ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

ปฏิบัติการตามหาส้มแท้…พันธุ์บางมดต้นสุดท้าย


ก่อนที่ “ส้มบางมด” จะเหลือเพียงแค่ชื่อ คงต้องปลูกรากฐานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นโดยสร้างจิตสำนึกหวงแหน และรักษาของดีประจำถิ่น รากฐานนี้จะเป็นรากแก้วที่แข็งแกร่ง ทำให้ดินดีพลอยอุดมสมบูรณ์ไปด้วย

ปฏิบัติการตามหาส้มแท้

พันธุ์บางมดต้นสุดท้าย


 “ส้มบางอะไรอร่อยที่สุด” คำถามยอดฮิตสุดกวนในอดีต แต่สำหรับผู้ที่จริงจังคำตอบแรกนั้นคงไม่พ้น “ส้มบางมด” ด้วยเหตุที่ว่าเป็นส้มเขียวหวานที่อร่อยที่สุดด้วยเอกลักษณ์ที่รูปไม่สวยแต่เนื้อแสนหอมหวานไม่มีใครปฏิเสธได้เลย

“ส้มบางมด” เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ส้มที่ทุกคนคุ้นเคยจากอดีตถึงปัจจุบัน พื้นที่ในเขตราษฎร์บูรณะ-ทุ่งครุ (แขวงบางมดในปัจจุบัน)เป็นพื้นที่ปลูกสวนส้มจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปตกทอดมายังคนรุ่นหลัง ความเจริญเข้ามา ทำให้ค่านิยมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่แปรเปลี่ยนไป การทำสวนส้มจึงถูกลดความสำคัญลงถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้าง บ้านจัดสรร ประกอบกับปัญหาใหญ่หนักอึ้งเมื่อครั้งโดนน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเสียหายแก่ต้นส้มที่บอบบาง ทนสภาพไม่ไหว รากเน่าจนล้มตายลงไปในที่สุด ทำให้เกษตรกรขาดทุน

  ทำไมปู่ของผมเคยทำสวนส้มที่บางมด แต่ตอนนี้ต้องย้ายไปทำที่พรานกระต่ายในกำแพงเพชรแล้วแบบนี้ส้มบางมดของเราจะหายไปไหมครับ” คำถามที่เปล่งออกมาจากนักเรียนคนหนึ่งในคาบเรียนวิชาสังคมศึกษา


จากคำถามดังกล่าวเกิดการจุดประกายประเด็นในชั้นเรียนระหว่างลูกศิษย์และอาจารย์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “ส้มต้นสุดท้ายที่ปลายสวน” 


จันทนา สธูป อาจารย์ประจำวิชาสังคมศึกษาโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว เล่าถึงความเป็นมาว่า “ส้มต้นสุดท้ายที่ปลายสวน” มาจากการตั้งชื่อของนักเรียนรุ่นหนึ่งที่ยังอยากเห็นผลิตผลของส้มที่ออกมาจากสวนในพื้นที่เขตบางมด ซึ่งปัจจุบัน “ส้มบางมด”ส่วนใหญ่ที่ขายตามท้องตลาดส่วนไม่ได้มาจากสวนบางมดอย่างแท้จริง แต่มาจากสวนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของทางภาคเหนือ

เพียงแค่ชื่อโครงการ “ส้มต้นสุดท้ายที่ปลายสวน” ทำให้เตะตาต้องใจทีมสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จนเกิดความสนใจในตัวโครงการ ทาง สสค.จึงให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในแง่การสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการฯ ทางโครงการฯจึงมีการผลิตสื่อ 2 สื่อ คือ สื่อหนังสือ และ สื่อวิดิทัศน์ เพื่อเผยแพร่ความรู้และประโยชน์ต่อการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คนจากโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กลุ่มที่ 5 จำนวน 5 โรงเรียนและโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครในเขตทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จำนวน 10 โรงเรียน อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าว


าจารย์จันทนา ได้อธิบายเพิ่มเติม เกี่ยวกับการดินทางของโครงการส้มต้นสุดท้ายที่ปลายสวน ว่าเริ่มจากการศึกษาข้อมูลถึงที่มาที่ไปของส้มบางมด ลงสำรวจพื้นที่ ของส้มบางมดที่ยังคงเหลืออยู่ นอกจากนี้ยังติดต่อสัมภาษณ์เจ้าของสวนส้มในเขตบางปะกอก ปรากฏว่าเหลือเพียงสวนเดียวเท่านั้น ซึ่งจากการสัมภาษณ์เจ้าของสวนดังกล่าวมีแนวโน้มว่า ปลายปี 2555 นี้ หมดผลผลิตจากส้มสวนนี้จะเปลี่ยนมาเป็นผลิตกล้วยแทน เนื่องจากกล้วยได้ผลกำไรดีมากกว่า


ตาโยซึ่งเป็นชาวสวนส้มในเขตบางปะกอก อายุ 74 ปี บอกว่าทำสวนมาตั้งแต่ตอนเด็ก แรกๆไม่มีมปัญหา แต่เมื่อปี 2526 น้ำท่วมครั้งใหญ่ น้ำเค็มไหลบ่าเข้าท่วมสวนทำให้เกิดความเสียหาย แต่ก็ฟื้นฟูให้กลับมาได้บางส่วน และการทำสวนส้มในระยะต่อมา ศัตรูพืช แมลงที่ทำลายสวนส้มมีมากขึ้น จำเป็นต้องใช้สารเคมีและใช้ปุ๋ย ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น กว่าจะได้เก็บผลส้มต้องใช้เวลา 3-4 ปี และในสมัยก่อนมีการรวมตัวเป็นสมาชิกสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือเรื่องการจำหน่ายผลผลิต แต่ในปัจจุบันชาวสวนค่อยๆเลิกไป และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสหกรณ์แล้ว ลูกหลานคนในครอบครัวก็ไม่ต้องการสืบต่อในการทำสวนส้ม จึงปล่อยให้ส้มยืนต้นตายและนำพืชชนิดอื่น เช่น กล้วย มะพร้าว มาปลูกทดแทนเนื่องจากให้ผลผลิตกำไรดีกว่าและการดูแลก็น้อยกว่า


ขณะที่คุณลุงบุญรัตน์ มาแย้ม อายุ 58 ปี เดิมเป็นชาวบางมดทำสวนส้มมาก่อน ประสบปัญหาในพื้นที่บางมดไม่ต่างกัน จึงย้ายมาปลูกที่รังสิต จ.ปทุมธานี ได้ 10 กว่าปี ก็ประสบปัญหาทั้งเรื่องน้ำท่วมแลบะการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จึงทำให้กลุ่มชาวสวนส้มรวมตัวกัน 8-9 ครอบครัว ไปหาพื้นที่ปลูกส้มพันธุ์บางมดที่เขตอำเภอพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ซึ่งก็ต้องเผชิญกับโรคส้มทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่จึงต้องหยุดปลูกส้มชั่วคราว 2-3 ปี และจะกลับมาปลูกใหม่อีกครั้งในพื้นที่เดิม


อ.ประจำประจำวิชาสังคมศึกษา ร.ร.บางปะกอก กล่าวต่ออีกว่า ในแง่การบูรณาการโครงการฯให้เข้ากับการเรียนการสอนปัจจุบันอย่างกลุ่มสาระวิชาภาษาไทยมีการอบรมการเขียน โดยเชิญ “ญิบ พันจันทร์” นักเขียนมาเป็นวิทยากรอบรมนักเรียนให้ฝึกใช้สำนวนการเขียนให้สละสลวย  นอกจากนี้ยังทดลองปลูกส้ม โดยเริ่มต้นปลูกเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา โดยนำพันธุ์ต้นกล้ามาจากเขตบางขุนนนท์ บางกอกน้อย และบางกรวย และผลิตสื่อวารสาร รวบรวมเป็นสื่อหนังสือ (เค้าโครงงาน) โดยวารสารดังกล่าว มีเนื้อหาทั้งหมด 6 บท โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนสำหรับกิจกรรมนี้ทั้งหมด 45 คน ออกเป็น 6 กลุ่มตามจำนวนบทโดยเริ่มจากบทความรู้เบื้องต้น , เริ่มต้นทำกิน, หอมกลิ่นดอกส้ม, ชื่นชมเติมเต็ม, น้ำเค็มน้ำตา และ ตามหาส้มต้นสุดท้าย


สำหรับการบูรณาการในวิชาอื่น ๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ บูรณาการโดยการทำสรุปในเชิงสถิติการเจริญเติบโตของต้นส้มที่ทดลองปลูก วิชาภาษาญี่ปุ่น ฝึกนักเรียนแต่งกลอนไฮกุ บทกวีภาษาญี่ปุ่น หรือในระดับชั้นมัธยมต้น ก็บูรณาการให้เข้ากับวิชาศิลปะ โดยจัดวาดรูปเพื่อทำปกหน้าหนังสือ เป็นต้น


นับเป็นโอกาสดีที่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มน้องๆ นักเรียนรุ่นสองที่จะมาสานต่อเจตนารมณ์ของรุ่นพี่และอาจารย์ โดยเข้าร่วมโครงการรับช่วงบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ และได้แสดงมุมมองต่อโครงการส้มต้นสุดท้ายที่ปลายสวนนี้ออกมาอย่างภาคภูมิใจในทรัพยากรท้องถิ่นของตน


“น้องพิก” นางสาวพรศิริ กุลสินทรัพย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการฯ เล่าถึงการเจอกันครั้งแรกของโครงการนี้ว่ามาจากกิจกรรมพี่รหัสน้องรหัส ตั้งแต่เมื่ออยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งได้เห็นรุ่นพี่ทำดังกล่าวแล้วเกิดความสนใจ จึงเริ่มทำสำรวจว่าส้มบางมดคืออะไร ยังมีอยู่หรือไม่ โดยใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตในการสืบหาข้อมูล

“สิ่งที่ได้เป็นการปลูกจิตสำนึกของเรา ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เพราะมันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของเรา หนูเกิดที่นี่ เคยไปเที่ยวสวนส้มเขียวหวาน เมื่อ 6 ปีที่แล้ว มันยังมีอยู่เลยแต่ทำไมสวนมันหายไป เราอยากจะให้มันกลับมา  เราอยากจะตั้งใจเรียนแล้วนำความรู้มาพัฒนาให้ทรัพยากรธรรมชาติ ดินดีของบ้านเรา ได้อยู่คู่ท้องถิ่นเราตลอดไป” น้องพิก หนึ่งในนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการฯกล่าว

หนึ่งในกลุ่มนักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการ “น้องบูม” นางสาวอรัญญา ราชา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กล่าวถึงความคาดหวังในฐานะเป็นผู้ทำกิจกรรมว่า อยากให้น้องๆ เพื่อนๆ ทุกคนคนได้รับรู้ ตระหนัก และมีการอนุรักษ์จนเกิดความภาคภูมิใจในส้มบางมด ซึ่งเป็นส้มประจำท้องถิ่นของชาวบางมด และไม่อยากให้ “ส้มบางมด”เป็นสวนส้มสุดท้ายที่ปลายสวนดังชื่อโครงการฯ


ปัญหาและอุปสรรคที่ชาวสวนส้มบางมดคงประสบ ทั้งพื้นที่สวนส้มที่ถูกรุกรานมาพร้อมสิ่งก่อสร้าง หมู่บ้านจัดสรร ทั้งการตัดสินใจของเกษตรกรขายให้กับนายทุนบ้าง หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ย้ายพื้นที่โดยนำกิ่งพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ซึ่งผลผลิตที่ออกมายังคงเอ่ยนามได้ว่าเป็น “ส้มบางมด” แต่รสชาติที่หอม หวาน อร่อย คงไม่เท่ากับส้มที่ได้จากสวนสมบางมดดังแต่ก่อนแล้ว


ก่อนที่ “ส้มบางมด” จะเหลือเพียงแค่ชื่อ คงต้องปลูกรากฐานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นโดยสร้างจิตสำนึกหวงแหน และรักษาของดีประจำถิ่น รากฐานนี้จะเป็นรากแก้วที่แข็งแกร่ง ทำให้ดินดีพลอยอุดมสมบูรณ์ไปด้วย  ซึ่งก็เปรียบกับชาวบางมดจะต้องไม่เพิกเฉยต่อการให้ความสำคัญของสวนส้มบางมด ทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นของคนบางมด หากมีรากที่แข็งแกร่ง ดินที่อุดมสมบูรณ์ มีการเอาใจใส่ดูแลแล้ว ชาวบางมดจะไม่มี “ส้มต้นสุดท้ายที่ปลายสวน” แน่นอน  แต่กลับเป็นสวนส้มหลายสวน ที่คนบางมดยืดอกออกมาอย่างภาคภูมิใจ

“ส้มบางลูกไงอร่อยที่สุดไง” คำเฉลยสุดยียวนกวนประสาทนี้ เมื่อก่อนอาจเป็นเพียงการเล่นคำกันอย่างสนุกสนาน แต่วันนี้.. และในอนาคต คำตอบนี้อาจเป็นเรื่องจริงในวงการส้มเขียวหวานของไทย

หมายเลขบันทึก: 510882เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2012 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท