สุขภาพกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ประสิทธิภาพงานพัฒนาชุมชน


พัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อพัฒนาชุมชน

กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน และมียุทธศาสตร์ในพัฒนาทุนชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้  และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการพัฒนาระบบและกลไกในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้  การออม  และการบริหารจัดการเงินทุนของชุมชน  โดยส่งเสริมให้มีการก่อตั้ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นในชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

          ปี ๒๕๕๕ กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดให้มีการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพทางการเงินกลุ่ม ออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจังหวัดจันทบุรีมีกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินการเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีผลการประเมินจัดระดับการพัฒนาระดับ ๓ จำนวน ๓๕ กลุ่ม  

                    ข้าพเจ้าในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการได้มีการดำเนินการตามกระบวนการ ดังนี้

  1. ขั้นเตรียมการ เป็นขั้นตอนการจัดเตรียมความพร้อมในการการดำเนินการทั้งในด้านกลุ่มเป้าหมายและทีม ตรวจสุขภาพกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต รายละเอียดดังนี้

1.1.       กลุ่มเป้าหมาย กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของจังหวัดจันทบุรีจำนวน ๓๕ กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในเบื้องต้นข้าพเจ้าได้ทำการตรวจสอบฐานข้อมูลกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ ทั้งหมดของจังหวัด และคัดแยกว่าในแต่ละอำเภอมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ จำนวนกี่กลุ่ม กลุ่มอะไรบ้าง และลงลึกในรายละเอียดว่ากลุ่มเหล่านี้อยู่ในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบกี่กลุ่ม เพื่อนำมาพิจารณาในการกำหนดเป้าตรวจสุขภาพ หลังจากนั้นก็คิดคำนวณค่าเฉลี่ยว่าในแต่ละอำเภอจะมีกลุ่มเป้าหมายในการตรวจกี่กลุ่ม โดยใช้ฐานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ ทั้งจังหวัดหารด้วยจำนวนกลุ่มเป้าหมาย (๓๕ กลุ่ม) ก็จะได้อัตราส่วนว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ กี่กลุ่ม จึงจะถูกสุ่มตรวจ ๑ กลุ่ม ตัวอย่าง

                           จังหวัดจันทบุรี มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ จำนวน ๑๕๗ กลุ่ม เป้าหมายในการตรวจ ๓๕ กลุ่ม ดังนั้น  ๑๕๗ /๓๕  = ๔.๕  ความหมายคือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ จำนวน ๔.๕ กลุ่ม เป็นเป้าตรวจ ๑ กลุ่ม

                           ซึ่งการกำหนดเป้าและกระจายเป้าโดยวิธีนี้ทำให้ข้าพเจ้าสามารถอธิบายกับอำเภอได้ว่าที่มาที่ไปของจำนวนกลุ่มเป้าหมาย และชื่อกลุ่มเป้าหมายมาจากไหน ทำไมถึงเลือกกลุ่มนั้นและทำไมอำเภอถึงได้กลุ่มเป้าหมายไม่เท่ากัน

 

     

1.2.       การคัดเลือกทีมตรวจสุขภาพ เนื่องจากระยะเวลาในการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพค่อนข้างน้อย ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีในการแต่งตั้งทีมตรวจในระดับอำเภอทุกอำเภอ ๆ ละ ๑ ทีม โดยกำหนดโครงสร้างของทีมตรวจไว้จำนวน ๔ คน ประกอบด้วย นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด ๑ คน พัฒนากรที่รับผิดชอบงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ๑ คน และกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับอำเภอ ๒ คน

1.3.       ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการในการตรวจสุขภาพกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต รวมทั้งทำความเข้าใจเกณฑ์การประเมิน จำนวน ๔ ด้าน ๑๙ ตัวชี้วัด เพื่อให้ทีมตรวจฯ ทุกคนเข้าใจตรงกันและสามารถตรวจประเมินได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขั้นตอนนี้ข้าพเจ้าจะต้องศึกษาเกณฑ์การประเมินและคำอธิบายทุกข้อให้เข้าใจอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถถ่ายทอดและอธิบาย แก่ทีมตรวจได้

1.4.       ให้ทีมตรวจสุขภาพฯ ทุกทีมจัดทำแผนปฏิบัติการในการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพส่ง ให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อให้ทราบว่าแต่ละทีมจะลงพื้นที่ตรวจเมื่อไหร่ สถานที่ใด และใช้เป็น เครื่องมือในการติดตามการลงพื้นที่ตรวจฯ ของทีมตรวจอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. ขั้นดำเนินการ ในขั้นตอนนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพของทีมตรวจฯ แต่ละทีม  กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งในการลงพื้นที่ตรวจฯ ข้าพเจ้าได้ทำความเข้าใจกับทีมตรวจฯ ให้ลงไปตรวจใน สถานที่ทำการของกลุ่ม ไม่ให้นัดหมายกลุ่มรวมที่อำเภอ ซึ่งการลงพื้นที่ไปยังสถานที่ทำการของกลุ่ม        ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ลงไปเห็นสภาพความเป็นจริง และเป็นการลงไปเยี่ยมเยียนกลุ่ม เกิดกระบวนการ เรียนรู้ร่วมกันอย่างเต็มที่ระหว่างเจ้าหน้าที่และกรรมการกลุ่ม รวมทั้งรับทราบปัญหาที่แท้จริงของกลุ่ม อีกประเด็นคือลดภาระของกรรมการกลุ่มที่ต้องเดินทางและนำเอกสารต่าง ๆ ของกลุ่มมาให้ทีมตรวจฯ ได้ตรวจประเมิน
  2. ขั้นสรุปผลและใช้ประโยชน์ ในขั้นตอนนี้ ข้าพเจ้าได้ให้ทีมตรวจฯ ทุกทีมสรุปผลการตรวจฯ ของกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบและรวบรวมส่งผลการประเมินให้ข้าพเจ้า พร้อมสมุดตรวจสุขภาพ เพื่อข้าพเจ้าจะได้ตรวจสอบความถูกต้อง และรวบรวมผลการประเมินจากทุกทีม สรุปเป็นภาพรวมของจังหวัด แล้วแจ้งผลการตรวจให้อำเภอทราบ เพื่อนำไปใช้ในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนากลุ่มตามขั้นตอนและแนวทางการพัฒนาต่อไป และหลังจากตรวจสุขภาครั้งที่ ๒ เสร็จเรียบร้อย ข้าพเจ้าได้สรุปผลและทำการวิเคราะห์ผลการตรวจเปรียบเทียบระหว่างครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ เพื่อตรวจสอบระดับความก้าวหน้าของกลุ่มตามแผนการพัฒนาของกลุ่มในครั้งที่ ๑ และประเด็นที่กลุ่มออมทรัพย์ตกเกณฑ์และผ่านเกณฑ์มากน้อย ทำให้ทราบว่ามีประเด็นใดที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในพื้นที่ตกเกณฑ์มากที่สุด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนการพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตในพื้นที่ และให้อำเภอได้ทราบข้อมูลในการพัฒนากลุ่มในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

ผลในการดำเนินการประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ หากพิจารณาในเชิงปริมาณ พบว่า ผลการตรวจฯ ครั้งที่ ๑ ไม่มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตผ่านเกณฑ์การประเมินครบทุกข้อ แต่ผลการตรวจฯ ครั้งที่ ๒ พบว่า มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตผ่านเกณฑ์การประเมินครบทั้ง ๑๙ ข้อ จำนวน ๖ กลุ่ม และถ้าหากพิจารณาในเชิงคุณภาพก็จะพบว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป้าหมายทั้ง ๓๕ กลุ่ม มีการบริหารจัดการที่อยู่ในระดับดี ไม่มีปัญหาทางการเงิน ปัญหาหนี้ค้างชำระและปัญหาหนี้เสีย คณะกรรมการกลุ่มมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ยึดหลักคุณธรรม ๕ ประการในการบริหารกลุ่ม ซึ่งทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งเป็นกองทุนชุมชนที่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่คนในชุมชนได้

 

บันทึกขุมความรู้(Knowledge Assets)

  1. ตรวจสอบฐานข้อมูลกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ ทั้งหมดของจังหวัด และคัดแยกว่าในแต่ละอำเภอมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับ ๓ จำนวนกี่กลุ่ม กลุ่มอะไรบ้าง
  2. กระจายกลุ่มเป้าหมายให้อำเภอตามสัดส่วนของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับในแต่ละอำเภอ
  3. แต่งตั้งทีมตรวจสุขภาพระดับอำเภอทุกอำเภอ ๆ ละ ๑ ทีม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนระดับจังหวัด/อำเภอ และเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับอำเภอ
  4. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบศึกษารายละเอียดขั้นตอนการตรวจสุขภาฯ และเกณฑ์ชี้วัดการตรวจฯ อย่างละเอียด
  5. ชี้แจงทำความเข้าใจกับทีมตรวจและกลุ่มเป้าหมาย
  6. จัดทำแผนปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นรายกลุ่ม
  7. สรุปผลการตรวจฯ /วิเคราะห์ผลการตรวจเปรียบเทียบรั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒
  8. แจ้งผลการตรวจฯ และผลการวิเคราะห์ให้อำเภอทราบเพื่อนำผลไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุนพัฒนากลุ่ม

แก่นความรู้(Core Competency)

  1. ฐานข้อมูลถูกต้องครบถ้วน
  2. ศึกษาข้อมูลการดำเนินงานอย่างละเอียด
  3. ทำงานเป็นทีม
  4. มีการจัดทำแผนปฏิบัติการในการทำงาน
  5. สรุปและวิเคราะห์ข้อมูล
  6. นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา

ปัจจัยความสำเร็จ

๑.      ฐานข้อมูล

๒.      ทีมงาน

๓.      มีแผนการทำงานอย่างชัดเจน

๔.      วิเคราะห์ข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์

กลยุทธ์ในการทำงาน

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

หมายเลขบันทึก: 502255เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แก่นความรู้....Core Competency...นี้ดีจริงๆๆ นะคะ


ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท