ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 13. เคล็ดลับส่งเสริมการเรียนแบบลงมือทำ


ไม่ว่าจะเน้นเป็นโค้ช หรือเป็นคุณอำนวย หรือเป็นผู้จัดการ หรือเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ ตัวร่วมก็คือ ครูไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อวิชาความรู้อีกต่อไป

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 13. เคล็ดลับส่งเสริมการเรียนแบบลงมือทำ  

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๑๓ นี้ ได้จากบทที่ ๘ ชื่อ Tips and Strategies for Promoting Active Learning   

ในบทที่ ๘ นี้ มี ๑๒ เคล็ดลับ    จะลงในบันทึกที่ ๑๓ นี้ ๖ คล.   คือ คล. ที่ ๑๔ - ๑๙

 

คล. ๑๔  ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้ชัดเจน

เป้าหมายการเรียนรู้คือผลการเรียน (learning outcome)   ซึ่งมีแนวทางการเขียนดังนี้

  • เน้นระบุที่ตัว นศ.  ไม่ใช้เน้นระบุที่ตัวครู
  • เน้นที่ผลการเรียน   ไม่ใช่ที่ตัวการเรียน
  • เน้นที่เป้าหมายสำคัญ
  • เน้นที่ทักษะและความสามารถในวิชาชีพนั้นๆ   โดยคำนึงถึงมาตรฐานความเป็นเลิศ
  • กว้างพอที่จะครอบคลุมประเด็นสำคัญ   แต่ก็ชัดเจนและจำเพาะเพียงพอที่จะให้วัดได้
  • เน้นการเรียนรู้ที่นำสู่ความงอกงามและถาวร    แต่ก็วัดได้ในปัจจุบัน

ความท้าทายของการเรียนรู้ก็คือ   ต้องไม่หลงเรียนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ   ไม่ใช่หัวใจ หรือประเด็นสำคัญ   เมื่อ นศ. มั่นใจว่าครูกำลังจัดให้ตนได้เรียนสิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตในอนาคต   นศ. ก็จะตั้งใจเรียน

 

คล. ๑๕  ทำความชัดเจนที่บทบาทของครู

เมื่อชัดเจนว่า ครูต้องการส่งเสริมการเรียนรู้ดดยการลงมือทำของ นศ.   บทบาทของครูก็ต้องเปลี่ยน    บทบาทใหม่จะเป็นอย่างไรขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สาขาวิชา  วัตถุประสงค์ของรายวิชา  ขนาดของชั้นเรียน  คุณลักษณะของ นศ. 

ครูบางคนทำตัวเป็นโค้ช  คือ คอยเฝ้าสังเกต แก้ไข และทำงานร่วมกับ นศ. เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้ดีขึ้น

ครูบางคนทำตัวเป็น “คุณอำนวย” หรือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้    คือ จัดสภาพแวดล้อมของการเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนด้วยตนเอง 

ครูบางคนทำหน้าที่ “ผู้จัดการ”  จัดกระบวนการก่อนหลังและเงื่อนไข เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ

ครูบางคนเน้นการเป็น “เพื่อนร่วมเรียน” กับ นศ.   ทำหน้าที่ร่วมสร้างความรู้    

ไม่ว่าจะเน้นเป็นโค้ช หรือเป็นคุณอำนวย หรือเป็นผู้จัดการ หรือเป็นผู้ร่วมเรียนรู้    ตัวร่วมก็คือ ครูไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อวิชาความรู้อีกต่อไป

 

คล. ๑๖  จัดให้ นศ. ทำบทบาทใหม่

ในการเรียนแบบลงมือทำ นศ. มีบทบาทใหม่   คือต้องฝึกทักษะการเรียนโดยลงมือทำ   และเรียนโดยลงมือทำ จากการที่ครูมอบหมายกิจกรรมให้ทำ เพื่อประยุกต์หลักการหรือความรู้ แก้ปัญหา อภิปรายประเด็น และสะท้อนความคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อความคิดของตนเอง

ตอนต้นเทอม ครูต้องอธิบายให้ นศ. ทราบและเข้าใจคุณค่าของการเรียนแบบใหม่นี้   ที่ นศ. จะได้ติดตัวไปตลอดชีวิต  

นอกจากอธิบาย ครูควรใช้คาบแรกของการเรียน เป็นกิจกรรมเพื่อทำความเข้าใจการเรียนแบบลงมือทำ (active learning) แบบที่เรียนจากการลงมือทำโดยสัมผัสด้วยตนเอง   

แจกกระดาษเปล่าให้ นศ. คนละแผ่น และบอกว่าต่อไปนี้เราจะเรียนบทเรียนเพื่อให้เข้าใจว่า    การเรียนแบบที่ นศ. ลงมือทำมีความสำคัญอย่างไร    ครูบอก นศ. ให้ทำดังต่อไปนี้ โดยครูก็ทำไปด้วย  “ให้ นศ. หยิบกระดาษขึ้นมาถือในมือ และทุกคนหลับตา”  “พับกระดาษทบครึ่ง”  “ฉีกมุมขวาบนทิ้ง”   “พับครึ่งอีก”  “ฉีกมุมซ้ายบนทิ้ง”  “พับครึ่งอีก”  “ฉีกมุมขวาล่างทิ้ง”  “ลืมตา”  “สำรวจว่ากระดาษมีรูปร่างเป็นอย่างไร   และเปรียบเทียบกับกระดาษของเพื่อนๆ   ถ้าครูได้บอกคำสั่งอย่างชัดเจน และ นศ. ฟังจับความได้ชัดเจน  กระดาษทุกแผ่นควรเหมือนกันหมด”

ครูถือกระดาษแผ่นของครูในมือ   เพื่อให้ นศ. เปรียบเทียบ   นศ. คนไหนกระดาษต่าง ครูให้บอกแก่ชั้นเรียนว่า นศ. ทำไมจึงต่าง    คำตอบจะเป็นทำนอง “เพราะครูไม่เปิดโอกาสให้ถาม”  หรือ “เพราะคำสั่งไม่ชัดเจน” 

บอก นศ. ว่า ในบทเรียนนี้ แสดงตัวอย่างของครูที่ไม่ดี   ส่วนที่ไม่ดี นอกจากไม่เปิดโอกาสให้ถามแล้ว    ยังสอนแบบที่ผิดหรือไม่ดีอีกด้วย   คือสอนแบบบอก “Telling is not teaching”    สิ่งที่ครูบอกหรือทำ ไม่ใช่ปัจจัยหลักต่อความสำเร็จในการเรียน   สิ่งที่ นศ. บอกหรือทำต่างหากที่เป็นปัจจัยหลักต่อความสำเร็จในการเรียน   

หลังจากนั้น ให้ นศ. อ่านคำคมที่ปรับมาจากคำของของขงจื๊อต่อไปนี้

เมื่อฉันได้ฟัง  ฉันลืม

เมื่อฉันได้ฟัง และได้เห็น  ฉันจำได้บ้างเล็กน้อย

เมื่อฉันได้ฟัง  ได้เห็น  และได้ถามคำถาม  หรือได้อภิปรายกับเพื่อน  ฉันเริ่มเข้าใจ

เมื่อฉันได้ฟัง เห็น อภิปราย และลงมือทำ มันช่วยให้ฉันได้ความรู้และทักษะ

เมื่อฉันได้สอนสิ่งนี้แก่ผู้อื่น  ฉันจึงรู้เรื่องนั้นอย่างแท้จริง”  

แล้วให้ นศ. อภิปรายว่าตนเข้าใจคำคมนี้อย่างไร   เกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทใหม่ในการเรียนของ นศ. อย่างไร

 

คล. ๑๗  ช่วยให้ นศ. พัฒนายุทธศาสตร์การเรียนรู้

เป้าหมายคือ ให้ นศ. มีความสามารถจัดการและกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้    คือให้ นศ. ได้เข้าใจและฝึกวิธีเรียนแบบที่ตนเองลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง นั่นเอง    เขาคัดลอกตารางจากหนังสือ Learning and Motivation in the Postsecondary Classroom  มาลงไว้   ซึ่งผมขอแปลถอดความมาดังนี้

 

ระดับของ การเรียนรู้

วิธีการเรียนที่ใช้

ตัวอย่างกิจกรรมของ นศ.

หมายเหตุ

นิยามหรือ         ความหมายพื้นฐาน

ท่องจำ

ใช้กระดาษแผ่นเล็กๆ เขียนคำ  แล้วให้นำมาจับคู่ คำที่มีความหมายเหมือนกัน  หรือคำที่มีความหมายตรง กันข้าม

เป็นวิธีการจารึก สู่ความจำระยะยาว

 

จัดหมวดหมู่

จัดคำที่มีความหมายกลุ่ม เดียวกันเข้าด้วยกัน  เพื่อหาความสัมพันธ์ ความแตกต่าง และยกตัวอย่างการใช้ที่ถูก และการใช้ที่ผิด

 

ความรู้เชิง โครงสร้าง -- หลักการต่างๆ สัมพันธ์ กัน อย่างไร

ทำความเข้าใจหลักการสำคัญ

ดึงเอาหัวข้อมาทำเป็น โครงสร้างของเรื่องนั้น

เพื่อให้เข้าใจหลักการ จากความ สัมพันธ์กับ หลักการอื่น

 

ทำความเข้าใจความ สัมพันธ์ของ แนวความคิดหลักๆ

ทำแผนผังของแนวความคิด เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่างกัน

 

ประยุกต์ใช้ หลักการ เพื่อ แก้ปัญหา

พัฒนาขั้นตอนของ กระบวนการ

เขียนรายละเอียดว่าครู หรือตำรา ใช้ตัวอย่างเพื่อ แสดงหลักการ อย่างไร  หาขั้นตอน และลำดับขั้นตอน   ลองคิดขั้นตอนเอง ด้วยตัวอย่างอื่น

วิธีการเรียนรู้นี้เป็นการพัฒนา mental models ว่าด้วยการใช้หลักการนั้น   นำไปสู่ case-based reasoning

 

 

ในแต่ละตัวอย่าง  ให้พิจารณาว่า ทำไมจึงใช้กระบวนการนั้น และมีขั้นตอนอย่างไร

เป็นการเรียนรู้ขั้นตอนในการประยุกต์ใช้หลักการ

วิเคราะห์ สถานการณ์ ปัญหา

หาความสัมพันธ์

แยกหรือแจกแจงสถานการณ์ ออกเป็นส่วนย่อย เพื่อให้เข้าใจ เหตุการณ์ส่วนสำคัญ และความสัมพันธ์ ระหว่างเหตุการณ์ย่อย

ช่วยให้ นศ. เข้าใจเรื่องราวชัดเจนขึ้น   และมองเห็นวิธีแก้ปัญหาโดยทำทีละส่วนที่พอทำได้

 

ทำความเข้าใจปัญหาด้วยจักษุประสาท (visualization)

นำมาเปรียบเทียบเป็นแผนผัง หรือรูปภาพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความแตก ต่างระหว่างสมมติฐาน ความคิด และข้อมูลหลักฐาน ต่างชิ้นกัน 

 

 

ครูอาจแจกเอกสารแนะนำวิธีเรียนแก่ นศ.  เช่น Notetaking types and characteristics to help students succeed,   Successful students : Guidelines and thoughts for academic success   โดยผมขอหมายเหตุว่า ครูไทยควรนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อบริบทของนักเรียนของท่าน   ไม่ควรลอกมาใช้ทั้งดุ้น 

 

คล. ๑๙  สอนให้เกิด transfer เข้มข้น

ผมขอหมายเหตุที่ชื่อ T/S 19 Teach in ways that promote effective transfer ในหนังสือ   ว่าอาจเกิดความเข้าใจผิดต่อคำ transfer   การเรียนรู้สมัยใหม่ต้องหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดความรู้   ต้องเน้นที่การสร้างสถานการณ์และกิจกรรมให้ นศ. งอกงามความรู้และทักษะขึ้น จากภายในสมองและจิตใจของตนเอง    

คำว่า transfer ในที่นี้เป็น “ศัพท์เฉพาะ” ทางการเรียนรู้   เป็นขั้นตอนของการทำให้พื้นความรู้เก่า ช่วยให้การเรียนรู้ใหม่ง่าย ชัดเจน และลึกซึ้งเชื่อมโยง  

หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีส่งเสริม positive transfer ไว้ ๕ วิธี ดังนี้

  1. เมื่อสอนหลักการที่คล้ายคลึงกัน ให้บอกความแตกต่างให้ชัดเจนตั้งแต่แรก   โดยจัดให้ นศ. ได้เรียนรู้วิธีแยกแยะความแตกต่าง
  2. ใช้วิธีการต่างๆ ให้ นศ. เรียนรู้ความสัมพันธ์ (associations)    คำอุปมา  การเปรียบเทียบ  สัญญลักษณ์  และรูปภาพ  อาจช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงความรู้หรือหลักการที่เป็นพื้นความรู้เดิม เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ความรู้ใหม่
  3. สอนให้ นศ. เข้าใจว่า ความรู้หรือหลักการนั้นๆ มีที่ใช้ในสถานการณ์ใด   การเรียนรู้จะเข้มข้นและได้ผลดีที่สุดเมื่อการเรียนความรู้หรือหลักการนั้นตามด้วยสถานการณ์ของการประยุกต์ใช้ในทันที
  4. ให้แน่ใจว่า นศ. ได้เรียนรู้อย่างแม่นยำ ก่อนจะ transfer   การให้ นศ. กล่าวความเข้าใจของตน ต่อหลักการนั้น ก่อนนำไปใช้ปฏิบัติ   จะช่วยให้เกิดทักษะการเชื่อมโยงระหว่าง การเรียนทฤษฎีกับการเรียนโดยปฏิบัติ
  5. ในเบื้องต้นของการเรียน ควรเรียนเรียนหลักการหรือทฤษฎีในรูปแบบ ที่ใกล้เคียงกับสภาพการใช้งานก่อน   เพื่อให้ transfer เกิดง่าย   ต่อไปจึงค่อยสร้างบทเรียนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น transfer ยากขึ้น   

 

ในตอนที่ ๑๔ จะต่อด้วย เคล็ดลับส่งเสริมการเรียนแบบลงมือทำ อีก ๖ เคล็ดลับ   คือ คล. ๒๐ - ๒๕

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.ย. ๕๕

  

หมายเลขบันทึก: 504013เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2012 04:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2012 04:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท