"หอมแก้มแม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่จำความได้" ... (ผลสะท้อนของการสอน ๔ เดือน ... ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๕)


ในที่สุด ผมก็ส่งเกรดออนไลน์ของภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๕ เสร็จแล้ว เหลือแต่แค่ส่งเอกสารเท่านั้น ดังนั้น จึงมาขอเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากข้อสอบอัตนัยต่อ

 

บันทึกนี้เป็นคนเขียนคนเดียวกับบันทึก  "ถ้าไม่มีอาจารย์" ... (อีกคำตอบหนึ่งจากข้อสอบอัตนัยที่ผมเพิ่งทราบเหมือนกัน) เมื่อตอนกลางภาค พอมาถึงปลายภาค เขายังคงมีเรื่องเล่าต่อเนื่องให้ได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจอีก

ผมจึงขอนำมาเล่าต่อในบันทึกนี้นะครับ

 

 

วิธีคิด, ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของ "ตนเอง" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ข้าพเจ้าสามารถและกล้าบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า ทั้งวิธีคิดและทัศนคติของการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก
เพราะข้าพเจ้าเคยเป็นคนหนึ่งที่นิสัยต่าง ๆ ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะตอนมัธยม

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าในการใช้ชีวิต ณ ตอนนั้น ดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย ไม่มีการคิดวางแผนใด ๆ ทั้งสิ้น
เหมือนดำเนินชีวิตไปตามวันเวลาให้ผ่านไปเรื่อย โดยลืมมองไปว่าเวลาที่ผ่านไปแล้วนั้น
เราไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้

จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ช่วงแรกตอนเข้าปี ๑ ข้าพเจ้าได้คนเพื่อนใหม่ ซึ่งเกือบทำให้ข้าพเจ้าหลงผิดไปกว่าเดิม
เพราะพื้นฐานตอนมัธยม ข้าพเจ้าก็ค่อนข้างเกเรอยู่แล้ว พอได้มาเข้าในเมืองก็หลงแสงสี

ช่วงแรก ๆ ก็ได้ไปเที่ยวผับต่าง ๆ กับเพื่อน ดื่มเหล้า เบียร์ ไม่ค่อยสนใจเรียน
จนเกือบผิดพลาดไปในเทอมแรก

แต่พอมาเทอม ๒ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนวิชานวัตกรรมทางการศึกษากับอาจารย์
ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของข้าพเจ้ามากที่ได้รับแนวคิดดี ๆ มุมมองต่าง ๆ แรงบันดาลใจ
จากการชมคลิปวีดิโอต่าง ๆ ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มเกิดความคิดที่เปลี่ยนไป และเที่ยวให้น้อยลง ทำอะไรเริ่มคิดได้บ้าง
ยับยั้งตนเองได้บ้าง แต่ก็ยอมรับว่ายังมีบางครั้งที่ควบคุมตนเองไม่ได้ ทำให้หลาย ๆ อย่างในชีวิตไม่ค่อยดี
และที่สำคัญไม่กล้าบอกพ่อแม่พี่น้องเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีของตน

แต่พอถึงเทอมนี้ ข้าพเจ้าบอกได้เลยว่า ข้าพเจ้าสามารถปรับใช้ชีวิตให้ดีขึ้นเกือบ ๑๐๐ %
ยิ่งตอนที่ข้าพเจ้าได้ชมวีดิทัศนต่าง ๆ ข้าพเจ้าก็น้ำตาไหลทุกครั้ง เพราะได้นึกถึงความหลังต่าง ๆ
กับสิ่งที่ได้เคยทำลงไป ณ ตอนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก

 

............................................................................................................................................

"... เขาโชคดีที่ได้ีมีโอกาสเรียนกับผมก่อนที่จะถลำไปไกลกว่านั้น มันเป็นชะตากรรมครับ ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่กระทำต่อ "พ่อแม่และครอบครัว" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

เมื่อก่อนข้าพเจ้าเคยคิดว่า ตอนอยู่กับพ่อแม่มันกดดัน ไม่อิสระ เบื่อ น่ารำคาญ
จึงอยากออกไปอยู่ที่ไหนก็ได้ให้ไกล ๆ จากท่าน เพื่อจะได้ไม่มีคนค่อยด่า คอยว่าเรา

พอได้ออกมาบางครั้งก็ลืมนึกถึงความรู้สึกพ่อกับแม่ ข้าพเจ้าไม่ค่อยโทรหา
ไม่ค่อยติดต่อกลับไป ปิดเทอมก็ทำงานไม่สนใจว่าพ่อแม่จะคิดยังไง

แต่ตอนนี้ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดมาต้น ๆ นั้น เป็นสิ่งที่ผิด ผิดมากด้วย
นับได้ว่าเป็นความคิดที่จะนำเราไปสู่หนทางที่เลยร้าย ไม่ประสบผลสำเร็จในทุก ๆ ด้าน

แต่การที่ได้โอกาสรับชมคลิปต่าง ๆ ที่อาจารย์ให้ดู ก็ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกผิดมากที่เคยคิดแบบนั้น
ข้าพเจ้าจึงปรับตัวเอง เรื่องการโทรคุยกับท่าน ๒ วัน ต่อ ๑ ครั้ง เพราะบางครั้งเราทำงานมาเหนื่อย ๆ
การบ้านจากการเรียนก็ยังต้องทำ จนบางครั้งก็ลืม

แต่เมื่อได้คุยกับพ่อแม่ บางครั้งก็รู้ได้เลยว่า มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาก จากเสียงและคำอวยพร
ความห่วงใยของท่าน เนื่องจากบ้านของข้าพเจ้าอยู่ไกล จึงไม่ค่อยมีโอกาสกลับไปเยี่ยมท่านบ่อยนัก

แต่ทุก ๆ วันแม่และวันพ่อ ข้าพเจ้าก็จะพยายามกลับไปหาท่านให้ได้ ไปกราบขอขมาในสิ่งที่เคยทำผิดไป
ทำให้มีความสุขมาก

และสิ่งที่ไม่เคยได้ทำ คือ "หอมแก้มแม่" ก็ได้ทำในวันแม่ปีนี้ เป็นครั้งแรกตั้งแต่จำความได้
เพราะเมื่อก่อนรู้สึกอายมาก แต่ปีนี้ทำได้แล้ว

ส่วนวันพ่อก็คิดว่าจะไปหอมแก้มพ่อด้วยเช่นกัน เพราะกับพ่อจะสนิทอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เคยหอมพ่อ
แต่ปีนี้ข้าพเจ้าจะทำให้ได้ค่ะ

 

............................................................................................................................................

"... บางทีก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่า สอนเขายังไงน้า เขาถึงกล้าหาญมากพอที่จะเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง แต่ก็ภูมิใจในตัวเขาที่เขาสามารถเอาชนะใจตนเอง ทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ ยินดีที่สุด ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่มีความสัมพันธ์ระหว่าง "เพื่อนร่วมห้อง หรือ เพื่อนร่วมหมู่เรียน" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

สำหรับเพื่อนในหมู่เรียนนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่า ไม่ค่อยสนิท ไม่ค่อยรู้จัก
เนื่องจากมีจำนวนมาก และมาจากต่างเอก แต่ละคนก็จะนั่งกับกลุ่มเพื่อนของตนเอง

แต่ที่ข้าพเจ้ามองเห็น คือ ทุกคนที่เรียนมาด้วยกันตลอดเทอมโดยไม่ถอนวิชานี้ หรือ ดรอปออกไป

ข้าพเจ้าคิดว่า ทุกคนเป็นคนที่มีความอดทน มีความขยัน ความพยายาม พอสมควร โดยสังเกตจาก
การทำงานต่าง ๆ ที่อาจารย์ได้มอบหมายให้ทำ ทุกคนสามารถทำได้ และเรียนจนจบเทอมนี้ได้

แต่อาจมีบางคนที่เขาพยายาม หรือ สู้ไม่พอ แต่ก็เป็นความต้องการหรือความยินยอม
ของตัวเขาเอง
อันเนื่องมาจากพื้นฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน
 

............................................................................................................................................

"... อันนี้เป็นธรรมชาติของเด็กที่ได้เห็นเสมอ การสอนให้คนมีความพยายาม อาจจะต้องมีโอกาสเห็นคนที่ล้มเหลวเช่นนั้น อันนั้นจะเป็นแรงผลักดันโดยอัตโนมัติให้กับเขา ส่วนคนที่ล้มเหลว ก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองว่า เขาจะล้มอยู่อย่างนั้น หรือจะเริ่มลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 


วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่มีต่อ "อาจารย์ผู้สอนประจำวิชา" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ข้าพเจ้าได้เคยเรียนกับอาจารย์มาแล้ว ๑ ครั้ง ส่วนเทอมนี้เป็นครั้งที่ ๒

ข้าพเจ้าคิดว่า วิธีการต่าง ๆ ของอาจารย์เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมอย่างยิ่งกับบุคคลที่จะต้องไปเป็นครูในอนาคต

ข้าพเจ้าเคยคุยกับผู้ปกครองเสมอเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ หลักการต่าง ๆ ในการสอนของอาจารย์

ซึ่งผู้ปกครองของข้าพเจ้าเห็นด้วยมาก และชอบ บอกว่า "ครูแบบนั้นสิที่ประเทศต้องการ" คือ ตัดสินทุกอย่างจากความสามารถของตนเอง ไม่ใช่ หน้าตา ฐานะ หรืออื่น ๆ ทำให้เราสามารถมองเห็นความสามารถและศักยภาพของตนเองได้ชัดเจน

ข้าพเจ้าคิดว่า อาจารย์ทำถูกต้องแล้ว และข้าพเจ้าเองก็คิดที่จะยึดหลักเหล่านี้ไปใช้ในการเป็นครูต่อไป

 

............................................................................................................................................

"... อันนี้ก็เพิ่งทราบเหมือนกันว่า เขาได้มีโอกาสนำวิธีการสอนของผมไปเล่าให้พ่อแม่เขาฟัง ถือเป็นรางวัลสำคัญเหมือนกันที่ทำให้ผมทราบว่า ผมมาถูกทางแล้วกับการสอนแบบนี้ กับการสอนแบบที่คนที่เป็นครูไม่ดีบอกว่า สอนไปทำไม เหนื่อยเปล่า เด็กก็ไม่รัก ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

วิธีคิด, ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของตนเองที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายในอนาคต คือ "การเป็นครูที่ดี" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ทุกอย่างให้ดี และทำอย่างสุดความสามารถ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์ เมื่อเรามีความซื่อสัตย์ต่อตนเองแล้ว ทุกสิ่งที่ดี ๆ ก็จะตาม
ทำให้เราสามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ตลอด

การเป็นครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้เรียน เพื่อที่ผู้เรียนจะนำไปเป็นแบบอย่าง ซึ่งความคิดต่าง ๆ
ของข้าพเจ้านี้ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะเมื่อก่อนเคยคิดว่า สอน ๆ ไปตามหน้าที่ หรือเรียน ๆ ไป
เดี๋ยวก็จบ แต่ตอนนี้ไม่คิดแบบนั้นแล้ว เพราะเราจะต้องตั้งใจ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เท่าที่ทำได้

 

............................................................................................................................................

"... ตัวอย่างที่ดีมีค่่ากว่าคำสอน เป็นเรื่องที่ผมสอนอย่างสม่ำเสมอและเน้นย้ำตลอด ๔ เดือน ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

เรื่องเล่าท้ายข้อสอบ...

 

เด็กคนนี้เป็นคนเดียวกันที่เล่าให้ผมฟังว่า

 

"ถ้าไม่มีอาจารย์" ณ เวลานี้ข้าพเจ้าอาจจะลาออกจากมหาวิทยาลัยไปแล้วก็เป็นได้

 

ผมเองก็ภูิมิใจในตัวเองเขามากพอสมควรในวิธีคิดต่าง ๆ เหล่านี้ นั่นแหละคือ รางวัลของความเหนื่อย
ที่ผมได้ทำลงไปในทุก ๆ วันที่ได้มีโอกาสเข้าไปสอน

 

ผมไม่ได้สอนให้เขาคิดหรือพูดแบบนี้ แต่เมื่อเรียนจบจากผมไป เขาจะมีคำตอบของตัวเขาเอง
อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้อ่าน ณ บันทึกนี้

นั่นแหละ ... หมดหน้าที่ครูแล้วนะ ต่อไปเป็นหน้าที่ของเธอเองแล้วล่ะ

 

ขอให้โชคดีครับ ครูจะรอดูความสำเร็จของเธอต่อไป

 

เกียรตินิยมไม่สำัคัญเท่ากับการเป็นคนดีก็พอ

เพราะปริญญาบัตรไม่ควรค่าแก่คนเก่งแต่เลว

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

Happy Ba ครับ ;)...

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506605เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

หน้าที่ของครู...(was)

หน้าที่ของเธอ...

ในส่วนหนึ่งของชีวิตเขาคงมีหน้าที่ของครูwas...เป็นต้นแบบของเขาแน่นอนค่ะ

 

  " เกียรตินิยมไม่สำคัญเท่ากับการเป็นคนดีก็พอ เพราะปริญญาบัตรไม่ควรค่าแก่คนเก่งแต่เลว "

  • อยากให้มีอาจารย์แบบอาจารย์ was มากๆ
  • มหาวิทยาลัยคงพัฒนาไปมาก
  • ผมเจอแต่มหาวิทยาลัยที่คิดแต่เรื่องเงินๆๆ

อาจารย์จบได้คมมากค่ะ.... "เกียรตินิยมไม่สำคัญเท่ากับการเป็นคนดีก็พอ เพราะปริญญาบัตรไม่ควรค่าแก่คนเก่งแต่เลว"

ขอมอบดอกชวนชม

กำลังตูมและบานงามๆหนึ่งกระถาง

สำหรับลูกศิษย์และครูเพื่อศิษย์ค่ะ

ปลื้มใจไปกับท่านอาจารย์ด้วยค่ะ

อยากบอกน้องคนนี้จังว่า ขนาดอ่านพี่ยังน้ำตาไหลตาม... ชื่นชมในการเปิดใจยอมรับสิ่งที่ได้เรียนรู้และกล้าที่จะเดินออกจากความเคยชินของตัวเองสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตให้ดีขึ้น แค่นี่ก็ถือว่าสำเร็จไปครึ่งชีวิตแล้วค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

ชื่นชมผู้สอน และนักเรียนน่ารักมากค่ะ

ผมคิดว่า มีครูดีซ่อนตัวอยู่อีกมากมายในสังคมไทยครับ ท่านอาจารย์ Blank ขจิต ฝอยทอง ;)...

เพียงแต่ว่า คณะผลิตครูของผม คนแบบนี้กำลังจะสูญพันธุ์ และไม่มีคนคิดจะสอนแบบนี้ครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

คำจบเป็นคำที่เป็นประสบการณ์ตรงของตัวเองที่พบมาเช่นนั้นจริงครับ คุณครูนก Blank noktalay ;)...

ขอบคุณมากครับ

อาจารย์ Blank ...ปริม pirimarj... ครับ

ผมสอนเขา ก็อยากได้เพียงแค่นี้จริง ๆ ครับ

เรียนเก่ง หรือ ไม่เก่ง ไม่สำคัญเลย

ขอเพียงความตระหนักรู้ต่อตนเองเท่านั้นครับ

ขอบคุณสำหรับน้ำตาจากอาจารย์ครับ ;)...

ขอบคุณ อาจารย์นพลักษณ์ ๙ Blank Sila Phu-Chaya มาก ๆ เช่นกันครับ ;)...

  • อาจารย์ครับ
  • ผมได้แนวคิดดีๆว่า
  • เปิดเทอมอาจารย์เพาะเห็ดด้วยดีไหมครับ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/506646

สงสัยเด็กจะไม่รอดครับ อาจารย์ Blank ขจิต ฝอยทอง ;)...

เพราะเขามีรายวิชาหนึ่ง อาจารย์จะให้ทำโรงเห็ดด้วย 555

ตรงกันครับผม ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท