ระบบและกลไกในการประเมินการปฏิบัติราชการของข้าราชการและพนักงาน สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (2)


ระบบและกลไกในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือน กำหนดและประกาศใช้โดย คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษาของรัฐ พ.ศ. 2547  ซึ่งมีหน้าที่ 10 ประการเพื่อบริหารจัดการข้าราชการพลเรือน ดังนี้

  1. ให้คำปรึกษาคณะรัฐมนตรี
  2. ประสานงานเพื่อดำเนินการให้ได้รับข้าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม
  3. กำหนดมาตรฐานบริหารงานบุคคล เช่น วินัย ตำแหน่งทางวิชาการ รวมทั้งจัดการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์
  4. ออกกฎ ก.พ.อ. ระเบียบ หรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้
  5. กำหนดกรอบจำนวนคนและเงินเดือนสูงสุด
  6. กำกับ ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติราชการ 
  7. กำหนดเงินเดือนให้ประธานและกรรมสภาฯ
  8. รับรองคุณวุฒิให้
  9. กำหนดมาตรฐานของจรรยาบรรณที่พึงมีในสถาบันอุดมศึกษา
  10. ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ตามกฎหมายอื่น หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
สรุปก็คือตั้งขึ้นมาจัดการเรื่อง "คน" ให้อยู่กันอยู่กันอย่างเหมาะสามกับระบบนั่นเอง

สาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชาการของข้าราชการพลเรือนในสถานบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 (ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2553) กำหนดความหมายของการประเมินผลการปฏิบัติราชการไว้ดังนี้ 

หมายถึง “การประเมินค่าของผลการปฏิบัติงานของข้าราชการ โดยพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด หรือหลักฐานบ่งบี้ความสำเร็จของงานร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้รับการประเมิน และพิจารณาพฤติกรรมในการปฏิบัติราชการของข้าราชการตามสมรรถนะที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนด”

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ยึดประกาศเกณฑ์ ก.พ.อ. ดังกล่าว และจัดทำประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการและพนักงานในระดับอุดมศึกษา สังกัดมหาวิยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2554 (ดาวน์โหลดที่ law_2554.pdf) ซึ่งได้กำหนด วัตถุประสงค์ กรอบเวลา และเกณฑ์การประเมินไว้ดังนี้ 

วัตถุประสงค์ของการประเมินผลการปฎิบัติราชการ 

   เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานของข้าราชการและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยยึดหลักการประเมินที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรมต่อข้าราชการ โดยคำนึงถึงคุณภาพ ปริมาณงานของตำแหน่ง และผลงานที่ปฏิบัติ การรักษาวินัยและจรรยาบรรณ ตลอดจนความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงานตามภาระงานที่ได้รับมอบหมาย และเพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ประโยชน์สูงสุด ในการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติราชการ เพื่อนำผลการประมินไปประกอบการพิจารณาในการบริหารงานบุคคลในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

1) การพัฒนาและเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ

2)การเลื่อนเงินเดือน การเพิ่มค่าจ้างและค่าตอบแทนประจำปี

3)การให้รางวัลประจำปี รางวัลจูงใจ และค่าตอบแทนต่างๆ 

4)การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน่วยงาน หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น 

5)การบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ ก.บ.ม. กำหนด 

เห็นได้ชัดเจนว่า การพัฒนาเกณฑ์ประเมินที่เรากำลังพัฒนาขึ้นใช้ภายในคณะวิทยาศาสตร์ โดยยึดระเบียบและประกาศต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั้น จะใช้ไปพิจารณาการเลื่อนเงินเดือน และความดีความชอบอื่นๆ ในการบริหารงานบุคคล 

ผู้ประเมินเป็นใคร????

ก.พ.อ. กำหนดไว้ว่า ผู้ประเมินได้แก่ ผู้บังคับบัญชาโดยตรง ดังนั้นสถาบันจะต้องจัดทำข้อบังคับอำนาจหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน หรือกรณีที่จะมอบหมายแทนจะต้องทำเรื่องการมอบอำนาจการประเมินไว้ให้ชัดเจน 
องค์ประกอบของการประเมิน
ก.พ.อ. กำหนดกรอบเกณฑ์ประเมินเป็น 2 องค์ประกอบได้แก่ 
  1. ผลสัมฤทธิ์ของงาน แบ่งย่อยเป็น 2 ด้านคือ 
    • ปริมาณ คุณภาพ และความรวดเร็วตรงเวลา
    • ประหยัด ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร
  2. พฤติกรรมการปฏิบัติราชการ (สภากำหนด)
    • สมรรถนะหลัก (อย่างน้อย 3 - 5 ด้าน) 
    • สมรรถนะเฉพาะตามลักษณะงาน (อย่างน้อย 4 - 6 ด้าน)
    • สมรรถนะทางการบริหาร (อย่างน้อย 5 ด้าน)

โดยกำหนดให้สัดส่วนของการประเมิน 


ผลสัมฤทธิ์ของงาน      :
พฤติกรรมการปฏิบัติราชการ 
ไม่น้อยกวาร้อยละ 70  :
ไม่เกินร้อยละ 30  
ยกเว้นกรณีที่อยู่ในช่วงของการทดลองการปฏิบัติราชการ ให้มีสัดส่วน 50:50 และในส่วนของผู้บริหารตามระเบียบของมหาวิทยาลัยให้สภากำหนดสัดส่วนเองได้ และในทุกรณีสภามหาวิทยาลัยอาจกำหนดเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม 
เกณฑ์การประเมิน
ก.พ.อ. กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยต้องกำหนดแบบการประเมินให้ชัดเจน 3 ฉบับ ได้แก่ 
  • แบบข้อตกลงผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน 
  • แบบข้อตกลงการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติราชการ
  • แบบสรุปการประเมินผลการปฏิบัติราชการ 

สำหรับสมรรถนะที่ใช้ประเมินพฤติกรรมการ ให้สภาฯ เลือกจากข้อต่อไปนี้ 

สมรรถะหลัก ได้แก่

1)การมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Achievement Motivation)

2)บริการที่ดี (Service Mind)

3)การสั่งสมความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ (Expertise)

4)การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมและจริยธรรม (Integrity)

5)การทำงานเป็นทีม (Teamwork)

สมรรถนะเฉพาะตามลักษณะของงานที่ปฏิบัติ ได้แก่ 

1)การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) 

2)การมองภาพองค์รวม (Conceptual Thinking)

3)การใส่ใจและพัฒนาผู้อื่น (Caring Others)

4)การสั่งการตามอำนาจหน้าที่ (Holding People Accountable)

5)การสืบเสาะหาข้อมูล (Information seeking)

6)ความเข้าใจข้อแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cultural Sensitivity)

7)ความเข้าใจผู้อื่น (Interpersonal Understanding)

8)ความเข้าใจองค์กรและระบบราชการ (Organizational Awareness)

9)การดำเนินการเชิงรุก (Proactive ness)

10)การตรวจสอบความถูกต้องตามกระบวนงาน (Concern for Order)

11)ความมั่นใจในตนเอง (Self Confidence)

12)ความยืดหยุ่นผ่อนปรน (Flexibility)

13)ศิลปะการสื่อสารจูงใจ (Communication & Influencing)

14)สุนทรียภาพทางศิลปะ (Aesthetic Quality)

15)ความผูกพันที่มีต่อส่วนราชการ (Organizational Commitment)

16)การสร้างสัมพันธภาพ (Relationship Building)

สมรรถนะสำหรับข้าราชการตำแหน่งประเภทบริหาร ตามมาตรา 18 (ข) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ให้ประเมินสมรรถนะทางการบริหาร 5 ด้าน ตามที่สภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 ได้กำหนด ดังนี้ 

1)สภาวะผู้นำ (Leadership)

2)วิสัยทัศน์ (Visioning)

3)การวางกลยุทธ์ภาครัฐ (Strategic Orientation)

4)ศักยภาพเพื่อนำการปรับเปลี่ยน (Change Leadership)

5)การสอนงานและการมอบหมายงาน (Coaching and Empowering Others)

กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนในการประเมิน 

กำหนดให้ทำการประเมินผลการปฏิบัติราชการปีละ 2 รอบ รอบละ 6 เดือน ดังนี้

•รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป

•รอบที่ 2  ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีเดียวกัน 

ที่กล่าวทั้งหมดเป็น ระเบียบ กติกา ข้อตกลง ซึ่งหากไม่ดี ก็ต้องทำให้ดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามและยอมรับ มิเช่นนั้น ก็ "วุ่นวาย" 

หมายเลขบันทึก: 508280เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท