ชีวิตเด็กวัด


น้าผมพยายามไปอยู่กรุงเทพจนสำเร็จ ประมาณปี 2490 ที่วัดเชิงหวาย ที่ค่อนข้างเป็นวัดนอกเมืองในสมัยนั้น ดูแล้วเห็นที่จะเป็นแหล่งพักพิงและเรียนหนังสือคงจะไม่ได้ ก็เลยหาพระที่รู้จักกันแนะนำย้ายวัดอาศัยไปเรื่อยๆ จนได้ไปอยู่วัดตะเคียน หรือวัดมหาพฤฒาราม ใกล้ๆกับหัวลำโพง ที่พอจะใกล้ที่สุด กับโรงเรียนวัดปทุมคงคา

ผมผ่านชีวิตเด็กวัดมาทั้งช่วงที่เรียนอยู่บ้านนอก
ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1-4 และเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ
ชั้น ม.ศ. 1-3 แม้จะเป็นช่วงอายุ และปี พ.ศ. ที่ต่างกัน ก็ยังพอหาข้อเปรียบเทียบ
ทั้งความเหมือน และความต่างได้พอสมควร ว่ามีเงื่อนไข
และการให้เป็นไปตามครรลองของระบบสังคมได้ด้วยวิธีใด

 

เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงแผนการวางพัฒนาครอบครัวและชีวิตลูกๆ
ของพ่อและแม่ของผม

 

เนื่องจากครอบครัวผมมีฐานะยากจน
พ่อผมไม่ได้รับมรดกจากปู่ย่ามาเลย มาพึ่งมรดกจากยายเพียงด้านเดียว
แม้แต่ค่าสินสอดที่ คุณตาคุณยายเรียกเก็บ
พ่อผมก็ต้องผ่อนมาจนถึงพี่ชายคนที่สามเกิด จึงผ่อนหมด
เรียกว่าเป็นตำนานของการแต่งงานเงินผ่อนเลยละครับ

 

หลังจากพ่อแม่มีพวกผมเกิดมา
พ่อผมไปเห็นตัวอย่างคนเรียนจบสูงๆ แล้วได้งานทำดี ได้เงินเดือนมาก
ก็เลยอยากให้พวกผมได้เรียนหนังสือ เพราะคิดไปแล้ว ก็สมบัติอะไรอื่นๆ ก็ไม่มีให้ลูก
แค่นาของยาย 4 ไร่กว่า เท่านั้น คงจะแบ่งกันไม่ได้แน่นอน

แต่แม้แต่จะส่งไปเรียนหนังสือ
ก็ไม่มีเงิน ไม่มีทุน จึงมาปรึกษาหารือกับแม่ผม และญาติทางปู่ที่เคยไปบวชอยู่ที่กรุงเทพ
ก็ได้ความว่า ในกรุงเทพมีวัดมาก แต่จะเข้าไปอยู่วัดใดนั้น
ต้องอาศัยคนรู้จักแนะนำจึงจะได้

 

และเราก็ไม่มีคนรู้จักแนะนำ
จะทำอย่างไรดี

 

แม่ผมได้สืบหาข้อมูล
จนได้ความว่า มีพระรูปหนึ่งอยู่ที่วัดกุดเวียน ตำบลบุ่งขี้เหล็ก อำเภอสูงเนิน ห่างจากบ้านผมประมาณ 6 กม. ที่เคยเดินทางไปจำพรรษาในกรุงเทพฯ
และมีคนรู้จักเป็นพระในกรุงเทพฯ จึงขอร้องให้น้องชายคนโต ที่ได้อายุบวชพอดี (น้ากรอด กิมสูงเนิน ตอนหลังเปลี่ยนชื่อ และนามสกุลเป็น ถาวร น้อมจันทวงศ์ เพื่อความทันสมัย โดยใช้ชื่อปู่ย่าแทนนามสกุล "สูงเนิน")
ไปบวชอยู่วัดกุดเวียนดังกล่าว ตีสนิท
และหาทางเดินทางไปอยู่วัดกรุงเทพฯให้ได้

 

น้าผมก็ทำตาม และพยายามไปอยู่กรุงเทพจนสำเร็จ ประมาณปี 2490 ที่วัดเชิงหวาย ที่ค่อนข้างเป็นวัดนอกเมืองในสมัยนั้น ดูแล้วเห็นที่จะเป็นแหล่งพักพิงและเรียนหนังสือคงจะไม่ได้ ก็เลยหาพระที่รู้จักกันแนะนำย้ายวัดอาศัยไปเรื่อยๆ จนได้ไปอยู่วัดตะเคียน หรือวัดมหาพฤฒาราม ใกล้ๆกับหัวลำโพง ที่พอจะใกล้ที่สุด กับโรงเรียนวัดปทุมคงคา
โรงเรียนวัดไตรมิตร และมีให้เลือกหลายโรงเรียนใกล้ๆกัน แล้วแต่จะสอบได้ การเตรียมการปูทางให้หลาน( คือพี่ชายคนโตของผม) เดินทางเข้ากรุงเทพนี้ใช้เวลาประมาณ 4 ปี

 

พอได้วัดอยู่แน่นอนแล้ว
ปี พ.ศ. 2492 ก็เป็นเวลาที่พี่ชายคนโตของผมจะเข้าไปสอบเรียนต่อที่กรุงเทพฯ
ที่ปรากฏว่า สอบเข้าเรียน ม. 1 ที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา อยู่วัดตะเคียนจนถึง ม. 8
แล้วก็เข้าสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

พอถึงรุ่นผมก็เริ่มง่ายแล้ว
ไม่ต้องวางแผนมาก พ่อแม่ผมคงมีหลายวัตถุประสงค์
จึงส่งผมไปอยู่วัดตั้งแต่เริ่มเข้าชั้นประถมปีที่ 1 แค่อ้างว่าไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียนยาก
ก็แค่ 500 เมตรจากบ้านนี่นะยาก ผมก็งงๆ แต่ก็ทำตาม จึงไปอยู่วัดแต่เด็กๆ
กลับมากินข้าวเย็นกับพ่อที่คอกวัวในช่วงพ่อเลี้ยงวัวในป่าโคกหน้าฝน
และกลับไปกินข้าวเย็นที่บ้านกับแม่ในช่วงฤดูแล้ง

 

ช่วงวันหยุดยาวๆ และปิดภาคการศึกษา
ก็มาช่วยพ่อแม่เลี้ยงควาย เลี้ยงวัว เป็นหลัก
การทำนาส่วนใหญ่แค่ไปเที่ยวเล่นมากกว่า อย่างมากก็ช่วยหาบกล้า หาบข้าว ขับเกวียน
เลี้ยงควาย เล็กๆน้อยๆ เท่านั้น ฉะนั้น งานหลักๆจึงเป็นเด็กเลี้ยงควาย และวัว
สลับกับ พ่อ และพี่ชาย แต่บางครั้งก็ไปช่วยพี่สาวเลี้ยงเป็ดฝูงไล่ทุ่ง

 

ดังนั้นในมิติของเด็กวัดนั้น
ขั้นตอนที่ยากที่สุดในขั้นแรก ก็คือ การหาว่าวัดไหนจะรับเราไปอยู่บ้าง
หรือการฝากตัวนั่นเอง การไปอยู่วัดกุดปลาเข็ง ต. โนนค่า อำเภอสูงเนิน ของผมนั้น มีหลวงอาโต (พระอธิการโต รวยสูงเนิน) เป็นเจ้าอาวาส ที่เป็นน้องชายแท้ๆ ของพ่อผม จึงเป็นเรื่องง่ายๆ เข้าไปอยู่วัด ระดับ "หลานเจ้าอาวาส" เลยครับ

 

ต่อจากนั้น
ก็เป็นการจักระบบในการอยู่อาศัยในวัด การเข้าสู่ระบบการรับน้อง กับเด็กวัดรุ่นพี่
และการทำตัวเป็นผู้รับใช้พระ และสามเณรที่ดี

 

การฝึกกิริยามารยาท
ทั้งการเล่น การเดินในกุฏิ บนศาลา ที่ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

การนั่ง การนอน
และการหามุมนอนของตนเอง ที่จะเป็นที่เก็บสัมภาระทุกอย่างที่ตัวเองมี

 

จริงๆแล้วก็ไม่มีอะไร
ผมมีกางเกงมีตัวเดียว เป็นกางเกงสีกากีตัวเก่าของพี่ชาย ไม่เคยเปลี่ยน ใส่ขาดกับตัว
วันไหนจะซักก็โดดลงน้ำทั้งกางเกง ซักเสร็จก็ใส่เดินขึ้นมา ไม่นานเดียวก็แห้ง

เข็มขัดไม่ต้องใช้
ใช้เหน็บเอาแบบผ้าขาวม้า หรือไม่ก็เชือกกล้วยมัดหูสองข้างดึงเอาไว้ไม่ให้หลุดจากเอว
รองเท้าไม่เคยมี เวลาเดินผ่านทุ่งนา มักจะเดินเหยียบดินขุยไส้เดือนแข็งๆ แหลมๆในนา ที่เรียกว่า "หัวขี้แต้" เจ็บเท้ามาก 

จึงเคยคิดหาเก็บเงินซื้อรองเท้า

ไปซื้อรองเท้าแตะฟองน้ำคู่แรกตอนอยู่ชั้น ประถมปีที่ 4
โดยการไปขอมะขามเปรี้ยวที่ฝักแก่ๆ ของพ่อที่ปลูกไว้ข้างคอกวัว มีพี่สาวคนเล็กไปช่วยกันขึ้นต้นมะขาม เก็บมาปอกเปลือกออก ใส่ถังเหล็ก (ครุเหล็ก) ที่ใช้ตักน้ำแบบโบราณ หนักเอาการ ทั้งถัง ทั้งมะขามเปียก ผลัดกันหิ้วถูลู่ถูกัง ทุลักทุเล จากสวนข้างคอกวัวที่บ้านกุดปลาเข็ง มาพักบ้านในตอนเย็น ตอนเช้าหิ้วจากบ้านต่อไปตลาด เดินลัดทุ่งนาไปประมาณ 5 กม. ไปขายที่ตลาดกุดจิก ได้เงินมาซื้อรองเท้าแตะคู่แรกในชีวิต ด้วยความยากลำบาก เหนื่อยมาก และไม่คิดจะทำอีกเลย ทนเดินเท้าเปล่าดีกว่า

เสื้อนักเรียนก็เป็นเสื้อเก่าของพี่ชายที่ใส่ไม่ได้แล้วมีตัวเดียว
ใส่ขาดเป็นตัวๆไป วันไหนร้อนก็ไม่ใส่ แต่ไปโรงเรียนต้องใส่ทุกวัน คำว่า สกปรก
มอมแมม แปลว่าอะไร ไม่ทราบ แต่ก็อยู่กันแบบนั้น เพื่อนคนอื่นๆก็เป็นแบบเดียวกัน แต่เสื้อผมเท่ห์กว่า
มีตราโรงเรียนเก่าของพี่ติดอยู่ด้วย คนอื่นไม่มี

 

ชั้นประถมปีที่  1 ใช้กระดานชนวน ก็มีหนึ่งแผ่น
แม่พาไปซื้อตอนเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ดินสอหิน 1 แท่ง เขียน
และจดอะไรต้องรีบจำ เพราะเดียวก็ต้องลบไปจดวิชาใหม่อีก
นี่คือทุนทางการศึกษาที่แม่ผมลงทุนให้ผม จนจบประถมปีที่ 4
ไม่มีค่าเล่าเรียน และไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นใด จนจบชั้นประถมปีที่ 4

พอขึ้นชั้นประถมปีที่
2 ต้องใช้สมุดจด ผมก็มีเล่มเดียว ตรามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสียด้วย เท่ห์มากๆ ได้มาจากสมุดเหลือใช้ของพี่ชายคนโต
ฉีกส่วนที่พี่เขียนไปแล้วออกซะ ก็ใช้ได้เลย จดทุกวิชาที่ครูสอนในเล่มเดียวกัน
หนังสือเรียนไม่เคยซื้อ มีแต่ไปขอจากญาติๆคนที่เรียนมาแล้ว

 

การเป็นเด็กวัดต้องทำงานวัดสารพัดอย่างจะไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆไม่ได้ จะไปไหนก็ต้องขออนุญาต

ช่วงเช้าก็ต้องเตรียมสถานที่ฉัน
เก็บกวาด ปูอาสนะ เตรียมถ้วยจาน

พอพระฉันเสร็จก็ต้องเก็บกวาด
ล้างจาน เช็ดบาตร คว่ำไว้เป็นที่เป็นทาง จึงไปโรงเรียนได้

ตอนเพล
เด็กวัดจะเป็นอภิสิทธิ์ชน ได้เลิกเรียนพักเที่ยงก่อนคนอื่น มาจัดสำรับอาหารถวายให้พระ
เสร็จแล้วก็เตรียมไว้ให้ครู ผมทานข้าวเที่ยง (เที่ยงจริงๆ) กับครูทุกวัน
เลยไม่ทราบว่าใครเกรงใจใครในโรงเรียนวัดที่ผมเรียนอยู่

เลิกเรียนก็ต้องช่วยการทำงานในวัด
รดน้ำต้นไม้ แล้วแต่จะมีงานให้ทำ เสร็จงานประจำวันจึงกลับไปทานข้าวบ้านกับพ่อกับแม่ได้ถ้ายังไม่มืดผมจะเดินกลับเอง ถ้ามืดบางทีพ่อผมก็พามาส่ง
เพราะผมกลัวผี “ดุ” ที่ชอบร่ำลือกันในชุมชน เดินผ่านบริเวณนั้นทีไร
ขนหัวลุกและขาแข็งเดินไม่ค่อยออกทุกที

ความฝันของการเป็นเด็กวัดบ้านนอกนั้นมีความเท่ห์
อยู่อย่างหนึ่งก็คือ จะเป็นประเพณีประจำชุมชน ว่าใครก็ตามที่ไปทอดกฐินให้กับวัด
จะแจกเงินให้เด็กวัดทุกคนๆละ 1 บาท เด็กวัดมี 4 คน ก็แจกเงินมา 4 บาท
ผมได้รับแจกทุกปี ที่เป็นเงินที่ได้อย่างภาคภูมิใจมาก 4 ปี 4 บาท


พอผมเข้าเรียนที่กรุงเทพ
ผมก็เดินตามรอยพี่ชาย ไปสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา
โดยมีพี่ชายคนเล็กคอยช่วยตลอด

พอไปอยู่วัดมหาพฤฒาราม คณะ 3 ก็มีลูกของน้าสาวอีกคน (พี่สว่าง การสูงเนิน) ไปบวชเรียนต่อจากน้าถาวร ผมจึงได้สิทธิ์อยู่อาศัยเป็นเด็กวัดต่อได้ ในสายเด็กโคราช ที่ตอนหลังก็มีญาติพี่น้องทางโคราชรุ่นไล่ๆกัน เดินตามเส้นทางของผมไปอยู่วัดนี้อีกหลายคน อย่างไม่ขาดสาย ตลอดมา จนลูกน้าผมสึกมาแต่งงาน ไม่มีใครไปบวชสืบทอดเพื่อรักษาสิทธิ์นี้ไว้ เส้นทางการพึ่งพาแบบเด็กวัดที่น้าผมได้ลงทุนเริ่มต้นและสร้างไว้ก็จบลง


ตอนไปอยู่วัดใหม่ๆ ไม่มีเด็กวัดสายบ้านผมอยู่เลย มีแต่สายทางแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ผมก็โดน "รับน้อง" อีกเช่นเคย ให้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ กว่าจะเข้ากับเขาได้ก็ใช้เวลานานทีเดียว

การไปเรียน
และอยู่วัดในกรุงเทพฯ เป็นมิติใหม่ของชีวิต ต้องใช้เสื้อผ้าสะอาด ซักผ้าทุกสัปดาห์
มีเงินจากพี่ชายให้อาทิตย์ละ 10 บาท เป็นค่าอาหารกลางวันกับอาหารเย็น
และค่าถ่านใส่เตารีดรีดผ้า ผงซักฟอกใช้กับพระ และเครื่องสังฆทาน

ที่ผมต้องเจียดเงินซื้ออาหารกลางวัน
50 สตางค์ ซื้อข้าวก็ไม่พอ เพราะข้าวจานละ 2 บาท เหลือไว้ซื้อกับข้าวตอนเย็นอีก 50
สตางค์  ก็หมดพอดีๆ ทุกสัปดาห์ แต่พอขึ้น
ชั้น ม.ศ. 2 โรงเรียนย้ายไปที่ข้างซอยเอกมัย ผมต้องออกเดินทางแต่เช้า
ไม่ได้ทานอาหารเช้า ต้องงด เพราะตอนนั้นพี่ชายผมให้เงินสัปดาห์ละ 20 บาท
รวมค่ารถเมล์ 5 วัน 2.50 บาท เหลือ 17.50 บาท ไว้เป็นค่าอาหาร ทั้ง 7 วัน
ข้าวจานละ 2 บาท ก๋วยเตี๋ยว 1.50 บาท ผมต้องจัดสับหลีกและกระจายไปใน 7 วัน
ให้มีอาหารทาน และพยายามทานอาหารเหลือจากพระให้มากที่สุด ที่อย่างมากก็ได้ช่วงวันหยุด
แต่มื้อเย็นก็ต้องช่วยตัวเอง อดบ้างทานบ้างจนชิน เพราะผมก็ไม่ทราบจะหาจากที่ไหนอีก
พ่อแม่ก็คงไม่มีไม่กล้าขอ กลับบ้านทีไรแม่ก็บ่นตัดหน้าเลย ว่า “วันนี้ถ้ามีคนเอาช้างมาขายตัวละบาท
แม่ก็ไม่มีเงินซื้อ” พี่ชายก็คงให้ได้เต็มที่แค่นั้น

 

ผมก็เฉยๆ
เรียนเต็มที่ เรามีแค่นั้น สู้เดินหน้าอย่างเดียว เปรียบไปก็เป็นรถที่ไม่มีเกียร์ถอยหลัง

ผลการเรียนผมก็ไม่ด้อยกว่าใครในโรงเรียนปทุมคงคา
จนถึงระดับได้รางวัลเรียนดี ก็มีในบางปี เรื่องนี้เพื่อนๆ ในโรงเรียนปทุมคงคา รุ่นสมัย
ปี พ.ศ. 2507- 2512 คงเป็นพยาน หรือยืนยันให้ได้

สมัยอยู่ชั้น ม.ศ. 3
ผมยังช่วยแต่งเพลงประจำโรงเรียน ที่ยังใช้ร้องในงานกีฬาโรงเรียนมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ผมไม่ได้ลงชื่อไว้ คงไม่มีใครทราบ แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร แค่จะบอกว่า ผมไม่เคยย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคที่มีในชีวิต

แต่กลับสู้เต็มที่
ทั้งช่วยเหลือตัวเองให้รอด และพยายามจะช่วยงานสังคม เมื่อมีโอกาสเท่านั้น

นี่คือชีวิตเด็กวัด
ที่ผมมีความจำเป็นในชีวิต ที่ต้องก้าวผ่านมา ด้วยความยากลำบาก แต่ก็คิดว่ายังดีกว่าคนที่มีโอกาสน้อยกว่าผม

คิดได้อย่างนี้ก็สบายใจครับ

หมายเลขบันทึก: 511505เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2012 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ชีวิตที่ต้องสู้ เป็นแบบอย่าง ที่ดีคะอาจารย์

ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะ ที่เอาประวัติชีวิตมาเล่าสู่กันฟัง เป็นแบบอย่างที่ดีมากๆสำหรับคนรุ่นใหม่ๆนะคะ น่าจะได้เผยแพร่ให้เป็นกำลังใจสำหรับเด็กๆทั้งหลายทั้งคนที่มีโอกาสดีๆและด้อยโอกาส ความตั้งใจจริงและการปรับตัวทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ น่านับถือและชื่นชมมากๆค่ะ ขอคารวะจริงๆ

หนึ่งในเพชรแท้ทางด้านความคิดและประสบการณ์ำสำหรับผมในวันนี้คืออาจารย์แสวง รวยสูงเนิน ที่จริงผมเพิ่งมีโอกาสติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ต้องขอบคุณเทคโนโลยี่สารสนเทศที่ให้ความสะดวกในการเชื่อมโยงความคิดและข้อมูลดี ๆ

อ่านชีวิตวัยเด็กของอาจารย์แล้วทำให้คิดถึง "บักคูน" ใน"ลูกอีสาน" ของท่่านคำพูน บุญทวี แต่ "บักคูณ" ท่านนี้ทันสมัยและมีความรู้กว้างขวางรอบด้าน เป็นตำนานเด็กบ้านนอกจน ๆ สู้ชีวิตคนหนึ่งจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนหลายคนในวันนี้

หนึ่งในเพชรแท้ทางด้านความคิดและประสบการณ์ำสำหรับผมในวันนี้คืออาจารย์แสวง รวยสูงเนิน ที่จริงผมเพิ่งมีโอกาสติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ต้องขอบคุณเทคโนโลยี่สารสนเทศที่ให้ความสะดวกในการเชื่อมโยงความคิดและข้อมูลดี ๆ

อ่านชีวิตวัยเด็กของอาจารย์แล้วทำให้คิดถึง "บักคูน" ใน"ลูกอีสาน" ของท่่านคำพูน บุญทวี แต่ "บักคูน" ท่านนี้ทันสมัยและมีความรู้กว้างขวางรอบด้าน เป็นตำนานเด็กบ้านนอกจน ๆ สู้ชีวิตคนหนึ่งจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนหลายคนในวันนี้

ครับ ขอบคุณครับ ที่มาให้กำลังใจ กำลังเขียนอีกหลายตอนนะครับ อย่าเพิ่งเบื่อก่อนนะครับ

เข้ามาอ่านช้าๆอีกรอบค่ะอาจารย์

การเล่า การร้อยเรียงเรื่องราว รวมทั้งการใช้ภาษาไทยของอาจารย์ ใช้เป็นแบบเรียนได้อย่างดีเลยนะคะ

เนื้อหาก็เข้มข้นปนเกร็ดชีวิตที่อ่านแล้วต้องยิ้มม อิ่มเบิกบานใจในสาระของการเผชิญความลำบาก

รู้สึกเหมือนช่วงอ่านหนังสือวรรณกรรมชุด "บ้านเล็ก" ของคุณครูลอร่า อิงกัลส์เลยค่ะ

อยากร้องขอให้อาจารย์เว้นวรรคพักชุดความรู้เรื่องพระเครื่อง มาเขียนประวัติต่อจังเลยค่ะ

อาจารย์ขมวดวิถีชีวิตจบที่เรื่องสุขภาพลงตัว แต่ก่อนหน้านี้อีกนับสิบๆปี ยังถอดความจำได้อีกหลายตอนนะคะ

คงเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ดีของตัวเอง ที่จะค่อยๆทยอยตามอ่านช้าๆ...เข้ากับบรรยากาศพอดีเลยค่ะ

กราบขอบพระคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท