ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และการปาฐกถาพิเศษที่ มวล.


ชีวิตในยุคอาเซียนและยุคโลกาภิวัฒน์ ไม่ต้องการให้คนจำ ต้องการให้คนคิด วิเคราะห์

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เวลา 13.30-15.00 น. ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมอาเซียน ได้มาปฐากถาพิเศษเรื่อง การขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน ณ ห้องประชุม 203 อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ก่อนถึงเวลาของการปาฐกถา ดร.สุรินทร์ ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่อาคารบริหาร มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมอยู่ด้วย บรรยากาศการพูดคุยในโต๊ะอาหารเป็นไปอย่างเป็นกันเอง เราได้ความรู้เพิ่มเติมว่าเลขาธิการสมาคมอาเซียนนั้นจะหมุนเวียนมาจากประเทศต่างๆ ตามลำดับตัวอักษร มีวาระครั้งละ 5 ปี กว่าจะเวียนมาถึงวาระของประเทศไทยอีกครั้งก็อีกประมาณ 45 ปีข้างหน้า (หากไม่มีประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น)

เราคุยกันเรื่องว่ามีหมอดูสมัครเล่นทำนายอนาคตของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับ ดร.สุรินทร์ไว้อย่างไรบ้าง ทำให้อาหารกลางวันที่อร่อยอยู่แล้วมีรสชาติมากยิ่งขึ้น

เมื่อได้เวลาพวกเราจึงได้เดินทางไปที่ห้องประชุม พบว่ามีแขกจากภายนอกเข้ามาร่วมงานด้วยจำนวนมาก ดร.กรีรัตน์ สงวนไทร อธิการบดีฯ กล่าวต้อนรับ และชื่นชมว่า ดร.สุรินทร์ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศว่าได้ทำให้อาเซียนมีจุดยืนที่ชัดเจน สร้างมาตรฐานการทำงานที่สูง เป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยและชาวนครศรีธรรมราช หลังพ้นวาระ ดร.สุรินทร์จะใช้เวลาในการสนับสนุนภาควิชาการ

ต่อจากนั้นเป็นการแสดงระบำนกกรงหัวจุก จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ นครศรีธรรมราช นกกรงหัวจุกหรือนกปรอท เป็นนกเศรษฐกิจ วิทยาลัยฯ ได้เอากิริยา/อิริยาบทของนกมาถ่ายทอดเป็นระบำ



ระบำนกกรงหัวจุก

เวลา 13.35 น. ผศ.ดร.อัญชลี ชยานุวัชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ได้กล่าวแนะนำประวัติและผลงานของ ดร.สุรินทร์ ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวนครศรีธรรมราชและเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ ท่านจบจาก รร.กัลยาณีฯ ได้รับทุน AFS ไปที่ Minnesota, US เรียนที่ธรรมศาสตร์ ได้รับทุนไปศึกษาที่อเมริกา จบจาก Harvard University เป็น สส. มา 7 สมัย เคยเป็น รมช. รมว....เป็นผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยมและเป็นผู้รอบรู้...เป็นคนไทยคนที่ 2 ต่อจากนายแผน วรรณเมธี ที่ได้เป็นเลขาธิการสมาคมอาเซียน

ดร.สุรินทร์ เปิดการปาฐกถาว่าวันนี้ตั้งใจจะมาพูดกับเด็ก แต่ (ผู้เข้าประชุม) เป็นเด็กอายุมากไปนิด...การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต้องเตรียมกับองคาพยพทุกระดับ ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เรียน ผู้สร้างครอบครัว เพราะการศึกษาเท่านั้นจะช่วยสร้าง....



ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

สมาคมอาเซียนเป็นความคิดของนักการฑูตไทย พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ ที่ให้ไว้กับโลก เป็น intellectual property ของไทย มรดกทางการฑูตของไทย ในปี 2510 หลายประเทศเพิ่งหลุดจากการเป็นอาณานิคม ไทยจึงเป็นผู้นำเขาได้ ถึงวันนี้เราไม่นำเพื่อนแล้ว ขึ้นเวทีไม่มีอะไรใหม่ไปนำเสนอ ไม่มีอะไรไปขับเคลื่อนการฑูต

ในปี 2050 จะมีมนุษย์ 9,000 ล้านคน จะเอาข้าวที่ไหนกิน นอกจากจะส่งออกเป็นที่ 1 ไม่ได้แล้ว จะผลิตไม่พออีกด้วย มีปัญหาเรื่องทรัพยากร

พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โลกทั้งโลกให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นคำตอบ ได้แรงดลใจจากพุทธศาสนา จะไปใช้ทรัพยากรของโลก ต้องจำกัดกิเลสความต้องการ ถึงขนาด UNDP ส่งโคฟี่ อันนัน ใส่พานถวาย...ตระหนักถึงความสำคัญของแนวความคิดนี้ คนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่ควรเป็น substance ของการฑูตไทย

เรากำลังหลงว่าได้มากใช้มากเกินเป็นเรื่องที่ดี... เล่านิทานแนวคิดตะวันตก ตะวันออก เรื่องการแก้ปัญหากองทัพม้าเดินป่าแล้วถูกหนามตำ แบบกรีกและอินเดีย กรีกให้ทหารฆ่าสัตว์ 4 เท้าแล้วเอาหนังมาปูเป็นถนนให้กองทัพม้าเดิน...ฤาษีแนะว่าฆ่าอย่างพอเหมาะได้ไหม ฆ่าตัวเดียวแล้วเอาหนังมาทำรองเท้าให้ม้า...แนวคิดตะวันตก = ควบคุมธรรมชาติ แต่พระพุทธเจ้าให้ทำตัวให้เข้ากับธรรมชาติ... ตอนนี้กลับกัน ตะวันตกพยายามรักษาทรัพยากร การศึกษาเท่านั้นที่จะยับยั้งการทำลาย ที่จะยับยั้งวิกฤติของโลก

อาเซียนคิดขึ้นมาว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ประคับประคองให้มี...จึงกลายเป็นองค์กรอาเซียน ตั้งอยู่บน 3 เสาหลัก (ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน)...สงบ ไม่ทะเลาะกัน ยกตัวอย่างกรณี เขมร-ไทย อาเซียนอยู่เบื้องหลังให้เกิดความสงบ

ดร.สุรินทร์ เชื่อในพลังของการศึกษา ชีวิตในวัยเด็กอยู่ที่บ้านนอก... แต่สามารถก้าวไปยืนและทำงานระดับนี้ได้... ชื่อสุรินทร์ได้มาจากยายไปจ่ายตลาดที่ตลาดยวนแหล ไปเจอคุณสุรินทร์ มาศดิตถ์หาเสียงอยู่ เลยมาตั้งชื่อนี้ให้

กระทรวงศึกษาเป็นกระทรวงสร้างชาติ พัฒนาคน transform ชาติ ไม่ใช่ที่ที่จะไปหากิน เวลาเห็นเด็กเดินเท้าเปล่า อยากบอกเด็กว่า “ถ้าลุงทำได้ หนูก็ทำได้”

อาเซียนเป็นโอกาส แต่เป็นโอกาสของคนที่พร้อมที่จะแข่งขัน... 8 สาขามี mutual recognition ระหว่างกัน เคลื่อนย้ายได้ในพื้นที่ของอาเซียน เปิดแล้วและไม่ได้เปิดทางเดียวให้เราออกไปข้างนอก แต่คนที่อื่นก็เข้ามาได้ เราพร้อมจะผลิต the best ไปขึ้นเวทีหรือเปล่า ปัญหาอยู่ที่ว่าเราพร้อมจริงหรือไม่ เรา excellence จริงหรือเปล่า ปัจจุบัน mobility สูงมาก เปลี่ยนได้ตลอดเวลา บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนตลอดเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องสอนเด็กให้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา ไม่ใช่ท่องจำ

เดี๋ยวนี้ทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์ (มือถือ) เครื่องเดียว... ทักษะวิเคราะห์ ใช้ข้อมูล เอามาใช้ในการตัดสินใจ ...การสอนของโรงเรียนในต่างประเทศ อาจารย์ 4 คนให้การบ้านเด็กเขียนเรื่องไททานิค paper เดียว อาจารย์ภาษาอังกฤษตรวจการเขียนภาษาอังกฤษ อาจารย์วิทยาศาสตร์ให้อธิบายปรากฏการณ์ภูเขาน้ำแข็ง กระแสน้ำ อาจารย์คณิตศาสตร์ให้ใช้สูตรคำนวณมวลน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง สัดส่วนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่หนือน้ำ ใต้น้ำ อาจารย์ทางสังคมศาสตร์ให้อธิบาย background ของคนที่อยู่ในแต่ละชั้นของเรือ เด็กต้องคิด ค้น หาข้อมูลเอามาร้อยเรียง

ลองย้อนกลับมาโรงเรียนบ้านเรา เขาจะถาม multiple choices ถามความจำ ข้อสุดท้ายถูกทุกข้อ คนจะเลือกเพราะไม่ได้คิด เป็นความแตกต่างของการถาม-การตอบ

ชีวิตในยุคอาเซียนและยุคโลกาภิวัฒน์ ไม่ต้องการให้คนจำ ต้องการให้คนคิด วิเคราะห์... เราต้องเตรียมลูกศิษย์เพื่ออาชีพ 4 อาชีพ เพราะเขาจะไม่ทำอาชีพเดียว ถ้าสอนให้จำเขาจะปรับตัวไม่ได้ อาเซียนจะเลื่อนไหลกว่า เปลี่ยนเร็วกว่า คนรุ่นใหม่ยุคอาเซียนต้องมีความสามารถหลายด้านพร้อมๆ กัน multifunctional ไม่ใช่ monofunctional … ชีวิตคนจะยาวขึ้น เป็นสัจธรรม เพราะการแพทย์ดีขึ้น ทางเลือกในชีวิตมีมากขึ้น

การสัมมนาในต่างประเทศ ถ้าไปสิงคโปร์ คน 400 คน ใช้คน 2 คน ต่างจากบ้านเราที่ใช้คนเยอะ เพราะทำ multifunctional ไม่เป็น

คำว่าเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่รู้เพื่อรู้ แต่เป็นรู้เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง เรียนให้ชีวิตดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เรียนเพื่อพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ กำลังสนใจเรื่อง Liberal Art ในสหรัฐอเมริการก่อนจะไปเรียนอะไรต้องจบ Liberal Art ก่อน เราไม่มีทรัพยากรมากพอจึงทำอย่างนั้นไม่ได้...

คนไทยต้องเตรียมตัวอะไรบ้างในการเข้าสู่อาเซียน

  • Mind set เช่น พร้อมต่อการย้ายถิ่นฐาน พร้อมจะไปร่วมมือหรืออยู่กับคนอื่นที่แตกต่างจากเรา (วิธีคิด วิธีมอง) ถ้าเราอยู่กับที่ เราจะสู้เขาไม่ได้ เคารพคนอื่น วิถีของคนอื่น
  • ภาษา ความสามารถในการสื่อสาร ผลประโยชน์ของประเทศต้องไปสู้กันในต่างประเทศ จะนำเสนออะไรต้องไปขึ้นเวทีต่างประเทศ ต้องไปโตนอกประเทศแล้วส่งกำไรกลับบ้าน เศรษฐกิจต้องมาจากข้างนอก ต้องพร้อมที่จะไปแข่งขันกับคนอื่น จะแข่งขันได้ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ต้องไปฟื้นภาษา (บางภาษาดั้งเดิม) ให้สื่อสารกับอาเซียนได้ ประเทศต้องเปิด คนไทยต้องพร้อม
  • ความเป็นเลิศทางวิชาการ Excellence เท่านั้นที่จะการันตี ที่จะช่วยให้อยู่รอด ต้องเปิดตัวเอง ต้องสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ ต้องแลกเปลี่ยน talent… จะ motivate เด็กอย่างไร จะ motivate ครอบครัวอย่างไร ให้การศึกษาเป็นวาระสำคัญสูงสุดของครอบครัว ถ้าพ่อแม่ทำได้งานของมหาวิทยาลัยจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง ต้องสร้างค่านิยม motivate เด็กตั้งแต่ต้น แต่ในสังคมไทย บุหรี่ เหล้า การพนันของพ่อ เป็นวาระที่ 1 ของหลายครอบครัว
  • คนไทยต้องมีความทะเยอทะยานในการที่จะให้ลูกหลานบรรลุจุดสูงสุดตามศักยภาพที่เขามี ทำอย่างไรให้พ่อแม่และผู้จัดการศึกษาตระหนักว่าถ้าทำได้คือความสำเร็จของสังคม (เป็นปรัชญาการศึกษา) เอาศักยภาพข้างในออกมา... ไม่ยอมจำกัดจุดสุดยอดของลูก อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ หรือคนที่เป็นได้เพราะมีข้อยกเว้น เป็น exception ต้องทำให้เป็น generality

Self interest มีกฏเกณฑ์ ต่างจาก selfishness

กฏบัตรอาเซียน ทำให้อาเซียนมีความหวัง การต่อสู้เพื่อประเทศชาติต่อไปนี้ต้องทำในเวทีต่างประเทศ ไม่อย่างนั้นประเทศนี้จะประสบปัญหา เวลายังมีพอที่จะเปลี่ยนเกียร์เพื่อที่จะให้ไปถึงเส้นชัย เรานำหน้าคนอื่นเรื่องอาเซียน แต่ตอนนี้ประเทศอื่นกำลังจะเข้าเส้นชัย

ปิดท้ายด้วยเนื้อเพลง (และเสียงร้อง) ในหนังเรื่อง The Sound of Music ที่แม่ชีบอกให้ Maria จงปีนป่ายภูเขาทุกลูก เดินทวนกระแสน้ำทุกสาย ตามสายรุ้งทุกเส้น จนกว่าจะพบความฝันของเธอ... ให้เอาสิ่งนี้ให้เด็ก และให้เด็กเอาไปให้พ่อแม่

ความฝันของคนอาเซียนตอนนี้คือ The ASEAN Community คนไทย คนนครศรีธรรมราช พร้อมหรือยัง

ปาฐกถาจบลงด้วยเสียงปรบมือดัง พร้อมแฟนๆ ต่อคิวรอถ่ายรูปกับ ดร.สุรินทร์ กันหลายกลุ่ม

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 511038เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2012 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท