Higgs Boson


จากที่ดิฉันได้เรียนเรื่องประจุไฟฟ้ามาอาจารย์ท่านได้กล่าวถึงเรื่องโครงสร้างของสสารโดยที่ในอดีตเราจะรู้มาว่าโครงสร้างของอะตอมนั้นประกอบไปด้วยอนุภาคสามอนุภาค คือ อิเล็กตรอนซึ่งมีประจุลบจะวิ่งอยู่รอบๆนิวเคลียส่วนโปรตรอนมีประจุบวกเเละนิวตรอนที่ไม่มีประจุจะรวมกันอยู่ตรงกลางของนิวเคลียส เเต่ปัจจุบันนี้ได้มีการค้นพบอนุภาคพื้นฐานที่มีขนาดเล็กลงไปกว่าโปรตอนเเละนิวตรอนซึ่งก็คือ Higg Boson  นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ามันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมวลหรืออนุภาคต่างๆของสสารโคยดิฉันได้ลองค้นคว้าข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆเกี่ยวกับเรื่องHigg Bosonจนมาเจอhttp://jusci.net/node/2668 ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สามารถอ่านเเล้วเข้าใจได้ง่ายโดยเนื้อหาจะครอบคลุมทั้งเรื่อง Standard Modle-ทฤษฎีของอนุภาคมูลฐาน  Higgs Boson คืออะไร โดยดิฉันได้ทำการรวบรวบข้อมูลบางส่วนมาดังนี้

Standard Model - ทฤษฎีของอนุภาคมูลฐาน

สิ่งแรกที่ต้องทำความรู้จักก่อนจะพูดถึง Higgs boson คือ สิ่งที่เรียกว่า "Standard Model" และประวัติความเป็นมาของมัน

ย้อนไปในยุคก่อนที่จะมีเครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงแบบในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์เชื่อว่าจักรวาลประกอบด้วยอนุภาคมูลฐาน (elementary particle) เพียงแค่ 3 ตัว คือ โปรตอน (proton), นิวตรอน (neutron) และอิเล็กตรอน (electron) ซึ่งเป็นองค์ประกอบในอะตอมของธาตุทุกชนิด อนุภาคมูลฐานทั้งสามนี้เป็นอนุภาคมูลฐานก็เพราะว่ามันไม่สามารถแบ่งย่อยลงต่อไปได้อีกแล้ว

แต่ต่อมาในยุคของการศึกษารังสีคอสมิคและเครื่องเร่งอนุภาค นักฟิสิกส์ก็ค้นพบอนุภาคใหม่ๆ อีกมากมาย ตอนแรกนักฟิสิกส์ก็ตื่นเต้นดีใจกันยกใหญ่ เอาตัวอักษรกรีกมาตั้งชื่อให้อนุภาคเหล่านี้ไปเรื่อย เช่น sigma, pi, lambda ฯลฯ จนมีชื่ออนุภาคประหลาดๆ โผล่มาเต็มไปหมด  ถึงขนาดที่มีคนเรียกว่าเป็น "สวนสัตว์ Particle Zoo" กันเลยทีเดียว

นักฟิสิกส์จึงได้เริ่มมองหาทฤษฎีที่จะมาอธิบายความสัมพันธ์ของอนุภาคและแรงมูลฐานที่เรารู้จักทฤษฎีที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบ Particle Zoo คือ ทฤษฎี Electroweak theory ของ Sheldon Glashow ซึ่งรวมเอาแรงมูลฐานสองแรง คือ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า (eletromagnetic force) กับแรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน (weak force) เข้ามาไว้เป็นแรงชุดเดียวกันเรียกว่า electroweak force

นักฟิสิกส์เห็นว่า Electroweak theory ที่เสนอมาตั้งแต่ปี 1960 อธิบายความสัมพันธ์ของแรงมูลฐานสองแรงกับอนุภาคต่างๆ ได้ เลยพยายามเอาความสัมพันธ์นี้มาจับมัดรวมชุดเข้ากับทฤษฎี quantum chromodynamics (QCD) ซึ่งเป็นทฤษฎีของแรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม (strong force) อันเป็นแรงมูลฐานชนิดที่สาม เกิดเป็นชุดของทฤษฎีที่ได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า "Standard Model" เนื่องจากมันเป็นชุดทฤษฎีที่มีผลการทดลองยืนยันและได้รับการยอมรับมากที่สุดในการอธิบายอนุภาคมูลฐานของจักรวาล

อนุภาคมูลฐานที่อยู่ Standard Model แบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ fermion และ gauge boson ดังที่แสดงในแผนภาพตาราง

ขอบคุณภาพประกอบจาก Wikipedia

fermion (สามคอลัมน์ทางซ้ายของแผนภาพ) คืออนุภาคประพฤติตัวตามหลักการกีดกันของเพาลี (Pauli's Exclusion Principle) อิเล็กตรอนที่เรารู้จักกันดีก็เป็น fermion ชนิดหนึ่ง และก็จะเห็นว่าโปรตอนและนิวตรอนไม่ได้เป็นอนุภาคมูลฐานอีกต่อไป แต่เป็นอนุภาคเชิงประกอบ (composite particle) ที่มี up quark และ down quark อยู่ภายใน

ส่วน gauge boson (คอลัมน์ขวาสุดของแผนภาพ) คืออนุภาคที่ทำหน้าที่ส่งแรงมูลฐาน (force-carrier particle) ในทางฟิสิกส์ควอนตัม แรงที่อนุภาคกระทำต่อกันเกิดจากการแลกเปลี่ยนอนุภาคส่งแรงไปมาระหว่าง เช่น photon หรืออนุภาคแสงเป็นตัวส่งแรงของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

Higgs boson คืออะไร

สิ่งหนึ่งที่นักฟิสิกส์ข้องใจกันเป็นเวลานาน นับย้อนไปตั้งแต่ก่อนเริ่มมี Standard Model ด้วยซ้ำ คือ มวลของอนุภาคมูลฐาน โดยเฉพาะมวลของ gauge boson ที่แตกต่างกันเหลือเกิน มันเกิดอะไรขึ้น? ทำไม photon และ gluon ซึ่งเป็น force-carrier paritcle ของแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม (ตามลำดับ) ถึงไม่มีมวล ขณะที่ W และ Z boson ของ weak force ถึงมีมวล แถมมีมวลมากเสียด้วย (W boson มีมวล 80 GeV/c2 และ Z boson มีมวล 91 GeV/c2 ซึ่งหนักกว่านิวเคลียสของธาตุหนักๆ อย่างตะกั่วเสียอีก)

ในปี 1964 Peter Higgs ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักฟิสิกส์หนุ่มอายุ 35 ปี ได้เสนอคำอธิบายทางทฤษฎีที่ช่วยแก้ปัญหาว่ามวลนิ่ง (rest mass) ของอนุภาคมูลฐานที่เป็นอนุภาคส่งแรงเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการที่ทำให้อนุภาคมูลฐานเกิดมวลขึ้นมานั้นได้ชื่อต่อมาว่า "Higgs mechanism" (ชื่อนี้ตั้งขึ้นในภายหลังเพื่อเป็นเกียรติแก่ Peter Higgs นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษ 1960 นักวิทยาศาสตร์อีกสองกลุ่มก็เสนอกระบวนการที่เหมือนๆ กันขึ้นมาในเวลาที่เกือบจะพร้อมๆ กันด้วย)

ตามทฤษฎีนั้น อธิบายว่าในตอนแรกกำเนิดจักรวาล อนุภาคแรกเริ่มที่โผล่ขึ้นมาจากการระเบิด Big Bang ยังไม่มีมวลเป็นของตัวเอง จนกระทั่งเอกภพให้กำเนิดสนามพลังที่เรียกว่า "Higgs field" ขึ้น Higgs field เป็นสนามของพลังที่มองไม่เห็นและกระจายอยู่ทั่วจักรวาล อันตรกิริยาที่อนุภาคมูลฐานทำกับ Higgs field จะกลายเป็นมวลของอนุภาคนั้นๆ อนุภาคที่ทำอันตรกิริยากับ Higgs field มากก็จะมีมวลมาก ทำน้อยก็มวลน้อย ไม่ทำเลยก็ไม่มีมวล

และ Higgs boson ก็คืออนุภาคของ Higgs field เหมือนกับที่ photon หรืออนุภาคแสงเป็นอนุภาคของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic field) นั่นเอง

คำอธิบายเปรียบเทียบการทำงานของ Higgs mechanism ฉบับที่คนทั่วไปเข้าใจได้ดีที่สุดน่าจะเป็นคำอธิบายที่คิดโดย David Millerซึ่งเปรียบเทียบว่าจักรวาลเป็นห้องโถงจัดงานห้องหนึ่ง ในห้องมีนักข่าวยืนอย่างเป็นระเบียบเต็มไปหมดทั่วทั้งห้อง นักข่าวเหล่านี้เปรียบเสมือน Higgs boson ที่อยู่ใน Higgs field พอมีคนเดินเข้ามา ถ้าเป็นนักการเมืองคนดัง (อย่างเช่น คุณทักษิณ หรือ คุณอภิสิทธิ์) นักข่าวก็จะเข้าไปมะรุมมะตุ้มห้อมล้อมเป็นก้อน ทำให้คนดังนั้นจะเคลื่อนที่ก็ลำบาก จะหยุดก็ลำบาก เปรียบเสมือนมี "มวล" เยอะ (มวลมีคุณสมบัติในการสร้างความลำบากต่อการเคลื่อนที่ ในทางฟิสิกส์ มวลและน้ำหนักคือสิ่งที่แตกต่างกัน น้ำหนักเกิดจากผลที่แรงโน้มถ่วงกระทำต่อมวล) แต่หากเป็นพวกมนุษย์โนเนม ก็จะเคลื่อนที่ได้สะดวกโยธินเพราะไม่มีนักข่าวคนไหนสนใจ คนดังที่นักข่าว Higgs boson ให้ความสนใจเยอะก็คืออนุภาคที่มีมวลมาก พวกโนเนมก็คืออนุภาคที่ไม่มีมวลหรือมีมวลน้อย

Higgs boson - จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของ Standard Model

ในปี 1967 Steven Weinberg และ Abdus Salam เห็น Higgs mechanism สามารถอธิบายมวลของอนุภาคมูลฐานตัวอื่นๆ นอกจาก gauge boson ได้ด้วย เลยเอามันเข้าไปรวมกับ Standard Model ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในขั้นไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไรนัก

แต่หลังจากที่ Standard Model ถูกเสนอขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบอนุภาคมูลฐานที่ทำนายไว้ใน Standard Model เพิ่มขึ้นๆ เช่น การค้นพบ bottom quark (ปี 1977), top quark (ปี 1995), และ tau neutrino (ปี 2000) เป็นต้น ทุกคนจึงมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว ในที่สุดอนุภาคมูลฐานในตารางของ Standard Model ก็ถูกค้นพบจนหมดครบทุกตัว...

...ยกเว้นเพียงตัวเดียว

เหลือเพียงตัวเดียวที่ค้นพบยากเย็นเสียเหลือเกิน จนได้ชื่อว่า "อนุภาคพระเจ้า หรือ God particle" ซึ่งเป็นชื่อจากหนังสือ The God Particle: If the Universe Is the Answer, What Is the Question? ของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล Leon Lederman (ความจริง Leon Lederman จงใจจะตั้งชื่อว่า Goddamn particle ให้สมกับที่มันค้นพบยากเย็นชิบหาย แต่ว่าสำนักพิมพ์กลัวว่ามันจะหนักไป เลยขอให้ Leon Lederman เปลี่ยนชื่อ)

อนุภาคตัวนั้นก็คือพระเอกของเรา Higgs boson นั่นเอง

การค้นพบ Higgs boson เป็นหลักฐานที่จะยืนยันถึงการมีอยู่ของ Higgs field เนื่องจาก Higgs field เป็นสนามพลังที่ไม่มีอะไรให้สังเกตตรวจวัดได้โดยตรงนอกจากจะรบกวนสนามพลังด้วยพลังงานสูงๆ ให้อนุภาค Higgs boson กระเด็นโผล่ตัวหลุดออกมาจากสนามพลัง (เหมือนกับที่เมื่อเราใส่พลังงานเข้าไปในสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ก็จะมี photon หลุดออกมา)

สิ่งที่ทำให้การค้นพบ Higgs boson ทำได้ยากเย็นเข็ญใจนัก คือ เพราะมันมีมวลมากถึงระดับร้อย GeV/c2 ซึ่งการสร้างอนุภาคที่มีมวลสูงขนาดนี้ต้องใช้พลังงานมหาศาล ตัวทฤษฎีเองก็ไม่ได้ทำนายช่วงมวลของ Higgs boson เอาไว้อย่างชัดเจน ทำให้การค้นหา Higgs boson ต้องทำในช่วงมวลที่กว้างมาก เราจึงเห็นข่าวการค้นหา Higgs boson ในช่วงแรกๆ มีแต่ข่าวการ "ตัด" ช่วงมวลที่ไม่น่าจะใช่หรือไม่พบสัญญาณของ Higgs boson ออกไป ทั้งนี้ก็เพื่อจำกัดการค้นหาให้แคบลง

ต้องเข้าใจว่า Higgs boson ไม่ได้กระเด็นออกมาในทุกครั้งที่โปรตอนหรืออนุภาคมากระแทกกันในเครื่องเร่งอนุภาค แม้แต่ในเครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงมหาโหดอย่าง LHC โอกาสที่จะเกิด Higgs boson ก็มีน้อยมาก (ประมาณหนึ่งในพันหรือหมื่นล้าน) อีกทั้ง Higgs boson ที่เกิดขึ้นก็มีอายุสั้น (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอนุภาคมูลฐานที่มีมวลสูงๆ) มันจะสลายตัวเปลี่ยนเป็นอนุภาคอื่นแทบจะในทันทีที่มันเกิดมาเลยทีเดียว นักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยสัญญาณที่ตรวจวัดได้จากอนุภาคที่สลายออกมานี้ไปคำนวณย้อนกลับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการสลายตัวคืออะไร สัญญาณที่คำนวณออกมานี้จึงปรากฏในรูปของเส้นกราฟที่พุ่งกระโดดเป็นส่วนเกิน (excess) เมื่อเทียบกับเส้นกราฟพลังงานเบื้องหลัง (backgroud)

ภาพกราฟแสดงสัญญาณ excess ที่คาดว่าจะเป็นของ Higgs boson จาก ATLAS ของ CERN (สังเกตกราฟที่นูนกระโดดขึ้นมาตรงประมาณ 126 GeV)

ภารกิจตามล่า Higgs boson นั้นย้อนความขึ้นไปได้ถึงสมัยของ Large Electron–Positron Collider (LEP) ซึ่งทำงานอยู่ระหว่างปี 1989-2000 นักฟิสิกส์ของ CERN ที่ทำงานใน LEP เจอสัญญาณ excess ในช่วงมวลประมาณ 114.4 GeV/c2 แต่ว่าไม่ทันที่จะเก็บข้อมูลได้มากพอ LEP ก็ต้องปิดตัวลงเพื่อเปิดทางให้กับ LHC เครื่องเร่งอนุภาครุ่นน้องที่ทรงพลังกว่า

เครื่องเร่งอนุภาค Tevatron ของ Fermilab ซึ่งเป็นคู่แข่งของ LHC ก็รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการค้นหา Higgs boson อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะหยุดการทำงานลงไปเมื่อเดือนกันยายน 2011 แต่เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2012 ที่ผ่านมา ทีม D0 และ CDF ของ Tevatron ก็แถลงรายงานผลเป็นครั้งสุดท้ายว่าพบสัญญาณ excess ในช่วงมวล 115–140 GeV/c2 ที่ระดับความเชื่อมั่น 2.9 sigma (Higgs boson สามารถสลายตัวได้หลายทางและให้ผลลัพธ์ออกมาต่างกัน เครื่องตรวจจับอนุภาคจะถูกตั้งช่องสัญญาณให้เล็งคอยตรวจวัดอนุภาคเหล่านี้ เครื่องตรวจจับของ Tevatron เน้นไปที่การตรวจจับในช่องสัญญาณของอนุภาค top quark ขณะที่ของ LHC เน้นที่ช่องสัญญาณ photon-photon และช่องสัญญาณ 4 leptons)

สัญญาณระดับความเชื่อมั่น 5 sigma ที่ทีม CMS และ ATLAS แห่ง CERN เจอล่าสุดนั้น แม้มันจะมีช่วงมวลและพฤติกรรมการสลายตัวที่สอดคล้องกับ Higgs boson ที่ทำนายไว้ใน Standard Model แต่การค้นหาก็ยังไม่สิ้นสุด นักฟิสิกส์ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม (เช่น มันเป็น scalar boson หรือ vector boson) เพื่อมายืนยันอีกทีว่ามันใช่ Higgs boson ของ Standard Model จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นอะไรอย่างอื่นที่เราไม่รู้จัก เป็นไปได้ว่าเราอาจจะต้องรอจนถึงปี 2014-2015 ให้ LHC เดินเครื่องเต็มกำลัง ถึงจะได้รู้กันแน่นอน

Higgs boson ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของจักรวาล

ไม่ว่าเราจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจกับการค้นพบ Higgs boson (หรือสัญญาณที่คาดว่าจะเป็นมัน) แค่ไหนก็ตาม การค้นพบ Higgs boson ก็ไม่ได้แปลว่าเราไขความลับของจักรวาลเสร็จสมบูรณ์แล้ว อันที่จริงไม่ได้ใกล้เคียงเลย ตัว Standard Model ไม่ได้อธิบายถึงแรงโน้มถ่วงซึ่งเป็นหนึ่งในแรงมูลฐานทั้งสี่แรงเลยแม้แต่นิดเดียว

นอกจากนี้ Higgs mechanism ก็อธิบายเพียงมวลของอนุภาคมูลฐานใน Standard Model เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงมวลของสสารที่เรารู้จักทั้งหมด ตัวอย่างเช่น Higgs mechanism อธิบายเกี่ยวข้องแค่มวลของ quark ซึ่งเป็นอนุภาคมูลฐานที่ประกอบกันเป็นโปรตอน แต่มวลส่วนใหญ่ของโปรตอนเกิดจากการที่ quark ข้างในมีอันตรกิริยาของแรงนิวเคลียร์อย่างเข้มระหว่างกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ Higgs mechanism

นี่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของสิ่งที่(ยัง)ลึกลับ อย่างเช่น สสารมืด (Dark matter) และพลังงานมืด (Dark energy) ฯลฯ ด้วยซ้ำ ซึ่ง Standard Model ที่เรามีในปัจจุบันไม่ได้มีคำตอบอะไรให้ไว้เลย

อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าการค้นพบ Higgs boson คือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทศวรรษนี้ (ที่แน่ๆ คือ ข่าวการรายงานผลของ CERN ในวันที่ 4 กรกฎาคม คงเป็นข่าวฟิสิกส์ที่ดังที่สุดของปี 2012 ผมนึกไม่ออกแล้วว่าจะมีข่าวไหนใหญ่กว่าข่าวนี้ได้อีก)

การค้นพบ Higgs boson ไม่ใช่เพียงแค่การพิสูจน์ Higgs mechanism แต่มันเติมเต็มให้ Standard Model สมบูรณ์สักที และนักฟิสิกส์ก็จะมีฐานที่มั่นคงในการไขความลับจักรวาลที่สูงขึ้นต่อไป

เริ่มต้นจากที่ตัว Higgs boson เองก่อนเลย ใน Standard Model เรามี Higgs boson แค่ตัวเดียว ซึ่งนักฟิสิกส์เกือบทั้งหมดค่อนข้างมั่นใจว่าตัวที่โผล่ขึ้นมาเป็นสัญญาณ excess ใน LHC ซึ่ง CERN ได้รายงานในวันที่ 4 กรกฏาคมที่ผ่านมานั้น ก็คือ Higgs boson ของ Standard Model นี่แหละ แต่ในทฤษฎี Supersymmetry (หรือชื่อเล่น "SUSY") ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายจักรวาลลึกซึ้งขึ้นไปกว่า Standard Model (ลึกซึ้งซะจนยังไม่มีหลักฐานจากผลการทดลองมาพิสูจน์ยืนยัน) ทำนายไว้ว่า มี Higgs boson ถึง 5 แบบ (flavor) หรือมากกว่า หากทฤษฎี Supersymmetry เป็นของจริง Higgs boson ใน LHC ก็น่าจะเป็นตัวที่มีมวลต่ำที่สุดในทั้งห้าแบบ การศึกษา Higgs boson อย่างละเอียดอาจช่วยเฉลยข้อข้องใจที่นักฟิสิกส์มีต่อทฤษฎี Supersymmetry ได้ (นักฟิสิกส์หลายคนตั้งความหวังไว้ด้วยว่า Supersymmetry จะให้คำตอบเกี่ยวสสารมืด ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังไม่เคยมีใครเห็นตัวจริงของมันสักที มีเพียงแต่ผลจากแรงโน้มถ่วงของมันให้สังเกตอย่างอ้อมๆ เท่านั้น)

ซึ่งจากที่ได้ศึกษาก็สามารถสรุปได้คร่าวๆว่า

Higgs boson ก็คืออนุภาคของ Higgs field เหมือนกับที่ photon หรืออนุภาคแสงเป็นอนุภาคของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic field) ตามทฤษฎีของ Standard Model จริงๆ แล้ว Higgs field สามารถส่งแรงอันตรกิริยาได้ในรูปแบบที่เรียกว่า Yukawa interaction ซึ่งมีระยะส่งแรงสั้นมาก (ในกรณีของ Higgs field ระยะส่งแรงสั้นกว่าระยะของแรงนิวเคลียร์อย่างอ่อนประมาณสองในสาม) อันตรกิริยาระหว่าง Higgs field กับ fermion จะทำให้เกิด spontaneous symmetry breaking อันนำไปสู่การทำให้ fermion ในตารางอนุภาคมูลฐานข้างบนมีมวล

Yukawa interaction เป็นอันตรกิริยาแบบเดียวกับที่อนุภาคเมซอนสื่อแรงระหว่างนิวคลิออน (โปรตอนและนิวตรอน) ในนิวเคลียส ทำให้โปรตอนซึ่งมีขั้วไฟฟ้าบวกเหมือนกันจับกันอยู่เป็นก้อนได้ ไม่ผลักกระเด็นไปคนละทิศละทางด้วยแรงไฟฟ้า

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://jusci.net/node/2668

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C


ผู้จัดทำ

นางสาวปัทมาภรณ์  เกตุศรี   54010510022

นิสิตคณะศึกษาศาสตร์  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คำสำคัญ (Tags): #higgs boson
หมายเลขบันทึก: 507794เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หากข้อมูลมีความผิดพลาดหรือบกพร่องก็ขออภัยด้วยนะคะจะพยายามค้นคว้าเเละแก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อยยๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท