หมู่บ้านข้าวเหลืองอินทรีย์


อีกหนึ่งหมู่บ้านที่ได้นำ วทน. ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

 

หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : หมู่บ้านข้าวเหลืองอินทรีย์   บ้านโคกล่าม   ตำบลดงลิง  อำเภอกมลาไสย   จังหวัดกาฬสินธุ์

 

เทคโนโลยีหลัก

- การทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรของ วว.
- การทำปุ๋ยชีวภาพ
- การทำแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ไว้ใช้ในครัวเรือน
- การปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต
- เทคโนโลยีการคัดเมล็ดพันธุ์
- การเพาะเห็ดในท่อนไม้

เทคโนโลยีรอง

- การเพาะเห็ดฟางแบบกอง
- เทคโนโลยีการเลี้ยงเป็ดในนาข้าว 

เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 พบว่า เกษตรกรที่บ้านโคกล่ามสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น เพราะมีแปลงนาสาธิตในพื้นที่ของเกษตรกร และมีการติดตามประเมินผลตลอดเวลา เมื่อจัดเวทีในชุมชนสรุปประเด็นปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ เรื่องน้ำ และ เรื่องต้นทุนการผลิตข้าว ในกรณีเรื่องน้ำ ทางคลินิกเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ได้เชิญสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาดูสถานที่และให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ในชุมชนอย่างยั่งยืน หลังจากนั้นได้เชิญนายสุวิทย์ สุบงกช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายธนูสินธ์  ไชยสิริ นายอำเภอกมลาไสย และนายประยูร เห็มวิพัฒน์ นายก อบต.ดงลิง ลงดูพื้นที่โครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีข้าวเหลืองอินทรีย์ และได้รายงานปัญหาเรื่องคลองส่งน้ำให้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดฟัง ทางจังหวัดจึงได้สนับสนุนงบประมาณในปี 2554 มาปรับปรุงซ่อมแซมท่อส่งน้ำสถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าในหมู่บ้านโคกล่ามจำนวน 1,870,000 บาท ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ปัญหาที่ 2 ในส่วนของการลดต้นทุนการทำนาข้าวนั้น ทางคลินิกเทคโนโลยีฯ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรของ วว. เพื่อลดต้นทุนในส่วนของการใช้ปุ๋ยเคมี และจากการที่มีเปลือกของแตงมากจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีการทิ้งไว้ตามริมถนน ก็ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง เป็นการปรับสภาพของดินที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น และลดปัญหาจากศัตรูพืช เป็นการช่วยลดต้นทุนในส่วนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มาถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีตให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหลืองอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในส่วนของค่าเมล็ดพันธุ์ และความเสี่ยงในเรื่องของการตกกล้าแล้วไม่มีน้ำ 

ภาพนี้ถูกส่งมาจากโรงเรียนปัญญานุกูล...หลังจากที่ครูของโรงเรียนพานักเรียนออทิสติกส์ ที่พอจะรู้เรื่อง มาฝึกการทำเห็ดจากคลินิกเห็ดแล้วกลับไปทำจนบังเกิดผล...เห็นละ ปลื้มมม...

ผลจากทำแปลงสาธิตในหมู่บ้านโคกล่าม ทำให้ลดต้นทุนการทำนาได้แก่ ค่าเมล็ดพันธุ์ ลดค่าปุ๋ยเคมี ลดค่ายาและสารเคมี ผลผลิตของข้าวที่ได้เพิ่มขึ้นและน้ำหนักเมล็ดสูงขึ้น ดังนั้นการดำเนินงานของหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ ฯ ในปีงบประมาณ 2555 จึงได้มีการขยายผลไปยังเครือข่ายการผลิตข้าวอินทรีย์ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยวิทยากรท้องถิ่นจากศูนย์เรียนรู้ข้าวเหลืองอินทรีย์ ได้แก่ นายชุมพล ศิริภักดิ์ นายนพดล แน่นอุดร นายโสภณ อัตไพบูลย์ ดต.เกษม อัตไพบูลย์ นายสมร สารฤทธิ์ นายสามล ศรีริเลี้ยง  นำเทคโนโลยีที่บ้านโคกล่ามประสบผลสำเร็จไปถ่ายทอดต่อ เช่น เทคโนโลยีการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต การทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสูตรของ วว. การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ การคัดเมล็ดพันธุ์ การเพาะเห็ด ให้กับเกษตรกร 3 หมู่บ้านคือ  บ้านสองห้อง อ.ร่องคำ  ศูนย์เรียนรู้ภูปอ อ.เมือง ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์บ้านนาศรีนวล อ.ฆ้องชัย มีเกษตรกรจำนวนมากสนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนายอำเภอฆ้องชัย นายอำเภอกมลาไสย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่  เกษตรอำเภอ      ปศุสัตว์อำเภอ พร้อมได้จัดทำแปลงนาสาธิตในพื้นที่ เพื่อตรวจคุณภาพของดิน คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว  การดำนาข้าวต้นเดี่ยว ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว ติดตามประเมินผลให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการประเมินผลเบื้องต้นก่อนการเก็บเกี่ยวในปีการผลิต 2555 คาดว่าในปีต่อไปจะมีผู้สนใจนำเทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์แบบลดต้นทุนนี้ไปขยายผลเพิ่มขึ้นเพราะเห็นตัวอย่างในเชิงประจักษ์ และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตร วว และทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพให้กับสมาชิกใหม่ที่บ้านโคกล่าม อีกจำนวน 40 คน และสาธิตการดำนาข้าวต้นเดี่ยวที่บ้านโคกล่าม เมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2555 พร้อมเตรียมแปลงปล่อยเป็ดเลี้ยงในนาข้าว  

การทำแก๊สชีวภาพ เทคโนโลยีของ ม.เชียงใหม่(อ.สุชน)

ในปีงบประมาณ 2555 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มข้าวเหลืองอินทรีย์และได้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนต่ออำเภอกมลาไสย และนำข้าวเหลือง 11 ส่งตรวจคุณค่าทางโภชนะและตรวจ DNA โดยสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาเทคโนโลยีการอาหาร ของ มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ และสาขาเทคโนโลยีการอาหารของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์  

อยากดูการทำปุ๋ยอินทรีย์ สูตรของ วว. ก็มีโชว์...และเก็บใส่ถุงไว้ใช้กับนาปรัง พอดีเลย..

ศูนย์เรียนรู้ยังเป็นที่ศึกษาดูงานของกลุ่มเกษตรกรจากที่ต่างๆ ดังนี้ กลุ่มเกษตรกรจากอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร 15 คน ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหมู่บ้านข้าวเหลืองอินทรีย์  กลุ่มเกษตรกรจากบ้านดงน้อย อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 60 คน ศึกษาดูงานการปลูกข้าวต้นเดี่ยว การทำปุ๋ยอินทรีย์สูตร วว. การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำส้มควันไม้ การทำแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ การเพาะเห็ดในท่อนไม้ แปลงเมล็ดพันธุ์แตงโม เกษตรกรจากบ้านดอนหัน ตำบลโพนงาม อำเภอกมลาไสย ศึกษาดูงานในหมู่บ้าน สมาชิก อสวท จำนวน 151 คน ศึกษาดูงานหมู่บ้าน

อบรมเรื่องเห็ด ครบวงจร ผู้เข้าอบรมเป็นสมาชิกของหมู่บ้าน ว และ ท ด้านเทคโนโลยีปุ๋ยของ วว. เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน วท. กับ เครือข่าย

คุณสมทรง นาชัยเริ่ม ผลงานที่ภาคภูมิใจของคลินิกบริการให้คำปรึกษาของเรา..มาขอคำปรึกษาเรื่องการเพาะเห็ดแบบครบวงจร..เมื่อได้รับการฝึกแล้ว กลับไปทำ..จนประสบความสำเร็จ..อาจารย์เลยใช้เป็นที่ศึกษาดูงานซะเลย...เกษตรกรท่านใดสนใจ ติดต่อกันโดยตรงเลยครับ รับส่งอุปกรณ์เห็ด หัวเชื้อ ก้อนเชื้อ ขี้เลื่อย รับฝึกให้ฟรีไม่คิดเงิน... เบอร์โทร 088 303 4384 ...

Mushroom Mobile รถเห็ดเคลื่อนที่ สอนได้ทุกที่ ที่มีทาง

การประชาสัมพันธ์หมู่บ้านข้าวเหลืองอินทรีย์  ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2555  หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ข้าวเหลืองอินทรีย์บ้านโคกล่าม นายชุมพล ศิริภักดิ์เข้าร่วมจัดนิทรรศการและจำหน่ายผลผลิตผลของหมู่บ้านในงานของดีกาฬสินธุ์ ที่ JJ Mall กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยจังหวัดกาฬสินธุ์นำโดยนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้รับผิดชอบโครงการได้นำผลงานของหมู่บ้านข้าวเหลืองอินทรีย์ ร่วมจัดแสดงในงาน Research expo 2012 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 24–28 สิงหาคม 2555  ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์  เซ็นทรัลเวิลด์  ราชประสงค์  กรุงเทพฯ

นายชุมพล ศิริภักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านข้าวเหลืองอินทรีย์ได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2555 รับเกียรติบัตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ 

หมายเลขบันทึก: 505836เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2015 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นการเรียนรู้...สู่วิถีชุมชน จริงๆๆนะคะ 

ขอบคุณค่ะ ...เป็นประโยชน์จริงๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท