ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

สสค.หนุนครูสอนดีสร้างโอกาสเด็ก หวังท้องถิ่นนำไปต่อยอด


การที่เราได้ให้โอกาสกับเด็กแค่คนเดียวแล้วทำให้เด็กคนนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่ามาก

สสค.ย้ำหนุนครูสอนดีสร้างโอกาสเด็ก 

จับมือท้องถิ่นหวังต่อยอดทั่วประเทศ


สสค.ยืนยันสนับสนุนครูสอนดีต่อเนื่อง หวังต่อยอดสร้างคุณภาพชีวิตแก่เด็กขาดโอกาส ยก “ครูสามารถ สุทะ”แห่งโรงเรียนเรือนแพเป็นหนึ่งในครูต้นแบบ พร้อมแนะท้องถิ่นยื่นมือช่วยหนุนต่อเนื่องระยะยาวหวังเป็นตัวอย่างขยายไปทั่วประเทศ

นายนคร ตังคะพิภพกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)กล่าวบนเวทีเสวนาในโรงเรียนเรือนแพ สาขาโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูนว่า สสค.จะยังให้การสนับสนุนครูสอนดีทั่วประเทศต่อไป โดยเฉพาะครูที่สอนเด็กด้อยโอกาส อย่าง ครูสามารถสุทะ ครูห้องเรียนเรือนแพ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร หรืออาจเป็นครูภูมิปัญญาที่ไม่ได้สอนในสถานศึกษาก็ได้

“ครูจำนวนกว่า20,000คน จะได้เงินรางวัลคนละ10,000บาท เป็นกำลังใจเพียงเล็กน้อยสำหรับคนทำงาน ส่วนครูที่ได้รางวัลครูสอนดีจะต้องดำเนินโครงการสร้างคุณภาพชีวิตพัฒนาการเรียนการสอนให้เด็กต่อไปด้วย” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสค.ระบุ

นายนคร ยังเห็นว่ากลไกเช่นเดียวกันนี้จะต้องกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและเชิดชูเกียรติคุณครูสอนดีที่มีอยู่ทั่วแผ่นดิน ในขณะที่ สสค.จะช่วยกระตุ้นให้เกิดภาพของการเชิดชูครูสอนดี โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาสทั้งหลาย จะต้องมีผู้ดูแลอย่างดี จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการดังกล่าวชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแลต่อให้เกิดความต่อเนื่องในระยะยาว

“ในรายของครูสามารถ สุทะ นั้นต้องขอชื่นชมว่าเป็นครูผู้เสียสละอย่างแท้จริงที่เป็นทุกอย่างให้กับเด็กชุมชนเรือนแพทำให้เด็กได้มีโอกาสทางการศึกษา แม้ว่าจะมีนักเรียนเพียง7คนเท่านั้น หากเรามองว่าการสนับสนุนงบประมาณให้กับห้องเรียนเรือนแพคุ้มค่าหรือไม่ ถือว่าไม่คุ้ม แต่กับการที่เราได้ให้โอกาสกับเด็กแค่คนเดียวแล้วทำให้เด็กคนนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่ามาก”นายนคร กล่าว


ด้านนายวสันต์ อินทร์กลั่นรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา ลำพูน เขต2กล่าวว่า ห้องเรียนเรือนแพ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร แม้จะมีนักเรียนจำยวน7คน แต่ทางรัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของการศึกษา โดยเขตพื้นที่ประถมศึกษา ลำพูน เขต2จะเข้ามาดูแลเรื่องหลักสูตรการศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้เด็กมีโอกาสแล้ว จะต้องมีคุณภาพอย่างไร ซึ่งต้องร่วมกับเทศบาลคิดหลักสูตรร่วมกันว่าเมื่อเด็กจบชั้นประถมศึกษาที่6แล้ว จำทอย่างไรให้มีโอกาสเรียนระดับการศึกษาจนจบภาคบังคับ9ปี

“เด็กนักเรียนที่ห้องเรียนเรือนแพ ตรงนี้เรียนแค่ประถมศึกษาที่6เขาจะไปต่อมัธยมศึกษา ที่1ที่ไหน ไปที่โรงเรียนบ้านก้อจัดสรรก็ได้ โดยมีผู้ใจบุญที่จะสนับสนุนเด็กให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น” รองผอ.สพป.ลำพูน เขต2กล่าว


ส่วนนายนายชุมพร มะโนนายกเทศมนตรีตำบลก้อ กล่าวว่าเรื่องการศึกษาเป็นภารกิจของท้องถิ่นอยู่แล้ว ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้มีการตั้งโรงเรียนเรือแพขึ้นมา เด็กในเขื่อนมักจากขาดโอกาสทางการศึกษา ทางท้องถิ่นก็มองเห็นถึงความสำคัญว่า เมื่อผู้ปกครองลงมาประกอบอาชีพทำการประมงที่เรือนแพ เด็กควรจะได้รับความอบอุ่น จึงมีการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการการศึกษา และส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผนกับโรงเรียนขยายโอกาสของโรงเรียนก้อจัดสรร วางแผน ปรับกลยุทธและบูรณาการด้านระบบการศึกษาให้เด็กได้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเด็กห้องเรียนเรือนแพ ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาทางสังคมในภายหน้า


ขณะที่นายสามารถ สุทะครูสอนดีแห่งห้องเรียนเรือนแพ เล่าว่ามาอยู่ที่โรงเรียนเรือนแพ8ปีแล้วพยายามทำเต็มที่ที่จะให้เด็กได้รับโอกาสสูงสุดตามความสามารถของตน ดังนั้นที่ห้องเรียนเรือนแพแห่งนี้ เมื่อได้รับ ได้งบประมาณทาง สสค.ก็ได้วางแผนแบ่งงบประมาณออกเป็น2ส่วน คือ ส่วนแรก ได้เข้าโครงการไว้ที่โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร และ ส่วนที่สอง นำมาทำที่ห้องเรียนเรือนแพ งบประมาณที่ได้มา250,000บาท มากเกินไปสำหรับที่โรงเรียนแพแห่งเดียว จึงคิดว่าควรจะกระจายให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส และที่โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร ก็ยังมีเด็กที่ด้อยโอกาสเช่นกัน

ครูสามารถ เปิดเผยว่าชุมชนในแถบนี้ผู้ปกครองยังให้ความสำคัญกับการศึกษาน้อยมาก เพราะมักคิดว่าจะพาลูกที่โตแล้วหรือหลังจากจบชั้นประถามศึกษาที่6ไปทำงานช่วยที่แพ ซึ่งไม่ได้มองถึงการศึกษาว่า จะให้เด็กได้รับการศึกษาต่อ ทุกวันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ที่จะต้องส่งเสริมและลงไปหาครอบครัวชาวบ้านจริงๆ

“อย่าง ด.ญ.ไหมแพร สุ่มพง นักเรียนชั้นประถามศึกษาที่6ตอนนี้มีคนที่จะรับอุปการะหลายคน แต่ตนยังให้คำตอบไม่ได้เต็มที่ว่า จะได้รับการศึกษาจริงหรือไม่ เพราะผู้ปกครองยังไม่ได้สนับสนุนการศึกษาของเด็ก ผมก็จะพยายามเต็มที่เพื่อที่จะให้เด็กได้รับการศึกษาสูงสุดต่อไป” ครูสามารถ กล่าว


เจ้าของรางวัลครูสอนดีปีล่าสุด ยืนยันว่านอกจากจะทำหน้าที่สอนเด็กในโรงเรียนแล้ว จะพยายามให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง ชุมชนควรที่จะรับรู้ว่า แม้จะเป็นชาวประมงหาปลาทุกวัน แต่ไม่เคยปล่อยปลาหรือเลี้ยงปลาเองเลย หากวันหนึ่งไม่มีปลาในแม่น้ำปิง ชาวประมงจะเอาปลาที่ไหนมาขาย ดังนั้นการเลี้ยงปลาถือว่าเป็นอาชีพหนึ่ง ฉะนั้นเด็กที่จบจากห้องเรียนเรือนแพไปหากไม่ได้เรียนต่อ ก็สามารถนำความรู้ที่ติดตัวไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้


หมายเลขบันทึก: 510850เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2012 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท