การปรับพฤติกรรมเพื่อเอาชนะโรค


 

  4.การปรับพฤติกรรมทำให้ชีวิตดูจืดชืด ไม่มีสีสัน จริงหรือไม่

  ในความรู้สึกของคนทั่วไป จะเป็นเช่นนั้น เพราะร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความทนทานต่ออาหาร อากาศ อารมณ์ การออกกำลังกาย การอดหลับอดนอน ไม่เท่ากันและมีแนวโน้มที่จะรับสิ่งที่ชอบมากเกินไป จนเกิดโรค เช่นบางคนชอบทานหวาน ชอบทานน้ำอัดลมวันละ 10 ขวด ทานกาแฟวันละ 5-6 แก้ว ทานข้าวก็ต้องเป็นข้าวเหนียวเท่านั้น หรือต้องเป็นข้าวขัดขาวเท่านั้น เป็นข้าวกล้องไม่เอาเลย บางคนทานมังสวิรัติไม่ได้เลย เกลียดการทานผัก ต้องมีเนื้อสัตว์ทุกมื้อ ไม่มีก็เหมือนทานข้าวไม่อร่อย บางคนก็ต้องใส่ผงชูรสในอาหารมากๆวันละ 1 ซอง ไม่ใส่ก็ทานไม่ได้  จะทานทุเรียนสัก 2 ลูกได้ไหม ก็อยากทาน การห้ามของลูกหลาน ของคนที่รัก ของหมอที่รักษา เหมือนจะยิ่งยุ แอบทานของเหล่านี้ บางครั้งไม่สามารถทนทานต่อความอยากอาหารได้ ขอตายซะดีกว่า จะทานซะอย่าง ไม่ได้เดือดร้อนใคร(ไม่เดือดร้อนในตอนนี้ แต่จะเดือดร้อนตอนหามเข้าโรงพยาบาล) จะเห็นได้ว่า การต้านทานความอยาก เป็นเรื่องยากกว่าการตามใจความอยาก นั่นคือ กลลวงของโรคภัยไข้เจ็บที่มาคุกคามมนุษย์โดยผ่านความอยากนั่นเอง

  ดังนั้นการฝึกฝนเพื่อที่จะฝืนความรู้สึกอยากเป็นสิ่งจำเป็น คนที่ฝึกฝนมาดีก็จะสุขสบายหรือไม่ลำบากมากยามต้องเผชิญกับช่วงที่เจ็บป่วย ช่วงที่ต้องเข้มงวดเรื่องอาหาร ช่วงต้องงดสิ่งต่างๆ จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมบางแห่งจะฝึกฝนเรื่องนี้ เช่น คนไทยจะมีเรื่องห้ามของแสลง เช่นห้ามทานหน่อไม้ เวลาป่วย คนจีนจะมีเทศกาลกินเจ จะเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักจากการทานเนื้อสัตว์และขับล้างสารพิษ และฝึกใจให้ทานผักได้ ศาสนาอิสลามมีการถือศีลอด เป็นต้น

  มียาอะไรไหมที่กินแล้วโรคหายเลย

  ผมไม่อยากปรับตัวเอง จะขอกินอร่อยเหมือนเดิม ได้ไหม ไม่อยากไปออกกำลังกาย มันเหนื่อย ขออยู่สบายๆได้ไหม หายาดีๆให้ผมเถอะ เอากินทีเดียวหายเลยนะ...

  หมอมักเจอคนป่วยประเภทนี้บ่อยๆ จะเห็นว่าการรักษาให้สุขภาพกลับคืนมาเป็นปกติโดยไม่ลงแรงใดๆ แค่อ้าปากเฉยๆ ใช้ทางลัดตลอด คุณว่าจะหายได้ไหม?

  พฤติกรรมที่ทำซ้ำๆกันมานาน จะพลิกกลับทันทีทันใด ต้องมีผลกระทบต่อความสบายแบบเดิมอยู่แล้ว นั่นเพราะเราทำเหตุดี ผลก็จะดีตามมา จะเหนื่อยหน่อยก็ตอนช่วงแรก เท่านั้น การกลับหลังหันเดินทางสวนความอยากที่ตัวเองฝึกสะสมมานานเป็นหนทางที่สมควรแล้ว

  แนวคิดการฝึกเพื่อต้านทานความอยาก

  ให้ระลึกอยู่เสมอว่า กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน

  ให้ระลึกว่าชีวิตเป็นสมบัติที่ล้ำค่า เอาเงินมาซื้อชีวิตก็แลกมาไม่ได้ ให้รักตัวเองมากๆ เพื่อรักษาชีวิตไว้ทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป

  พิจารณาโทษของการกินมากเกินไป หรือน้อยเกินไป จนเกิดโรคที่ทุกข์ทรมานในอนาคต เช่น กินข้าวมาก น้ำตาลในเลือดก็สูงมาก เป็นเบาหวาน เส้นเลือดหัวใจก็จะตีบตามมา การไม่ออกกำลังกายทำให้น้ำหนักมาก จะทำให้ปวดเข่า และเลือดไม่ไหลเวียน เส้นเลือดสมองอุดตันเป็นอัมพาตได้

  สาววัยรุ่น ต้องการจะลดหุ่นก็มีใจที่จะอดอาหาร ถ้าอดมากไปก็จะขาดน้ำตาลในเลือด เป็นลมได้ แต่ปัญหาส่วนมากจะอยู่ที่ทานมากไปมากกว่า

  ความอยากเป็นของชั่วคราว เกิดขึ้นได้ ก็ดับได้

  การชนะความอยากชั่วคราวคือความอดทน และเป็นพื้นฐานของการเอาชนะต่อไป การหาอุบายให้จิตไม่ไปหมกมุ่นกับความอยากนั้น เช่นการทำงาน การเปลี่ยนจากสถานที่มีอาหาร ไปทำอย่างอื่น ก็อาจพ้นความอยากนั้นๆได้ชั่วขณะ

  การเอาชนะขั้นเด็ดขาด คือการใช้ปัญญาในการตัดความอยาก ต้องฝึกฝนลับคมปัญญาให้ดี เช่น การพิจารณาอสุภะ เห็นว่าอาหารเป็นของไม่สวยงาม ไหลเข้า แล้วก็ไหลออกจากร่างกายเป็นอุจจาระ ทิ้งไว้ก็บูดเน่า เป็นตัวทำให้ร่างกายเป็นของบูดเน่าตามไปด้วย ถึงจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็อยู่ในวิสัยที่คนพอจะฝึกได้ ใช้ความเพียรทำซ้ำบ่อยๆ สม่ำเสมอ จนจิตมีกำลังพอ มีปัญญาที่จะตัดได้

  ทางกลางๆก็คือ ตอบสนองความอยากบ้างแต่ให้รู้ตัว ไม่ตอบสนองจนเกินเลยไป แล้วชดเชยด้วยการงด เช่น เป็นเบาหวาน หมอห้ามของหวาน วันนี้อยากทานทองหยิบ ทองหยอด เหลือเกิน ก็ทานไปพอประมาณแต่ก็ต้องงดทานข้าวในวันนั้นด้วย(ทานได้แต่กับข้าว) เป็นการชดเชยน้ำตาลที่สูงขึ้นมา แต่ไม่ให้ทำบ่อย

รู้ได้อย่างไรว่าทำถูกทาง

การรักษาใดๆก็ตามควรต้องตรวจสอบดูว่าทิศทางการรักษานั้นถูกต้องหรือไม่ดังนี้

  1.ดูว่า จิตใจสบายขึ้นหรือไม่ ทุกข์ร้อนในใจยังมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าจิตใจสบาย ทุกข์ร้อนลดลง นับว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

  2. ดูว่า นิสัย พฤติกรรมเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนโดยไม่ต้องฝืนแล้ว แสดงว่าถูกต้อง เช่น ทานข้าวกล้องได้โดยไม่ฝืน ไปออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ และมีความสุขที่ได้ทำ

  3. ดูร่างกายโดยรวมว่าสีหน้าสดใส ไม่ผอมหรืออ้วน เกินไป ควรชั่งน้ำหนักดู วัดความดันโลหิต อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็สัปดาห์ละครั้ง ทำทุกวันได้ก็ดี เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะได้แก้ไขได้ก่อน

  4. ดูว่าไม่มีอาการผิดปกติที่เป็นอาการเดิมกำเริบ หรือไม่มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่นคนที่เป็นเบาหวานก็ต้องปัสสาวะกลางคืนลดลง ไม่มีอาการช็อคน้ำตาลเป็นต้น

  5. ตรวจเช็คร่างกายด้วยแพทย์และตรวจทางห้องปฎิบัติการ

  คนเป็นเบาหวานควรเจาะหาค่าน้ำตาลบ่อยๆทุก 1-2 วันต่อครั้ง ในช่วงแรกๆ จนรักษาได้ดีแล้วอาจเจาะห่างขึ้นเป็นสัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง

  การตรวจอื่นๆเช่นการทำงานของไต ของตับ ตรวจไขมัน เอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ MRI แพทย์จะสั่งตรวจให้ท่านเองตามความเหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 508001เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดีๆ ครับคุณหมอ ผมเป็นโรคเรื้อรัง(ไวรัสตับอักเสบซี)คนหนึ่งล่ะ ทราบว่าจิตเป็นเรื่องที่บังคับยากมากเวลาหงุดหงิด โกรธ จะไม่รู้สึกตัว ผมไม่อยากโทษผลข้างเคียงของยา แต่อยากจะโทษผลข้างเคียงของใจมากกว่า ที่ตามไม่ทันอารมณ์ของตัวตน(จริงๆไม่มีตัวตน)ที่ต้องฝึกการอยู่กับปัจจุบันขณะ มีสติที่เร็วต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้การฝึกฝนอย่างหนัก...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท