลด์ครับ โดยจะมีรูปรูปหนึ่งให้ผู้เข้าเรียนทาย 


Credit ภาพ: http://pt-ramtey.blogspot.com/2008/02/blog-post_05.html

ผมจะถามเขาว่า “ราคาเท่าไหร่”  แต่ละคนจะทายว่า 5 ล้าน 10 ล้าน สามสิบล้านไปก็มี หลายคนอาจซักไปมากกว่านี้ ก็คือรวมที่ดินหรือเปล่า จากนั้นผมก็จะถามต่อว่า “ด้วยเงินของคุณตอนนี้ ในกระเป๋า ทรัพย์สินของคุณในตอนนี้ คุณสร้างโรงเรียนได้หรือเปล่า เอาในตระกูลคุณรวมกันก็ได้ คุณทำได้ไหม” ไม่มีเสียงไหนตอบว่าได้ ส่วนใหญ่จะพูดออกมาเลยว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่สุดผมก็เฉลยครับว่า “80,000 บาท” ไม่ว่าชั้นเรียนไหนก็ล้วนแต่เกิดเสียงฮือฮาขึ้นมา คำถามคือ มันเป็นไปได้อย่างไร ที่เราจะสร้างโรงเรียนนี้ด้วยเงิน 80,000 บาท ผมก็เล่าว่า

พี่กำจรทำได้ครับ พี่กำจร เป็นผู้จัดการโครงการที่ ผมเคยทำงานด้วยสมัยเป็นวิศวกร จบใหม่เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน วันหนึ่งพี่กำจรขับรถไปแถวอิสาน แล้วไปเจอโรงเรียนหนึ่งมันดูร้างๆเลยลงไปถามชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่าโรงเรียนไฟไหม้ เลยมีการย้ายนักเรียนไปเรียนอีกที่ พี่กำจรสงสาร เลยบอกเข้าไปว่า “ผมจะหาโรงเรียนมาให้” ว่าแล้วพี่กำจรก็กลับมากรุงเทพ และก็บอกน้องๆ ที่ทำงานด้วยกันว่า “พี่มีเงินสี่หมื่นบาท จะสร้างโรงเรียน ใครสนใจร่วมบุญได้” ไม่นานก็เริ่มมีคนรู้จักพี่กำจร บริจาคอะไรต่อมิอะไรมาให้ เช่นปูน ไม้ หลังคา พี่กำจรก็ไปบอกชาวบ้านว่า “ผมได้วัสดุก่อสร้างมาแล้ว ขอให้ชาวบ้านช่วยสร้างอาคารหน่อย” ชาวบ้านก็มาลงแรงกันจนได้โรงเรียน ส่วนสนามเด็กเล่นพี่กำจรก็บอกลูกน้องเก่าที่การไฟฟ้า มีวัสดุเหลือทิ้ง เอามาทำสนามเด็กเล่นกัน ที่สุดโรงเรียนก็มีสนามเด็กเล่น ต่อมาพี่กำจรก็โทรไปโรงงานทำเก้าอี้ โต๊ะจะสั่งซื้อ ทางนั้นก็ถามว่า “พี่กำจรจะเอาไปทำอะไร” “อ๊อ ผมจะเอาไปบริจาคให้โรงเรียน”  “เอ๊า ทำไมพี่ไม่บอก” ว่าแล้วเขาก็บริจาคโต๊ะเก้าอี้ให้ แถมหนังสือเรียนครบอีก แล้วพี่กำจรก็หันมาถามผมว่า “ภิญโญรู้ไหม ผมใช้เงินเท่าไหร่” ผมทำหน้างง “80,000 บาทเอง”  แล้วผมก็ถามต่อว่า “คราวนี้เป็นไปได้ไหม ว่าคุณจะสร้างโรงเรียนนี้ด้วยทุนของคุณได้” คราวนี้ทุกคนตอบว่าทำได้ ผมเอาเรื่องนี้ไปสอนคุณหมอที่โรงพยาบาล ผมก็ถามกลับเล่นๆ ด้วยคำถามเดียวกันว่า “ตอนนี้ถ้าคุณหมอจะสร้างโรงพยาบาล คิดว่าเป็นไปได้ไหม ทุกคนตอบว่า ได้ครับ”

ถามว่าพี่กำจรคือใคร พี่กำจรเป็นคนมีบุคลิกภาพพิเศษครับ เราเรียกว่า “ผู้เชื่อมต่อ” หรือภาษาอังกฤษคือ The Connector (เดอะ คอนเน็กเตอร์) คนประเภทนี้รู้จักคนมากมายครับ ไปทุกงาน ถ้าอยู่ในซอยก็ทักตั้งแต่หัวซอยยันท้ายซอย ในบริษัทก็โอ รู้จักไปหมด ซี๊ไปหมด เขาจะนำเรื่องดีๆมาหาคุณ หรือนำคุณไปหาเรื่องดีๆ ชอบเชื่อมโยง แนะนำคนนี้ให้รู้จักคนโน๊น ทำไมเขาทำได้ครับ ก็เพราะเขาสั่งสมเครดิตอะไรบางอย่างไว้ คนพวกนี้จะรู้จักคนมากๆ และจะชอบ “คัดสรร” สิ่งดีๆเท่านั้นไปให้คนที่เขารู้จักครับ พี่กำจรแต่ก่อนทำงานการไฟฟ้าครับ มีหน้าที่นำเรื่องดีๆ ไปให้โรงงานกว่า 3,000 โรงงานที่พี่เขารับผิดชอบ พี่กำจรทำหน้าที่ไปให้คำปรึกษาโรงงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือด้านเทคนิคให้โรงงานประหยัดไฟครับ ไม่แปลกที่คนจะรู้สึกมีความสุขที่ได้คบกับพี่กำจร และเมื่อพี่กำจรทำอะไร บอกอะไร ก็จะมีคนทำตามครับ คำว่า Connector นี้เป็นสิ่งที่ถือเป็นทฤษฎีในหนังสือ the Tipping Point ครับโดย Malcohm Gladwell 


Credit ภาพ: http://bookstove.com/book-talk/a-summary-and-review-of-the-tipping-point-by-malcolm-gladwell-for-thinking-executives-and-those-who-want-to-be-one/


ถ้าคุณเรียนรู้จาก The Connector เป็น Connector เสียเอง หรือรู้จักและทำงานร่วมกับ Connector คุณจะสบายมากขึ้นครับ เพราะคุณจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่มักเป็นอะไรที่ขาดแคลนที่สุดในทุกวงการ ทรัพยากรที่ว่ารวมทั้งการเงิน ความรู้ และบุคลากรครับ เช่นล่าสุดที่วัดป่าธรรมอุทยาน ขอนแก่น เนื่องจากมีญาติโยมที่ใช้ภาษาจีนมาวัด เลยต้องการหาคนช่วยแปลป้ายภาษาจีน ท่านแม่ชีน้ำเดินมาเจอผม ว่ารู้จักใครเขียนภาษาจีนสวยๆไหม นี่ไงครับขาดแคลนเรื่องทรัพยากรบุคคลเข้าให้แล้ว ผมก็ยกหูโทรศัพท์โทรหาเพื่อนผมที่ผมเชื่อมว่าเป็น Connector คนหนึ่ง เสียงจากปลายสายตอบกลับมาทันที “อ๋อ ป้าของดิฉันเอง เขียนสวยมาก”  อีกไม่นานท่านรองเจ้าอาวาสก็มาแล้ว “อาจารย์ภิญโญ รู้จักใครที่วาดการ์ตูนเก่งๆไหม จะขอให้ช่วยเขียนภาพการ์ตูนธรรมะสำหรับสอนเด็กเล็กหน่อย" ผมก็ไปหา Connector เพื่อนผม ที่สุดเราก็เจอนักวาดการ์ตูน  เจ้าน้องคนนี้ทำงานบริษัทโฆษณาระดับอินเตอร์ เป็นมืออาชีพเลย กำลังจะมาเจอหลวงพี่รองเจ้าอาวาสหลังปีใหม่นี้

คุณเห็นไหมครับว่ามนุษย์เรามักใช้สมมติฐานเดิมๆ ในการคิดดังนั้นเวลาคุณวางแผนกลยุทธ์ หรือทำ OD หรือคุณจะวางแผนคิดการเล็ก การใหญ่ก็ตาม พอจะทำจริง มันจะดูติดขัดไปหมด เพราะอะไรครับ เพราะอะไรครับ เพราะปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์คือ มนุษย์เราไม่ได้มีพร้อมทุกอย่างครับ  ในองค์กรเองก็ไม่ได้มีพร้อมทุกอย่าง ถ้าเราคิดแบบเดิมๆ ก็จะเหมือนกันเรื่องกรณีศึกษาเรื่องโรงเรียน กับโรงพยาบาล ถ้าเราไม่สอนเขา รายไหนรายนั้นรับเป็นไปไม่ได้ พอเล่าเรื่องนี้แล้ว แม้แต่หมอที่ยังเรียนปี 6 อยู่ยังคิดว่าตัวเองสร้างโรงพยาบาลได้เลย ถ้ารู้จัก หรือทำงานแบบ Connector

เวลาผมสอน KM แนว AI ผมจะใส่เรื่องนี้ไปด้วยครับ ก็จะถามต่อหน่อยให้ชั้นเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันโดยให้ทุกคนเล่าว่า “พอพูดถึง Connector แล้ว นึกถึงใคร” “เขาเคยนำเรื่องดีๆอะไรมาให้เรา” ที่สุดถอดบทเรียนเรื่อง “พฤติกรรมของเขาไม่เหมือนคนอื่นตรงไหน” ล่าสุดผมไปบริษัทหนึ่งเจออยู่สองคนครับ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเรื่องดีๆ ให้องค์กร ปรากฏว่าสองคนนี้ คนหนึ่งทำงานประสานกับ NGO อีกคนอยู่ในโรงงาน พฤติกรรมหลักที่เห็นเหมือนกันคือ ชอบซื้ออาหาร ซื้อกับข้าวไปนั่งกินข้าวกับคนหลายๆวง คนที่ทำงานร่วมกับ NGO นี่ช่วยไม่ให้ชาวบ้านเผาโรงงานมาแล้ว นี่ก็ซื้อกับข้าวไปทานข้าวกับชาวบ้านบ่อยๆ ที่สุดผมก็สรุปบทเรียนครับ ว่าเราสามารถพัฒนาความเป็น Connector ได้ด้วยการไปทานข้าวเย็นกับคนต่างกลุ่ม เราตั้งทฤษฎีขำๆ คือ The Dinner Leadership (เดอะ ดินเนอร์ ลีเดอร์ชิพ) ผู้นำข้าวเย็น


Credit ภาพ: http://www.styleathome.com/blog/2010/03/10/food-network-canada-is-looking-for-dinner-party-legends/


เรื่อง Connector นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของ OD ครับปรมาจารย์ด้าน OD คือ Lawler และ Worley (ลอว์เลอร์และวอร์รี่ย์) ซึ่งเขียนตำราที่คนเรียน OD ทั่วโลกอ่าน บอกไว้ในหนังสือ Built to Change (บิ๊ลทูเช๊นจ์) บอกไว้เลยว่าหากองค์กรต้องการเปลี่ยนแปลง แล้วเกิดผลดีสูงสุดและยั่งยืน ต้องทำงานร่วมกับ The Connector ด้วยครับ คุณจะไม่กลัวความขาดแคลนเรื่องทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นคน เทคโนโลยี การเงิน หรืออะไรก็ตามอีกต่อไปครับ

คุณทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด จริงไหมครับ

เพียงเล่าให้ฟัง ลองพิจารณาดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 513729เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2012 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาอ่านเรื่องดีๆค่ะ 

                           -The connector

                           - The Dinner Leadership

                               ขอบคุณค่ะ

                              

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา น้องที่ทำงาน (เป็นลูกศิษย์แต่ตอนนี้เป็นเพื่อนร่วมงาน)บอกว่า เรามีคุณสมบัติเข้ากับเด็กได้ เข้าผู้ใหญ่ดีและมีคนมาหาพูดคุยบ่อย คล้ายเป็น connector ไม่รู้ว่า น้องหมายถึงแบบนี้หรือเปล่าค่ะ

ไอ้เรายังไม่ค่อยมั่นใจ แต่ประเภทที่ว่า รู้ว่าใคร คนไหนเก่งอะไร ใครชอบอะไร คนไหนนะที่เป็น key man ของงานนี้ งานนู้น..พอรู้ค่ะ (แอบยิ้ม)

มาให้กำลังใจค่ะ  อาจารย์

เรียนอาจารย์ ภิญโญ ((เดอะ คอนเน็กเตอร์) ผมไปเจอ คอนเน็กเตอร์ที่ กุยบุรีมาแล้วครับ(http://www.gotoknow.org/posts/513860)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท