ห้องฝึกจำลองขบวนรถไฟฟ้าแห่งแรกของเมืองไทยโดยฝีมือคนไทย100%


พิจารณาความคุ้มค่าจากต้นทุนทางรูปธรรม (Tangible Capital) & ต้นทุนทางนามธรรม (Intangible Capital)

 


ก่อนหน้านี้ การฝึกภาคปฏิบัติของพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าของ BTS จะฝึกกับขบวนรถจริงในสถานที่จริง แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือการจำลองสถานการณ์บางอย่างไม่สามารถทำกับของจริงได้ เช่น กรณีที่ระบบขับเคลื่อน หรือระบบเบรคเสีย ฯลฯ ด้วยเหตุผลหลักใหญ่คือความปลอดภัยนั่นเอง จึงได้มีแนวคิดที่จะทำห้องฝึกจำลองขบวนรถไฟฟ้า (Train Simulator) นี้ขึ้นมาเพื่อรองรับงานเหล่านี้ แต่จนแล้วจนรอดโครงการนี้ก็ไม่ได้คลอดซักที เนื่องจากติดปัญหาสถานที่ และระบบก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เช่น ก่อนหน้านี้เราก็มีการเปลี่ยนระบบระบบวิทยุสื่อสาร (Train Radio) การเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling System) จากของ Siemens มาเป็นของ Bombadier เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ตามงานนี้ยังไงก็ต้อง ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะผู้บริหารของ BTS ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และผมคิดว่าเราน่าจะเริ่มต้นจากงานเล็กๆ (ความจริงไม่เล็ก) ใช้งบประมาณไม่มาก ให้เห็นผลงานก่อน แล้วค่อยขยับขยายไปสู่โครงการใหญ่ๆ ผมก็ได้เริ่มร่าง TOR (Term of Referance) และเสาะแสวงหา Supplier มาประมูลงาน งานนี้มีผู้สนใจเข้าร่วม 3 ราย แต่พอถึงวันนำเสนองาน ได้ถอนตัวไป 1 ราย จึงทำให้เหลือคู่แข่งสู้กันตัวต่อตัว อย่างสมศักดิ์ศรี สุดท้ายก็ได้บริษัท Growth More Corporations จำกัด (http://www.growthmore.co.th) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก งานนี้เราไม่ได้เลือกที่ราคาอย่างเดียวเท่านั้น  คณะกรรมการของเราค่อนข้างเข้มงวดเอามากๆ ทั้งด้านเทคนิค และการบริหารจัดการ และเมื่อได้รับการคัดเลือกมาแล้ว ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง (ได้ทั้งของดีและราคาถูก ที่ถูกกว่าของต่างประเทศถึงเกือบ10 เท่า) อาจจะเป็นเพราะ Supplierต้องการมาสร้าง Profile ให้กับองค์กรของตัวเองไว้สำหรับไปอ้างอิงสำหรับงานต่อไปก็ได้ ผมคิดว่าเขาจึงยอมทุ่มให้กับตรงนี้ก่อน เมื่อผลงานออกมามันก็จะมีมูลค่าทางนามธรรมได้อีกมาก งานที่ออกมาจึงค่อนข้างที่จะ Spoil ให้กับ BTS ค่อนข้างมาก ผมยอมรับว่าผลงาน Final ที่ออกมาบิดไปจาก TOR มากเลยทีเดียว เนื่องจากว่าระบบจริงที่ใช้งานอยู่มีการ Updated อยู่เรื่อยๆ งานที่ออกมาผมถือว่า Win-Win ทั้งสองฝ่าย คือ BTS ได้งานตามที่ต้องการ Supplier ได้ Profile ไปต่อยอด (แต่ลิขสิทธิ์ทั้งหมดทุกอย่างเป็นของ BTS ) เท่าที่ได้ร่วมงานกันกับ Supplier เขายอมรับว่าอยากทำสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว เหมือนกับเด็กได้ของเล่นที่ถูกใจ ความมุ่งมั่นจึงเกินร้อย งานที่ออกมาจึงเป็นการออกแบบร่วมกันเพื่อตอบสนองต่อการใช้งานให้เหมาะสมมากกว่าที่จะทำตาม TOR อย่างทื่อๆ  ซึ่งทำให้คุยได้ว่าเป็นผลงานของคนไทยแท้ 100% ที่ได้ทำห้องจำลองขบวนรถไฟฟ้านี้ได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพราะ ถึงแม้ของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะมีเครื่องฝึกจำลองอยู่ที่โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟแล้วก็ตาม แต่นั่นก็เป็นระบบรถไฟทั่วไป (ดีเซลราง) ที่ไม่ใช่ระบบรถไฟฟ้าแบบของเรา และที่ BMCL และ Airport Rail Link ก็ยังไม่เคยมี 

 

 

อย่างที่เกริ่นไว้ที่ต้นเรื่องว่า วัตถุประสงค์ของการทำห้องฝึกจำลองนี้ เพื่อรองรับการจำลองสถานการณ์ในกรณีที่ไม่สามารถ สร้างจากของจริงได้ และ Concept หลัก ที่เราได้ออกแบบไว้จะเน้นในเรื่องของ Operations มากว่าเรื่องของ Operating คือ เราจะเน้นการฝึกแบบบูรณาการที่ให้ผู้เข้าอบรมต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่กำหนดไว้ (Operations Procedure) มากกว่าที่จะให้ดูแค่การกดปุ่ม เร่งเครื่อง ให้ได้ชื่อว่าขับได้เท่านั้น นั่นคือเครื่องจำลองนี้ต้องสามารถที่จะรองรับการฝึกตาม Conceptในหน้าที่หลักของพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมขบวนไฟฟ้าไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย และให้ผู้โดยสารได้รับการบริการอย่างสะดวกสบายตามขั้นตอนของรูปแบบการเดินรถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเดินรถปกติ (Normal Operations) การเดินรถไม่เต็มรูปแบบ (Degrade Operations) และรูปแบบการเดินรถฉุกเฉิน (Emergency Operations)

 

 

ส่วนประกอบหลักๆ ของห้องฝึกจำลองขบวนรถไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 6 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
     1. ห้องคนขับที่สามารถควบคุมการเดินรถได้คล้ายกับของจริง มีจอแสดงผลด้านหน้ากระจกจำลองเส้นทางที่ขบวนรถวิ่งไป (Driver Cab : Driver Desk & Attendant Desk) เช่น การขับเคลื่อนในรูปแบบต่างๆ (Auto/Manual) ,การเปิด-ปิดประตู, การควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในขบวนรถ ฯลฯ
     2. แผงสวิตช์ควบคุม (Push Button,Switch & Circuit Breaker) ,หลอดไฟแสดงความผิดปกติและสถานะต่างๆ ของขบวนรถไฟฟ้าที่แสดงผลได้เหมือนกับของจริง (A&C Car Control Panel)
     3. โครงรถจำลองย่อส่วน (Train Model) ใช้สำหรับการฝึกดูการแสดงผลของหลอดไฟแสดงสถานะและการตอบสนองกับการใช้อุปกรณ์ในกรณีต่างๆ เช่น การปลดเบรค (ฺB09,Parking Brake Release) การเปิดประตูฉุกเฉิน (PER : Passenger Emergemcy Release) เป็นต้น นอกจากนี้อุปกรณ์ส่วนประกอบในขบวนรถยังสามารถทำงานได้เหมือนของจริงอีกด้วย เช่น การหมุนของล้อรถที่สอดคล้องกับความเร็วของการขับเคลื่อน หลอดไฟแสงสว่างในขบวนรถที่สามารถเลือกเปิด-ปิดได้เหมือนจริง เป็นต้น
     4. รางและตัวรถไฟจำลองที่สามารถวิ่งได้เหมือนจริง (Nano Moving Train) สามารถควบคุม/พิจารณาทิศทางของการสับรางได้ ดูการเข้าจอดของขบวนรถว่าตรงตามจุดที่กำหนดหรือไม่
     5. แบบจำลองย่อส่วนประตูผู้โดยสาร (Zoom Door) ใช้สำหรับฝึกการล็อกประตูกรณีประตูเสีย และการเปิด-Reset ประตูฉุกเฉิน (Passenger Emergemcy Release)
     6. โต๊ะคอมพิวเตอร์ควบคุมการจำลองสถานการณ์สำหรับครูฝึก (Trainer Console) ใช้สำหรับการควบคุมการจำลองสถานการณ์ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่าผู้ฝึกได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใน Operations Procedure ขององค์กรหรือไม่

 

 

ส่วนประกอบอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้จะมีการทำงานที่เชื่อมโยงถึงกันหมด (Interlock) ซึ่งการทำงานจะสั่งการผ่าน Software Computer ที่มี Server รองรับทุกตัว แต่ละตัวจะจะทำหน้าที่เปรียบเสมือน Controller ตัวหนึ่ง ที่ต้องทำหน้าที่รับส่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

 

พนักงานกลุ่มแรกที่ได้ใช้เครื่องฝึกจำลองนี้เป็นการอบรมในหลักสูตร Train Controller 11-01/2012  ซึ่งก็นับเป็นรุ่นที่ 33 แล้ว นับตั้งแต่เปิดบริการมา คาดว่าน่าจะทำให้ประหยัดงบประมาณและเวลาการอบรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทางรูปธรรม (Tangible Capital) ลงมาบ้าง  นอกจากนี้ยังสามารถที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าต้นทุนทางนามธรรมที่วัดเป็นตัวเลขได้ยาก (Intangible Capital) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการฝึกก็ยังคงต้องใช้ขบวนรถจริงอยู่เพราะสื่อที่ดีทีสุดก็คือของจริงไม่ว่าจะเป็นการขับให้บริการในเส้นทางจริงทั้งสายสุขุมวิทและสายสีลม รวมทั้งภายในอู่จอดรถไฟฟ้า (Depot) ด้วย ทั้งนี้จะได้ให้พนักงานได้รับบรรยากาศในการทำงานจริงด้วย โดยเฉพาะในช่วงการฝึกภาคปฏิบัติ (On Site Practical Training) ทั้งเวลากลางวัน/กลางคืน และการฝึกงานกับพี่เลี้ยงในกะ (Duty) ของเวลาการทำงานจริง (OJT : On the Job Training) เพื่อให้บรรลุตามขั้นตอนการทำงานและนโยบายที่องค์กรกำหนด (Policy : Operations Procedure)

หมายเลขบันทึก: 503744เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2012 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดครับครู สำหรับ Simulator ของทาง BTS ชุดนี้ ก็ได้แต่รอให้ที่บริษัททำมาให้ใช้ในการฝึกอบรมบ้าง (_)

ปล. ผมเองเคยเข้ามาอ่านความรู้ของครู เมื่อครั้งช่วงที่ผมกำลังอยากไปขับรถไฟฟ้า ปัจจุบันผมได้เป็นคนขับสมใจ แต่...อยู่ที่ BMCL ครับ ยังคงตามอ่านความรู้จาก Blog ของครูอยู่เสมอมา ขอบคุณครับ (/|\)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท