ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๘๓. สดชื่นในวงวิชาการ



          วันที่ ๑๐ - ๑๒ ต.ค. ๕๕ ผมไปฝังตัวเรียนรู้ และหาความสุขจากวงวิชาการ  โดยร่วมการประชุม นักวิจัยใหม่...พบ...เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ ๑๓ ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจ้นท์ บีช ชะอำ


          เป็นครั้งแรกในหลายปี ที่ผมสามารถอยู่ร่วมประชุมนี้ได้ตลอดการประชุม  ในท่ามกลางนักวิจัยชั้นเยี่ยมของประเทศหลากหลายรุ่น จำนวนประมาณ ๙๐๐ คน  ได้พบกัลยาณมิตรที่ไม่ได้พบกันนาน  ได้รับทราบและฟังเรื่องราวความสำเร็จของนักวิจัยรุ่นน้องและรุ่นลูก  เกิดความปิติสุขเป็นอันมาก 


          เริ่มจากรายการแรกของงาน คือการบรรยายหมู่ เรื่อง เส้นทางสู่วุฒิภาวะของนักวิจัย โดยนักวิจัยระดับยอด ๔ ท่าน ใน ๔ สาขา  ฟังแล้วเกิดความปิติ มีความสุข ที่ได้รับรู้เรื่องราวในชีวิตนักวิจัย ที่เรียนและฝึกฝนทักษะการทำงานวิจัยมาอย่างดีเยี่ยม  แล้วเมื่อทำงานวิจัยก็ต้องอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อของสังคมไทย  แต่ท่านเหล่านี้ก็ไม่ย่อท้อ  ทำงานวิจัยต่อเนื่อง  โดยมีแหล่งทุนวิจัยสนับสนุน  มีการสนับสนุนจากระบบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย  และมีความร่วมมือกับต่างประเทศ   และบางท่านได้รับทุนวิจัยจากต่างประเทศด้วย 


          ที่น่าสนใจคือ ๒ ท่านที่ทำงานในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดเอ่ยเรื่องการถูกเพื่อนร่วมงานพูดจาเหน็บแนม  ว่าการทำงานวิจัยเป็นการแสดงความเห็นแก่ตัว  ในขณะที่ ศ. ดร. ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  บอกว่าโชคดีมากที่คณะตั้ง Center of Neuroscience ให้  มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน   ส่วน ศ. ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา บอกว่าตนทำงานด้านเศรษฐศาสตร์  ไม่ต้องการพื้นที่สำหรับทีมวิจัยมากนัก  แต่ก็ยังหาไม่ค่อยได้


          ผู้บรรยายหมู่อีก ๓ ท่านคือ ศ. ดร. นพ. นิพนธ์ ฉัตรทิพากร  แห่งศูนย์วิจัยและฝึกอบรม สาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ  และภาควิชาสรีรวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มช., ศ. ดร. สุทธวัฒน์ เบญจกุล  คณะอุตสาหกรรมเกษตร  มอ., และ ศ. ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา  คณะเศรษฐศาสตร์  มธ.  ทั้ง ๔ ท่านเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. 


          ตอนบ่ายผมไปฟังการนำเสนอผลงานสาขาชีววิทยาและชีววิทยาศาสตร์  และบ่ายแก่ๆ ไปฟังที่ห้องสาขาสังคมศาสตร์


           ห้องสาขาชีววิทยาและชีววิทยาศาสตร์ที่ผมไปฟังเป็นเรื่องของหมอฟันทั้ง ๔ เรื่อง  ที่ผมไปฟังก็เพราะอยากฟัง อ. หมอนิก (พีรนิธ กันตะบุตร) นำเสนอเรื่อง Molecular Genetics of Dental Anomalies, Orofacial Clefting, and Ankyloglossia  ซึ่งเป็นการเล่าผลงานตลอดชีวิตของท่าน  พบว่าท่านเล่าอย่างมีสีสันน่าสนใจมาก  การวิจัยกลุ่มอาการสมัยก่อนตรวจได้แค่ลักษณะทางกายภาพ และศึกษาครอบครัว  เดี๋ยวนี้ทำ gene sequencing ได้โดยง่าย  ช่วยให้การศึกษากลุ่มอาการมีความก้าวหน้าไปมาก  อ. หมอนิกมีครอบครัวใหญ่ที่เป็นโรคหรือกลุ่มอาการที่ท่านศึกษาหลายครอบครัว  ที่กระตุ้นการอภิปรายว่าทำไมหมอไม่แนะนำให้เขางดมีลูก  เสียดายที่เวลาจำกัด การอภิปรายนี้จึงต้องยุติไปโดยยังไม่ได้ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน  ผมพบว่า ที่ห้องสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การนำเสนอ และถามตอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด  และหมอฟันพูดภาษาอังกฤษเก่ง และสำนวนดีมาก


          ที่ห้องสังคมศาสตร์ ใช้ภาษาไทยทั้งหมด  ผมไปฟังเรื่อง Corporate Governance and Financial Reporting, เรื่องการพัฒนาการอ่านของนักเรียน, และเรื่อง Inquiry-based Learning Module เป้าหมายของการฟังเพื่อสังเกตความเชื่อมโยงระหว่างวิชาการกับชีวิตจริง  หรือ academic social engagement  และเกิดแนวความคิดว่า มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาวิธีจัดการความเชื่อมโยงนี้ 


          ตอนค่ำมีบริษัทเอกชน ๒ บริษัทมาพูดเรื่องที่มีประโยชน์ต่อนักวิจัย ๒ เรื่อง  คือเรื่อง SNIPซึ่งเป็นดัชนีใหม่ที่บริษัท Elsevier – Scimago คิดขึ้น  กับเรื่องการจัดการ IP โดยวิศวกรจากบริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์ ชื่อ Axis Intellectual Capital ฟังแล้วเห็นว่ามีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมากมายทั้งสองเรื่อง  และผมเข้าใจว่า พัฒนาการในประเทศไทยช้ากว่าพัฒนาการของโลก


          วันที่ ๑๑ ต.ค.​ความชื่นใจขึ้นสูงยิ่งขึ้นเมื่อผมไปฟังรายงานผลการวิจัยในห้อง Social Science I  สองเรื่องสุดท้ายของวันเป็นเรื่อง เมืองเก่ากับเกสต์เฮ้าส์ที่เชียงใหม่  กับเรื่องถนนคนเดินแบบตลาดนัดในเมือง (ศึกษาทั่วประเทศไทย เทียบกับของต่างประเทศ)  จากเชียงใหม่ทั้งคู่  แต่จากคนละมหาวิทยาลัย   ผมคิดว่าทั้ง ๒ เรื่องนี้เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง  นักวิจัยทั้ง ๒ ท่านนี้จบ ป. ตรี จาก สจล. ทั้งคู่ 


          ยิ่งคืนวันที่ ๑๑ ยิ่งสนุก  เป็น ๒ ชั่วโมงที่ประเทืองปัญญายิ่งกับการเสวนา “ความสำเร็จในการขอทุนวิจัย และการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ”  ที่ผู้อาวุโสในห้องที่ผมเข้าร่วม (กลุ่ม biomedical science) ให้ความเห็นแบบไฟแลบ  มีสาระและมุมมองที่หลากหลาย และมีหลายกรณีแตกต่างกันไปในทางตรงกันข้าม  เมื่อถึงเวลาเลิกตอนสามทุ่ม ศ. ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา โบ้ยมาให้ผมกล่าวปิด  ผมเรียนที่ประชุมว่า การวิจัยเป็นเรื่องซับซ้อน  สิ่งที่เราคุยกันคืนนี้ แต่ละคำถามมีหลายคำตอบ  ดังนั้นคำแนะนำคืออย่าเชื่อ หรืออย่าด่วนเชื่อ  ให้คิดไตร่ตรองจากบริบทที่เราอยู่เสียก่อน  แล้วก็ปิดประชุม 




วิจารณ์ พานิช

๑๑ ต.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 507885เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท