ดื่มนม_มากเท่าไรใกล้(กำลัง)พอดี



.
สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์เรื่อง 'Two cups of milk daily enough for most kids: study'
= "นม 2 ถ้วย/วัน พอแล้ว (เพียงพอสำหรับเด็กเกือบทั้งหมด: การศึกษาพบ")", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
นมเป็นอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามิน D สูง ช่วยป้องกันโรคกระดูกโปร่งบาง หรือกระดูกพรุนที่ทำให้กระดูกหักง่ายในคนสูงอายุ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุเบาๆ เช่น หกล้ม ฯลฯ
.
กระดูกของคนที่มีกระดูกแข็งแรงมักจะไม่หักง่ายเมื่อมีอุบัติเหตุเบาๆ
.
ปกติวิตามิน D จะพบในไขมันนม เนื่องจากวิตามิน D ละลายในน้ำมัน ไม่ละลายในน้ำ, ทว่า... เทคโนโยลีการผลิตสมัยใหม่เติมวิตามิน D เพิ่มเข้าไปในน้ำนมได้

วิธีที่ดี คือ ให้ดูจากฉลากอาหารข้างขวด หรือข้างกล่องว่า 1 เสิร์ฟ หรือ 1 หน่วยบริโภค มีสารอาหาร = ร้อยละเท่าไรของที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน
.
การศึกษาใหม่จากแคนาดาพบว่า นมโคขนาด 2 ถ้วย/วัน ให้วิตามิน D มากพอสำหรับเด็ก (เกือบทุกคน)
.
สถาบันแพทย์เด็กอเมริกา (AAP) แนะนำให้เด็กอายุ 2-8 ปี ดื่มนม 2 ถ้วย/วัน
.
คำแนะนำของสถาบันอื่นแนะนำว่า 4 ถ้วย/วัน จึงจะทำให้ได้รับวิตามิน D มากพอ
.

.
ข้อเสียของการดื่มนมมากเกินไปมีหลายอย่าง เช่น เพิ่มเสี่ยงน้ำหนักเกิน-อ้วน เพิ่มสิวในคนบางคน ฯลฯ และเพิ่มเสี่ยงโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก และการพัฒนาการของสมองช้าลง (ไอคิวต่ำ)
.
คนเราได้วิตามิน D จากแสงแดดประมาณ 90%, ส่วนน้อยได้จากอาหาร เช่น ปลาทะเล ฯลฯ
.
วิตามินนี้ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในอาหาร ช่วยให้กระดูกแข็งแรง
.
การศึกษาใหม่ทำในเด็กแคนาดาอายุ 2-5 ปี 1,311 คนในช่วงเดือนธันวาคม 2008-2010/2551-2553
.

.
ผลการศึกษาพบว่า นม 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร = 0.25 ลิตร = 1/4 ลิตร) เพิ่มระดับวิตามิน D = 5 หน่วย (nmol/L. = นาโนโมล/ลิตร)
.
นม 2 ถ้วย/วัน = 500 มิลลิลิตร/ซีซี = 0.5 ลิตร = 1/2 ลิตรต่อวัน เพิ่มระดับวิตามิน D ในเลือดเด็กเกือบทั้งหมดได้มากพอ (อย่างต่ำ 75 หน่วย nmol/L.)
.
ทว่า... เด็กที่มีผิวสีเข้มอาจต้องการเพิ่มเป็น 3-4 ถ้วย/วัน ในฤดูหนาว
.
เนื่องจากหน้าหนาวมีแสงแดดน้อยลง ทั้งความเข้มข้น-ระยะเวลา, และผิวสีที่เข้มทำให้ UV (อัลตราไวโอเลตชนิด B / UVB) ผ่านผิวหนังชั้นนอกไปสร้างวิตามิน D ได้น้อยลง
.

.
ศ.แพทซี แบรนนอน จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐฯ กล่าวว่า คำแนะนำของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ  ที่ให้เด็ก 2-3 ขวบ ดื่มนม 2 ถ้วย/วัน น่าจะพอ
.
แต่เด็กที่อายุมากกว่า 3 ขวบ แนะนำให้ดื่ม 2.5 ถ้วย/วัน
.
สหรัฐฯ อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่าแคนาดา... เด็กๆ มีโอกาสได้รับแสงแดดมากกว่า และตัั้งมาตรฐานเรื่องวิตามิน D ขั้นต่ำสำหรับเด็กที่ 50 หน่วย (nmol/L; น้อยกว่า 75 หน่วย ตามมาตรฐานแคนาดา)
.
AAP แนะนำให้ทารก-เด็ก-วัยรุ่นได้รับวิตามิน D = 400 หน่วยสากล (IU)/วัน
.

.
นม 1 ถ้วยมีวิตามิน D ประมาณ 100 หน่วยสากล (IU)
.
สหรัฐฯ บังคับให้เติมวิตามิน D ในธัญพืช หรือผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น แป้งสาลี ฯลฯ และอาหารหลายอย่าง เพื่อป้องกันการขาดวิตามิน D ในเด็กที่ดื่มนมโคน้อย หรือไม่ดื่ม
.
แคลเซียมกับเหล็กเป็นสารอาหารที่มีประจุบวกคล้ายๆ กัน, ถ้ากินพร้อมกันจะแย่งกันดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด 
.
โลกเบี้ยวๆ ใบนี้เต็มไปด้วยความลำเอียง... ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของสารอาหาร
.

.
ข่าวร้ายสำหรับธาตุเหล็ก คือ แคลเซียมมักจะเป็นฝ่ายชนะ ทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง เพิ่มเสี่ยงโรคเลือดจาง สมองพัฒนาช้าในเด็ก ภูมิต้านทานโรคต่ำลง ป่วยง่ายขึ้น
.
ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กในอาหารจากสัตว์ เช่น เลือดสัตว์ เนื้อแดง ตับ ฯลฯ ได้ดีกว่าธาตุเหล็กในอาหารจากพืช เช่น ถั่ว ผัก ฯลฯ
.
คนที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กมากกว่าประชากรทั่วไป คือ คนที่กินเนื้อน้อย กินมังสวิรัติติดต่อกันนานๆ บริจาคเลือดแล้วไม่กินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก
.
ผู้ชายที่บริจาคเลือดควรกินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กประมาณ 15 เม็ด/รอบการบริจาค 1 ครั้ง
.

.
ผู้หญิงเสียธาตุเหล็กจากการเสียเลือดตอนมีประจำเดือน ตั้งครรภ์-คลอดลูก-ให้นมลูก ควรกินยาบำรุงเลือดประมาณ 30 เม็ด/รอบ
.
การศึกษาทำในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ประเทศ (พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ไทย) พบว่า 1/3 ของเด็กไทยขาดวิตามิน D [ thaipost ]
.
การส่งเสริมให้เด็กไทยได้รับแสงแดดอ่อนตอนเช้า-เย็น 15 นาที/วัน น่าจะป้องกันการขาดวิตามิน D ได้
.
การศึกษาเร็วๆ นี้พบว่า เด็กๆ ที่มีโอกาสอยู่กลางแจ้ง ได้มองไปไกลๆ เป็นประจำ, เสี่ยงสายตาสั้นน้อยลง
.

.
สถิติในโลกตะวันตกพบว่า ถ้าคนเราอายุยืนมากพอ... จะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกโปร่งบาง หรือกระดูกพรุนที่ทำให้กระดูกหักง่ายมากขึ้น
.
ผู้หญิงสูงอายุเสี่ยง = 1/3 = 3 คนเป็นโรค 1 คน
.
ผู้ชายสูงอายุเสี่ยง = 1/8 = 8 คนเป็นโรค 1 คน
.
การดื่มนมจืด 2 ถ้วย/วัน, การมีโอกาสออกไปกลางแจ้ง รับแสงแดดอ่อนตอนเช้า-เย็น 15 นาที/วัน น่าจะเป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพที่ดีทีเดียว
.

.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • Thank Reuters > SOURCE:Pediatrics, online December 17, 2012.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 20 ธันวาคม 55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
หมายเลขบันทึก: 513550เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูลดีๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท