ข้อมูล จปฐ.: หัวใจของการแก้จนอย่างมีประสิทธิภาพ


แก้จน เพื่อคนไทย

เมื่อปี ๒๕๕๒ ขณะนั้นข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพัฒนากรอยู่ที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อำเภอเล็ก ๆ ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา และเป็นอำเภอที่มีพัฒนากรเพียงคนเดียว รับผิดชอบงานทุกอย่างของสำนักงาน ทั้งงานเอกสารและงานในพื้นที่ จำนวน ๓ ตำบล ๒๐ หมู่บ้าน และเป็นพื้นที่แรกของการปฏิบัติงานในตำแหน่งพัฒนากร ภารกิจงานนั้นก็เหมือนการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน OTOP กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สตรี การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง แผนชุมชน กลุ่มอาชีพ การแก้ไขปัญหาความยากจน การจัดเก็บข้อมูล จปฐ.และ กชช.๒ค และงานอื่น ๆ อีกมากมายจนนับไม่ถ้วน  และในปี ๒๕๕๒ ภารกิจอย่างหนึ่งที่จังหวัดตราดโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดในปีนั้นคือ การแก้ไขปัญหาความยากจน (ครัวเรือนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. ๒๓,๐๐๐ บาท/คน/ปี) นอกจากเป็นภารกิจที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญแล้ว การแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนยังเป็นตัวชี้วัดคำรับรองปฏิบัติราชการอีกด้วย ซึ่งในส่วนของอำเภอคลองใหญ่มีจำนวนครัวเรือนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. ๒๓,๐๐๐ บาท/คน/ปี จำนวน ๒๐ ครัวเรือน

           

ฐานข้อมูล: หัวใจของการวางแผน

            เริ่มแรกของการดำเนินการข้าพเจ้าจัดทำฐานข้อมูลของครัวเรือนยากจนจากการประมวลผลข้อมูล จปฐ. เพื่อสร้างฐานข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่จะประมวลได้จาก จปฐ. หลังจากนั้นก็จัดประเภทของครัวเรือนแต่ละครัวเรือนจากฐานข้อมูลเบื้องต้นที่มีอยู่ โดยแยกออกเป็น ๒ กลุ่ม ประกอบด้วย ครัวเรือนที่สามารถพัฒนาได้และครัวเรือนที่ต้องสงเคราะห์ (สูงอายุ/พิการ) โดยฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนนั้นข้าพเจ้าจัดทำเป็นเอกสารแยกเป็นรายครัวเรือน ลักษณะคล้ายกับเอกสาร Family Folder ของปกครองที่จัดทำตอนขึ้นทะเบียน สย. หลังจากจัดทำเอกสารของแต่ละครัวเรือนยากจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตรวจสอบรายชื่อบุคคลทุกคนในครัวเรือนยากจนว่าได้รับเบี้ยยังชีพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นก็มีทั้งที่ได้รับแล้วและบางรายก็ขึ้นทะเบียนรอรับเบี้ยยังชีพไว้แล้ว บางรายไม่มีรายชื่อ หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้นตามที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ข้าพเจ้าประสานงานกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่มีครัวเรือนยากจนเพื่อดำเนินการในขั้นตอนสำคัญ คือการเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนเพิ่มเติม ด้วยการลงพื้นที่พบปะ พูดคุยซักถามทั้งจากครัวเรือนยากจน เพื่อนบ้านใกล้เคียง ผู้นำชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูลตามความเป็นจริงให้มากที่สุด พร้อมถ่ายภาพของครัวเรือนยากจน สภาพแวดล้อมโดยรอบบ้าน สภาพภายในบ้านอย่างละเอียด

ลงพื้นที่เก็บข้อมูล : ตรวจสอบข้อมูล เก็บรายละเอียดเชิงลึก

            การลงพื้นที่เก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนทั้ง ๒๐ ครัวเรือนไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดและไม่ใช่ว่าจะลงไปเพียงครั้งเดียวก็เรียบร้อยได้ข้อมูลครบ บางครัวเรือนข้าพเจ้าลงไปเก็บข้อมูล ๒-๓ ครั้ง เนื่องจากบางครั้งไม่เจอใครทั้งเพื่อนบ้านและครัวเรือนยากจนเป้าหมาย บางครั้งเจอเฉพาะครัวเรือนยากจนและไม่เจอเพื่อนบ้าน ซึ่งบางคนคิดว่าได้แค่ข้อมูลจากครัวเรือนยากจนก็น่าจะเพียงพอ แต่ในทัศนะของข้าพเจ้าคิดว่าข้อมูลที่ได้จากเพื่อนบ้านก็มีความสำคัญ เนื่องจากจะทำให้เราทราบถึงความประพฤติ การใช้ชีวิต ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ซึ่งข้อมูลบางอย่างครัวเรือนจากจนปิดบัง แต่ข้อพึงระวังคือการให้ข้อมูลของเพื่อนบ้านว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นการใส่ร้ายเพราะความไม่ชอบเป็นการส่วนตัวหรือไม่ และข้อมูลบางอย่างก็สามารถสอบถามได้จากผู้นำชุมชนประกอบด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านและสมบูรณ์ที่สุด

            ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนนั้น ต้องสร้างความเป็นกันเองให้มากที่สุด ชวนพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวเขา ลักษณะเหมือนเราไปเยี่ยม ถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป แต่อย่าซักไซร้มากจนเขาอึดอัด อย่าทำเหมือนการสัมภาษณ์ หรือถามตามคำถามที่ตั้งไว้ ซึ่งมีลักษณะเป็นทางการเกินไปทำให้การพูดคุยไม่เป็นธรรมชาติ และบางครั้งอาจจะทำให้เขาไม่อยากตอบคำถาม และในขณะพูดคุยก็สังเกตสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในบริเวณบ้านและภายในบ้าน รวมทั้งสังเกตท่าทีในการพูดคุยด้วย

 

วิเคราะห์ข้อมูล ส่งต่อข้อมูล : ประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหา

            หลังจากลงพื้นที่เก็บข้อมูลของครัวเรือนยากจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินผลเพื่อจัดกลุ่มของครัวเรือนยากจนอีกครั้งว่าอยู่ในกลุ่มประเภทใด เหมือนกับตอนประเมินในครั้งแรกหรือไม่ และจัดทำสรุปข้อมูลสภาพของครัวเรือน ปัญหา/ความต้องการ แนวทางในการแก้ไขปัญหา ภาพถ่ายครัวเรือนยากจน นำเสนอนายอำเภอทราบซึ่งในการบันทึกเสนอนายอำเภอนั้น ข้าพเจ้าจะเสนอหลังจากออกเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนในแต่ละครั้งเพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ขั้นตอนต่อไปก็คือจัดส่งข้อมูลครัวเรือนยากจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสงเคราะห์และช่วยเหลือตามปัญหาความต้องการซึ่งมีหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย พัฒนาชุมชนจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เหล่ากาชาดจังหวัดตราด สาธารณสุขอำเภอ เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ ประมงอำเภอ ปกครอง กศน. กิ่งกาชาดอำเภอคลองใหญ่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหลังจากส่งข้อมูลให้หน่วยงานต่าง ๆ แล้วจะต้องมีการติดตามผลความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องพร้อมบันทึกเสนอนายอำเภอเพื่อทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานช่วยเหลือแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนอย่างน้อยเดือนละครั้ง สุดท้ายคือการสรุปผลการดำเนินงานเพื่อประเมินความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาพร้อมปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน

ติดตามผล : สร้างความยั่งยืน

            จากการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. ๒๓,๐๐๐ บาท/คน/ปี ในปี ๒๕๕๒ จำนวน ๒๐ ครัวเรือน ด้วยการจัดเก็บข้อมูลของครัวเรือนยากจนอย่างละเอียด รอบด้านและครบถ้วน ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด ผลที่ได้รับคือครัวเรือนยากจนทุกครัวเรือนได้รับการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนและได้รับการสงเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเกษตรให้การสนับสนุนพันธ์ผัก ปศุสัตว์และประมงให้การสนับสนุนพันธุ์สัตว์ (ไก่,ปลา)    แก่ครัวเรือนที่มีความต้องการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการในด้านอุปกรณ์ช่วยผู้พิการ (ไม้เท้า) เหล่ากาชาดจังหวัด พัฒนาชุมชนจังหวัดและกิ่งกาชาดอำเภอมอบถุงยังชีพแก่ครัวเรือนยากจนทุกครัวเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การช่วยเหลือในเรื่องเบี้ยยังชีพ การซ่อมแซมบ้านอาศัยแก่ครัวเรือนยากจนและถุงยังชีพ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอให้การสงเคราะห์ในการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการในครัวเรือนยากจน กศน.เข้ามาดูแลสมาชิกในครัวเรือนที่ไม่ได้เรียนต่อ พัฒนาชุมชนเข้ามามีส่วนในเรื่องหนี้กองทุนหมู่บ้านของครัวเรือนยากจน และกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเข้ามาดูแลช่วยเหลือครัวเรือนยากจน เช่น เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์การประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจนโดยใช้เงินของหมู่บ้าน และในบางหมู่บ้านก็มีชาวบ้าน ผู้ประกอบการ (ร้านค้า) ในหมู่บ้านสนับสนุนข้าวสารให้แก่ครัวเรือนยากจนทุกเดือน ๆ ละ ๕ กิโลกรัม นี่คือผลสำเร็จของการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงและตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง 

 

กลยุทธ์ในการทำงาน

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

หมายเลขบันทึก: 502257เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูล จปฐ. : หัวใจของ... การแก้จน...(+ แก้เจ็บป่วย ด้วยนะคะ) อย่างมีประสิทธิภาพ...จริงๆ ค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท