เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย : ๔. อุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น


          ในการประชุมวันที่ ๔ ก.ย. ๕๕ มีการนำเสนอเรื่องราวของมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น โดยเขาเรียกว่า Regional University มีการนำเสนอว่าปฏิรูปอุดมศึกษาของออสเตรเลียครั้งนี้ กระทบสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นอย่างไร    และสถาบันต้องปรับตัวอย่างไร    Prof. Hal Swerissen Pro-Vice Chancellor (Regional) ชอง La Trobe University นำเสนอว่า มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นในออสเตรเลียมี ๑๔ มหาวิทยาลัย   นศ. ๑๕๖,๒๘๑ คน   สร้างรายได้แก่ท้องถิ่นปีละ ๒ พันล้านเหรียญ

          จำนวน นศ. ในมหาวิทยาลัยออสเตรเลียมีประมาณ ๑ ล้านคน   จึงบอกได้ว่า นศ. มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นมีประมาณ ๑๕% ของนักศึกษาทั้งหมด   ซึ่งน้อยกว่า นศ. ต่างชาติ ที่มีถึงร้อยละ ๒๘ (คำนวณจากตัวเลขที่ได้จาก Universities Australia เมื่อ ๓ ก.ย. ๕๕)

          นสพ. The Australian ฉบับวันที่ ๕ ก.ย. ๕๕ ลงข่าวในเซ็กชั่น Higher Education เรื่อง Regional unis prepare to roll out partnership proposal to pool resourcesในข่าวบอกว่าเขามี Regional University Networkมีสมาชิก ๖ มหาวิทยาลัย จะร่วมมือกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยในเมือง เนื่องจากมี นศ. น้อยกว่า    ข่าวบอกว่าข้อตกลงนี้ได้จากการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน   นอกจากลดค่าใช้จ่าย ก็จะเพิ่มหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เปิดสอน   และใช้ online learning มากขึ้น

          ผมตีความว่า การก่อกวนของรัฐบาล ให้สถาบันอุดมศึกษาตื่นตัวปรับปรุงตนเอง ได้ผล    มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นเคลื่อนไหวปรับตัวอย่างชัดเจน

          วันที่ ๗ ก.ย. ๕๕ เราไปเยี่ยมชมกิจการ Community Engagement ของมหาวิทยาลัย Wollongong (UOW)   จึงได้รู้ว่า UOW ก็เป็น regional university   และมีประวัติเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัย New South Wales (UNSW) มาก่อน   UOW อยู่ห่างจากซิดนีย์ไปทางใต้ประมาณ ๗๐ ก.ม.   ใช้เวลาเดินทางโดยขับรถไป ๑ ชั่วโมงครึ่ง    โดย ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองฯ เป็นผู้ขับรถเช่าไป    เราไปกัน ๔ คน อีก ๒ ท่านคือ ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร รอง ผอ. สถาบันคลังสมองฯ  และ รศ. ดร. กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทส.

          เมื่อเอ่ยถึงเมือง โวลลองกอง คนออสเตรเลียก็มองว่าเป็นเมืองยากจน    เมืองอุตสาหกรรมเหล็ก   ทั้งเมืองมีพลเมือง ๒๕๐,๐๐๐ คน เท่ากับจังหวัดเล็กๆ ของไทย   แต่ที่อยู่ในตัวเมืองจริงๆ มีไม่มาก   ใน โวลลองกอง มีชุมชนคนพื้นเมืองด้วย   ดังนั้น UOW จึงทำงานตอบสนองหรือริเริ่มกิจกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น    โดยสิ่งที่ท้าทายเบื้องหน้าคือการร่วมมือกับเมืองในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคน   โดยการเลิกโรงงานเหล็ก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอดีต    เพื่อเปลี่ยนเมืองไปทำมาหากินอย่างอื่นที่ก้าวหน้ากว่า    ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีกว่าซึ่งเป็นเรื่องยากและท้าทายมาก 

          มหาวิทยาลัย โวลลองกอง จึงพัฒนาขนานใหญ่   ไม่ใช่แค่สนองชุมชน โวลลองกอง    แต่สนองชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก   จึงตีความ Community Engagement ว่า engage กับ world community   โดยกิจกรรมหนึ่งคือไปเปิดวิทยาเขตที่นคร ดูไบ ประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์   ตั้งแต่ปี 1993 โดยเริ่มเป็นวิทยาลัยเล็กๆ ที่สอนโดยใช้ภาษาอังกฤษในสังกัดมหาวิทยาลัย โวลลองกอง จดทะเบียนชื่อ ITC Limited แล้วขยายตัวเรื่อยมาจนเวลานี้ประสบความสำเร็จสูงมาก   จัดเป็นวิทยาเขตต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดของออสเตรเลีย   ตามที่ระบุในจดหมายข่าว Connect UOW ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่นี่   กลับมาค้นที่บ้านจึงรู้ว่า ITC Limited เป็นบริษัทธุรกิจที่ตั้งขึ้นโดย UOW อ่านเรื่องราวได้ ที่นี่   เว็บไซต์ของ UOWD อยู่ ที่นี่

           เมื่อเอ่ยถึงบทบาททางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยโวลลองกอง ต่อเมืองวอลลองกอง   เขาบอกว่ามหาวิทยาลัยวอลลองกองเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่อันดับสอง รองจากโรงงานเหล็ก

          ตามที่คุณ Leanne Newsham, Community Engagement Manager, Office of Community & Partnerships เล่าให้คณะเราฟัง    เขามีวิธีทำงานร่วมกับชุมชนคนพื้นเมือง ในงานเทศกาลวัฒนธรรม   ทำให้งานมีสีสรร และในขณะเดียวกัน คนพื้นเมืองก็ได้รับการยกย่องให้ความสำคัญ    นอกจากนั้น ในกิจกรรมเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับชุมชน นศ. ของมหาวิทยาลัยฯ ได้ออกไปทำกิจกรรมที่ชุมชนคนพื้นเมืองได้รับประโยชน์ และ นศ. ก็ได้เรียนรู้ชีวิตจริงของผู้คน และได้เรียนจากการลงมือปฏิบัติงานจริง

          เมื่อเราเข้าไปในอาคารสำนักงาน เราก็พบป้าย 5 Stars บอกว่า UOW ได้รับ 5 Stars ในด้านต่อไปนี้ Research intensity, Positive grduate outcomes, Getting a job, Graduate starting salary, Educational experience : graduate satisfaction, Educational experience : generic skillsเราสงสัยว่าใครเป็นผู้ให้ rating นี้ ผมกลับมาค้นที่บ้าน จึงรู้ว่าเป็นผลงานของ QS Stars Rated for Excellence

          สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องทำงานเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คนในทุกทิศทาง    เพื่อเปิดท้องถิ่นออกสู่โลก   เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น   คิดแบบนี้ไม่ยากสำหรับออสเตรเลีย   เพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษ และมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมใกล้ชิดกับยุโรปและอเมริกาเหนือ    สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์ ของไทยควรเป็นอย่างไร เราต้องคิดและทำเอง    และที่สำคัญ ไม่ควรมีแบบเดียว

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 505037เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2014 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเข้าใจว่ามีมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งของไทยก็ร่วมพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้วใช่หรือไม่ครับ เช่นเรื่องการพัฒนาด้านการเกษตร หรือการมีส่วนร่วมในการโครงการเกี่ยวกับการมีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ท่านใดทราบช่วยแนะนำและนำมาเผยแพร่ด้วยครับ หรือไม่มีที่ใดทำเลย ก็คงแปลกนะครับ ผมเชื่อว่ามีมหาวิทยาลัยดีๆทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น แต่ไม่ค่อยมีใครนำเรื่องดีๆมาเผยแพร่ หรือผมเข้าใจผิด ทุกอย่างเป็นเรื่องของการทำเพื่อให้ได้ชื่อว่าได้ทำ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและความต่อเนื่อง

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ประกาศตนเองว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น แต่บางที่ก็ยังขาดความชัดเจนในการสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่ถ้ามีจุดเน้นที่ต้องกาารร่วมกันสร้างและพัฒนาแลัว คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการก้าวข้ามเรื่องที่มองว่ายาก เพียงแค่ใส่ใจและลงมือทำเท่านั้นเอง

ขอบคุณครับคุณ Sirirat ที่แสดงความคิดเห็น ผมเห็นด้วยกับคุณ Sirirat ครับ ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ เพียงแต่ไม่ทำเท่านั้นเอง ผมฟังและอ่านบทความของนักวิชาการหลายๆท่าน โดยเฉพาะพวก ดร.ทั้งหลาย มักจะอ้างทฤษฎีของชาวตะวันตก ทั้งๆที่ประเทศไทยเราเองมีการปฎิบัติที่ได้ผลแล้วแต่ไม่มีใครนำมาตั้งเป็นทฤษฎีให้คนได้เรียนรู้ ทำไมต้องอ้างแต่ทฤษฎีของต่างชาติ ทั้งๆที่ของไทยมีคนเก่งๆดีๆที่ทำสำเร็จแล้วมากมายแต่ไม่ได้รับการยกย่องและถูกนำมาเป็นแบบอย่างในการศึกษา ผมไม่ใช่นักเรียนนอก และไม่ได้อ่านตำรานอกแต่สิ่งที่ท่านนักวิชาการต่างๆอ้างถึง และคัดลอกมาจากต่างประเทศ ผมรู้ทั้งหมด ก็แสดงว่ามันอยู่ในประเทศไทยนี่เอง

เสียดายนักวิชาการและผู้ใหญ่ในปัจจุบันที่ไม่กล้าที่จะออกมาทำในสิ่งใหม่ๆ และนำความสามารถและความรู้ของท่านออกมาใช้ให้เต็มที นำความรู้ของท่านมาปรับให้เข้ากับความจริงที่เป็นอยู่และช่วยกันพัฒนาปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากทำไม่ได้เพราะมีแต่ปัญหา มาเป็นการคิดแบบสร้างสรรค์ และทำให้ได้ นำปัญหาและวิกฤตมาทำให้เป็นโอกาส

ผู้ใหญ่ท่านต้องใจกว้าง ให้การสนับสนุนและหาวิธีการส่งไม้ให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อรับไม้ไปดำเนินการต่อไป เปลี่ยนบทบาทที่ท่านเคยทำไปให้คนอื่นทำและท่านคอยให้คำปรึกษาและสนับสนุน แต่อย่าพูดว่าท่านทำมามากแล้วให้คนอื่นทำบ้าง โดยท่านไม่เคยสร้างทายาทของตัวท่านเอง มองหาคนรุ่นใหม่ สร้างเวทีและโอกาสเพื่อมาทำงานแทนท่าน และตั้งความหวังว่าจะต้องดีกว่าท่าน ไม่ใช่ว่าท่านดีเก่งที่สุดแล้วไม่มีใครเกินท่าน

เลิกคิดว่าทำไม่ได้เลยไม่ทำ เห็นว่าสิ่งไหนดีต้องรีบทำส่วนจะทำสำเร็จในชีวิตของท่านหรือไม่ ไม่ต้องไปสน คิดเผื่อไว้เลยว่าเริ่มทำเพื่อให้เกิดการเริ่มต้นและวางทายาทเผื่อไว้ให้ทำจนสำเร็จ ต่างชาติเขาประสบผลสำเร็จเพราะเขาทำต่อเนื่องและมีการโยนลูกให้กัน คนไทยต้องเรียนรู้และรับสิ่งดีๆมาพัฒนาคุณภาพของตัวเอง และสร้างความเป็นตัวของตัวเองให้ได้ไม่ต้องไปลอกเลียนเขามาทั้งหมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท