ชีวิตที่พอเพียง :๑๖๖๑ . ไปเรียนรู้สภาพจริงของการศึกษาในพื้นที่ที่จังหวัดยะลา


 

          วันที่ ๓๐ ส.ค. ๕๕ ผมไปบรรยายเรื่อง ทักษะแห่งอนาคต : การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ตามคำเชิญขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา    ในการสัมมนา การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของทั้งจังหวัด   และมี สสค. เป็นหน่วยงานให้ทุน ๓ ล้านบาท กระตุ้นให้ดำเนินการ      เป้าหมายคือ สสค. ต้องการให้เกิด area-based education reform    ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง    เพราะ root cause ของความด้อยคุณภาพของการศึกษาไทยคือ   การศึกษาลอยตัวแปลกแยกจากชีวิตจริงของผู้คน   การนำเอาการศึกษาไปอยู่ในมือหรือความรับผิดชอบของพื้นที่ จะเป็นกลไกหนึ่งที่ขยับให้การศึกษาเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากิน และปฏิสัมพันธ์ของผู้คน

 

          ท่านที่สนใจคำบรรยายของผม ดูและฟังได้ที่นี่ 

 

          ผมไม่ได้ออกไปดูโรงเรียนในพื้นที่ เพราะไม่มีใครชวนไปดู   คงจะเป็นเรื่องความปลอดภัย    เพราะดูแล้วท่านที่คอยดูแลจัดการการเดินทางของผมจะกังวลด้านความปลอดภัยมาก    ท่านมาเปิดเผยภายหลังว่า ท่านพกปืนด้วย    และมีการระมัดระวังเรื่องเวลาและเส้นทางการเดินทาง    แต่ท่านก็พูดว่านั่งรถเก๋งของท่านนายก อบจ. ยะลา นายมุขตาร์ มะทา เป็นการรับประกันความปลอดภัยอยู่ในตัว    ผมเองก็ต้องคอยรายงานตัวกับสาวน้อยว่าตอนนั้นผมอยู่ที่ไหนแล้ว รวม ๓ ครั้ง เพื่อให้เธอสบายใจ    โดยที่ก่อนค่ำรถก็นำผมเข้าเขตจังหวัดสงขลา และนอนค้างที่หาดใหญ่ ๑ คืน    นอกจากนั้น เช้าวันที่ ๑ ก.ย. ผมฟังข่าววิทยุจึงรู้ว่าวันที่ ๓๑ ส.ค. มีการก่อการร้ายแบบ “ป่วนเชิงสัญญลักษณ์” กว่า ๑๐๐ จุดทั่ว ๔ จังหวัดภาคใต้  

 

          ตอนเตรียมการประชุมครั้งนี้ เมื่อ อ. ณรงค์ คงเพชร ไปรายงานต่อท่านนายกมุขตาร์ ว่าจะเชิญผมไปพูด   ท่านนายกถามว่า “ท่านจะมาหรือ”    ดังนั้น เมื่อผมไปอย่างไม่กังวลใดๆ    ทางยะลาจึงดีใจกันมาก

 

          แต่จริงๆ แล้ว การไปร่วมการประชุมครั้งนี้ผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือผม  

 

          ผมได้เข้าใจว่าสิ่งที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ในโรงเรียนมากที่สุดคือสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ก่อผลกระทบและสร้างตัวตนแบบใหม่แก่เด็กไทย    เด็กไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่เหมือนเด็กไทยสมัยก่อน   พวกครูที่มาประชุมบอกผมว่า ประมาณ ๑ ใน ๓ ของเด็กในโรงเรียนเป็นเด็กที่กำลังเผชิญปัญหาทางสังคม หรือปัญหาชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขผลการวิจัยของ สสค. ที่นี่ และ ที่นี่

 

          กล่าวใหม่ว่า เด็กไทย ๑ ในสามมีทุนชีวิตติดลบ    และเด็กไทยทั้งหมด อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ที่ชักจูงเด็กไปในทางเสื่อมได้ง่าย   ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพติดลบด้านการเรียนรู้ทักษะชีวิต  

 

          น่าตกใจนะครับ ที่ เด็กไทยทั้งประเทศอยู่ในสภาพติดลบด้านทักษะชีวิต

 

          ทำให้ผมคิดต่อ ว่าเด็กสมัยผมเมื่อ ๖๐ - ๗๐ ปีก่อน ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความขาดแคลน กลับเป็นชีวิตวัยเด็กที่ดีกว่าสมัยปัจจุบัน   คือมีมลพิษทางสังคมน้อยกว่ามาก   เด็กสมัยนี้ต้องเติบโตขึ้นมาโดยมีมลพิษทางสังคมเป็นตัวหล่อหลอมด้วยส่วนหนึ่ง    และสำหรับเด็กอย่างน้อย ๑ ในสาม ระบบการศึกษาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

 

          ระบบการศึกษาไทยพ่ายแพ้มารสังคม ที่เป็นมารต่อเด็ก   อย่างน้อยก็เมื่อมองจากชีวิตเด็ก ๑ ใน ๓ ของเด็กทั้งหมด

 

          หรือว่าจริงๆ แล้ว พ่ายแพ้ทั้ง ๑๐๐%

 

          หรือว่าจริงๆ แล้ว ครูจำนวนไม่น้อยก็พ่ายแพ้ด้วย 

 

          คงเป็นเพราะไปไกลถึงยะลา  รำพึงรำพันของผมจึงเตลิดไปไกล

 

          ระบบการศึกษาที่ช่วยกอบกู้ ปลดแอก ชีวิตผู้คนจากมลพิษทางสังคมที่แผ่ซ่านปกคลุมสังคมอยู่ทั่วทุกหัวระแหง เป็นอย่างไร

 

          เราจะจัดการศึกษา เพื่อสร้างพลังภูมิคุ้มกันชีวิตเด็ก และผู้คนทั้งประเทศ ไม่ให้ถูกพิษร้ายนี้ทำลาย ได้อย่างไร

 

          ทำให้ผมนึกถึงภาพปริศนาธรรม ในโรงมหรสพทางวิญญาณ ที่สวนโมกข์   ที่บอกให้เรามีชีวิตอยู่ในโลกเหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู    เพราะลิ้นงูรู้เท่าทัน จึงอยู่ในปากงูได้อย่างปลอดภัยจากพิษร้ายที่เขี้ยวงู   ไม่โดนเขี้ยวงู    มนุษย์ก็ต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการดำรงชีวิต   สามารถอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยมลพิษ โดยไม่โดนพิษร้าย

 

          เราต้องจัดการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะนี้ให้แก่เด็กไทยทุกคน   ทั้งผ่านการเรียนรู้ในระบบการศึกษาตามปกติ   และผ่านการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน

 

          และไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่ต้องเรียนบทเรียน หรือทักษะ นี้    ทุกคน (รวมทั้งผม) ก็ต้องหมั่นเรียนรู้ฝึกฝนตลอดชีวิต   เพราะพิษร้ายทางสังคมนั้น มันแปลงร่างได้ เหมือนอสูรแปลงร่างในรามเกียรติ นั่นเอง

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ส.ค. ๕๕  ปรับปรุง ๑ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 504887เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท