การพัฒนาดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของชาติใกล้ความเป็นจริง


 

          ผมได้บันทึกเรื่องดัชนีความก้าวหน้าของชาติไว้ ที่นี่   เข้าไปเยี่ยม เว็บไซต์ของโครงการได้ ที่นี่ท่านที่สนใจเรื่องดัชนีนี้ มีเอกสารที่เว็บไซต์นี้ให้อ่าน น่าอ่านมากครับ

 

          วันที่ ๖ ส.ค. ๕๕ มีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางของโครงการ ที่เรียกว่า “แผนงานสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของชาติ”  ครั้งที่ ๓/๒๕๕๕  มีความก้าวหน้าไปมากอย่างน่าชื่นใจ   โดยที่เรามีเป้าหมายสร้างตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศที่มองรอบด้านกว่าดัชนีที่มีอยู่ (เช่น GDP)   และมีการขับเคลื่อนสังคมให้มีการใช้ดัชนีนี้ เพื่อให้สังคมพัฒนาไปตรงทางที่ยั่งยืนถาวร และผู้คนมีความสุข กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

          ถึงตอนนี้ทีมงานได้พัฒนาดัชนี 4 Index สำหรับประกอบกันเข้าเป็น NPI (National Progress Index) ที่เป็นเลขตัวเดียวและสะท้อนความก้าวหน้าของประเทศ  จังหวัด  และพื้นที่ที่เล็กลงไปได้ 

 

ดัชนีย่อย ๔ ตัวได้แก่

  • Environment Index (Capacity of Ecosystem)
  • Economic Index (Growth at the Bottom)  โดยคณะกรรมการแนะให้ใช้ 20% ล่างสุด
  • Governance Index (Level of Transparency)
  • Human & Social Index (Gap to Benchmark)

 

          การพัฒนาดัชนีนี้ไม่ใช่นักวิชาการดำเนินการด้วยตนเอง    แต่ทำโดยไปทำกระบวนการกับฝ่ายต่างๆ ในบ้านเมือง    ได้รับความร่วมมือกันดีมาก เสียดายว่าสภาพัฒน์ฯ คงจะมีงานยุ่งหลายด้าน   จึงไม่เข้ามาร่วมด้วย

 

          ที่จริงในคณะกรรมการชี้ทิศทางนี้มีนักเศรษฐศาสตร์อยู่หลายท่าน   แต่อาจจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์สายประชาสังคม   ผมจึงแนะนำให้นำเรื่องราวผลการสังเคราะห์แนวคิดไปปรึกษานักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมากๆ ด้วย   ว่าท่านจะมีความเห็นแตกต่างไปอย่างไรบ้าง   เราต้องการฟังความเห็นจากรอบด้าน และเคารพความแตกต่าง

 

          คู่ขนานไปกับการจัดทำดัชนี ทีมงานก็ได้ทำงานร่วมกับจังหวัดนำร่อง  พื้นที่นำร่อง  และตำบลนำร่องไปพร้อมๆ กัน   โดยผมได้เตือนความจำว่า ตอนเริ่มโครงการ อ. ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ผู้ล่วงลับ) ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เป้าหมายหลักไม่ใช่การพัฒนาตัวชี้วัด แต่เป็นการขับเคลื่อนสังคม   ใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม ให้พัฒนาอย่างสมดุล ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง 

 

        เรานัดประชุมซ้อมการใช้ดัชนีที่พัฒนาขึ้น วันที่ ๗ พ.ย. ๕๕   และจะมีการประชุมวิชาการระดับชาติว่าด้วยดัชนีความก้าวหน้าแห่งชาติในวันที่ ๗-๘ ก.พ. ๕๖   โดยจะมีการสื่อสารเรื่องนี้กับสังคมเป็นระยะๆ โดยร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

 

          ในตอนแรกของการประชุมวันนี้ เราใช้เวลาไปพอสมควรกับการทำความเข้าใจผลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ    ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย. ๕๕ อ่านได้ที่นี่ และที่นี่  ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการสำรวจ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือสำรวจความสุขในชีวิต (ด้วยคำถาม ๑๕ ข้อ)  กับสำรวจความพึงพอใจในชีวิต ให้ผู้กรอกแบบสอบถามคิดเองแบบ subjective   เราซักถามทำความเข้าใจธรรมชาติของการศึกษาแบบนี้   รวมทั้งข้อจำกัด หรือข้อพึงระวังในการแปลผล    ผลหลายข้อทำให้ผมนึกถึงหนังสือ Predictably Irrational ดัง บันทึกนี้

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ส.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 502136เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2012 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท