หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (บ้านดินอบสมุนไพร) รู้จักฉันรู้จักเธอ ..รู้จักกัน (ความสำเร็จเล็กๆ เรียบง่ายแต่งดงาม)


การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงโดยมีกิจกรรม หรือชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้นั้น เป็นกลไกหรือเครื่องมืออันสำคัญที่ช่วยหลอมรวมให้เกิดการเรียนรู้กันและกันมากขึ้น-เรียนรู้โลกภายในอันเร้นลับของแต่ละคน-สะกิดสู่การเปิดใจเปิดรับเพื่อนเข้าเยี่ยมชมโลกภายในของตัวเองไปอย่างนุ่มเนียน

 

ผมเป็นคนประเภทศรัทธาต่อการเรียนรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เพราะนั่นคือบ่อเกิดแห่งความรู้ บ่อเกิดแห่งปัญญา

ยิ่งเมื่อในมารับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการบริการวิชาการแก่สังคม (1 หลักสูตร 1 ชุมชน)  ยิ่งตอกย้ำต่อสิ่งที่ศรัทธา  เพราะการบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  เสมือนการปฏิรูปการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ยึดชุมชนเป็นห้องเรียนอีกห้องหนึ่งของการเรียนรู้ เพื่อให้นิสิตและอาจารย์ได้นำองค์ความรู้ในภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน  เพื่อจัดการความรู้สู่การยกระดับความรู้ร่วมกัน

 

และในยามปฏิบัติงานนั้น  ผมมักถามทักกับผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอว่า “เห็นอะไร  รู้สึกอย่างไร และได้อะไรจากสิ่งที่เห็นและที่รู้สึก”

 

 

ครับ,คำถามเช่นนั้น  ชี้ชัดว่าผมเจตนาถามทักถึงนาฏการณ์อันเป็นโลกภายในของผู้ปฏิบัติโดยแท้- ผู้ปฏิบัติอันหมายถึงผู้มีสถานะแห่งการ “เรียนรู้คู่บริการ”  อันหมายถึง “นิสิตและอาจารย์” 

 

ผมให้ความสำคัญกับคำถามต่อกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มาก  ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวบ้าน หรือชุมชนนั้น  อาจต้องใช้กระบวนการหลากวิธีและใช้ระยะเวลามากเป็นพิเศษ  เพราะเรื่องบางเรื่องที่ร่วมเรียนรู้ หรือลงมือทำด้วยกันนั้น  อาจยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรสำหรับการถามทักถึงความเข้มแข็งและยั่งยืน  ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเช่นนั้น  แต่ผมกลับหลีกหลบที่จะถามถึงเรื่องดังกล่าว  -หลีกหลบ แต่ไม่ละเลย  เพียงแต่อาจต้องใช้วิธีการและเวลาอีกซักระยะ

 

 

 

การถามทักเช่นนั้น  จะช่วยทำให้ “นิสิตและอาจารย์”  ได้ประมวลผลการเรียนรู้ของตนเองแบบง่ายๆ – เรียบง่ายและงดงามในตัวของมันเอง  เสมือนการซ่อนนัยยะสำคัญของการเรียนรู้ว่า  “เมื่อต้องลงมือทำสิ่งใดแล้ว...ก็ไม่ควรพุ่งเป้าไปสู่การประเมินแต่เฉพาะผู้รับว่า...ได้อะไร  เปลี่ยนแปลงอย่างไร  แต่ควรถามตัวเองด้วยว่าตนเองเกิดการเรียนรู้ใดในสิ่งที่ได้ทำ และมีการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ใดเกิดขึ้นภายในตัวตนของตนเองบ้าง..."

 

กรณีดังกล่าวนี้  ครั้งหนึ่งที่เคยลงพื้นที่เยี่ยมเยียน  หรือแม้แต่ร่วมเรียนรู้กับนิสิตและอาจารย์ในโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างอาคารดินอบสมุนไพรเพื่อความยั่งยืนของชุมชนบ้านท่าขอนยาง”  ผมก็เคยได้ตั้งคำถามเรื่องนี้กับนิสิตและอาจารย์จินดาพร   จำรัสเลิศลักษณ์ ผู้รับผิดชอบด้วยเหมือนกัน

 

 

 

โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ที่ขับเคลื่อนโดยสาขา (วศ.บ.)  วิศวกรรมชีวภาพ  ซึ่งดำเนินการสร้างอาคารดินเพื่อเป็นสถานที่บริการเกี่ยวกับอบสมุนไพรให้กับชาวบ้าน  ผ่านกลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน (นิสิต-อาจารย์-ชาวบ้าน)  หรือแม้แต่เครือข่ายอื่นๆ...

 

 

 

 

การถามทักในครั้งนั้น  ช่วยให้ผมค้นพบคำตอบที่เรียบง่าย งดงามและมีพลังอย่างมหัศจรรย์  เพราะอาจารย์และนิสิตต่างสะท้อนคำตอบออกมาในทำนองเดียวกัน   ดังว่า

 

            “...การทำบ้านดิน ช่วยให้อาจารย์รู้จักนิสิตมากขึ้น ทั้งอุปนิสัย ความสามารถ ความสนใจ หรือแม้แต่ปัญหาชีวิต พื้นเพชีวิตของนิสิตแต่ละคน...”

 

            “...นิสิตรู้จักและสนิทกับอาจารย์ผู้สอนมากขึ้น  รู้นิสัยใจคออาจารย์  เห็นมิตรภาพความเป็นเพื่อน และตัวตนของเพื่อนผ่านการทำบ้านดิน  เพราะไม่ใช่การนั่งเรียนในห้อง แต่การทำบ้านดินต้องทำต่อเนื่องและใช้ชีวิตร่วมกันในภาคสนามอย่างจริงๆ จัง...บางวันมีเพื่อนมาเยอะ บางวันมีเพื่อนมาน้อย  แต่ทั้งหมดนั้นก็เคารพในเหตุผลของเพื่อนแต่ละคน...”

 

 

 

ครับ-  ผมเชื่อเหลือเกินว่าคำตอบที่ได้รับมานั้น  เป็นคำตอบที่ไม่ได้ตระเตรียมกันมาแต่อย่างใด  เนื่องเพราะผมถามทักคนละห้วงเวลา  ถามทักคนละมุม คนละสถานที่  หรือเรียกว่า “ถามสด ตอบสด” ก็ไม่ผิด

 

คำตอบที่ได้รับมานั้น  เสมือนการย้ำคิดในวาทกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  ที่ผมมักนำมาใช้เป็นกระบวนการเปิดเวทีในการจัดการเรียนรู้ตามที่ต่างๆ  หากแต่ครั้งนี้  มีประเด็นสำคัญที่ละข้ามไปไม่ได้  คล้ายการยืนยันให้รู้ว่า  การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงโดยมีกิจกรรม หรือชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้นั้น  เป็นกลไกหรือเครื่องมืออันสำคัญที่ช่วยหลอมรวมให้เกิดการเรียนรู้กันและกันมากขึ้น-เรียนรู้โลกภายในอันเร้นลับของแต่ละคน-สะกิดสู่การเปิดใจเปิดรับเพื่อนเข้าเยี่ยมชมโลกภายในของตัวเองไปอย่างละมุมละม่อม...และเป็นธรรมชาติ

 

เพราะห้วงเวลาในชั้นเรียนที่เต็มไปด้วยการบรรยายภาคทฤษฎี  หรือการเรียนรู้ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตที่ไร้พรมแดนนั้น  เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้เรียนยังไม่ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  ได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

 

ด้วยเหตุนี้  คำตอบอันเรียบง่ายและแสนงามที่ได้รับจากอาจารย์และนิสิตผ่านเวทีโครงการ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  จึงถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ความสำเร็จอันเป็นวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักของการดำเนินงานในโครงการ  เช่น  การสร้างอาคารดิน, การเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน, การกระตุ้นให้ชาวบ้านพัฒนาศักยภาพของตนเองบนทุนทางสังคมของตนเอง ฯลฯ

 

 

ครับ- การลงมือทำกิจกรรมทำให้ “อาจารย์และนิสิต”  ได้เรียนรู้ เข้าใจ หรือรู้จักกันมากขึ้นนั้น  ผมถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าสนใจ  เพราะก่อเกิดเป็นต้นทุนอันสำคัญของการที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตอย่างมีคุณค่า  หรือแม้แต่ช่วยให้อาจารย์ได้แตะต้องสัมผัสผู้เรียนด้วยหัวใจของการเป็นครูมากขึ้น  ถึงแม้วิชาเรียนจะปิดตัวลง ตัดเกรดเสร็จ รวมถึงโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชนปิดตัวลง  แต่มิตรภาพของผู้คนที่ใช้ชีวิต –ร่วมชะตากรรมในกิจกรรมเดียวกัน  จะยังถักทอเป็นสายใยที่แน่นเหนียว หนุนเสริมเป็นทักษะชีวิตและทักษะการเรียนรู้ร่วมกันไปเรื่อยๆ

 

 

 

   

 

รู้จักฉัน รู้จักเธอ ...รู้จักกันและกัน

นี่เป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดจากการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียน หรือแม้แต่ผู้สอนได้เรียนรู้ร่วมกัน  ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความรู้เท่านั้น  หากแต่หมายถึงการเกิดผลลัพธ์ในเชิงทักษะชีวิตที่เติมพลังชีวิตให้แก่กันและกันไปในตัว



เหนือสิ่งอื่นใด   ในทัศนะส่วนตัวของผมนั้น  ความสำเร็จเช่นนี้  ถือเป็นความสำเร็จที่ควรค่าต่อการกล่าวถึง และชื่นชมร่วมกันเป็นที่สุด  เป็นความสำเร็จที่ทำให้การบรรลุวัตถุประสงค์หลักในโครงการดูมีค่าและมีมูลค่าอย่างน่าสนใจ

ครับ- รู้จักฉัน รู้จักเธอ ...รู้จักกันและกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 504051เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2012 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

..บ้านดิน..ในเมืองไทย.มีข้อควรสังเกตุว่า...ควรก่ออิฐดินดิบ..บน..ผนังซีเมนต์หรือหินเป็นต้น..ความสูงก็..คำนวน..ดู..ว่า..น้ำท่วมถึงหรือไม่แค่ไหน..เพราะป้องกัน..ความชื้นเปียก..จากผิวดิน..ระยะหนึ่ง..(ยายธี)

เป็นการปลูกฝังปัญญาให้ผู้เรียนรู้อย่างงดงามมากค่ะ ขอนำไปเป็นตัวอย่าง Happy Brain หนึ่งใน Happy 8 ของโครงการ Happy Ba ค่ะ (Happy เยอะจัง จะกลายเป็น Happy Ha แล้วค่ะ)

ขอปรบมือชื่นชมดังๆ นะคะ กับความงดงามของความพยายามและสามัคคีค่ะ

กิจกรรมที่ดี ถ่ายทอดออกมาได้งดงามมากครับ

สวัสดีครับ คุณยายธี

ขอบพระคุณคำแนะนำดีๆ เหล่านี้นะครับ
ผมเองก็เฝ้าฝันว่าจะนำกระบวนการเหล่านี้ไปใช้ที่บ้านเกิด
ชวนเด็กและเยาวชน -ชาวบ้าน
มาทำบ้านดินเป็นห้องสมุด  เป็นโรงภาพยนตร์เล็กๆ
ไว้จัดกิจกรรม สอนหนังสือ ...เหมือนกัน

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่Sila Phu-Chaya

Blank

จริงๆ เกี่ยวกับเรื่องกิจกรรม "บ้านดิน" ในโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชนนั้น  มีหลายประเด็นที่สามารถเขียนถึงได้  แต่ผมสัมผัสกับความสุขเล็กๆ นี้ เลยตัดสินใจเขียนถึง  เพื่อบันทึกความสำเร็จ หรือผลพวงของการเรียนรู้จากเวทีกิจกรรมไว้  ถึงแม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลัก หรือวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการทั้งปวง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำคัญอย่างยิ่งเลยสำหรับสิ่งที่ค้นพบ-

 

สวัสดีครับ พี่ Bright Lily

Blank

เห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับว่าการงานสำเร็จลงได้ก็เพราะความพยายาม- ความร่วมไม้ร่วมมือ-สามัคคี  แต่ในเวทีนั้นๆ สิ่งที่พึงใจที่สุดที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ก็คือ ความสุขใจของการเรียนรู้ร่วมกัน ความสุขใจในการได้เห็นคุณค่าของตัวเองและคนอื่น  ความสุขใจที่หลอมรวมคุณค่าเหล่านั้นเพื่อสังคมร่วมกัน...

บางทีงานไม่บรรลุเป้าหมายหลัก  แต่ได้ผลลัพธ์อย่างอื่นมาชดเชยก็มีให้เห็นบ่อย  นี่กระมังครับที่ว่า "หากลงมือทำสิ่งใด ไม่มีการสูญเปล่า เพราะมันคือการเรียนรู้..."

ขอบพระคุณครับ


 

 

ปลูกปัญญษ ใช่เป็นวาทกรรม แต่ลงมือทำให้เห็น เชื่อว่าโครงการ หนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน ต้นปัญญาก่อเกิดผ่านการบ่มเพาะจากชุมชน

สวัสดีครับ อ.คุณแว้บ

Blank

เดิมก็คิดนานเหมือนกันครับว่าจะเขียนประเด็นอะไรดี  จะเขียนประเด็นขั้นตอนการทำงาน (บ้านดิน) ขั้นตอนการทำงานกับชุมชน  แต่ด้วยเหตุที่ผมไม่ได้ลงพื้นที่ต่อเนื่องเห็นกระบวนการทั้งปวงนั้น  จึงหันกลับมายังประเด็นที่ตนเองสัมผัส ซึ่งเป็นประเมินของการประเมินผลเล็กๆ ที่ผมไม่ละเลยที่จะถามถึงในทุกๆ เวที...

คำตอบที่แสนจะเรียนบง่าย
ผมฟังแล้ว ดูมีพลัง งดงาม มากเลยทีเดียวครับ

 

ครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

การปฏิบัติ ก่อเกิดเป็นปัญญา
เป็นการหล่อหลอมให้เกิดปัญญา-ทักษะชีวิต
และที่สำคัญ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน
คิดบนฐานของ "นิสิตและชุมชน"
คือศูนย์กลาง-คนสำคัญของการเรียนรู้
ครู คือผู้ร่วมเรียนรู้และอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ฯ

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท