เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนอุดมศึกษาโดยสิ้นเชิง


ผมจึงสรุปกับตัวเองว่า การเรียนในสมัยใหม่ จะไม่เหมือนรูปแบบที่เราเคยชินอีกต่อไป การทำหน้าที่ครู/อาจารย์ที่ดี ก็จะไม่เหมือนเดิม ต้องเปลี่ยนไปทำหน้าที่ learning manager ของศิษย์ และต้องฝึกวิทยายุทธของครูเอง ในการจัดระบบ จัดกระบวนการเพื่อยั่วยุการเรียนรู้ของศิษย์ โดยตนเองไม่ต้องสัมผัสศิษย์มากนัก สัมผัสเฉพาะส่วนของการเรียนรู้ให้ได้ผลลึกซึ้งและเชื่อมโยง (higher order learning) เท่านั้น

          เรื่องนี้ผมเคยเล่าไว้แล้วที่นี่และที่นี่ วันที่๒๘ พ.ย. ๕๕ จึงได้ฤกษ์การสัมมนาเรื่อง AcademicTransformation : An Orientation to Course Redesign จัดโดยสถาบันคลังสมองฯ มี่โรงแรมสุโกศล  โดยมี Carol Twigg, President, The NationalCenter for Academic Transformation(NCAT)  และ Carolyn Jarmon, Vice President เป็นวิทยากร 

          ผมรอการสัมมนานี้ถึง ๒ ปี  ปีที่แล้วเลื่อนกระทันหันเพราะน้ำท่วม  ปีนี้ก็เผชิญสภาพฝนตกหน้าหนาวอีก  แต่ยังจัดประชุมได้

          ฟังการสัมมนาวันนี้แล้ว ผม AARกับตัวเองว่า  นี่คือคำตอบสำหรับอุดมศึกษาไทยยุค “อุดมศึกษาเพื่อคนทั้งมวล”(Massification of Higher Education)  ที่ระบบอุดมศึกษาไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว จากอุดมศึกษาสำหรับคนหัวดี ไปเป็นอุดมศึกษาเพื่อทุกคน

          ย้ำนะครับว่าความเป็นจริงของระบบอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน ไม่เหมือนความเป็นจริงเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ที่สมัยนั้นยังเป็นอุดมศึกษาเพื่อ elite  แต่ปัจจุบันได้กลายเป็น Higher Education for All ไปเรียบร้อยแล้ว  ใครอยากเข้าเรียน ก็จะได้เรียน 

          สถาบันอุดมศึกษาจึงรับ นศ.ที่มีพื้นความรู้ และพื้นฐานอย่างอื่นๆ แตกต่างหลากหลายมาก  สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องเข้าใจและยอมรับสภาพความเป็นจริงนี้ 

          ผมมองว่า AcademicTransformation / Course Redesign ตามที่พูดกันในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๘ พ.ย.๕๕คือคำตอบต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปของอุดมศึกษาไทย  ที่จะทำให้เราผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ (กว่าในปัจจุบัน)ในต้นทุนที่ไม่แพงเกินไป 

          คำตอบคือ ใช้ ICT มาเป็นเครื่องช่วย  และเปลี่ยนการเรียนมาเป็น ActiveLearningโดยต้องทำ๖ อย่าง (ย้ำว่าทำทั้ง ๖ อย่าง) จึงจะบรรลุเป้าหมายเพิ่มคุณภาพของ LearningOutcome และลด cost  ได้แก่  (1)Whole course redesign, (2) Active Learning, (3) Computer-based learningresources, (4) Mastery learning, (5) On-demand help, และ (6) Alternativestaffing โดยมีแนวทางจัดการเรียนรู้๖ โมเดล  ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านได้ที่นี่

          ๖ โมเดลของการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ ได้แก่ (1) The Supplemental Model, (2) TheReplacement Model, (3) The Emporium Model, (4) The Fully Online Model, (5) The LinkedWorkshop Model, และ (6) The Buffet Model

          หากเราอ่านหนังสือด้านการพัฒนาการเรียนรู้ที่พยายามดึงความสนใจเรียนของ นศ. เราจะเห็นว่า เรื่อง นศ. ไม่ตั้งใจเรียน ขาดแรงจูงใจในการเรียนเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก เป็นเรื่องปกติธรรมดาแห่งยุคสมัย  เป็นเรื่องที่วงการศึกษาบ่นไม่ได้  ต้องยอมรับ และต้องหาทางสู้  ซึ่งเมื่อมองบวกก็จะกลายเป็นโอกาสในการทำงานวิชาการว่าด้วยการเรียนรู้สมัยใหม่  ดังที่ผมกำลังเขียนบันทึกใน บล็อก ชุด StudentEngagement อยู่ในขณะนี้ซึ่งอ่านได้ที่นี่

          ทางสหรัฐอเมริกาต้องดิ้นรนพัฒนาระบบการเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับวิกฤต๒ ด้าน  คือด้านค่าใช้จ่ายกับด้านคุณภาพ  เขาดำเนินการมา ๑๓ ปีก็พบวิธีการที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน  คือทั้งเพิ่มคุณภาพและลดค่าใช้จ่ายไปด้วยกัน 

          ผมตีความว่าหัวใจคือ LEAN(เขาไม่ได้พูด แต่ผมตีความเอาเอง ผิดหรือถูกก็ไม่ทราบ) คือหาทางลดการดำเนินการที่ไม่จำเป็นไม่เกิดประโยชน์ต่อผลการเรียนรู้ (Learning Outcome) ของ นศ.และเพิ่มการดำเนินการที่พิสูจน์ได้ว่าช่วยเพิ่มผลการเรียนรู้ของ นศ. 

          ผมติดใจเรื่อง Alternative staffing ตรงที่เขาใช้ นศ.เป็นผู้ช่วยอาจารย์มากขึ้นเยอะ  โดยใช้นศ. ระดับปริญญาตรีนั่นแหละเป็นผู้ช่วยอาจารย์ โดยที่หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องมีการวัดความรู้ (และทักษะ) ของ นศ.  คนไหนรู้วิชาใดดีแล้ว ก็ไม่ต้องเรียน  และใช้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ได้ 

          หัวใจคือผลการเรียนรู้ของ นศ.

          จึงต้องทำหลายๆ อย่างเพื่อให้ นศ. เป็นผู้ลงมือทำ ที่เรียกว่า Activelearning หรือ learningby doing  รวมทั้งกระตุ้นและอำนวยความสะดวกให้ นศ. ทำ โดยไม่ใช่อำนวยความสะดวกลอยๆ แต่กำหนดงานให้ทำ  แบบมีขั้นตอนมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลา

          วิทยากรบอกว่า อย่าปล่อยให้นศ. เรียนตามสบาย หรือตามอำเภอใจตน จะไม่ได้ผล ครูต้องเข้าไปกำหนดเงื่อนไขให้เรียน โดยมีตัวช่วย ทั้งที่เป็นคอมพิวเตอร์  นศ.ผู้ช่วย  ผู้ช่วยแบบอื่น  และตัวครู/อาจารย์เอง  ในลักษณะที่ “ต้องการความช่วยเหลือเมื่อไรได้เดี๋ยวนั้น”  คือ นศ. ต้องเข้าไป “ทำงาน” ในระบบคอมพิวเตอร์ของรายวิชา และตอบคำถามเพื่อเก็บคะแนน และเพื่อได้สาระ (content) ของรายวิชา เอามาเรียนในมิติที่ลึกโดยการประยุกต์ใช้ความรู้นั้นในชั้นเรียนกับครูหรือกับ นศ. ผู้ช่วยครู และมีการทดสอบเก็บคะแนนบ่อยๆ 

          ครู/อาจารย์ เปลี่ยนบทบาท  จากเน้นสอนแบบบรรยาย มาเป็นทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ให้แก่นศ., ฝึกผู้ช่วย และประเมินภาพรวมของการเรียนรู้ของ นศ. 

          นั่นคือ การเรียนรู้สมัยใหม่นศ. เป็นผู้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่อาจารย์ออกแบบ  และจัดการให้มีการอำนวยความสะดวกต่างๆ  ที่จะกระตุ้นความสนใจกระตุ้นแรงบันดาลใจในการเรียน ติดตามความก้าวหน้าในการเรียนเป็นรายคน และให้ความช่วยเหลือเมื่อ นศ. ร้องขอ  หรือตามตัวเมื่อ นศ. หายตัวไปจากระบบ 

          ในการประชุมวันที่สาม (๓๐ พ.ย.๕๕) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมปฏิบัติการ อ. หมอประดิษฐ์ จากศิริราช ปรารภต่อวิทยากรว่า  การเรียนตามที่วิทยากรเล่าดูมันเหมือนโรงงานอุตสาหกรรม  วิทยากรตอบว่าไม่เหมือน  เพราะ นศ.แต่ละคนจะเรียนเฉพาะเท่าที่จำเป็นสำหรับตน ตรงไหนที่พิสูจน์ได้ว่ารู้แล้วก็ข้ามไปได้  คือการเรียนแบบใหม่จะเป็นแบบ individualized  แต่ใช้เครื่องมือ ICT ช่วยมากเพื่อให้บริการแบบ any time, anywhere  และช่วยประหยัด แรงงานของอาจารย์ซึ่งราคาแพง จะใช้สำหรับการเรียนแบบ higher orderlearning เท่านั้นไม่ใช้ถ่ายทอดความรู้ ซึ่งเป็น lower order learning

          ผมจึงสรุปกับตัวเองว่า  การเรียนในสมัยใหม่จะไม่เหมือนรูปแบบที่เราเคยชินอีกต่อไป การทำหน้าที่ครู/อาจารย์ที่ดี ก็จะไม่เหมือนเดิม  ต้องเปลี่ยนไปทำหน้าที่ learningmanager ของศิษย์  และต้องฝึกวิทยายุทธของครูเอง ในการจัดระบบจัดกระบวนการเพื่อยั่วยุการเรียนรู้ของศิษย์ โดยตนเองไม่ต้องสัมผัสศิษย์มากนัก สัมผัสเฉพาะส่วนของการเรียนรู้ให้ได้ผลลึกซึ้งและเชื่อมโยง (higherorder learning) เท่านั้น

          คุณเกด (วิสุทธินี แสงประดับ)แห่ง  สคช. อีเมล์ มาถามผมว่า AcademicTransformation แตกต่างอย่างไรกับ Hybrid Learning ของ ม. หอการค้า และผมเองก็บอกตัวเองว่า AT มีส่วนที่ใช้ FlipClassroomด้วย  จะเห็นว่าการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้มีหลากหลายสำนักมาก แต่ผมก็เชื่อว่า AT เป็นสำนักหนึ่งที่มีความชัดเจน และดำเนินการอย่างครบถ้วนมาก

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 512781เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2017 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ในมหาวิทยาลัยที่เคยสอน  ได้้เคยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากAalborgh University,Denmark

เกี่ยวกับPO/PBL มาบรรยายให้อาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยในประเทศฟัง  เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว  แต่เราไม่สนใจ

มีงานวิจัยของอียูชี้ชัดว่าวิธีที่เราสอนกันใช้ไม่ได้

นับเป็นสิ่งใหม่ เปิดโลกทัศน์ สำหรับอาจารย์พยาบาลเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท