บันทึกวาระสี่เดือนของมอส. ตอนที่ ๖ : มุมมองของตนเองในการแก้ไขปัญหา


๖.มุมมองของตนเองในการแก้ไขปัญหา

การแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคลของพื้นที่อำเภออุ้มผาง(หรือในพื้นที่อื่นๆ) มีความเห็นว่า ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทั้งชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสิทธิ และส่วนราชการอำเภออุ้มผางที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย 

๖.๑ ผู้ที่ประสบกับปัญหาควรมีความเข้าใจถึงสิทธิตามกฎหมายของตนเอง เพราะผู้ประสบปัญหาสิทธิสถานะบุคคลเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบตามกฎหมายโดยตรง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะรู้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย การตระหนักถึงประโยชน์ และผลเสียที่ตามมาหากไม่มีการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎรที่ได้รับรองไว้ หากชาวบ้านได้รูถึงสิทธิ หน้าที่ ประโยชน์ และผลเสียที่ตามมาแล้ว คาดว่าน่าจะทำให้ชาวบ้านยอมรับและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายมากยิ่งขึ้นนอกจากการทำความเข้าใจด้วยตนเองแล้ว(?) การให้หน่วยงานอื่นๆอย่างส่วนราชการ หรือองค์พัฒนาเอกชนอื่น มาช่วยให้ความรู้กฎหมายก็อาจเป็นการทำให้ชาวบ้านเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองเช่นกัน

เช่น ให้หน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค: อำเภออุ้มผาง โรงเรียน ตำรวจ ทหารในพื้นที่ มาบอกกล่าว กระตุ้นเตือนเกี่ยวกับเรื่องการแจ้งเกิดบุตรของตนเอง การให้ความรู้แก่ผู้ใหญ่บ้านเพื่อดูแลการแจ้งเกิดลูกบ้านกรณีเกิดนอกสถานพยาบาล หากชาวบ้านรู้จักสิทธิและหน้าที่ของก็สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลที่มุ่งจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบได้

ปัญหาที่พบจากการทำงานนั้น เนื่องจากกฎหมายการทะเบียนราษฎรได้กำหนดหน้าที่ให้เจ้าบ้าน หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้แจ้งเกิดภายในระยะเวลาที่กำหนด(มาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔) ซึ่งในกรณีที่เด็กเกิดในสถานพยาบาลจะได้รับแ้จ้งจากเจ้าหน้าที่ที่ออกหนังสือรับรองการเกิดเพื่อให้ไปแจ้งการเกิดกับนายทะเบียนอีกครั้งเพื่อให้ออกสูติบัตร แล้วเพิ่มชื่อของเด็กเข้าในทะเบียนบ้านต่อไป แต่ที่พบเจอคือชาวบ้านบางรายแม้บุตรของตนเองเกิดในโรงพยาบาลก็ไม่ได้แจ้งเกิดให้กับบุตร โดยเฉพาะในบางพื้นที่ซึ่งอยู่ห่า่งไกลจากอำเภอมาก การคมนาคมไม่สะดวก เมื่อเด็กคลอดในบ้านโดยหมอตำแย บิดามารดาก็ไม่เดินทางเข้ามาแจ้งเกิดให้บุตรและบางกรณีก็ไม่แจ้งกับผู้ใหญ่บ้านทราบเพื่อให้แจ้งเกิดแทนด้วย เข้าใจว่าสาเหตุมาจากการไม่ทราบถึงผลเสียของการไม่แจ้งการเกิดให้แก่บุตรตนเองนั่นเอง จนส่งผลเสียต่อสิทธิของบุตรในอนาคต

๖.๒ ราชการส่วนท้องถิ่นที่รักษาการตามกฎหมายสัญชาติ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง ควรปฏิบัติราชการงานด้วยความเข้าใจในเจตนารมย์ของกฎหมายเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

เมื่อพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ อันเป็นกฎหมายที่กำหนดว่าบุคคลที่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนใดๆย่อมได้สัญชาติไทย กรณีนี้ฝ่ายปกครองจะอ้างเหตุผลการใช้ดุลพินิจโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายออกคำสั่งปฏิเสธสิทธิในสัญชาติไทยไม่ได้ เช่น การอ้างความประพฤติของบิดามารดา เป็นต้น

นอกจากนี้ฝ่ายปกครองควรรู้จักการชั่งน้ำหนักส่วนได้เสียระหว่างสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงของรัฐประกอบกันในการพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่ละกรณีในพื้นที่ด้วย รวมทั้งควรปรับทัศนคติ/มุมมองด้านสิทธิมนุษยชนให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม 

ส่วนราชการควรตระหนักว่าระเบียบ แนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกับกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่าไม่สามารถนำมาอ้างในการที่จะไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น บางท้องที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยอ้างว่ายังไม่มีคำสั่งเป็นหนังสือสั่งการจากทางผู้บังคับบัญชา เป็นต้น

ท้ายที่สุด ส่วนราชการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยจิตใจบริการแก่ชาวบ้าน โดยตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเป็นผู้ให้บริการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก่ชาวบ้านให้ได้รับรองสิทธิสถานะบุคคลตามแต่ละข้อเท็จจริงแต่ละกรณีๆไป


หมายเลขบันทึก: 507972เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท