แรงงานกัมพูชา ทำไมถึงน่าสนใจ


“Made in …” จากประเทศไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป ขอเพียงให้ดูสินค้าที่ผลิตจากประเทศเหล่านั้นว่ามีมาตรฐานหรือไม่ก็เพียงพอ


หากพูดถึงระบบทุนนิยม แรงงานถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องนึกถึง เพราะว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ แต่ก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งเท่านั้น แรงงานต้องพึ่งพานายทุน และด้วยจำนวนแรงงานที่มีอย่างมากมาย จึงมักถูกกดขี่จากนายจ้างเพื่อให้ธุรกิจที่ตนลงทุนได้ผลกำไรสูงสุด

สำหรับอาเซียน เรามีแรงงานในวัยทำงานรวมกันประมาณ 307 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 601 ล้านคน ในจำนวนนี้ อินโดนีเซียมีแรงงานมากถึง 120 ล้านคน รองลงมาคือเวียดนาม 52.6 ล้านคน ฟิลิปปินส์และไทยมีประเทศละประมาณ 40 ล้านคน พม่า 28.4 ล้านคน มาเลเซีย 12.2 ล้านคน กัมพูชา 8.1 ล้านคน สปป.ลาว 3.2 ล้านคน สิงคโปร์ 2.9 ล้านคน และบรูไน 0.2 ล้านคน

แรงงานเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ แรงงานระดับสูงที่มีทักษะ (skilled labour) หรือแรงงานวิชาชีพที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งในอาเซียนได้มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วม หรือ MRA เรียบร้อยแล้ว จึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เนื่องจากข้อตกลงนี้กำหนดให้มีการรับรองคุณสมบัติวิชาชีพภายในอาเซียน เพื่อสร้างมาตรฐาน และช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ

ส่วนอีกระดับหนึ่งคือ แรงงานระดับต่ำ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labour) ที่มีการศึกษาระดับมัธยมต้นและต่ำกว่า และแรงงานกึ่งมีทักษะ (semi-skilled labour) ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายและสูงกว่า รวมถึง ปวช. และ ปวส. แรงงานระดับล่างนี้มีปริมาณมาก และมักมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน กลายเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งเหตุผลหลักในการเลือกออกนอกประเทศ คือแรงงานมีการศึกษาต่ำ หางานในประเทศไม่ได้ จึงตัดสินใจเดินทางออกไปทำงานนอกประเทศ เนื่องจากประเทศที่เลือกไปทำงานให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อเปิดเสรีการค้าอาเซียน ปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่ หรืออาจจะรุนแรงกว่าเดิม เพราะอาเซียนยังไม่ได้กำหนดแนวทางเรื่องแรงงานต่างด้าวชัดเจนนัก ทางที่ดีสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจึงควรจูงใจด้วยระเบียบที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานจากประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง เช่น การประกันค่าแรงขั้นต่ำ การจัดการระบบสวัสดิการแรงงาน เป็นต้น

หากพิจารณาข้อมูลแรงงานในเชิงเปรียบเทียบ เมื่อมองในมุมของผู้ใช้แรงงาน ประเทศที่สามารถดึงดูดแรงงานในภูมิภาคได้ คือประเทศที่มีค่าแรงสูงแต่ค่าครองชีพต่ำ ส่วนในมุมมองของนักลงทุน ก็จะมองว่าประเทศไหนที่มีค่าแรงถูก แรงงานมีผลิตภาพต่อหัวสูง มีจำนวนแรงงานมากพอ จะเป็นประเทศที่เหมาะแก่การตั้งฐานการผลิตในภูมิภาค

ดังนั้น ประเทศที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ตามหลักการที่กล่าวมา ก็คงหนีไม่พ้นประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน หรือ CLMV แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศจะพบว่า เวียดนามน่าสนใจที่สุด เพราะมีแรงงานเหลือเฟือ แถมยังมีค่าแรงต่ำ นั่นหมายความว่าประเทศที่มีทุนหนาอย่างญี่ปุ่นและจีนย่อมเข้ามาจับจองไว้หมดแล้ว รองลงมาคือแรงงานพม่า แต่อีกไม่นานก็จะถูกดึงกลับประเทศเพื่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังมีความต้องการอีกมาก

สำหรับแรงงานจากลาวและกัมพูชา ผมคิดว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ต่างก็น่าสนใจ เพราะมีปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติหลายอย่าง แต่ที่ผมสนใจจริงๆ น่าจะเป็นแรงงานจากกัมพูชา เพราะมีจำนวนแรงงานที่มากพอสมควร แถมยังมีแนวโน้มที่ดีในการยกระดับมาตรฐานแรงงานอีกด้วย

จากข้อมูลของสถาบันสถิติแห่งชาติ (National Institute of Statistics) ของกัมพูชา ระบุว่า ในปี ค.ศ.2011 กัมพูชามีประชากรในวัยทำงาน (ช่วงอายุ 15 – 64 ปี) รวม 9,038,000 คน อยู่ในตลาดแรงงาน 7,907,000 คน เป็นแรงงานภาคการเกษตร 55.8% ภาคอุตสาหกรรม 16.9% และภาคบริการ 27.3% ลองคำนวณอัตราการขยายตัวของจำนวนแรงงานอยู่ที่ 4.5% ต่อปี หรือในแต่ละปีจะมีแรงงานเข้าสู่ตลาดกว่า 300,000 คน แต่แรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมต้น ซึ่งถ้าหากแรงงานเหล่านี้ได้รับฝึกอบรมอย่างดี ก็จะสามารถทำงานได้ดี

นอกจากนี้ กฎหมายแรงงานของกัมพูชาที่ออกเมื่อปี ค.ศ.1992 และ ค.ศ.1997 ได้ให้การคุ้มครองการใช้แรงงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการนำเอามาตรฐานแรงงานสากล หรืออนุสัญญาแรงงานที่สำคัญๆ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เข้ามาบรรจุไว้ในกฎหมายแรงงานฉบับนี้ ซึ่งให้สิทธิแรงงานใน 4 ประเด็น ได้แก่ การไม่ให้ใช้แรงงานภาคบังคับ การไม่ใช้แรงงานเด็กอย่างไม่ถูกต้อง การเคารพและยอมรับในสิทธิในการรวมตัวกันและเจรจาต่อรองของคนงาน และการไม่เลือกปฏิบัติ

ขณะเดียวกันรัฐบาลกัมพูชาก็พยายามส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน เช่น การให้ ILO เข้ามาดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกภายใต้โครงการ Better Factories Cambodia เพื่อทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และมาตรฐานแรงงานสากล โดยจัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจโรงงาน ดังนั้น ความพยายามนี้จึงถือเป็นการจูงใจให้แรงงานกัมพูชาหันกลับมาทำงานในประเทศมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ที่ให้หลักประกันนักลงทุนต่างชาติในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับนิติบุคคลกัมพูชา ไม่มีการยึดโครงการลงทุนมาเป็นของรัฐ ไม่มีการควบคุมหรือการกำหนดราคาสินค้าและบริการของผู้ลงทุน รวมถึงสามารถส่งออกรายได้จากการลงทุนออกนอกประเทศได้

เมื่อหันมามองไทย ปัจจุบันเรามีการกำหนดนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำให้นักลงทุนไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และเอสเอ็มอีบางส่วนไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ จึงทยอยย้ายฐานออกไปลงทุนในกัมพูชา เพราะมีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า ประมาณเดือนละ 70 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,240 บาท และแรงงานกัมพูชาเริ่มไม่ต้องการย้ายออกนอกประเทศเพื่อเข้ามาทำงานในไทย เพราะรัฐบาลกัมพูชากำลังแก้ไขกฎหมายแรงงานและการลงทุนเพื่อจูงใจให้แรงงานกัมพูชาทำงานในประเทศของตนเป็นหลัก เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากทั่วโลกที่กำลังจะเข้าไปในกัมพูชาเช่นกัน

ส่วนเรื่องคุณภาพ หลายคนยังกังวลว่า การยกมาตรฐานแรงงานให้สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน แต่จากการศึกษาพบว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การส่งเสริมมาตรฐานแรงงานจะทำให้กัมพูชาสามารถปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมของตนไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานที่มีทักษะได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนในระยะยาว

สุดท้ายขอฝากเอาไว้ว่า สินค้าที่ติดป้าย “Made in Cambodia” ที่บางคนมองว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ใช่ของแท้ แต่อย่าลืมว่าโลกเรานั้นเปลี่ยนไป สินค้าส่วนใหญ่ของประเทศที่เจริญแล้วได้ถูกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกำลังพัฒนาจนเกือบหมด ด้วยเหตุผลของการประหยัดต้นทุนแรงงาน ฉะนั้น “Made in …” จากประเทศไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป ขอเพียงให้ดูสินค้าที่ผลิตจากประเทศเหล่านั้นว่ามีมาตรฐานหรือไม่ก็เพียงพอ


พันธ์รบ ราชพงศา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
คอลัมน์ "รู้เขา รู้เรา รู้อาเซียน" กรุงเทพธุรกิจ ASEAN+
ปีที่ 2 ฉบับที่ 56 วันอังคารที่ 16 ตุลาคม 2555 หน้า 2

หมายเลขบันทึก: 511222เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2012 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท