สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ : ดุจพระหัตถ์โอบป้องปวงไทย


 

 ในห้วงช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปีพ.ศ. 2554 นี้ ประชาชนเกือบทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมอันเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติยิ่งนักในรอบหลายสิบปีมานี้ หากแต่ความเดือดร้อนและความเสียหายดังกล่าวอาจจะมากกว่านี้ ถ้ามิได้มีผู้ที่ช่วยเหลือในการบรรเทาความเสียหาย ซึ่งนั่นก็คือ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” ซึ่งได้ที่ทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิในการช่วยเหลือและบรรเทาอุทกภัยของพี่น้องประชาชน โดยเขื่อนแห่งนี้ได้เก็บกักน้ำไว้อย่างเต็มความสามารถ หากแต่ในคราวนี้ก็สุดความสามารถจริงๆ แม้ว่าจะป้องกันน้ำมิให้ท่วมไว้ไม่ได้ แต่เขื่อนก็ได้ผ่อนวิกฤตการณ์น้ำท่วมจากหนักให้เป็นเบาได้

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของผม ณ ตอนนี้ก็คือความตระหง่านของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนดินกักเก็บน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม สืบเนื่องจากปัญหาการเกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน อันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2537
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เปิดโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักภายหลังการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่า
5 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2542
และทำพิธีปฐมฤกษ์กักเก็บน้ำเขื่อนในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จมาเป็นองค์ประธาน และในวันที่ 7
ตุลาคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์"
อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในวันที่
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542


นอกจากนี้ พระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงมีพระราชประสงค์โดยนัยสำคัญ ในการสร้างเขื่อนป่าสักนั้น นั่นก็คือ เพื่อเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ดังจะเห็นเป็นประจักษ์ได้จากพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ความตอนหนึ่งว่า

ไปไหนได้เอ่ยถึงเขื่อนป่าสัก คนเดียวทำไม่ได้
หรือแม้แต่หน่วยราชการหนึ่งเดียวทำไม่ได้ เขื่อนป่าสักนี้เริ่มต้นด้วยเป็นกิจการของกรมชลประทาน
แต่ว่าให้กรมชลประทานแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็จึงต้องรวบรวมกำลังและกลายเป็นกิจการของรัฐบาลเป็นส่วนรวมถ้าจะว่ารัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลเดียว แต่ว่ารัฐบาลหลายรัฐบาลต้องทำ แล้วก็เงินทองนั้นก็เป็นกิจการที่ใช้เงิน ทำไปทำมาแต่ก่อนอาจจะไม่แพง แต่ตอนหลังก็แพง เกิน
2 หมื่นล้าน เป็นจำนวนเงินที่ไม่ใช่น้อย ดูจะเป็นเงินที่หายาก แล้วทำไมมาทำ แต่ที่สนับสนุนให้ทำ เพราะว่าเขื่อนป่าสัก อย่างที่นายกฯได้กล่าว มีประโยชน์มาก แม้จะยังไม่ได้ส่งน้ำสำหรับการเกษตรแท้ๆ แต่ว่าได้ทำประโยชน์ ปีนี้เดือนตุลา
พฤศจิกา เขากลัวน้ำท่วม และบอกไว้แล้วโครงการป่าสักมีไว้สำหรับน้ำแห้ง และมีไว้สำหรับน้ำเปียก น้ำมากน้ำเกินมันก็เปียก ทำให้มีความเสียหาย เสียหายทั้งทางเกษตรคือถ้าสิ่งที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมก็เน่า เมื่อเน่าแล้ว เจ้าของคือเกษตรกรก็ไม่มีรายได้ ต้องช่วยเขา เขาก็ต้องช่วยตัวเองด้วย เสียหายมาก ในด้านอื่น ในกรุง ในเมืองก็มีน้ำมากไม่ได้ประโยชน์ ก็ล้นมาท่วมถนน การจราจรติดขัด ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงักเสียหาย ความเสียหายเหล่านี้หลังคำนวนดู หมื่นล้าน เมื่อปี 26 หรือที่น้ำท่วมคำนวนดูแล้วรัฐบาลต่างๆ ในระยะโน้นต้องมีงบประมาณไปช่วยเกษตรกร งบประมาณสูบน้ำออกจากถนนออกจากกรุงคิดแล้วเป็นเงินก็ประมาณหมื่นล้าน แต่ความเสียหาย อย่างอื่นเป็นมลพิษ คือเครื่องที่สูบก็ต้องใช้น้ำมันหรือถ้าไม่ได้ใช้น้ำมันก็ต้องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้าต้องผลิตด้วยเชื้อเพลิงที่สร้างมลพิษ ส่วนมากเป็นอย่างนั้น เชื้อเพลิงที่ผลิตด้วยกำลังพลังงานที่ไม่มีมลพิษ เช่น พลังน้ำ มีน้อย เปรียบเทียบกับพลังงานที่ใช้ เช่น มีน้ำมันหรือลิกไนต์ ทำมลพิษมากก็เสียหายทับถมไปอีก มันเกินหมื่นล้าน

ถ้านับดูปีนี้ที่น่าจะมีความเสียหายหมื่นล้าน ไม่ต้องเสีย ที่ไม่ต้องเสียนี้ก็ทำให้เกิดมีผลผลิต โดยเฉพาะอย่างเกษตร เขามีผลผลิตได้ แม้จะปีนี้ ซึ่งเขื่อนยังไม่ได้ทำงานในด้านชลประทาน ก็ทำให้ป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ ก็เป็นเงินหลายพันล้าน ฉะนั้นในปีเดียวเขื่อนป่าสักนี้ได้คุ้มแล้ว คุ้มค่าที่ได้สร้าง 2 หมื่นล้านนั้นค่าสร้างตัวเขื่อนและส่วนประกอบต่างๆ ไม่ถึงพันล้าน


ที่มากเพราะว่าต้องไปชดเชย และต้องไปเลื่อนถนน เลื่อนรถไฟ ไม่ใช่เฉพาะเขื่อน การที่จะชดเชยให้กับผู้ที่มีที่ ก็ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น วันนั้นที่ไปเปิดเขื่อนได้บินเฮลิคอปเตอร์ไปดูขอบของอ่าง ก็เห็นบ้านที่เขาสร้างให้ผู้ที่ย้ายมาจากที่เสียหาย เขาก็สร้างบ้านได้อย่างดี คุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับชดเชยก็ดีขึ้น หมายความว่ากิจการเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน แต่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ก็พอเพียงเพราะว่าถ้าทำแล้ว คนอาจจะเกี่ยวข้องกับกิจการนี้มากมาย ทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์และจะทำให้เจริญ


อีกข้อหนึ่งการที่สร้างเขื่อนป่าสักนี้ เป็นกิจการที่กว้างขวาง ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ไปขุดดินมาถม หรือของผู้ที่เป็นวิศวกรที่ออกแบบหรือเป็นผู้ที่จะทำงานมาเปิดปิดประตูน้ำ เพื่อควบคุมน้ำ
เป็นการร่วมมือระหว่างคนหลายจำพวก หลายอาชีพ บางคนก็ไม่ใช่วิศวกร บางคนเป็นผู้ที่ดูแล คือเป็นผู้ปกครอง ฝ่ายปกครองคือฝ่ายจังหวัดอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ จนกระทั่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกคนมีส่วน แต่ว่าถ้ากิจการที่ทำนี้ไม่มีนโยบายที่แน่วแน่ที่สอดคล้องกัน ถ้ามัวแต่ทะเลาะกัน ไม่สำเร็จ ไม่สำเร็จถือว่าไม่ได้ประโยชน์จากกิจการที่คิด เมื่อไม่ได้ประโยชน์จากกิจการที่คิดป่านนี้เราจะจนลงไป เงิน
2 หมื่นล้านที่ไปลงกับการสร้างนั้นก็หมดไปแล้ว หมดไปโดยไม่มีประโยชน์ หมดไปโดยได้ทำลาย เพราะว่าเดือดร้อน เกษตรกรเดือดร้อน ชาวกรุงเดือดร้อน ฉะนั้นต้องมีเหมือนกัน โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่ต้องมีการสอดคล้องกันดี ที่ไม่ใช่เป็นแต่เหมือนทฤษฎีใหม่ 15 ไร่ แล้วก็สามารถจะปลูกข้าวพอกิน นี่ใหญ่กว่า แต่อันนี้ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสัก คนนึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ไกลจากเศรษฐกิจพอเพียงอันนี้เป็นตัวอย่างในทางที่บวก


และนี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่พระองค์ท่านทรงบำเพ็ญมาด้วยสายพระเนตรที่ทอดยาวไกลของพระองค์ท่าน ทุกพระราชกรณียกิจล้วนแล้วแต่มิได้เป็นไปด้วยเพราะพระเกษมสำราญหรือความสุขส่วนพระองค์ แต่เป็นไปเนื่องด้วยเพราะความสุขแห่งพสกนิกรของพระองค์ท่านต่างหาก พระองค์ท่านทรงงานโดยมิได้รู้จักเหน็ดเหนื่อยใดๆ และเป็นประจักษ์แก่สายตาของแประชาคมโลกว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงพระปรีชาสามารถ นำพาประเทศชาติเจริญพัฒนา และพ้นภัยพิบัติได้ในทุกครา ยากที่จะหาผู้ใดมาเทียบเทียมพระองค์ได้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเป็นดั่งพระหัตถ์ของพ่อที่คอยโอบป้องลูกๆ ซึ่งก็คือปวงประชาชนชาวไทย มิให้ได้รับทุกข์ร้อนใดๆ และคอยบันดาลความสุขให้กับลูกๆ ทั้งหลาย นับว่าเป็นบุญของประเทศไทยโดยแท้

ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

หมายเลขบันทึก: 511091เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2012 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  •   พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเป็นดั่งพระหัตถ์ของพ่อที่คอยโอบป้องลูกๆ
  • ซึ่งก็คือปวงประชาชนชาวไทย มิให้ได้รับทุกข์ร้อนใดๆ
  • และคอยบันดาลความสุขให้กับลูกๆ ทั้งหลาย
  •  นับว่าเป็นบุญของประเทศไทยโดยแท้
  •  ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
  • มีภาพพ่อดีเด่นมาฝากค่ะ
  •  

ขอบคุณครับ สำหรับความเห็น รักในหลวงกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท