ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 69. ทักษะการเรียน (5) ตารางให้คะแนน จัดทำโดย นศ.


เป็นเครื่องมือให้ นศ. เรียนรู้คุณสมบัติของผลงานที่มีคุณภาพสูง และเรียนรู้ความหมายของ “มาตรฐาน” และนำมาใช้ในการทำการบ้านหรือทำข้อสอบ

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 69. ทักษะการเรียน  (5) ตารางให้คะแนน จัดทำโดย นศ.

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๖นี้ ได้จาก Chapter 19  ชื่อ Learning and Study Skills  และเป็นเรื่องของ SET 49 : Student-Generated Rubrics

บทที่ ๑๙ ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียน  ได้แก่ การวางแผนการเรียน  การจดเล็กเชอร์  การค้นความรู้เพิ่มเติม  การเตรียมตัวสอบ  การร่วมอภิปรายในชั้น  การร่วมทำงานในกลุ่มย่อย เป็นต้น

บทที่ ๑๙ ซึ่งเป็นบทสุดท้ายนี้ ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 45– 50  จะนำมาเสนอในบันทึกชุดนี้ตอนละ ๑ เทคนิค

SET 49  :  Student-Generated Rubrics  

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอภิปราย

ระยะเวลา  : คาบเดียว  

โอกาสเรียน online  :  ต่ำ

ครูให้ตัวอย่างข้อสอบที่ดีเยี่ยมแก่ นศ. ๓ ตัวอย่าง  เช่น เรียงความ  รายงานการวิจัย  การประพันธ์เพลง  ข้อพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์  หรือรายงานผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์  แบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม  ให้วิเคราะห์คุณสมบัติของคำตอบข้อสอบ  และจัดทำแบบฟอร์มตารางให้คะแนน  ที่ประกอบด้วย คุณสมบัติสำคัญ และสเกลคะแนน  แล้วครูจัดให้มีการอภิปรายทั้งชั้น เพื่อบรรลุฉันทามติ  จัดทำเป็นตารางให้คะแนนที่จะใช้ในการตรวจข้อสอบ

เป็นเครื่องมือให้ นศ. เรียนรู้คุณสมบัติของผลงานที่มีคุณภาพสูง  และเรียนรู้ความหมายของ “มาตรฐาน”   และนำมาใช้ในการทำการบ้านหรือทำข้อสอบ

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูจัดทำรายการวัตถุประสงค์ของรายวิชา  และไตร่ตรองอย่างดี เพื่อเขียนคำถามที่เป็นการบ้าน ให้ นศ. ได้ฝึกคิดในระดับที่ซับซ้อน

2.  ครูหาตัวอย่างคำตอบที่ดีเลิศ โดย นศ. รุ่นก่อนๆ, นศ. ปีสูงขึ้นไป, หรือ นศ. ของเพื่อนครู, หรือของคนในวิชาชีพนั้นๆ  เขียนบันทึกไว้ว่า ทำไมคำตอบเหล่านั้นจึงดีเลิศ

3.  ครูจัดทำตารางให้คะแนนด้วยตนเอง  จดคุณสมบัติสำคัญที่นึกขึ้นได้ไว้  เอาไว้ใช้ปรับปรุงใบงาน

4.  จัดทำใบงาน เป็นแนวทางให้ นศ. เขียนตารางให้คะแนน เช่นตัวอย่าง

ให้ นศ. อ่านตัวอย่างคำตอบข้อสอบทั้ง ๓  และ

ก. หาคุณลักษณะของคำตอบที่ดี และเขียนเป็นรายการ  สำหรับข้อสอบแต่ละแบบ  (เช่น คำตอบระบุหลักคิดที่ชัดเจน, คำตอบอ่านง่าย จัดส่วนต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ, ฯลฯ)

ข. จากรายการทั้งสาม  จงเลือกคุณลักษณะร่วม ๕ ประการของคำตอบที่ดี  สำหรับข้อสอบทั้ง ๓ แบบ

ค. จงระบุคุณลักษณะที่ทำให้เป็นคำตอบที่ดีเยี่ยม (เช่น คำตอบชัดเจนอ่านง่าย  มีขอบเขตจำกัดชัดเจน  สังเคราะห์นำเสนอเป็นแนวคิดของตนเอง  เป็นต้น)

5.  ถ่ายสำเนาใบงานให้มีจำนวนเพียงพอต่อจำนวนกลุ่มของ นศ.

6.  แจ้ง นศ. ว่า ครูจะมอบตัวอย่างคำตอบข้อสอบแบบเขียนตอบที่ดีที่สุดที่ครูพบ  ให้ทีม นศ. อ่านและค้นหาคุณลักษณะของคำตอบข้อสอบที่ดี

7.  แจกใบงาน อธิบาย และตอบคำถาม

8.  ให้ นศ. แบ่งเป็นกลุ่ม ๔ - ๖ คน  และแจกตัวอย่างคำตอบยอดเยี่ยม  แนะให้ นศ. แบ่งหน้าที่กันในกลุ่ม เช่น เป็นผู้จดบันทึก, ผู้รายงาน, วิทยากรกระบวนการ เป็นต้น 

9.  นศ. จัดทำตารางประเมินผลอย่างง่ายๆ

10.  ให้แต่ละกลุ่มรายงานต่อชั้น  ใช้กระดานหน้าชั้นเขียนประเด็นสำคัญ  และต่อด้วยการอภิปรายทั้งชั้น ว่าคุณลักษณะสำคัญของคำตอบที่ดีคืออะไรบ้าง

11.  ครูใช้เรื่องราวจากการอภิปรายในชั้นเรียน จัดทำตารางให้คะแนน ที่ครูจะใช้ให้คะแนนคำตอบของ นศ.  หรือรวบรวมคำตอบของ นศ. ทุกกลุ่ม เอาไปจัดทำตารางให้คะแนนที่ครูจะใช้ ในภายหลัง

ตัวอย่าง

วิชาหลักการของการตลาด  

ในโครงงานสุดท้ายของรายวิชา ครูแบ่ง นศ. เป็นกลุ่ม ให้เลือกพัฒนายุทธศาสตร์การตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง  เพื่อให้ดูสมจริง จึงกำหนดให้แต่ละทีมนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การตลาดแก่ชั้น  โดยสมมติว่าเป็นการนำเสนอต่อผู้จัดการธุรกิจกลุ่มหนึ่ง 

เพื่อให้ นศ. เรียนรู้วิธีนำเสนอที่ดี   ครูจึงใช้เทคนิค “ตารางให้คะแนน จัดทำโดย นศ.” ช่วย  โดยแบ่ง นศ. เป็นกลุ่ม ๕ คน  ให้ดูวิดีทัศน์การนำเสนอที่ดี ของ นศ. รุ่นก่อนๆ ๓ เรื่อง  ให้กลุ่มบันทึกคุณสมบัติของการนำเสนอที่ดี  แล้วอภิปรายกลุ่ม หาคุณสมบัติที่เห็นพ้องกัน  เช่น “สบตาผู้ฟัง”  “นำเสนอคำขึ้นต้นชัดเจน ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อเรื่องที่ตามมาเข้าใจง่าย”  “เสียงดัง ฟังชัด จังหวะและจุดเน้นดี”  ครูเขียนข้อสรุปขึ้นกระดาน จัดเป็นหมวดหมู่  และแจ้งต่อ นศ. ว่า จะนำไปทำเป็นตารางให้คะแนน  ให้ นศ. ใช้ในการให้คะแนนนำเสนอของเพื่อน 

การประยุกต์ใช้ online

เทคนิคนี้ได้ผลดีเมื่อ นศ. ได้สังเกตตัวอย่าง แล้วบันทึกคุณสมบัติที่ดี  ดังนั้น หากจะใช้ online ก็ต้องให้ดูตัวอย่างแล้วอภิปรายคุณสมบัติที่ดีของตัวอย่างทันทีใน online discussion group  ทำเช่นนี้กับตัวอย่าง ๓ ตัวอย่าง  แล้วรวบรวมคุณสมบัติที่ดีเอามาจัดหมวดหมู่ทำเป็นตารางให้คะแนน

การขยายหรือปรับปรุงวิธีการ

·  แทนที่จะให้ดู ๓ ตัวอย่างที่ดีเลิศ  ให้ดูตัวอย่างที่มีคุณภาพ ๓ ระดับ คือ พอใช้  ดี  และดีเลิศ  ให้ นศ. เปรียบเทียบความแตกต่าง 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Stevens DD, Levi A. (2005). Introduction to rubrics : An assessment tool to save grading time, convey effective feedback, and promote student learning. Sterling , VA : Stylus.

วิจารณ์ พานิช

๒ ธ.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 510769เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2012 05:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การศึกษาคือหัวใจของชาติ ..... ถ้าครู ทำสิ่งที่ดีเพื่อศิษย์ .... เป็นสิ่งที่  งดงาม ที่สุด นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท