พาราลิมปิก


นักกีฬาพาราลิมปิกได้กลายเป็นผู้ปลุกขวัญและกำลังใจคนไทยที่สมประกอบจำนวนมากไปแล้ว พวกเขาคือแสงสว่างซึ่งส่องด้านที่ยังสลัวมัวหม่นของสังคมไทย

          ปีนี้ พาราลิมปิก หรือ กีฬาโอลิมปิกสำหรับคนพิการ ได้กลับไปจัดที่กรุงลอนดอน (ซึ่งเป็นที่จัดการแข่งขันกีฬาแบบนี้ครั้งแรกสุดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๘)  อีกครั้งหนึ่ง และเป็นครั้งที่ได้รับคำชื่นชมด้วยว่าทำทุกอย่างได้ดีมากสมกับที่ได้ คืนสู่เหย้า

          ผมไม่ทราบว่า สังคมชาติอื่นๆในโลกนี้ มีท่าทีต่อคนพิการกับกีฬาของคนพิการอย่างไรกันบ้าง  แต่กับประชาชนของเจ้าภาพแล้วออกมาดี (ประเมินจากการปรบมือยาวนานให้นักกีฬาบ่อยๆ  ซึ่งคุณพัทธยา เทศทอง ของทีมชาติไทยก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมรอบสนามร่วมห้านาทีซึ่งหาได้ยากมากในสังคมไทย)

          กล่าวเฉพาะสังคมไทย  ปีนี้สื่อในประเทศไทย เสนอข่าวพาราลิมปิกตั้งแต่ก่อนเริ่มการแข่งขันมาจนถึงตอนจบอย่างคึกคักกว่าหนก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด  นอกจากความถี่ของการเสนอข่าวมากขึ้นแล้ว บำเหน็จรางวัลแก่นักกีฬาที่ได้รับชัยชนะ ที่เคยแตกต่างห่างไกลกับนักกีฬาร่างกายปกติมากมายหลายช่วงตัว ก็ขยับเข้าใกล้กัน จนเห็นเนื้อเห็นหนังนำไปตั้งเนื้อตั้งตัว หรือสร้างสรรค์อะไรตามความปรารถนาได้ ทำให้ความเสมอภาค หรือความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ที่ถามหากันมานาน ได้รับคำตอบที่เป็นพฤติกรรมจริง  ไม่ใช่กำนัลด้วยลมปากอย่างที่แล้วๆมา 

         ส่วนหนึ่งของบำเหน็จรางวัลที่เพิ่มขึ้นมาจากรัฐบาลเอง  อันเป็นเรื่องที่สมควรทำอยู่แล้วเพราะเป็นรัฐบาลของมหาชนซึ่งมีคนรากหญ้าอยู่มาก    แต่ส่วนที่มาจากภาคเอกชนนั้น ต้องวิเคราะห์มากกว่าหน่อย  เพราะที่แล้วๆ มามักมีเงื่อนไขหรือปัจจัยเบื้องหลังกำกับอยู่มากบ้างน้อยบ้าง

         ถ้าเราสังเกตจากข่าวกีฬาดังๆ ที่มีคนดูมากๆ เรามักจะเห็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงสวมใส่ผลผลิตดังๆ แพงๆ และต้องหันด้านที่มีเครื่องหมายการค้าเข้าหากล้องบ่อยๆ   นักกีฬาเหล่านี้รวยอื้ออยู่แล้ว แต่นายทุนก็ยังเอาของแพงให้เขาฟรีๆ และอาจแถมสตางค์ให้อีกเป็นฟ่อนๆ ด้วยซ้ำ  เขาทำเช่นนี้ได้ เพราะเขารู้ว่า สินค้าเขาจะขายดี  นอกจากนักกีฬาทั้งหลายจะซื้อแล้ว  บรรดามนุษย์โนเนมที่ยังไม่รวยหรือไม่มีทางรวยทั้งหลายก็จะขวนขวายซื้อหามาสวมใส่ด้วยแน่นอน

        ดังนั้น การที่เขายอมจ่ายแก่นักกีฬาดังๆ นั้น  เพราะเขาเชื่อว่าเขามีโอกาสได้คืนอีกหลายเท่าตัว   ในทางตรงข้าม เขาไม่เชื่อว่า คนพิการจะย้อนกลับมาช่วยเขาได้ในเรื่องนี้   ผมจึงยังไม่เคยเห็นนักกีฬาพิการเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าดังๆ (ถ้าเคยมีผมคงตาถั่วเอง)  และวันหนึ่งข้างหน้า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่คุณสายสุนีย์ จ๊ะนะ (เหรียญทองฟันดาบบนวีลแชร์) หรือคุณรุ่งโรจน์  ไทยนิยม (เหรียญทองเทเบิลเทนนิส) หรือคุณพัทธยา  เทศทอง (สองเหรียญทองบ็อกเซีย) จะได้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้าของสปอนเซอร์ที่ให้รางวัล

       ด้วยเหตุนี้  ภาคเอกชนที่ให้รางวัลนักกีฬาหนนี้ จึงเป็นผู้ที่มิได้คาดหวังอะไรตอบแทนจากนักกีฬามากนัก  ถึงแม้จะคาดหวัง ผมก็ว่าเป็นเรื่องทางบวก เพราะหมายถึง การได้งาน ของนักกีฬา และ-สำคัญมาก-หมายถึงการเห็นว่า นักกีฬาเหล่านี้เป็นมนุษย์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ด้วย    

       วิเคราะห์แล้ว ก็ขอปรบมือให้ห้านาทีครับ

      นักกีฬาพาราลิมปิกของเราได้แสดงให้เห็นแล้ว ว่า เขาสามารถทำอะไรเองได้ตามศักยภาพของเขา และเขาต้องการประสบความสำเร็จในฐานะมนุษย์ด้วยความมานะพยายามของตัวเอง ดังคำพูดของคุณรุ่งโรจน์ ไทยนิยม หลังจากเอาชนะคู่แข่งซึ่งเป็นมือหนึ่งของโลก และเคยชนะคุณรุ่งโรจน์มาแล้ว ว่า

       “...ผมเคยแพ้เขามาแล้ว  ผมจะต้องไม่แพ้เขาอีกเป็นครั้งที่สอง...”

         คำพูดเช่นนี้ กับการกลับมาเมืองไทยแล้วไปปรากฏตัวตามที่ต่างๆหลายที่ของคณะนักกีฬาทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่า ไปๆ มาๆนักกีฬาพาราลิมปิกได้กลายเป็นผู้ปลุกขวัญและให้กำลังใจคนไทยที่สมประกอบจำนวนมากไปแล้ว พวกเขาคือแสงสว่างซึ่งส่องด้านที่ยังสลัวมัวหม่นของสังคมไทย

         หวังว่าแสงสว่างเช่นนี้จะส่องได้สว่างขึ้นเรื่อยๆ อย่างทั่วถึง

 

หมายเลขบันทึก: 502291เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท