"เรียนเพื่อยกระดับจิตใจ หาใช่เกรด A" ... (ผลสะท้อนของการสอน ๔ เดือน ... ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๕)


เดินทางมาถึงอีกคราสำหรับปลายภาคเรียนที่คนเป็นครูจะต้องทำการประเมินผลว่า
ลูกศิษย์ของตัวเองสามารถมีความรู้ในด้านต่าง ๆ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่
มากน้อยเพียงใด แต่คนเป็นครูรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ

แต่สำหรับผม ข้อสอบปลายภาคปรนัยคือวัดความรู้ แต่อัตนัยคือ
วัดความสำเร็จของการเป็นลูกที่ดี การเป็นคนที่ดี และการเป็นว่าที่คุณครูที่ดีได้เพียงไหน

 

บันทึกนี้เลือกสรรคำตอบจากนักศึกษาเอกปฐมวัย หมู่เรียนที่ ๑ คนหนึ่ง ดังนี้ครับ

 

วิธีคิด, ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของ "ตนเอง" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ดิฉันเป็นคนที่ไม่มีระบบการใช้ชีวิตของตนเอง ดิฉันคิดอยากทำอะไรก็ทำ ถ้าหากไม่มีแรงบันดาลใจหรืออารมณ์ที่จะทำ ดิฉันก็จะยังไม่ทำ และหลายครั้งที่ดิฉันเกิดความวุ่นวายกับชีวิต เพราะชีวิตไม่มีการวางแผน ไม่มีระบบ เช่น ไม่วางแผนการทำการบ้าน ไม่วางแผนการใช้เงิน ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้ฐานะดีอะไรเลย เดือนหนึ่งก็ใช้เงินเกือบจะขาดมือ ดิฉันท้อบ้างในบางครั้งจนอยากออกเรียนเพื่อไปหางานทำ

แต่เมื่อดิฉันได้มาเรียนในรายวิชานี้ ดิฉันก็ซาบซึ้งจากการชมวีดิทัศน์หลาย ๆ อย่างที่สะท้อนถึงตัวของดิฉัน เมื่อดูแล้วดิฉันนึกถึงใบหน้าของพ่อแม่ที่กำลังเฝ้ารอดูดิฉันประสบความสำเร็จในชีวิต และเห็นภาพที่พ่อแม่ต้องเหน็ดเหนื่อยหาเงินมาส่งดิฉันเรียน ทุกครั้งที่ครูเปิดวีดิทัศน์ให้ดู ดิฉันก็ร้องไห้ทุกครั้ง

จนกระทั่งการได้มาดูตัวอย่างชีวิตของเอกชัย ซึ่งมีเรื่องบางเรื่องของชีวิตที่คล้าย ๆ กับดิฉัน โดยเฉพาะเรื่องเงิน จากการที่เขามองแบบผู้ใหญ่ คือ แก้ปัญหา โดยไม่หนีปัญหา ทำให้ดิฉันคิดได้ว่า ทุกปัญหานั้นมีไว้ให้แก้ ถึงแม้อุปสรรคจะมากมาย แต่เราควรมองอุปสรรคให้เป็นชิ้นเล็กที่สุด ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ เราต้องผ่านมันไปได้

เอกชัย เป็นบุคคลที่ดิฉันประทับใจมาก ทำให้ดิฉันประหยัดขึ้น พยายามพึ่งตนเอง ไม่ร้องขอจากพ่อแม่ "ถ้าหากร้องขอจากพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องเดือดร้อนไปอีก" ดิฉันจะจำประโยคนี้ไว้ในใจ ทุกวันนี้ ดิฉันภูมิใจในตัวเองมากที่คิดแบบนี้เป็น

และต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาให้กับดิฉัน

 

............................................................................................................................................

"... นั่นเป็นสิ่งที่ผมได้มีโอกาสสอนเขาเอาไว้แบบไม่รู้ตัวและสอดแทรกตลอดเวลา ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่กระทำต่อ "พ่อแม่และครอบครัว" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ดิฉันให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก ดิฉันคิดว่าในชีวิตนี้ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เมื่อสมัยที่ดิฉันยังเด็ก ดิฉันไม่ได้เห็นความสำคัญของครอบครัวเท่าที่ควร เมื่อดิฉันได้เข้ามหาวิทยาลัย ดิฉันเริ่มต้องใช้เงินมากขึ้น ดิฉันจึงหันกลับมามองคนในครอบครัวของดิฉันว่าทุกคนมีความสำคัญมาโดยตลอด

ครั้งหนึ่งดิฉันเคยหาเงินด้วยตัวเอง รู้สึกเหนื่อยมาก จนรู้ค่าของเงิน แต่ปัจจุบันนี้พ่อและแม่ของดิฉันก็ยังต้องส่งเงินให้อยู่ประจำ ดิฉันรู้แล้วว่า ครอบครัวสำคัญแค่ไหน ถึงแม้ตัวเราจะมีเงิน แต่พวกเขาก็ไม่ละทิ้งและไม่ขอเราสักบาท

ยิ่งการได้มาเรียนในรายวิชานี้ยิ่งมองเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เฉพาะมีครูชี้ให้เห็นความจริงของชีวิต จากการชมวีดิทัศน์ หรือ การทำงานต่าง ๆ ซึ่งแฝงคุณธรรมทุกอย่าง ดิฉันจะคว้าโอกาส และพยายามทำให้สำเร็จ เพื่อพ่อแม่และตัวเอง


จากที่ดิฉันรักพ่อแม่อยู่แล้ว ทำให้ดิฉันรักพ่อแม่ยิ่งขึ้น และมองพวกท่านมาอันดับแรก มาเตือนสติทุกอย่า

 

............................................................................................................................................

"... ทุกครั้งที่เขามีปัญหาใด ๆ ผมขอให้เขาจินตนาการถึงใบหน้าพ่อกับแม่เขาก่อน ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่มีความสัมพันธ์ระหว่าง "เพื่อนร่วมห้อง หรือ เพื่อนร่วมหมู่เรียน" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ในห้องเรียนวิชานี้เป็นห้องเรียนที่กว้างใหญ่ บรรจุนักศึกษาได้หลายคน บางคนไม่มีวิชาลงเรียนก็พยายามมาขอแอดมือกับอาจารย์ผู้สอน นั่นคือ การร้องขอโอกาส และเมื่อครูได้เปิดโอกาสแล้วบางคนก็รับไม่ได้กับข้อตกลง หรืออุปสรรคในการเรียน คิดลบก่อนลงมือทำ จะเห็นได้เลยว่า นักศึกษาหรือเพื่อนคนไหนเป็นอย่างไร มีทั้งคนที่พยายามและไม่พยายาม

เมื่อดิฉันได้ทำการเรียนรู้ในรายวิชานี้มาจนถึงปัจจุบัน ดิฉันก็ได้ประสบการณ์อันล้ำค่าของชีวิตมากกว่าผู้ที่ดร็อปรายวิชานี้ไป เพื่อน ๆ ที่ออกไปนั้นอาจจะไปหาวิชาที่เรียนง่ายได้เกรด A


แต่ดิฉันคิดว่า ดิฉันเรียนยากแต่ได้ยกระดับจิตให้เป็นเกรด A ได้ 555+
 

............................................................................................................................................

"... ผมสอนเรื่องโอกาส และเขาทำให้เห็นว่า เกรด A ไม่ได้สำคัญมากกว่าคุณค่าในจิตใจของผู้เีรียนแน่นอน ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 


วิธีคิด หรือ ทัศนคติของตนเองที่มีต่อ "อาจารย์ผู้สอนประจำวิชา" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

ดิฉันเป็นคนชอบอ่านใจคน เมื่อเข้าเรียนกับครูคนไหน ดิฉันก็จะชอบเดาว่าอาจารย์เป็นอย่างไร และมันก็มักจะถูกต้อง แต่เมื่อได้มาเรียนในรายวิชานี้ ดิฉันเดาว่า อาจารย์แค่ขู่ว่าวิชานี้ยากเฉย ๆ เพื่อทดสอบว่านักศึกษาคนไหนที่จะรับได้ แต่เมื่อได้เรียน ดิฉันก็ได้รู้ว่างานหนักจริง แต่ก็ฝึกความพยายามอย่างมาก ดิฉันมองเห็นความหวังดีของอาจารย์ที่แฝงมากับการส่งงานและพยายามสอดแทรกคุณธรรมให้แก่นักศึกษา ซึ่งอาจารย์น้อยคนมากที่จะทำ

เมื่อดิฉันได้เรียนกับอาจารย์ก็ได้รับความกดดัน เหมือนกับว่าอยู่ในบ้านเดอะสตาร์ ถ้าใครอ่อนแรงลง ก็จะถูกตัดออกด้วยการตัดสินใจของตัวเอง มันกดดันมาก แต่ก็ได้ข้อคิดมากมาย ดิฉันเข้าใจความตั้งใจของอาจารย์แล้วค่ะ


การเป็นครูที่ดี ต้องเป็นคนดี เคารพในกฎกติกา แต่งกายดี ใจดี มองโลกในแง่ดี ทุกคุณธรรมต้องอยู่ในครูรุ่นใหม่

 

............................................................................................................................................

"... แหม เป็นคนแรกที่ใช้วิธีอ่านใจคน แถมตามด้วยบรรยากาศการเรียนเป็นบ้านเดอะสตาร์ ฮาเลย แต่ก็เป็นความจริง ช่างเปรียบเทียบดีแท้ ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

วิธีคิด, ทัศนคติ หรือ การใช้ชีวิตของตนเองที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายในอนาคต คือ "การเป็นครูที่ดี" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

 

๑. ดิฉันจะทำตัวมีคุณค่าโดยเริ่มจากการแต่งกายที่ถูกระเบียบมีคุณค่า เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนอื่น

๒. ดิฉันจะไม่ย่อท้อกับอุปสรรค โดยจะต้องทำมันก่อนพูดว่ายาก

๓. ดิฉันต้องกตัญญู

๔. ดิฉันจะตั้งใจเรียนเพื่อพ่อแม่ และชีวิตที่ดีของตนเอง


* ที่สำคัญ รีบคว้าโอกาส และพยายามทำให้สำเร็จ

 

............................................................................................................................................

"... ผมไ่ม่ได้สอนเขาตรง ๆ นะครับ แต่สิ่งที่เขาเขียนนี้ เขามีกระบวนการวิเคราะห์เป็นของตัวเอง ..." (ผู้เขียนบันทึก)

............................................................................................................................................

 

 

เรื่องเล่าท้ายข้อสอบ...

 

คำตอบที่ท่านได้อ่านทั้งหมดนี้เป็นความคิดของเด็กเอง หลังจากผ่านการเรียนมากับผม ๔ เดือนเต็ม ๆ
การเรียนการสอนของผมมันเป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จะมีจุดโฟกัสหรือเป้าหมาย
ในการสอนทุกจุด งานทุกชิ้นมีความหมาย การมาเรียนทุกครั้งมีความหมาย แม้กระทั่งการออกข้อสอบ
ให้เขาได้วิเคราะห์เขียนด้วยตัวเองก็มีความหมาย

ผมไม่เคยจับมือเด็กเขียน กรอกความคิด ล้างสมองเด็กคนไหนเลยว่า ให้เขียนแบบนั้นแบบนี้
พวกเขามีมันอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าครูต้องกระตุ้นเตือนสิ่งที่พวกเขาได้มองข้ามไป

 

เวลาเขียนบันทึกเล่าเรื่องคำตอบแบบนี้ มีหลายท่านที่ไม่เคยอ่านบล็อกนี้มาตั้งแต่จะตั้งคำถามว่า
เด็กเขาตอบเพื่อคะแนนหรือเปล่า

คะแนนเป็นเพียงแค่แรงกระตุ้นให้เขาเขียนและกลั่นออกมาให้ดีที่สุดเท่านั้น
เมื่อเขาเรียนกับผมมา ๔ เดือน เขาจะรับรู้โดยอัตโนมัติว่า ใครเขียนจากหัวใจ จริงใจ ซื่อสัตย์
ย่อมได้คะแนนมากกว่าคนที่ลอกความคิดคนอื่ืนมาเขียน คนไม่ซื่อสัตย์ คนที่เห็นแก่ตัวเอาตัวรอด

ดังนั้น เมื่อถึงการประเมินขั้นสุดท้ายแบบนี้ คำตอบมาจะกลั่นออกมาเองโดย "ความอยากได้คะแนนมาก ๆ"
แทบมองไม่เห็นในเจตนาของการเขียน

 

เพราะการเขียนเรื่องราวของตัวเองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ย่อมมีความสุขในการเขียนเสมอ

 

คงจะมีเรื่องเล่าเช่นนี้ต่อไป หากลมหายใจแห่งความเป็นครูของผมยังคงอยู่เช่นเดิม

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

Happy Ba เน้อ ;)...

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 505996เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2012 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ที่อ่านมา รู้สึกว่านักศึกษาส่วนใหญ่พยายามเรียนเพื่อครอบครัว (เห็นความยากลำบากจาก "เงิน")

ที่โรงเรียนครูทุกคนก็ทำเพื่อครอบครัว และหลายคนบอกกับผมว่า "นักเรียนที่ไม่เคารพเรา ไม่ให้เกียรติเรา ก็คิดเสียว่าไม่ใช่ลูก...ปล่อยมันไป"

อยากให้อาจารย์ช่วยสอนวิธีปรับแนวคิดแบบนี้ให้ทราบหน่อยครับ ผมพยายามมองแล้ว ยังหาไม่พบ

(ส่วนตัวใช้ความรู้สึกที่ว่า เมื่อใกล้ตายแล้ว แม้แต่พ่อแม่เพื่อนคนรัก ก็ไม่ได้อยู่กับเรา ต่อให้นั่งอยู่กับเราก็ไม่สามารถช่วยเราได้ ดังนั้นก่อนตายต้องทำประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อใกล้ตายจะได้รู้สึกไม่ติดค้างใครหรือสิ่งใด)

ขอบคุณครับ

วิชาที่อาจารย์สอนเป็นการใช้สื่อเพื่อให้เกิดสำนึกที่ดีนะคะ ขอชื่นชมจากใจจริงค่ะ

ชื่นชมน้องๆ ที่สามารถกลั่นกรองความคิดขิงตัวเองออกมาได้ดีขนาดนี้ค่ะ นึกย้อนกลับไปตอนที่เราเรียน จำไม่ได้ว่าเคยสะท้อนความคิดตังเองออกมาแบบนี้หรือเปล่ารู้เพียงว่าต้องเรียนให้จบแล้วกลับบ้าน เพราะตอนนั้นไม่มีอะไรที่ใดสำคัญไปกว่าการได้กลับบ้านเลย หาได้รู้ไม่ว่าการกลับบ้านที่รอคอยในคราวนั้นแท้ที่จริงคือการเตรียมตัวออกไปจากบ้านอีกทีนั่นเอง อิอิอิ

ขอบคุณบันทึกคุณภาพดีดีเช่นเคยค่ะท่านอาจารย์

  • ถ้าได้นิสิตแบบที่อาจารย์เล่าก็ดีนะครับ
  • แต่ภาพสุดท้ายเหมือนมากๆๆ
  • 555

เรียน คุณ Blank krupound ;)...

แนะนำบล็อกนี้ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/books/29094/toc

และหากเป็นวิธีการสอน บันทึกนี้น่าจะพอใช้ได้ครับ

(ร่าง) วิเคราะห์กระบวนการเรียนการสอน "การทบทวนตนเอง" โดยใช้วีดิทัศน์ "คุณหมอพงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา" กับ นักศึกษาครู

เด็กวัยรุ่น การสอนโดยการที่ครูบอก ครูสอนด้วยปากเปล่าอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เขาจะหาว่าเราบ่น เราด่า ครับ หากคุณครูใช้สื่อประกอบที่มีคนเป็นแรงบันดาลใจเสริมเขามาอีก จะทำให้มีแรงกระตุ้นที่หนักขึ้น ตามด้วยการสรุปความของคุณครูที่หนักแน่น

และไม่พออีกต้องสอดแทรกวิธีคิดพวกนี้ไปตาม "ชิ้นงาน" และ "ข้อสอบ" อีก เพื่อเกิดความสัมพันธ์และสอดรับตลอดการเรียนการสอนสักวิชา

การสอนของคุณครูประเทศไทยในปัจจุับัน ยังติดกรอบจากแผนการสอนที่ ศธ. โยนมาให้ ทำให้มัวแต่ไปกังวลที่กรอบหลัก ส่วนคุณค่าความเป็นคนนั้น หาได้สนใจมากไม่

ได้แต่คนเก่ง แต่คนดีหายไป

อีกอย่าง "ครู" เป็นคนสำคัญที่จะเปลี่ยนเขา หาก "ครู" คิดถึงแต่ตัวเองมากเกินไป หนทางนี้จึงหมดหนทาง

เขียนด้วยประสบการณ์ตรงนะครับ

หวังว่า คุณครูพอเข้าใจบ้างนะครับ เรื่องมันยาวจริง ๆ 555

ขอบคุณมากครับที่ให้ความสนใจ ;)...

เรียน อาจารย์ Blank ...ปริม pirimarj... ;)...

อาจารย์ Blank ...ปริม pirimarj... ได้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของนักเรียนนักศึกษาที่เราเคยมองข้ามจริง ๆ ด้วยนะครับ จำได้ว่า ตอนผมเรียนก็เป็นเหมือนอาจารย์ คือ เรียนเสร็จ กลับบ้าน สอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียน ๆ ไป แต่คนเรียนไม่เก่งได้เปรียบนิดนึง คือ ต้องหากิจกรรมทำแก้เหงา กิจกรรมกลายเป็นตัวสร้างระดับแรก หลังจากนั้น การเข้ามาเป็น "ครู" ก็คิดหาทางการแก้ไขปัญหานักศึกษาระดับไม่เก่ง ไม่ใส่ใจ กระบวนการจึงเกิดขึ้นโดยประสบการณ์การลองผิดลองถูกครับ

เดี๋ยวจะเขียนผลสะท้อนให้อาจารย์ไปเรื่อย ๆ นะครับ

ตอนนี้คัดเลือกไว้หลายคนแล้วครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ;)...

เรียน อาจารย์ Blank ขจิต ฝอยทอง ;)...

ผมคงสามารถปรับความคิดของเขาได้ไม่เกิน ๕ % ของนักศึกษาทั้งหมดครับอาจารย์ เพราะด้วยข้อจำกัดความอิสระในการเลือกเรียนของเขา น้อยนักที่จะรู้สึกอยากเข้ามาเรียนในรายวิชาที่มีชิ้นงานย่อย ๆ เยอะ ๆ ครูดุ ๆ ระเบียบตามมหาวิทยาลัย ข้อสอบยาก ๆ

หลายคนถูกสอนให้ "หนีัปัญหา" มากกว่า "สู้ปัญหา" ครับ

และมีผมคนเดียวที่สอนแบบนี้

ที่คณะผมมีอาจารย์ประมาณ ๗๐ กว่า ๆ อันนี้ไม่รวมผลิตครูคณะอื่นด้วยอีกหลายร้อย

ขอบคุณครับอาจารย์ ;)...

ป.ล. อ้วนเกินครับ รูปนี้ 555

  • ชอบครับ
  • ขอบคุณครับ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

ชอบอ่านมากๆเลยค่ะ

บันทึกที่ครูเขียนถึงศิษย์ทุกๆบันทึก

อ่านแล้วพลอยมีความหวัง มีพลังใจไปด้วยค่ะ

ขอบคุณอาจารย์วัสมากนะคะ

ที่นำเรื่องราว เร้าพลังมาเล่าให้ฟังสม่ำเสมอ

Happy Ba สาธุค่ะ

ป.ล. ขอภาพวาด

ทรงผมล่าสุดได้ไหมคะ อิอิ

ยินดีและขอบคุณ คุณ Blank Tawandin ที่ติดตามอ่านบันทึกของคุณครูเสมอครับ ;)...

ยังไม่ค่อยมีคนเห็น Skin Head ของผมเท่าไหร่ครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท