มาฑูกยะ อุปนิษัท


ทำจิตใจให้เหมือนกับเด็กอยู่เสมอ ชีวิตจะหลุดพ้นและมีความสุข

อาตมันในมาณฑูกยะอุปนิษัท 

     คัมภีร์อุปนิษัททั้งหลายที่มีคนรู้จักนั้น  ล้วนแล้วแต่เป็นคัมภีร์ที่ได้แสดงถึงความจริงแท้ให้มนุษย์ได้รับรู้ถึงธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต  สิ่งเหล่านี้ต้องดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งนี้   สิ่งนี้ก็คือ  อาตมัน  อันเป็นตัวรู้ที่มีอยู่ในบุคคลทุก ๆ คน  และมันก็อาศัยอยู่ในทุก ๆ สิ่ง    และสิ่งเหล่านี้จะมีอยู่ได้ก็เพราะมัน     ดังนั้นเราต้องรู้ถึงตัวธาตุแท้ที่มีอยู่ในตัวเราให้ได้    

ความหมายของมาณฑูกยะอุปนิษัท

     มาณฑูกยะ  มาจากคำว่า  มัณฑูกะ +  ย  ปัจจัยของตัทธิต  สำเร็จรูปเป็น  มาณฑูกยะ  มาณฑูกยะอุปนิษัทนี้ได้ชื่อมาจากชื่อฤาษี  มัณฑูกะ (แปลว่า  กบ) และมาณฑูกยะอุปนิษัท   จัดเป็นส่วนของอาถรรพเวท  (Atharva - Veda)  เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า   อุปนิษัทนี้เป็นอุปนิษัทที่มีเนื้อหาสั้นมาก   มีเพียงแค่  ๑๒ โศลก   เมื่อเปรียบเทียบกับอุปนิษัทอื่น ๆ  

ผู้แต่งและสมัยที่แต่ง

       หลักคำสอนของอุปนิษัทส่วนใหญ่    เชื่อได้ว่าเป็นคำสอนที่เป็นการประมวลสัจจะ    ที่ได้รับจากอำนาจจิตที่เป็นสมาธิของฤาษี   ไม่ใช่เกิดจากการคิดตรึกตรองด้วยเหตุผล 

        ดังนั้นอุปนิษัททั้งหลาย  จึงเกิดขึ้นจากฤาษีเป็นส่วนมาก  มาณฑูกยะอุปนิษัทก็เช่นกัน  สันนิษฐานว่า เกิดมาจากฤาษีมัณฑูกะ  (แปลว่า  กบ)   เป็นผู้รู้และเป็นผู้สอน ความรู้ในมาณฑูกยะอุปนิษัทนี้   จริง ๆ แล้ว  นี้คงไม่ใช่ชื่อผู้แต่ง  เพราะในอุปนิษัทดั้งเดิมก็ไม่เคยระบุนามผู้แต่งเลย   อาจเป็นไปได้ว่า   อุปนิษัทเป็นศรุติหรือสิ่งที่เปิดเผยให้ทราบโดยพระเจ้า  เช่นเดียวกับคัมภีร์พระเวทอื่น ๆ  มนุษย์จึงไม่สามารถเป็นผู้แต่งได้  (ทั้งนี้ไม่รวมถึงอุปนิษัทรุ่นหลัง ๆ ที่ไม่ได้เป็นของพระเวท     ซึ่งบอกนามผู้แต่งชัดเจน  เช่น เคาฑปาทะ  ศังกราจารย์  เป็นต้น) จะปรากฏได้ก็เพียงนามของ     

         ผู้ได้รับถ่ายทอดจากพระเจ้าแล้วนำหลักธรรมมาอธิบายเผยแพร่    ดังที่ปรากฏเรื่องราวใน     มุณฑกะอุปนิษัทว่า    

          “พรหมา  ผู้สร้างสิ่งทั้งปวงและผู้พิทักษ์โลก  ผู้อุบัติขึ้นก่อนเทพองค์อื่นใดทั้งหมด  ได้สอนซึ่งความรู้เรื่องพรหมัน  ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความรู้ทั้งปวงแก่อถรวัน   บุตรคนแรกของตน   และผ่านมาเป็นเวลานาน   อถรวันจึงได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องพรหมันนี้ให้แก่อังคีร์   อังคีร์ได้สอนต่อให้แก่ภารัทวาชะ   สัตยวาหะ   และภารัทวาชะ  ก็ได้สอนความรู้ที่ครูสอนสืบ ๆ กันมาไปยังอังคีรัส    เคานกคฤหบดีมหาศาล  ได้ไปหาอังคีรัส  อังคีรัสก็ได้เปิดเผยให้กับเคานกะให้ทราบ”  ดังนี้เป็นต้น 

          จะเห็นได้ว่า  อุปนิษัทได้รับการถ่ายทอดแล้วท่องจำสืบต่อกันมาตามแบบมุขปาฐะที่แต่ละสาขารับเอาไปก่อนที่จะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร   ดังนั้นหากต้องการทราบว่าอุปนิษัทใดถ่ายทอดหลักธรรมความรู้จากพระพระเจ้า  โดยใคร  ก็ให้ดูว่าอุปนิษัทนั้น ๆ เป็นของสาขาใด  เวทใด  และผู้ถ่ายทอดสาขาของเวทนั้น ๆ เป็นใคร  ผู้นั้นก็คือผู้ถ่ายทอดอุปนิษัทด้วย  ส่วนระยะเวลาที่มาณฑูกยะอุปนิษัทเกิดขึ้นนั้น  นักปราชญ์ต่าง ๆ  ได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้

           ราธากฤษณัน  (Radhakritshnan) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาณฑูกยะอุปนิษัทว่า  น่าจะแต่งขึ้นหลังพุทธกาล  คือ  ประมาณ  ๔๐๐ - ๓๐๐  ปีก่อนคริสตศักราช  และผู้รู้ให้ความเห็นว่าช่วงเวลาที่คัมภีร์อุปนิษัทอื่น ๆ  อุบัติขึ้น  อยู่ระหว่างปี  ๔๐๐ - ๓๐๐  ปีก่อนคริสตศักราช   แต่บางท่านก็ว่าอยู่ระหว่างปี  ๔๐๐ - ๒๐๐ ปี  ก่อนคริสตศักราช

           จะเห็นได้ว่าระยะเวลานั้นไม่แตกต่างกันมาก  อาจเป็นเพราะมาณฑูกยะอุปนิษัท  เกิดขึ้นทีหลังจึงทำให้นักปราชญ์ผู้ศึกษาสามารถที่จะทราบระยะเวลาได้เป็นอย่างดี    แต่ก็คงยังไม่ใช่ระยะเวลาที่แท้จริง    เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น   หรืออาจเห็นว่าไม่จำเป็นก็ได้  และผู้แต่งอุปนิษัทนั้นก็ต้องมีหลายคน   แต่งขึ้นในสมัยต่างกันด้วย  อาจสังเกตได้จากภาษาที่ใช้และความคิด   หรือทรรศนะที่เพิ่มเข้ามา  แต่จุดมุ่งหมายก็ยังเหมือนเดิม  คือให้ความรู้เกี่ยวกับอาตมันและพรหมัน  

ความสำคัญของมาณฑูกยะอุปนิษัท

          คัมภีร์อุปนิษัท  ถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู  อันเป็นส่วนสุดท้าย   อยู่ท้ายสุดของพระเวท  จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า  เวทานตะ (แปลว่า  ที่สุด)  หมายความว่า  อุปนิษัทเป็นที่รวมสุดท้ายของสาระคำสอนของพระเวททั้งหลาย  และความสำคัญที่สุดของคำสอนในพระเวททั้งหลายปรากฏรูปชัดเจนดีที่สุดในอุปนิษัท

          บรรดาแนวความคิดทางปรัชญาทั้งหลาย  ที่กระจัดกระจายอยู่ในมันตระ  พราหมณะ  และอารัณยกะของคัมภีร์พระเวท    ได้รับการประมวลกล่าวไว้ในอุปนิษัท  เป็นจำนวนมาก   เนื้อความของอุปนิษัทมีทั้งแตกต่างกันและบางครั้งถึงกับขัดกันเอง  ทั้งนี้เพราะอุปนิษัททั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน    อุปนิษัทเท่าที่พบอยู่ในปัจจุบันมีเกินกว่า  ๒๐๐  อุปนิษัท  แต่ในมุกติกะอุปนิษัท  มีชื่อปรากฏอยู่เพียง  ๑๐๘  อุปนิษัท   แต่โดยทั่วไปแล้ว  อุปนิษัทที่เป็นงานเขียนที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีมีเพียง  ๑๑  อุปนิษัท  

         มาณฑูกยะอุปนิษัท  เป็น ๑  ใน  ๑๑  อุปนิษัทที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักกันดี    มาณฑูกยะอุปนิษัท  จัดเป็นของอาถรรพเวท  ประกอบด้วย  ๑๒  โศลก   

           โดยได้อธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญที่สุด  คือ    “โอม”    และการประกอบกันเข้าของลักษณะที่สำคัญ  ๓  อย่าง   คือ  เสียงอะ   เสียงอุ     และเสียง มะ     ซึ่งอ้างไปถึงสวภาวะทั้ง  ๓    คือ สวภาวะตื่น  สวภาวะหลับฝัน  และสวภาวะหลับสนิท   เพื่อนำไปสู่สวภาวะที่  ๔   คือ  สวภาวะหลับสนิทที่ปราศจากการฝันหรือ  ตุรียะ  และสวภาวะที่  ๔  นี้เอง   คือ  อาตมันที่บริสุทธิ์   ซึ่งสิ่งสถิตในส่วนลึกในสุดของมนุษย์แต่ละบุคคล   หรืออาจกล่าวให้เห็นง่าย ๆ  เกี่ยวกับสวภาวะทั้ง  ๔  กับคำว่า “โอม”   ได้ดังนี้                                               

         ๑)  สวภาวะตื่น  เรียกว่า  ไวศวานระ  ก็คือเสียง  อะ  อาตมันจะรับรู้สิ่งภายนอก  และเพลิดเพลินต่อรูป  เสียง  กลิ่น  รส  และสัมผัสต่าง ๆ โดยผ่านทางอายตนะภายในหรือประสาทสัมผัส  และสิ่งที่บริโภคนั้น  ล้วนแต่เป็นวัตถุสิ่งของที่หยาบ  ๆ ง่าย ๆ ไม่ละเอียดประณีต

          ๒)  สวภาวะหลับฝัน  เรียกว่า  ไตชสะ  ก็คือเสียง  อุ  อาตมันจะรับรู้สิ่งภายใน และบริโภคสิ่งที่ประณีต   คือภาพพิมพ์ใจที่ได้มาระหว่างอยู่ในขณะตื่นอันเป็นมโนภาพในความจำ

          ๓)   สวภาวะหลับสนิท  เรียกว่า  ปราชญะ  ก็คือ  เสียง  มะ  อาตมันจะมีความสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความสุขแท้  โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องภายนอกและภายใน

        ๔)  สวภาวะหลับสนิทที่ปราศจากการฝัน  หรือ  สวภาวะที่เสวยปีติสุข   เรียกว่า       ตุรียะ หรือ  อาตมัน  ก็คือคำว่า  “โอม”   อาตมันจะไม่รับรู้อารมณ์ทั้งภายนอกและภายใน       ไม่สัมพันธ์กับอะไร   เป็นสาระของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวของอาตมัน   ไม่แบ่งเป็นสองอีกต่อไป   อาตมันนี้แหละ  คือพรหมัน    และนี้คือสวภาวะที่บริสุทธิ์ของอาตมัน

             จะเห็นได้ว่า  สวภาวะตื่น  คือเสียง  อะ  และสวภาวะหลับฝัน  คือเสียง  อุ  กำลังเลือนเข้าไปสู่สวภาวะหลับสนิท คือเสียง  มะ  เป็นการรวมประสบการณ์จาก   ๒  สวภาวะเข้าเป็นสวภาวะหนึ่งเดียว    

           เมื่อรวมกันเสร็จไม่มีส่วนเหลือก็จะเป็นสวภาวะที่ ๔ คือ  ตุรียะ และสวภาวะที่   ๔  นี้  เรียกกันทั่วไปว่า  ตุรียะ  ซึ่งก็เป็นเพียงชื่อ  เพราะแท้ที่จริงแล้ว  ทุก ๆ สวภาวะเป็นการแสดงอำนาจตามลำดับขั้นของความละเอียดที่อาตมันได้แฝงอยู่ในส่วนทั้ง  ๓  คือ   ในขณะตื่น   ขณะหลับฝัน  และขณะหลับสนิท   และที่เรียก   สวภาวะที่  ๔    ก็เป็นไปตามลำดับของการวิเคราะห์ให้เห็นตามสวภาวะ   ที่สำแดงออกสู่ภายนอกของอาตมันในสวภาวะบริสุทธิ์   หรือความรู้สึกที่ประณีตที่สุด   สิ่งเหล่านี้   ล้วนแต่เกิดในขณะที่เราตื่น  ในขณะที่เราหลับฝัน  ในขณะที่เราหลับสนิท  และในขณะที่เราหลับสนิทปราศจากการฝัน  แม้เราอาจจะดูเหมือนว่า  อาตมันก็เป็นอย่างเดียวกันกับการทำงานของร่างกายและของจิต   แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งกายและจิต   มันเป็นสิ่งที่อยู่ห่างพ้นจากกายและจิต   แม้มันจะอยู่ในกาย    มันก็ไร้กาย   และคุณสมบัติทั้งหมดของกาย  ไม่ว่าจะเป็นตา  หู  จมูก   ลิ้น   หรือทั้งอวัยวะภายนอกและภายในก็ไม่ได้หมายถึงว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นคุณสมบัติของอาตมันด้วย   เหมือนดังน้ำที่กลิ้งบนใบบัวทั้งหลาย    แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ใบบัวเปียกได้เลย 

          จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมด   พอจะเห็นภาพของอาตมันแล้วว่า   อาตมันเพียงแค่ถูกจำกัดด้วยขอบเขต  คือร่างกายเท่านั้น    จึงต้องเสวยสุข  เสวยทุกข์  เศร้า  เสียใจตามผลของการกระทำ  และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนอาตมันสามารถที่จะรู้จักและประจักษ์แจ้งถึงตัวตนได้  จึงจะสามารถกลับไปมีความรู้แท้ได้ดังเดิม   

          ดังนั้น  อาตมันจึงเป็นกระบวนการตอนต้นเพื่อการนำไปสู่พรหมันและโมกษะ

 

บรรณานุกรม 

S. Gambhīrānanda, Māndūkya  Upanisạd (Caicutta : Swapna  Printing Works Pvt. Ltd, 1990)
 
รุ่งเรือง  บุญโยรส,  อุปนิษัท (เชียงใหม่ : พุทธนิคม, ม.ป.ป.), ๘๐.

Max F. Mullur, The Sacred Books of the East vol. 1,5 : The Upanisads (Delhi : Motilal  Banarsidass , 1992)

ฟื้น  ดอกบัว, ปวงปรัชญาอินเดีย  (กรุงเทพมหานคร : ศยาม,  ๒๕๔๕)

สุนทร  ณ รังสี, ปรัชญาอินเดีย  ประวัติและลัทธิ  (กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๓๐)

 

หมายเลขบันทึก: 502414เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2012 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณ คุณชยพร คุณธ.วัชชัย จัตุเศรษฐธรรม คุณณัฐรดา คุณ ภูคา และคุณโสภณ เปียสนิท ทุกท่านนะครับ

ที่แวะมาอ่านบทความและให้ดอกไม้ครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท