ภาษาสันสกฤตอย่างง่าย บทที่ 3


เนื้อหา

- การแจกกริยา ปัจจุบันกาล จากธาตุหมวดที่ 1

- สนธิอย่างง่าย

- นิบาต (ที่ใช้บ่อย)

* เนื้อหาบทนี้มาก ให้ค่อยๆ อ่าน ทำความเข้าใจไปทีละหัวข้อ ส่งแบบฝึกหัดทีละหัวข้อ แล้วค่อยทำแบบฝึกหัดรวมท้ายบท

 

1. การใช้กริยา

    มาถึงพระเอกของเราเสียที กริยาในภาษาสันสกฤตมีลักษณะเฉพาะ คือ มีแกนกริยาหนึ่งคำ เรียกว่า “ธาตุ” ตำราฝรั่งมักจะใส่เครื่องหมาย ข้างหน้า

   ธาตุนั้นเป็นคำดิบๆ เหมือนเป็นก้อนแร่ก้อนหนึ่ง “ยังใช้การอะไรไม่ได้” จากนั้นจะนำไปเติมปัจจัยเฉพาะเสียก่อน ก็จะได้คำใหม่เรียกว่า “เค้ากริยา” กลายเป็นคำสุก เหมือนเป็นเพชรที่เจียระไนเป็นเม็ดๆ “พร้อมจะใช้” แต่ใครจะใช้เพชรเป็นเม็ดๆ มาห้อยคอล่ะ ต้องเอาไปเข้าเรือนเป็นแหวนเป็นจี้เป็นต่างหู จริงไหม เมื่อนำไปใช้จริงๆ จึงต้องนำเค้ากริยาไปเติมปัจจัยประกอบอีกที ได้รูปสำเร็จ เรียกว่า “กริยา” เอาไปโผล่ในประโยคได้

     ดังนั้น คำที่เราพบเห็นในประโยคทั้งหลายคือ “กริยา” ไม่ใช่ เค้ากริยา และไม่ใช่ธาตุ

      ธาตุในภาษาสันสกฤตมีด้วยกัน 10 หมวด แต่ละหมวดมีปัจจัยเฉพาะต่างกัน เรามาเรียนธาตุหมวดที่ 1 กันก่อน

     ธาตุหมวดที่ 1 เรียกว่า ภวาทิคณะ (ภู-อาทิ-คณ, คณะที่มี √ภู เป็นต้น) มีธาตุ √ภู เป็นตัวอย่าง

     การนำธาตุไปเติมปัจจัยอะไรนั้นขึ้นกับจุดมุ่งหมายที่จะใช้ ในที่นี่มาเรียนกริยาปัจจุบันกาล (present tense) มีขั้นตอนง่ายๆ อย่างนี้

ก. เติมปัจจัยประจำหมวดธาตุ

ข. เติมปัจจัยประจำบุรุษ

 

ปัจจัยประจำหมวดที่ 1 สำหรับใช้กับปัจจุบันกาลคือ อะ เมื่อเติมไปที่ธาตุแล้ว มีกติกาอย่างนี้

1. เติมปัจจัย อะ แล้ว ให้ยืดสระตัวแรกมา 1 ระดับ เรียกว่าระดับ “คุณ” ตามตารางข้างล่าง เช่น

       ธาตุ √วทฺ + ปัจจัย อะ = วท (vada) ว สระ อะ. ตามกติกาต้องทำคุณที่สระหลัง ว ตัวนี้แหละ. แต่สระ อะ เมื่อเปลี่ยนเป็นขั้นคุณ ก็ยังเหมือนเดิม ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้

 

2. ธาตุที่ประสมสระเสียงยาว ลงท้ายด้วยพยัญชนะ ไม่ต้องทำคุณ, ที่ประสมด้วยสระสั้นแต่ลงท้ายพยัญชนะสองตัว ก็ไม่ต้องทำคุณ เช่น

     √รกฺษฺ ประสมด้วยสระเสียงสั้น (อะ) ลงท้ายด้วย พยัญชนะ กฺ และ ษฺ ไม่ต้องทำคุณ จะได้เค้า รกฺษฺ (เหมือนเดิม) แล้วเติม อะ หลังสุด เป็น รกฺษ

      √ชีวฺ ประสมด้วยสระเสียงยาว (อี) และลงท้ายพยัญชนะ (วฺ) ไม่ต้องทำคุณ จะได้เค้า ชีวฺ+อะ = ชีว

      √ธาวฺ ประสมด้วยสระเสียงยาว (อา) และลงท้ายพยัญชนะ (วฺ) ไม่ต้องทำคุณ จะได้เค้า ธาวฺ+อะ = ธาว

       √จินฺตฺ ประสมสระเสียงสั้น (อิ) ลงท้ายพยัญชนะสองตัว (นฺตฺ) ไม่ต้องทำคุณ จะได้เค้า จินฺตฺ+อะ = จินฺต

 

        การยืดเสียงสระ จากสระเดี่ยวเป็นสระขั้นคุณ และขั้นพฤทธ์

สระเดี่ยว
อะ   อา
อิ  อี
อุ  อู
ขั้นคุณ
อะ  อา
เอ
โอ
อรฺ
ขั้นพฤทธ์
อา
ไอ
เอา
อารฺ

 

3. นำไปเติมปัจจัย บอกบุรุษ ตามพจน์ และบุรุษ (ไม่แบ่งตามเพศ) ดังนี้

 
เอกพจน์
ทวิพจน์
พหูพจน์
บุรุษที่ 1 (ฉัน)
-มิ
-วสฺ
-มสฺ
บุรุษที่ 2 (ท่าน)
-สิ
-ถสฺ
-ถ
บุรุษที่ 3 (เขา)
-ติ
-ตสฺ
-อนฺติ

     มีกติกาอย่างนี้

     1. เค้ากริยาที่ประกอบเสร็จแล้ว นำมาเติมปัจจัยบอกบุรุษได้เลย

     2. กรณีที่เป็นบุรุษที่ 1 (ทั้งสามพจน์) ให้ยืดเสียง อะ ของ เค้ากริยา เป็น อา (ในบทนี้เค้ากริยาทุกตัวจะลงเสียง อ) เช่น วท > วทา + มิ/วสฺ/มสฺ = วทามิ / วทามสฺ / วทามสฺ

     3. กรณีที่เป็นบุรุษที่ 3 พหูพจน์ (อนฺติ) หากเค้ากริยาลงท้ายด้วย อะ ให้ลบเสียง อะ ที่เค้ากริยาก่อน จึงเติม อนฺติ. เช่น รกฺษ  > รกฺษฺ = รกฺษนฺติ (rakṣa > rakṣ + anti = raksanti) 

     เหตุผลที่ต้องเพิ่ม ต้องลบนั้น ยังไม่อธิบาย เพราะเกรงจะทำให้สับสน และยุ่งยาก เรียนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เข้าใจเอง.

 

     อย่างนี้เราก็สร้างประโยคได้แล้ว เช่น วฺฤกฺษมฺ รกฺษติ. = เขา ดูแลรักษาต้นไม้

      กริยาที่เราสร้างขึ้นนี้ ถ้าไม่มีประธาน ก็ให้ใช้บุรุษสรรพนามตามกริยานั้นๆ  โดยดูตามพจน์ และบุรุษ เช่น หากลงปัจจัยของบุรุษที่ 3 ทวิพจน์ ก็แปลว่า เขาทั้งสอง, บุรุษที่ 1 เอกพจน์ ก็แปลว่า ฉัน ฯลฯ

      ตัวอย่างการประกอบกริยา จาก ธาตุ √รกฺษฺ ใช้กับประธานบุรุษที่ 1 เอกพจน์

      1. รกฺษฺ เป็นพยางค์ที่ประสมสระสั้น สะกดด้วยพยัญชนะตามมาสองตัว ไม่ต้องเปลี่ยนสระเป็นขั้นคุณ = รกฺษฺ (เหมือนเดิม)

      2. ลง อะ (ปัจจัยประจำหมวดธาตุ. รกฺษฺ + อะ = รกฺษ เป็นเค้ากริยา

      3. ลง ปัจจัยบอกบุรุษที่หนึ่ง เอกพจน์ -มิ, แต่ รกฺษ มีเสียงอะอยู่ท้าย ให้ยืดเป็น อา ก่อนลงปัจจัย. ได้ รกฺษา+มิ = รกฺษามิ แปลว่า ข้าพเจ้ารักษา. จบพิธี.

      แบบฝึกหัด

      1.1 จงสร้างเค้ากริยา จากธาตุต่อไปนี้ (พร้อมบอกวิธีทำ)

      1) √จรฺ       2) √ชีวฺ       3) √ตฺยชฺ    4) √ทหฺ      5) √ธาวฺ     6) √นมฺ       7) √ปจฺ      8) √ยชฺ       9) √รกฺษฺ)    10) √ศํสฺ

      1.2 จงทำคุณ สระตัวแรกในคำต่อนี้ (เช่น นาม => นาม)

      1) ราม     2) ฤษิ      3) ปจ      4) มุข      5) ชิน

      1.3) จงทำพฤทธ สระตัวแรกในคำต่อไปนี้ (เช่น มฺฤต => มารฺต)

      1) พนฺธ   2) หฺฤทฺ   3) ชิต      4) ภุช      5) มิตฺร

 

2. สนธิ

       คราวที่แล้ว ไปแล้วว่า รฺ หรือ สฺ เมื่ออยู่ท้ายคำในตำแหน่งท้ายประโยค ให้เปลี่ยนเป็นวิสรรคะ. คราวนี้มีอธิบายเพิ่ม ดังนี้

       เมื่อ คำข้างหน้าลงท้ายด้วย สฺ  และ คำที่ตามมาขึ้นต้นด้วย ก ข ป ผ และ ศ ษ ศ, ให้เปลี่ยน สฺ เป็นวิสรรคะ ( ะ ) เช่น  วทตสฺ ปุนรฺ = วทตะ ปุนะ. (วทตสฺ เปลี่ยนเป็น วทตะ เพราะมี ป ตามมา, ปุนรฺ เปลี่ยนเป็น ปุนะ เพราะอยู่ท้ายประโยค)

      แบบฝึกหัด

     2.1 จงทำสนธิคำต่อไปนี้

     1) พลาสฺ  กรณมฺ.    2) ปุนรฺ ผลานิ.        3) อิตสฺ ศํสติ.          4) อุกฺตฺวา ตตสฺ      

                             

ศัพท์

     บทนี้มีศัพท์เพิ่มมาก

ธาตุ

√จรฺ           (อกรรมกริยา)ไป, เร่ร่อน, เล็มหญ้า. (สกรรมกริยา) ปฏิบัติ

√ชีวฺ           มีชีวิต

√ตฺยชฺ         ละ ทิ้ง สละ บริจาค

√ทหฺ          เผา, ไหม้

√ธาวฺ         วิ่ง

√นมฺ          (อกรรมกริยา) ก้ม, โค้ง. (สกรรมกริยา) ทำความเคารพ

√ปจฺ           หุง ต้ม ทำอาหาร

√ปตฺ          ตก ล้ม บิน เหาะ

√ยชฺ           บวงสรวง สังเวย (ใช้กับ กรรมการก และกรณการก)

√รกฺษฺ        คุ้มครอง รักษา

√วทฺ           พูด

√วสฺ           อาศัย

√วหฺ          (สกรรมกริยา) พาไป, ถือ (อกรรมกริยา) ไหล, พัด, ดำเนินไป

√ศํสฺ          สรรเสริญ

 

นิบาต

(ใส่ไว้เยอะ ไม่ต้องตกใจ จำไม่ได้ก็เปิดดู ทั้งหมดนี้ใช้บ่อย แต่ครอบคลุมเกือบทั้งหมดแล้ว)

อตสฺ        จากที่นี่, เพราะฉะนั้น

อิตสฺ        จากที่นี่, ในโลกนี้

ยตสฺ        เนื่องจากเหตุใด (คู่กับ ตตสฺ)

ตตสฺ        เนื่องจากเหตุนั้น

กุตสฺ        จากที่ใด? เพราะเหตุใด?

อตฺร         ที่นี่

ยตฺร         ที่ใด (คู่กับ ตตฺร)

ตตฺร         ที่นั้น

กุตฺร         ณ ที่ใด? สู่ที่ใด?

กฺว           ณ ที่ใด? สู่ที่ใด?

สรฺวตฺร      ทุกที่

อถ           ณ นัดนี้

อตฺถมฺ      เช่นนี้

ยถา         ฉันใด

ตถา         ฉันนั้น

กถมฺ        อย่างไร?

อีทานีม    ตอนนี้

ยทา         ในกาลใด

ตทา         ในกาลนั้น

อิว           เหมือน, ดั่ง

กทา         ในกาลใด

สรฺวทา    ในกาลทุกเมื่อ

สทา        ในกาลทุกเมื่อ

 

แบบฝึกหัดรวมบทที่ 3

4.1 แปลเป็นภาษาไทย  

अद्य जीवामः ॥१॥

सदा पथः ॥२॥

अत्र रक्षति ॥३॥

अधुना रक्षामि ॥४॥

यदा धावथ तदा पतथ ॥५॥

क्व यजन्ति ॥६॥

तत्र चरथः ॥७॥

कुतः शंससि ॥८॥

त्यजामि कथम् ॥९॥

पुनर्पतावः   ॥१०॥

दहसि ॥११॥

पुनर्वदन्ति ॥१२॥

तत्र वसावः ॥१३॥

सर्वस्त्र जीवन्ति ॥१४॥

 

4.2 แปลไทยเป็นสันสกฤต (ตามลำดับตัวเลข)

1) วันนี้1. เขาทั้งหลายย่อมสละ2.          ตัวอย่าง อทฺย  ตฺยชนฺติ.

2) บัดนี้1. ท่านทั้งหลายย่อมเที่ยวไป2.

3) ฉันย่อมรักษา2. ในกาลทุกเมื่อ1.

4) เราทั้งสองย่อมน้อมไหว้1. อีก2.

5) ท่านย่อมวิ่ง2. สู่ที่ใด1.

6) เราทั้งหลายย่อมสังเวย

7) เขาทั้งสองย่อมหุง

8) ท่านทั้งหลายย่อมบริจาค

9) มันย่อมเผาไหม้

10) เราทั้งหลายย่อมมีชีวิตอยู่2. ณ บัดนี้1.

11) ท่านทั้งสองย่อมสรรเสริญ

12) เพราะเหตุใด2. ท่านทั้งหลายจึงน้อมไหว้1.

13) ท่านทั้งหลายย่อมบิน2. สู่ที่นั่น1.

14) ท่านทั้งหลายพำนักอยู่2. ณ ที่ใด1.

 

เห็นเนื้อหาเยอะ อย่าเพิ่งลาออก ค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละส่วน ตรงนี้ไม่ยากมาก เพราะข้างหน้ายากกว่านี้เยอะ...

 

 

หมายเลขบันทึก: 501682เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2012 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (52)

อกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก !! อีกสักพักหนูคงจะอ้วกออกมาเป็นอักษรเทวนาครีคะ อิอิ

อาจารย์หมูขา หนูอยากตายคะ อาจารย์ต้องให้เวลาหนูสักนิดนะค่ะ อ่านวนไปมาสามรอบแล้วคะ ฮ่าๆ

ดูทีละเรื่อง กริยา อันที่จริง ไม่มีอะไรหรอก จับธาตุมาเติมสระอะ เท่านั้นเอง จากนั้นก็เติมปัจจัยในตาราง ก็จบแล้ว.

อ่านจบแล้วมาเข้าใจที่คุณศรีบอกนี่เอง อิอิอิ

ต้องกลับไปอ่านใหม่ค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

อิๆๆ พอดี ตำราที่ใช้เขาเร่งรัดมากครับ

ผมคลี่ขยายออกมาสามเท่าแล้วนะครับเนี่ย

บทต่อไปจะหดสั้นกว่านี้ก็แล้วกัน ;)

ขออนุญาติถามค่ะ ไม่เข้าใจตรงนี้ ..

√รกฺษฺ (ทำคุณที่สระอะหลัง ร) = รกฺษฺ (อันนี้พอเข้าใจ ) แต่..อาจารย์บอกว่าให้เติม อะ หลังสุดอีก เป็น รกฺษ อันนี้เติมเข้าไปอีกทำไมอะคะ ?

มันไม่เหมือนกับ √วทฺ + อะ = วท อย่างนี้เหรอคะ ?

ตัว อะ นี้มีผลสองอย่างครับ

1. มีผลให้สระตัวแรกยืด(ตัวมันยังอยู่เฉยๆ)

2. ตัวมันไปแปะที่ข้างหลังธาตุ

ดังนั้น จึงมี 2 ขั้นตอน raks ยืดเสียง => raks, เติม a => raksa

แบบเดียวกับ vad, ยืดเสียง ก็ได้ vad เหมือนเดิม, เติม a => vada

(คุณของ อะ คือ อะ, คุณของ อา คือ อา)

เผอิญว่า ธาตุในบทนี้ มีสระตัวแรกเป็นสระอะ เมื่อยืดเป็นคุณ แล้วก็ยังเหมือนเดิม (ถ้าเป็นสระ อิ หรือ อุ จะมีผลที่แตกต่างกัน)

 

ขอโทษครับ ผิดพลาดเล็กน้อย รกฺษฺ เป็นพยางค์หนัก ไม่ต้องทำคุณ แต่ก็ได้เค้ากริยาเหมือนเดิม...

สวัสดีค่ะคุณครู

อ่านไปก็เมาไปทั้งที่ไม่ได้ดื่มเหล้า...

สงสัยไม่ลาออก ก็คงสอบตกค่ะ 

มีข้อสงสัยนิดหน่อยครับ ทำไมในหนังสือไวยากรณ์หลายเล่มจึงแสดงการแจกธาตุเฉพาะหมู่ที่ 1 4 6 และ 10 เท่านั้นครับ ธาตุที่เหลือแจกรูปอย่างไร และการแจกรูปกริยากฤตแจกอย่างไรครับ ในหนังสือไม่มีบอกเหมือนกัน พวกปัจจัยอย่าง มาน อนีย ตฺวา ฯลฯ ผันคล้ายบาลีหรือเปล่า

คุณ miryone ครับ ธาตุหมวด 1, 4, 6, 10 นั้นเป็นธาตุที่ใช้บ่อยกว่าครับ และไม่ยุ่งยากเรื่องสนธิ จึงมักจะสอนกลุ่มนี้ก่อน

หมวด 2 ไม่มีปัจจัย, หมวด 3 ซ้ำเสียงพยางค์แรกของธาตุ, หมวด 5 ลงปัจจัย ณุ,

หมวด 7 แทรกนิคหิต, หมวด 8 ปัจจัย อุ และหมวด 9 ปัจจัย นา ครับ

กลุ่มนี้นอกจากต้องสนธิระหว่างปัจจัยประจำหมวด กับปัจจัยบอกบุรุษแล้ว ยังแ่บ่งปัจจัยบอกบุรุษเป็นพวกปัจจัยแข็ง และอ่อนด้วย ปัจจัยประจำหมวดจะเปลี่ยนเสียงเมื่ออยู่หน้าปัจจัยบุรุษชนิดแข็ง ค่อนข้างยุ่งยากครับ ลองติดตามบทเรียนไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะเนื้อหาเยอะ

กริยากฤต จะคล้ายกับบาลีครับ เช่น -ตุมฺ -ตฺวา อนีย -มาน พวกนี้ใช้เหมือนกันครับ

สวัสดีครับ คุณ Blank หยั่งราก ฝากใบ

รู้สึกว่าจะมีอาการเดียวกันทั้งหมดเลย อิๆๆ

หนูขอลองส่งข้อนี้ก่อนนะคะ ให้แน่ใจว่าผิดหรือถูกก่อน
(1.2) จงทำคุณ สระตัวแรกในคำต่อนี้ (เช่น นาม => นาม)

1) ราม = ราม 2) ฤษิ = ฤารฺษิ 3) ปจ = ปจ
4) มุข = โมข 5) ชิน = เชน

หน่วยกล้าตายมาแล้ว ถูกหมดครับ เว้นแต่ ข้อ 2)

ฤ > อรฺ, เพราะฉะนั้น ฤษิ > อรฺษิ

ลองทำข้ออื่นดูนะครับ (ควรพรินต์ออกมาอ่านครับ จะได้สะดวก)

 

ส่งข้อ 1.3) จงทำพฤทธ สระตัวแรกในคำต่อไปนี้ (เช่น มฺฤต => มารฺต)

1) พนฺธ = พานฺธ

2) หฺฤทฺ = อารฺทฺ

3) ชิต = ไชต

4) ภุช = เภาช

5) มิตฺร = ไมตฺร

ยังผิดที่ ฤ เหมือนเดิม คือ

ลบ ฤ ทิ้ง

ใ่ส่ อารฺ เข้าไปแทน

(ห ข้างหน้ายังอยู่)

 

หฺ ทฺ ; h d (คำเดิม)

หฺ อารฺ ทฺ ; h ār d  (เปลี่ยน ฤ เป็น อารฺ ในตำแหน่งเดิม)

หารฺทฺ ; hārd (ได้รูปใหม่)

 

ส่งข้อแบบฝึกหัด (1.1) จงสร้างเค้ากริยา จากธาตุต่อไปนี้ (พร้อมบอกวิธีทำ)

1) √จรฺ = จร (เพราะอะเปลี่ยนเป็นคุณ ก็ยังคงเป็นอะอยู่)

2) √ชีวฺ = ชีว (ธาตุที่ประสมสระเสียงยาว ลงท้ายด้วยพยัญชนะ ไม่ต้องทำคุณ) , (แต่สมมุติถ้าต้องทำคุณ สมมุตินะคะ ก็เป็น เชว ถูกไหมค่ะ)

3) √ตฺยชฺ = ตฺยช

4) √ทหฺ = ทห ( เพราะอะเปลี่ยนเป็นคุณ ก็ยังคงเป็นอะอยู่)

5) √ธาวฺ = ธาว (ธาตุที่ประสมสระเสียงยาว ลงท้ายด้วยพยัญชนะ ไม่ต้องทำคุณ)

6) √นมฺ = นม ( เพราะอะเปลี่ยนเป็นคุณ ก็ยังคงเป็นอะอยู่ )

7) √ปจฺ = ปจ ( เพราะอะเปลี่ยนเป็นคุณ ก็ยังคงเป็นอะอยู่ )

8) √ยชฺ = ยช ( เพราะอะเปลี่ยนเป็นคุณ ก็ยังคงเป็นอะอยู่ )

9) √รกฺษฺ = รกฺษ

10) √ศํสฺ = ศส

ยัง งงๆ อยู่ค่ะ ตฺยชฺ คำนี้ต้องทำคุณ หลัง ตฺ หรือ ย ค่ะ อาจารย์ ขอแบบฝึกหัดพวกธาตุที่มีตัว ฤ อีกคะ หนูจะลองทำให้เป็นคุณและพฤทธ์ ดู

ปวดหัวคะ ยังรู้สึก งงๆ อยู่ เรื่องธาตุเนี่ยละคะ คือหนูไม่รู้ว่า จะต้องเริ่มเปลี่ยนเป็นคุณที่พยัญชนะตัวไหน เพราะบางที จะงงกับคำพวกนี้อะคะ √รกฺษฺ √ศํสฺ √ตฺยชฺ อย่างคำนี้ √ธาวฺ จะเปลี่ยนเป็นคุณ ก็ต้องดูที่ ตัว -ธ ใช่ไหมค่ะ

1.1 ถูกแล้วครับ เก่งมาก ค่อยยังชั่ว ;)

 

ไม่ต้องงงครับ ทำึุคุณสระตัวแรก คือ หลังพยัญชนะตัวแรกครับ

ความจริง ธาตุแต่ละตัว มีสระแค่ตัวเดียวอยู่แล้ว ทำคุณตรงสระตัวนั้นแหละ คือ สระที่อยู่หลังพยัญชนะตัวแรก (หลังสุดของแต่ละธาตุเป็นพยัญชนะ ไม่ใช่สระ)

ที่งง คงเพราะบทนี้มีแต่กริยาที่ใช้สระอะ เลยไม่เห็นความแตกต่าง

(กริยาใช้สระอื่น เช่น √พุธฺ ทำคุณ เป็น โพธฺ, √ภู ทำคุณ เป็น โภ)

 

แบบฝึกทำพฤทธ์

ทำพฤทธ์สระตัวแรก
1) อทิติ
2) กศฺยป
3) นฺฤปติ
4) วฺฤกฺษ
5) พฺฤหสฺปติ
6) วิศฺวามิตฺร
7) มฺฤค
8) วิทฺย
9) โอษธิ
10) วิศฺย
11) ปิศาจ
12) สุนฺทร



มาละคะ.. อิอิ

แบบฝึกทำพฤทธ์

ทำพฤทธ์สระตัวแรก 1) อทิติ = อาทิติ 2) กศฺยป = กาศฺยป 3) นฺฤปติ = นารฺปติ 4) วฺฤกฺษ = วารฺกฺษ 5) พฺฤหสฺปติ = พารฺหสฺปติ 6) วิศฺวามิตฺร = ไวศฺวามิตร 7) มฺฤค = มารฺค 8) วิทฺย = ไวทฺย 9) โอษธิ = เอาษธิ 10) วิศฺย = ไวศฺย 11) ปิศาจ = ไปศาจ 12) สุนฺทร = เสานฺทร

ไม่แน่ใจว่าจะถูกหรือเปล่านะค่ะ บางคำหน้าตาเปลี่ยนไปมาก จนแทบจะจำธาตุเดิมไมได้เลย

เที่ยวนี้ถูกหมด ถือว่าเรื่องคุณ และพฤทธ์ ผ่านแล้วนะ จดไว้ให้ดี เพราะจะต้องใช้ตลอด

ศัพท์ที่ยกมานี้ไม่ใช่ธาตุ แต่เป็นนาม เราจะได้พบอีกบ่อยๆ เช่น อาทิตฺยสฺ มาจาก อทิติ (อาทิตยสฺ เป็นลูกของ อทิติ), กาศฺยป มาจาก กศฺยป (กาศฺยป เป็นลูกหลานของ กศฺยป) ไปศาจี(ไปศาจ+อี) มาจาก ปิศาจ (ไปศาจี เป็นภาษาของปิศาจ) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี ไวทฺย และ เวทฺย ที่แผลงมาจาก วิทฺย ก็ใช้วิธีการนี้

อาจารย์อย่าเพิ่งขึ้นบทใหม่นะคะ ขอหนูพักเบรคก่อน ฮ่าๆๆๆ จะได้ทบทวนด้วยคะ อิอิ

ยังไม่ขึ้นครับ เพราะยังส่งการบ้านไม่หมด ;)

กำ ลืมเลย การบ้านอีกตรึม มัวแต่หลงดีใจ ฮ่าๆๆๆ

คำที่หนูเคยเห็นและผ่านตามาเช่น สัปตเอาษธ = สมุนไพร 7 ไม่รู้จะใช้คำเดียวกับ โอษธิ เปล่า คำนี้คล้ายคำว่าโอสถ ที่แปลว่ายามากคะ

มฺฤค คำนี้แปลว่ากวางหรือเปล่าคะ เหมือนป่าอิสิปตนมฤคทายวันของพระพุทธเจ้าเลย ป่าที่มีกวาง

อีกคำที่หนูงงคือ เวท เขาบอกว่ามาจาก วิท ที่แปลว่าความรู้ เคยเห็นอยู่คำเดียวก็ วิทฺย อันนี้ต้องผ่านกระบวนการผันอะไรไหมค่ะ

ขอบคุณคะ

ใช่แล้วครับ

วิทฺ + ย. ย เป็นปัจจัยพวกหนึ่ง บังคับให้ทำคุณที่สระต้นคำ แล้วเอาตัวมันไปแปะท้าย เป็น เวทฺย กลายเป็นคำคุณศัพท์ครับ. การเติมปัจจัย โดยที่ต้องทำคุณ หรือพฤทธ์ ก่อน พบได้มากในภาษาสันสกฤต

อิสิปตนมฤคทายวัน นี้เรียกแบบไทย

สันสกฤตว่า "ฤษิปตนมฺฤคทายวน" (ฤษิ+ปตน+มฺฤค+ทาย+วน)

บาลีว่า "อิสิปตนมิคทายวน"

แบบฝึกหัด

 2.1 จงทำสนธิคำต่อไปนี้

 1) พลาสฺ  กรณมฺ. = พลาะ กรณมฺ

 2) ปุนรฺ ผลานิ. = ปุนะ ผลานิ

 3) อิตสฺ ศํสติ.= อิตะ ศํสติ

 4) อุกฺตฺวา ตตสฺ  = อุกตวา ตตะ      

ขออนุญาติแปลข้ามข้อก่อนนะคะ เลือกข้อที่เข้าใจ อิอิ ส่งสักหนึ่งข้อดูก่อน

แบบฝึกหัดรวมบทที่ 3

4.1 แปลเป็นภาษาไทย

अत्र रक्षति ॥३॥ = เขารักษาที่นี่

ถูกไหมค่ะอาจารย์

อีกสักข้อนะค่ะ แบบฝึกหัดที่ 4.2 แปลไทยเป็นสันสกฤต

2) บัดนี้1. ท่านทั้งหลายย่อมเที่ยวไป2. = อถ จรถ

ลองให้อาจารย์ดูก่อนว่าถูกหรือเปล่านะคะ อาจารย์

มีเลือกข้อด้วยแฮะ

अत्र रक्षति ॥३॥ = เขารักษาที่นี่. ถูกครับ หรือจะเป็น เขาคุ้มครองที่นี่ ก็จะดีกว่า

บัดนี้1. ท่านทั้งหลายย่อมเที่ยวไป2. = อถ จรถ. ถูกครับ

มาส่งละค่ะ ไม่ค่อยจะมั่นใจเท่าไหร่เลย กลัวจะผิดเรื่องสนธิด้วย แถมข้อสิบสามหาคำว่าบินไม่ได้คะ อิอิ ไม่รู้จะใช้คำไหนดี

4.2 แปลไทยเป็นสันสกฤต (ตามลำดับตัวเลข)

2.) अथ चरथ

3.) सर्वदा रक्षामि

4.) नमावः पुनः

5.) क्व वहसि

6.) यजामस्

7.) पचतस्

8.) त्यजथ

9.) दहति

10.) अथ जीवामः

11.) शसथः

12.) नमथ कुतः

13.) ....

14.) क्व वसथ

คำว่า บัดนี้ ตอนนี้ นิยมใช้ว่า อธุนา มากกว่า, อถ มักจะหมายถึง เอาล่ะ ตั้งแต่นี้ไป ฯลฯ

 

อ้าว ลืม.. √ปตฺ แปลว่า ตก ก็ได้ แปลว่า ล้ม หรือ บิน ก็ไ้ด้

 

5) ตั้งใจจะเขียนว่า "วิ่ง" เขียนผิด ตอบมาตรงบุรุษก็โอเค

11) शंसथः อย่าลืม อนุสวาร (นิคหิต)

13) ตฺตร ปตถ

ตรงนี้ทำสนธิไม่ครบ

6.) यजामस् => यजामः

7.) पचतस् => पचतः

สฺ ที่อยู่ท้ายให้แปลงเป็น ะ ให้หมด.

 

 

 

กำผิดเยอะเลย.. หนูนึกว่าจะทำ สฺ ให้เป็นวิสรคก็ต่อเมื่อมีประโยคอีกประโยคหนึ่งตามหลังมา แล้วก็มีพยัญชนะ ก ข ป ผ และ ศ ษ ศ ปรากฎเป็นพยัญชนะแรกหน้าประโยคที่ตามหลังมานั้น สรุปคือ..ถ้าเป็นประโยคเดียวแล้วมี สฺ อยู่ท้ายประโยค ก็ทำ สฺ ให้เป็นวิสรคหมดเลยใช่ไหมค่ะ

แล้ว รฺ ที่ว่านี้มีกฎเกณฑ์เหมือนกับ สฺ หรือเปล่าเอ่ย ?

ส่วนใหญ่เท่าที่สังเกตหนูจะผิดสนธิ ที่เหลือการผันก็พอผ่านแล้วหรือยังค่ะอาจารย์ ยังเหลือแบบฝึกหัดข้อใหญ่อยู่อีก แต่ทำไปทำมาก็ชักมันดี ^_^

สฺ และ รฺ ใช้หลักเดียวกัน (ต่อไปข้างหน้า สฺ อาจกลายเป็น รฺ, และ รฺ อาจกลายเป็น สฺ ได้ด้วย)

สฺ, และ รฺ ไม่ว่าอยู่หน้าพยัญชนะ (บางตัวที่บอกแล้ว) หรืออยู่ท้ายประโยค จะแปลงเป็นวิสรรคะหมด

ทำไปเยอะๆ จะได้เก่ง ตอนผมเรียน แบบฝึกหัดน้อยกว่านี้เยอะเลย

ข้อสองทำไม่ได้คะอาจารย์ หนูว่าหนูยังแปลแปลกๆอยู่ แลดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่ก็ต้องฝึกบ่อยๆตามที่อาจารย์บอกละคะ

4.1 แปลเป็นภาษาไทย

1.) วันนี้เราทั้งหลายมีชีวิต

2.) ....

3.) เขาคุ้มครองที่นี่

4.) วันนี้ฉักรักษา

5.) ในกาลใดท่านทั้งหลายวิ่ง ในกาลนั้นท่านทั้งหลายก็จะล้ม ปรับปรุงเป็น เวลาที่ท่านทั้งหลายวิ่ง เวลานั้นท่านทั้งหลายก็จะล้มดู (เป็นธรรมชาติกว่า อิอิ)

6.) เขาทั้งหลายสังเวย ณ ที่ใด

7.) ท่านทั้งสองไปที่นั่น

8.) ท่านสรรเสริญเพราะเหตุใด

9.) ฉันละทิ้งไปอย่างไร

10.) เราทั้งสองล้มลงอีกครั้ง

11.) ท่านเผา

12.) เขาทั้งหลายพูดอีกครั้ง

13.) เราทั้งสองอาศัย

14.) เขาทั้งหลายมีชีวิตอยู่ทุกที่

ถูกต้องครับ

ข้อ 2) พิมพ์ผิด แก้ไขแล้ว ไม่เป็นไรครับ

การแปลศัพท์ จำไว้หลายๆ แบบก็ดีครับ หนังสือเก่าๆ อาจแปล ในกาลทุกเมื่อ สมัยใหม่อาจบอกว่า เสมอ ก็ได้

ให้จดศัพท์ตามประเภท และลำดับตัวอักษร จะได้ค้นง่าย

(ทั้ง word และ excel สามารถเรียงลำดับคำอักษรเทวนาครีได้)


บทนี้ถือว่าผ่าน... เก่งมากครับ

โศลกวันก่อนยังไม่ลืมครับ เดี๋ยวแปลให้ทันแน่นอน...

จริงๆอยากจะมีพจนานุกรมสักเล่มไว้เป็นของตัวเอง ตอนนี้ก็อาศัยพจจนานุมกรมออนไลอยู่คะ แต่ก็ยังดูและใช้ไม่เป็น อาจารย์เห็นว่าอย่างไรค่ะ เรื่องที่หนูจะมีพจนานุกรมสักเล่มเก็บไว้ เป็นภาษาอังกฤษ-อักษรโรมันก็ได้คะ แบบไทยเห็นมีแต่เล่มนี้ กลัวซื้อมาแล้วก็ยังใช้ไม่เป็นอยู่ดี

จริงๆ แล้วมีหลายฉบับ แต่เป็นไฟล์ pdf ต้องพรินต์ออกมา เล่มนึงก็กว่าพันหน้า ตอนนี้ส่วนมากผมก็ใช้ออนไลน์ เพราะสะดวกดี แต่ที่เป็นเล่มมีอยู่แต่สองเล่ม คือ ฉบับของ Monier-Williams กับของ A.A. MacDonell ส่วนฉบับออฟไลน์ (PDF) มีสิบกว่าเล่มได้มั้ง ไว้ว่างๆ จะเขียนเรื่องพจนานุกรมโดยเฉพาะ

พจนานุกรมสันสกฤตที่ดี หากเป็นนามจะต้องบอกเพศ หากเป็นธาตุต้องบอกหมวด และการแจกรูปพิเศษ ไม่งั้นเอามาก็ใช้แทบไม่ได้ นอกจากแปลความหมาย ซึ่งจะบอกได้ไม่ครอบคลุม

เล่มข้างบนก็พอใช้ได้ ผมมีอยู่ ไม่ค่อยได้ใช้ เอาไว้สำหรับค้นคำแปลภาษาไทย เวลาเรานึกคำแปลเหมาะๆ ไม่ออก แต่เล่มนี้ไม่จำแนกชนิดคำให้ละเอียด มีไว้ก็ดีอยู่หรอก แต่อยากให้ได้ฉบับมาตรฐานไว้ด้วยอย่างที่บอกไปข้างต้น

 

เล่มนี้ถือเป็นเล่มครูเลย ได้มาก็กราบสามทีก่อน ละเอียดลออมาก (แต่ก็ยังมีผิดพลาดบ้าง) (เล่มที่ผมวางในตัก ในรูปเนี่ยแหละ) 1,222 หน้า หาศัพท์เล่มนี้ไม่เจอ คงหาเล่มอื่นไม่เจอแล้วล่ะ

Sanskrit-English Dictionary by Monier-Williams

http://archive.org/details/1872sanskriten00moniuoft

 

เล่มนี้กะทัดรัด แต่ scan จากเล่มจริงอาจมีเลอะบ้าง 382 หน้า ตอนเรียนผมใช้เล่มนี้พกไปสะดวก ค้นศัพท์พื้นฐานก็ไม่ค่อยมีปัญหา

Sanskrit-English Dictionary by A. A. MacDonell

http://archive.org/details/afr4858.0001.001.umich.edu

 

เล่มนี้เหมาะกับการพรินต์ เพราะพิมพ์แบบใหม่ ชัดเจนดี ประหยัดหมึก แต่เป็นสันสกฤต-ฝรั่งเศส 651 หน้า

Sanskrit-French Dictionary by Gérard Huet

http://sanskrit.inria.fr/Heritage.pdf

 

แล้วก็ ที่นี่มีหลายเล่ม ทั้งอังกฤษ เยอรมัน แล้วก็รัสเซีย โคตรพจนานุกรม ฉบับใหญ่เบ้อเริ่ม กี่พันหน้าไม่กล้านับ ทั้งฉบับออนไลน์ และฉบับเป็นไฟล์ภาพ โหลดมาเก็บไว้ตาเหลือกเลย แต่ถ้ามีเวลาโหลดไว้ก็ดีนะ

http://www.sanskrit-lexicon.uni-koeln.de/

ฉบับของ H.H. Wilson จะบอกรากศัพท์คำไว้ละเอียด น่าสนใจเหมือนกัน

&... A Sanskrit-English dictionary, based upon the St. Petersburg lexicons; - Cappeller, Carl,

https://ia700408.us.archive.org/4/items/asanskritenglis00cappgoog/asanskritenglis00cappgoog.pdf หรือโหลดรูปแบบอื่นก็ได้ http://archive.org/details/asanskritenglis00cappgoog เล่มนี้มีเครื่องหมายบอก accent ด้วย เหมาะกับการศึกษาเชิงประวัติ 692 หน้า

จริงๆ น่าจะมีฉบับของคนไทยที่เขียนโดยละเอียดตามที่อาจารย์บอกมานะค่ะ เพราะประเทศไทยเราก็ยังมีคนศึกษาภาษาสันสกฤตอยู่ แม้ว่าจะน้อยก็ตามที เอาแบบละเอียดไปเลย ให้ได้ใช้กันไปอีกหลายทศวรรษ ฮ่าๆ

ถ้าทำแล้ว มีึคนพิมพ์ให้ ผมทำแน่เลย ;)

สวัสดีครับ

จริง ๆ ผมก็มี พจนานุกรมสันสกฤต ที่ไว้ติตตั้งในคอมพิวเตอร์นะ

ของ Monier Williams ท่านอาจารย์จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ให้มานะครับ

แต่ไม่ทราบว่าจะให้ยังไงดีครับ ขนาดไฟล์น่าจะ 500 MB.บวกนะครับ ต้องแนะวิธีติดตั้งด้วยนะครับนิดหนึ่ง

ถ้าส่งในนี้ได้ก็น่าจะดีนะครับ

หรือไม่ก็อาจไปขอที่ศูนย์สันสกฤตศึกษาก็ได้นะครับ อาจารย์ทุกท่านยินดีให้

สวัสดีครับ คุณ Blank ลูกสายลม

ขอบคุณครับ ผมเคยติดตั้งเหมือนกัน แต่จำไม่ได้่ว่าเอามาจากไหน ;)

สงสัยจะได้มาจากอาจารย์ฯ

ก็แนะนำทุกท่านนะครับ ถ้าต้องการติดต่อที่ศูนย์สันสกฤตได้ครับ

หรือจะลองดูที่นี่ http://sanskritdocuments.org/ แต่ผมไม่แน่ใจว่า

จะโหลดไฟล์ไปลงไ้ด้สมบูรณ์หรือเปล่า

 

สํสกฤต-สยาม อภิธาน ของขุนโสภิตอักษรการ (มีเฉพาะอักษร อ)

ยากจังค่ะ

ลงชื่อก่อนค่อยอ่านวันหยุดค่ะ

ปวดตาเหลือเกินแล้ว..

ตอนนี้พร้อมกับบทใหม่แล้วคะ อิอิ

อาจารย์ค่ะ หนูลองแต่งมาสักประโยคหนึ่งพอให้มันได้ความ แล้วก็เลยลองทำสนธิดู ขออาจารย์ช่วยดูหน่อยว่าถูกหรือเปล่า ถ้าถูก ประโยคอื่นๆจะได้ตามมา เพราะคิดไว้ในใจเพียบเลยคะ อิอิ มันดี

हे देव !! ईदानीम गजाः राजयोः ข้าแต่เทว !! ในตอนนี้ช้างทั้งโขลงได้ตกเป็นของพระราชาทั้งสององค์นั้นแล้ว

แจ๋วครับ ;)

ถูกต้องครับ การเรียนภาษาสันสกฤตนั้น ต้องมีจินตนาการ

บางครั้งมีศัพท์มาสองตัว เราต้องนึกให้ได้ ว่าคำทั้งสองสัมพันธ์กันอย่างไร

ฝึกต่อครับ ;)

อ้อ เคล็ดลับ. ถ้าทำสนธิไม่ถูก ให้เอาคำนั้นไปไว้หลังสุด

อ่านความเห็นของคุณศรี บรมอีศวรี. พร้อมการขยันถามและทำแบบฝึกหัด. ???? สงสัยตัวเองต้องใช้เวลาอีกนาน?? พยายามจะอ่านและทำความเข้าใจ. ซ้ำค่ะ. ขอซักตั้ง.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท