“ช็อตชีวิต” ด้วยการหรี่เสียง (ความคิด) ในหัว


             ไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “ช็อตเพราะชงชา” หรือ “ช็อตเพราะเวลา” ดี แต่ที่แน่ๆ ผมรู้ตัวเองดีว่าเป็นผู้ที่เคร่งครัดกับเรื่องเวลามากจนเกินไป เวลาจะไปไหนโดยเฉพาะถ้าไปกับลูกและภรรยา ผมมักจะห่วงเรื่องเวลามากกว่าที่ไปคนเดียว เพราะถ้าใครเกิดช้าขึ้นมาสักคนก็จะทำให้พากันช้ากันทั้งคณะ หลายๆ ครั้งผมจึงต้องคิดดังๆ ให้ทุกคนฟัง เป็นต้นว่า ถ้าเราต้องไปถึงที่นัดเก้าโมง แสดงว่าเราออกจากบ้านช้าสุดไม่เกินแปดโมง  (เพราะดูจากระยะทางแล้วคงต้องใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมง) เพราะฉะนั้นเจ็ดโมงครึ่งก็คงต้องเริ่มทานข้าวกันได้แล้ว อะไรทำนองนั้น ซึ่งการวางแผนหรือเร่งเรื่องเวลาทำนองนี้ บางทีก็ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด รู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ และนำไปสู่การทะเลาะกันได้ง่ายเหมือนกัน

             เรื่องที่ผมจะนำมาแบ่งปันนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน เรื่องมีอยู่ว่า . . . .

ภารกิจในตอนเช้าที่ภรรยาผมทำเป็นกิจวัตรประจำวันก็คือชงชาใส่กระติก ให้ผมติดตัวไปดื่มในที่ทำงาน (สองกระติก) จริงๆ แล้วขั้นตอนการชงชาที่ว่านี้ก็ไม่มีอะไรมากมาย แค่เอาใบชาหยิบมือหนึ่งใส่แก้วที่ใช้ชงชา (รูปข้างล่าง) เทน้ำร้อนลงไปและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที เมื่อถึงเวลาก็กดปุ่มเพื่อปล่อยให้น้ำชาที่ได้ไหลลงไปที่ก้นแก้ว หลังจากนั้นก็รินมันลงไปในกระติก

           เอาใบชาใส่แก้วด้านบน เทน้ำร้อนทิ้งไว้ 1 นาที แล้วกดปล่อยน้ำ

การรินใส่กระติกสองใบที่เตรียมไว้ ภรรยาผมมักจะใช้วิธีเฉลี่ยกันไป คือถ้าชาแก้วแรกรินใส่กระติกที่หนึ่ง แก้วต่อไปก็จะรินใส่กระติกที่สอง สลับกันไปมา ผมเคยถามว่าทำไมไม่ทำให้เสร็จเป็นกระติกๆ ไป เธอก็บอกว่าถ้าทำเช่นนั้นกระติกแรกรสชาติน้ำชาจะเข้มข้นกว่ากระติกหลัง เพราะช่วงแรกใบชายังใหม่อยู่ แต่ถ้าทำสลับไปสลับมาก็จะได้รสชาติที่เฉลี่ยกันไปทั้งสองกระติก ปกติเวลาที่เธอใช้ชงชาใส่สองกระติกนี้ก็ประมาณ 15 นาที
แต่เช้าวันนี้หลังจากที่ผมเห็นว่าภรรยายังง่วนอยู่กับภารกิจการชงชา ผมก็เริ่มเป็นห่วงเรื่องเวลาเพราะว่าเช้านี้เป็นวันที่ต้องพาแม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล เกรงว่าถ้าทำแบบทุกวันก็อาจจะไม่ทัน และเนื่องจากวันนี้กว่าผมจะเข้าที่ทำงานก็คงเป็นช่วงบ่าย ก็เลยพูดกับภรรยา (ด้วยความหวังดี) ว่า “วันนี้ชงชาแค่กระติกเดียวก็พอ” โดยที่ในใจคิดว่าจะได้เซฟเรื่องเวลาไปครึ่งหนึ่ง ภรรยาจะได้เอาเวลามาเตรียมตัวไปโรงพยาบาลด้วยกัน
แต่เหตุการณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ หลังจากที่ผมพูดจบ ผมก็ได้ยินเสียงภรรยาตอบกลับมาอย่างห้วนๆ ว่า “ไม่ว่าจะหนึ่งหรือสองกระติก มันก็ต้องชงไปพร้อมๆ กันอยู่ดี” ได้ฟังแค่นี้ ผมเองก็เกิดอาการงง มันไม่เห็นตรงกับ Logic หรือตรรกะใดๆ เลย  เกิดเสียงในหัวดังขึ้นมาว่า “นี่เขาไม่เข้าใจหรือไงว่า ชงสองกระติกมันใช้เวลามากกว่าเป็นสองเท่า ที่เราพูดไปก็เพราะเห็นว่าวันนี้เราเข้าที่ทำงานแค่ครึ่งวัน เอาชาไปกระติกเดียวก็น่าจะพอแล้ว ถ้าชงแค่กระติกเดียวก็จะใช้เวลาน้อยลง จะได้เอาเวลามาเตรียมตัวไปโรงพยาบาลด้วยกัน” แต่ครั้นจะพูดสวนกลับไป แสดงให้เห็น logic ในการคิดของเรา ก็คงจะเสียเวลาเปล่าๆ เพราะจากน้ำเสียงที่ได้ฟังมาแสดงว่าภรรยาคงจะไม่พอใจกับคำพูดของเราเหมือนกัน เพราะมันเข้าข่ายว่าไปเร่งรัดเธอ
สรุปว่าผมก็เลยไม่ได้โต้ตอบอะไรไป . . “ไม่ว่าจะหนึ่งหรือสองกระติก มันก็ต้องชงไปพร้อมๆ กันอยู่ดี” ประโยคนี้ของภรรยายังคงดังก้องอยู่ในหัวผม “แสดงว่าเธอไม่เข้าใจที่เราพูดไปหรือไงนะ ทำไมยังดื้อชงสองกระติกอยู่อีก มันเสียเวลาเพิ่มเป็นเท่าตัว ไม่รู้หรือไง! ทั้งๆ ที่เรียนมาทางสายวิทย์ แล้วนี่ใช้อะไรคิด ใช้  Logic อะไร ไม่รู้หรือไงว่าถ้าชงกระติกเดียว ปริมาณน้ำที่ใช้น้อยกว่าตั้งครึ่ง เวลาที่ใช้ในการรอก็น้อยกว่า แล้วไม่เห็นหรือว่ามันประหยัดเวลาไปได้ตั้งครึ่ง” ในขณะที่ผมแต่งตัวไป เสียงเหล่านี้ก็ยังคงดังก้องอยู่ในหัวตลอดเวลา
จนในที่สุดต้องพูดกับตัวเองว่า “ช่างเถอะ อยากจะชงสองกระติกก็ทำไป ไม่รีบแต่งตัว ไปถึงโรงพยาบาลช้า ให้หมอรอบ้างก็คงไม่เป็นไร เราเคยไปตรงเวลาแต่ต้องรอหมอเป็นชั่วโมงก็หลายครั้ง หมอเองก็ไม่ได้ตรงเวลาเสมอไป” พอคิดได้เช่นนั้น เลิกใส่ใจในคำพูดของภรรยาที่ตอบเรามา เสียงในหัวก็ค่อยๆ เงียบลง แล้วในทันทีทันใดก็เกิด “ความเข้าใจ” โผล่ขึ้มา ประโยคที่ภรรยาพูดว่า “ไม่ว่าจะหนึ่งหรือสองกระติก มันก็ต้องชงไปพร้อมๆ กันอยู่ดี” . . อ๋อ เราเองมองที่เรื่องเวลา แต่ภรรยาคงมองที่เรื่องความคุ้มค่า ซึ่งก็แปลว่าชาหนึ่งหยิบมือที่ใส่ลงไปในแก้วชงชา มันสามารถชงชาได้สองกระติก การที่เราบอกให้เขาชงกระติกเดียวนั้นมันเท่ากับว่าเป็นการใช้ใบชายังไม่คุ้มค่า . .

             เป็นเพราะการมองต่างมุมกันอย่างนี้นี่เอง เรามองเรื่องของการ “ประหยัดเวลา” แต่ภรรยามองว่า “ไม่ประหยัด ใช้ใบชาไม่คุ้มค่า” ถึงตอนนั้นทำให้ผมเข้าใจแล้วว่า สาเหตุที่คนเราทะเลาะกันนั้นเป็นเพราะเราไม่พยายามฟังอีกฝั่งหนึ่งจนเข้าใจว่าที่เขาพูดนั้นหมายถึงอะไร เราเองไม่ว่างพอที่จะฟังเขาพูดต่อให้กระจ่าง และที่ร้ายที่สุดก็คือเสียงภายในหัวเราที่มาจาก Logic เหตุผลของเรา มันดังจนกลบเสียงต่างๆ ไปจนหมดสิ้น . . . “ต่อไปนี้ถ้าเรายังฟังใครได้ไม่ดี ก็คงต้องหรี่เสียงในหัวตัวเองบ้างแล้วล่ะ”  นี่คือสิ่งดีๆ ที่ได้จากกรณีชงชาที่เข้าเข้ามา “ช็อตชีวิต” ผม

หมายเลขบันทึก: 508847เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2012 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บันทึกไว้เมื่อสองชั่วโมงที่แล้ว มีคนอ่านเกือบสองร้อยคนแล้ว ชุมชน gotoknow นี่คึกคักไม่เบานะ !

สวัสดีครับ คุณbeyondKM

เห็นด้วยครับ เพราะเราอย่าพึงตัดสินอะไรในทันที ต้องกรุณาฟังให้จบก่อนครับ

ขอบคุณครับ

 

เป็น KM จากประสบการณ์ตรงที่น่าสนใจค่ะ..

ขอบคุณค่ะ อ่านไปยิ้มไปค่ะ

  • มีหลายต่อหลายครั้งที่ฝ่ายชายหวังดี แต่ฝ่ายหญิงกลับเข้าใจเป็นอื่นไปนะคะ

คำว่า "หวังดี" บางทีก็มาจากมุมมองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นครับ . . คนเป็นพ่อเป็นแม่มักใช้เหตุผลนี้กับลูกบ่อยๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท