ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๕๑. ชีวิตที่มุ่งฝึกตีความคุณค่า


 

          ผมเล่าบ่อยๆ เรื่องการหมั่นฝึกฝนตนเองด้านต่างๆ   ซึ่งก็คือการเรียนรู้ทักษะชีวิต (life skills) นั่นเอง    ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งคือทักษะในการตีความคุณค่าของสิ่งต่างๆ เรื่องราว หรือการกระทำต่างๆ    โดยที่จะมีหรือไม่มีคุณค่านั้นๆ บางทีมันมองหรือทำเปลี่ยนมุมนิดเดียว การตีความแตกต่างกันไปมากทีเดียว    หรืออาจให้ผลไปในทางตรงกันข้าม

 

          ผมมีข้อสังเกตว่า หน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการคิดค้นหรือการพัฒนาด้านต่างๆ มักถูกปฏิเสธจากคนที่เก่งหรือดีเป็นพิเศษอย่างไม่น่าเกิด   แม้สมัยผมอยู่ สกว. ก็เคยเกิด โดยเป็นความผิด หรือความเขลา ของผมเอง    หากเกิดสภาพนี้บ่อยๆ ในที่สุดหน่วยงานนั้นก็จะทำงานได้เพียงกับคนที่เอาใจหน่วยงาน (ที่จริงเอาใจผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่)    โดยที่ตนเองคิดได้ไม่ลึก ไม่เชื่อมโยงกว้างขวาง    เกิดความเสี่ยงที่หน่วยงานจะสร้างผลงานได้เพียงระดับปานกลาง (mediocre) ไม่มีทางเป็นเลิศ

 

          นี่คือความเสี่ยงของบุคคลและหน่วยงานอย่างหนึ่ง    เป็นความเสี่ยงที่จะตกบ่วงปานกลาง (mediocre trap)ไม่สามารถทำงานสร้างผลงานที่เป็นเลิศได้

 

          เพราะไม่มีทักษะในการตีความคุณค่า    มองไม่เห็นคุณค่ายิ่งใหญ่ล้ำลึกที่แฝงอยู่    ที่เข้าไปจัดการชักชวนให้ทำงานเพิ่มเติมหรือขยับมุมเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดผลงานที่ตรงกับปณิธาณความมุ่งมั่น (purpose) ขององค์กร   และเป็นผลงานที่เป็นนวัตกรรม ไม่ซ้ำแบบเดิม

 

          สัจธรรม หรือธรรมดาโลกก็คือ คนส่วนใหญ่เป็นคนระดับปานกลาง    มีแนวความคิดตามๆ กันที่เรียกว่าตาม norm ในสังคม    ความจริงนี้แม้ในกลุ่มผู้มีตำแหน่งสูงก็ไม่เว้น  

 

          จำได้ว่า สมัยอยู่ สกว. ผมมุ่งมั่นทำงานจัดการงานวิจัยให้แก่ประเทศชาติในแนวใหม่อย่างสุดฤทธิ์ (ทั้งๆ ที่ฤทธาอ่อนเปลี้ย ไม่ค่อยมี)    โดยใช้วิธีปรึกษาหารือขอความรู้จากรอบทิศ   แล้วเสนอเป็นแนวทางการทำงานใน บอร์ด   หลายครั้งกรรมการตั้งคำถามด้วยกระบวนทัศน์เก่า    ผมหาทางอธิบายความหมายหรือคุณค่าของโครงการอย่างสุดฤทธิ์   ซึ่งก็สำเร็จไม่ทุกครั้ง    บางครั้งต้องล่าถอยเอาข้อคิดเห็นในที่ประชุมมาตั้งหลักใหม่    พอเอาไปเสนอในการประชุมครั้งต่อไปกรรมการท่านที่เคยค้านสุดลิ่มไม่มาประชุม   โครงการที่ปรับปรุงใหม่จึงผ่านฉลุย   สภาพเช่นนี้บอกอะไรๆ เรามากเกี่ยวกับ บอร์ด   แต่ผมไม่วิจารณ์ดีกว่า

 

          การทำงานเพื่อผลงานระดับคุณภาพสูง มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพในการใช้เงินสาธารณะนี้ท้าทายมาก ให้การเรียนรู้มาก   ให้คุณแก่ชีวิตผมมาจนบัดนี้  

 

          มันกระตุ้น หรือเปิดช่องทางให้ผมหมั่นฝึกฝนตนเอง โดยใช้วิธีครูพักลักจำ    ตั้งหน้าหรือจ้องสังเกตคนเก่งๆ ว่าเขามีวิธีคิดอย่างไร   หลายครั้งผมพบว่าเส้นผมมันบังภูเขา    เราต้องหัดเอาเส้นผมที่บังตาออกไปเสีย   เส้นผมอย่างหนึ่งคือ social norm นั่นเอง

 

          การตีความคุณค่ามักจะถูกจำกัดด้วยมุมมอง What it is   แต่หากเราต้องการผลงานสร้างสรรค์ เราต้องบิดมุมไปนิดหนึ่ง เป็น What it can be   โดยไม่กลัวเรื่องถูก-ผิด   เพราะในความเป็นจริง ถูก- ผิด เป็นมายา    หลายกรณีขึ้นกับบริบท

 

          สังคมไทยมีธรรมชาติเคารพอาวุโส   ซึ่งบางครั้งผู้อาวุโสมีความรู้ความเข้าใจล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง    หรือบางครั้งผู้อาวุโสมีวิธีตีความคุณค่าตามแบบของตน   ที่ไม่เหมาะต่อโลกสมัยปัจจุบันและอนาคต   หรือไม่เหมาะต่อภารกิจด้านพัฒนาเรื่องนั้นๆ   เดี๋ยวนี้ผู้อาวุโสมักเข้าไปทำหน้าที่ บอร์ด กำกับดูแล   เรามักยอมรับกันว่า บอร์ด เป็นผู้รู้ดี   และยอมทำตามที่บอร์ด บอก   แต่ผมมักสงวนความเห็นต่อ บอร์ด ว่า บอร์ดอาจมีกระบวนทัศน์ถูกก็ได้ ผิดก็ได้    โดยกรรมการ บอร์ด ต่างคนอาจคิดต่างกัน 

 

          ผมมีประสบการณ์ว่า บอร์ด มักตีความคุณค่าของการทำงานพัฒนาหรือสร้างสรรค์ไม่เป็น   เอากระบวนทัศน์ของการทำงานประจำ (routine) มาจับ   โอกาสที่หน่วยงานจะทำงานสร้างสรรค์ให้แก่สังคมจึงน้อย   ทำได้เพียงงานแบบเดิมๆ

 

          สังคมไทยยังไม่ค่อยเข้าใจคุณค่าของงานสร้างสรรค์

 

          รำพึงรำพันชิ้นนี้มีโอกาสผิดพลาดสูงมาก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ส.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 503292เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2012 05:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

บันทึกนี้เปี่ยมด้วยคุณค่าอย่างยิ่งค่ะอาจารย์... ขอบพระคุณค่ะ

- ชอบบันทึกนี้ครับ ที่ชอบเพราะมีเหตุผลในข้อความยืนยันเป้าหมายครับ

มีกำลังใจ และเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เจออยู่พอดี.... ขอบคุณครับ

คนทำงานในปัจจุบันประสบปัญหานี้ จนบางครั้งคิดถอยออกจากที่แห่งนั้น

แต่เมื่อ่านบทความของอาจารย์ฉบับนี้ ต้องฮึดต่อค่ะ

ขอบคุณสิ่งดีดีที่อาจารย์เขียน ทำให้คนเราค่อยๆเปลี่ยนทัศนคติได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท