ชีวิตที่พอเพียง : ๑๖๘๘. ตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ ทัศนศึกษา จ. น่าน (๑) ชมนิทรรศการ



ที่จริงคณะกรรมการรางวัลนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มีกำหนดตามเสด็จไปจังหวัดน่านตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลาง การเดินทางต้องงดกระทันหัน ปีนี้กลายเป็นปีน้ำแล้ง การเดินทางไปน่านจึงไม่มีอุปสรรคใดๆ

เราไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยาน บก. ทอ. ตอนเที่ยงวันที่ ๒๗ ต.ค. ๕๕ เดินทางด้วยเครื่องบิน บางกอก แอร์ ที่จัดถวายเช่นเคย เวลา ๑๔.๒๐ น. เครื่องบินก็ถึง จ. น่าน ขบวนเดินทางโดยรถยนต์ (๓.๒ ก.ม.) ต่อไปยัง ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต. ผาสิงห์ อ. เมือง

ในเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษเราได้ชมนิทรรศการ ๑๓ นิทรรศการ เป็นเรื่องศิลปะ๕ อาหาร ๖ ความหลากหลายทางชีวภาพ ๑ และชนเผ่ามลาบรี ๑

บ่ายวันที่ ๒๖ ต.ค.คณะกรรมการรางวัลนานาชาติไปวางพวงมาลาถวายสักการะสมเด็จพระบรมราชชนก และถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่ รพ. ศิริราช เราได้รับแจกเอกสารข้อมูลเรื่องราวที่จะไปเยี่ยมชมที่ จ.น่านเป็นภาษาอังกฤษ ให้ไปอ่านล่วงหน้า เป็นเอกสารที่มีค่ามาก ให้ข้อมูลทางวิชาการที่ดีเยี่ยมสะท้อนการเตรียมงานที่ดี ประณีต และเป็นวิชาการ ผมขอแสดงความชื่นชมทีมงานของสำนักราชเลขาธิการ ในผลงานนี้

เมื่ออ่านเอกสารนี้ ผมก็ปิ๊งแว้บว่าที่เราตามเสด็จไปเยี่ยมชม ก็คือไปทำความเข้าใจ “สินทรัพย์" ของชาติ ที่ จ. น่าน ที่โดยผิวเผิน เราไม่ตระหนักว่ามี แต่ด้วยพระบารมีและบางส่วนเป็นผลงานทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราจึงได้สัมผัสทรัพย์สมบัติของชาติเหล่านี้

อย่างแรกคือดนตรีราชสำนัก ของนครน่านสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกับราชสำนักรัตนโกสินทร์ และพัฒนาการของศิลปะดนตรี และศิลปะการแสดงของ จ. น่าน จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความร่ำรวยอย่างแน่นอนเพราะจังหวัดนี้มีคนหลากหลายชนเผ่า อย่างน้อยก็ ๗ ชนเผ่า ตาม เว็บไซต์นี้

เมื่อเสด็จถึง ก็พบว่าทางจุฬาฯขนคนมารับเสด็จเพียบ นำโดยนายสภาฯ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี และนิสิตที่มาเล่นดนตรีก็มาจากกรุงเทพ เราได้ชมการฟ้อนรำที่สวยงามของราชสำนัก และการฟ้อนที่คิดขึ้นใหม่โดยอาจารย์ของจุฬาฯเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดน่าน สวยงามมาก

ผมได้รู้จักพิณเพียะ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้ฟังการตีกลองปู่จา ซึ่งผมเดาว่าเพี้ยนมาจากคำว่า“กลองบูชา"

นิทรรศการที่ผมประทับใจมากคือ การวิจัยการใช้เชื้อราหรือเห็ดเผาะ(Astraeus) ในการส่งเสริมการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของต้นกล้าไม้จำพวกยาง (Dipterocarp) ทำให้ได้ทั้งการปลูกป่าทดแทนและทำให้ชาวบ้านอยากปลูกต้นกล้าไม้ที่มีเชื้อเห็ดเพราะอยากได้เห็ดด้วย เสียดาอยที่ผมไม้ได้ฟังวิธีใช้เชื้อราทำให้เมล็ดพืชงอกดีขึ้นทำอย่างไร

ผมได้เรียนรู้จากนิทรรศการว่าต้นพลวง ยางกราดยางเหียง เต็ง และยางนา เป็นพืชตระกูล Dipterocarp ด้วยกันทั้งสิ้น คือเมล็ดมีปีก๒ ปีก เอาไว้ร่อนไปตกไกลๆ จากต้นแม่ เพื่อการแพร่พันธุ์

ผมได้มีโอกาสเห็นคนชนเผ่ามละบริ(ที่เราเคยเรียกกันว่าชนเผ่าผีตองเหลือง แต่คนในชนเผ่าเขาไม่ชอบให้เรียก) ซึ่งอยู่ใน ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมละบริภูฟ้า และมาแสดงนิทรรศการด้วย ชนเผ่านี้สูงไม่ถึง๑๕๐ ซ.ม. ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผมไปถามเขาว่า คนมละบริมีที่สูงขนาดผมไหม เขาตอบว่าไม่มีเพราะในป่าอาหารการกินไม่บริบูรณ์ จริงๆแล้ว ชนมละบริที่ศูนย์ฯ ได้ละวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน เก็บอาหารป่ากิน ไปแล้ว ปักหลักดำรงชีวิตอยู่ในศูนย์ฯทำการเกษตรและประกอบอาชีพเหมือนคนไทยทั่วไป แต่ที่ทางศูนย์พยายามอนุรักษ์ไว้คือภูมิปัญญามละบริที่สามารถสร้างประโยชน์จากของป่า และฝีมือจักสานจากเส้นใยพืชในป่า


วิจารณ์ พานิช

๒๘ ต.ค. ๕๕



ฟ้อนราชสำนักน่าน



ฟ้อนวิถีชีวิตชาวน่าน



กลองปู่จา



พิณเพียะ



เครื่องบูชาพระรูป ร. ๕



นิทรรศการใช้ราเห็ดเผาะช่วยการขยายพันธุ์ต้นไม้ตระกูล Dipterocarp


เมล็ดที่แตกต่างกันของ Dipterocarp ต่างชนิด



ชนเผ่ามละบริ



ตัวอย่างอาหารของมละบริ



ภูมิปัญญามละบริ

หมายเลขบันทึก: 508713เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2012 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท