สั่งย้ายข้าราชการเพราะเป็นอุปสรรคต่อการบริหาร


ทำได้หรือไม่

      ช่วงนี้กระแสเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายกำลังเป็นที่สนใจ โดยเฉพาะในกระทรวงกลาโหม ที่ยังคงเป็นกระแสร้อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งสังคมเองส่วนใหญ่ก็คงจะเคลือบแคลงสงสัยกันอยู่ไม่ใช่น้อย ว่าตกลงแล้วรัฐมนตรีมีอำนาจย้ายปลัดกระทรวง(ที่ถูกแล้วต้องบอกว่าสั่งให้ปลัดกระทรวงมาช่วยราชการ) โดยอ้างเหตุเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานภายในกระทรวง ซึ่งก็คงไม่เกี่ยวกับคนนอกกระทรวงละมั้ง แต่คนภายนอกกระทรวงกลาโหมก็คงอยากรู้เช่นกันว่าคำสั่งดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์

     มีคดีปกครองที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในกระทรวงกลาโหมขณะนี้ที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ทุกท่านได้ลองนำไปเทียบเคียงดูถึงผลของคดี ซึ่งคดีปกครองคดีนี้อธิบดีกรมสามัญศึกษาสมัยนั้น เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ได้มีคำสั่งย้ายครูตามความเห็นชอบของ อ.ก.ค.กรมสามัญศึกษา ซึ่งก็คือย้ายผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือร้องเรียนผู้อำนวยการโรงเรียนที่ตนสังกัด ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งต่อสื่อมวลชน เนื่องจากผู้อำนวยการโรงเรียนเบิกค่าเช่าบ้านผิดระเบียบและบริหารงานในโรงเรียนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่1ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความวุ่นวาย และความแตกแยกในโรงเรียน อีกทั้งเป็นการร้องเรียนผู้บังคับบัญชาข้ามขั้นตอน และให้ข่าวแก่สื่อมวลชนโดยไม่มีหน้าที่ ดังนั้นเพื่อเป็นการระงับเหตุขัดแย้งในโรงเรียน จึงมีคำสั่งย้ายผู้ฟ้องคดี  ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ตนได้รับความเสียหาย เนื่องจากตนได้กระทำไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการและไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง และความแตกแยกแต่ประการใด

     คดีนี้ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่าการออกคำสั่งย้าย เมื่อได้พิจารณาถึงอัตรากำลังครูในโรงเรียนแต่ละโรงเรียนมาประกอบการพิจารณาย้าย ถือเป็นการออกคำสั่งในทางการบริหาร เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ดังนั้นเมื่อองค์กรมีปัญหาอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฎิบัติงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโดยรวมขององค์กร และเพื่อทำให้การบริหารจัดการโรงเรียนสามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากถึงแม้จะมีการดำเนินการทางวินัยต่อผู้ฟ้องคดีและผู้อำนวยการโรงเรียนไปแล้ว แต่คู่กรณีก็ยังมีการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาต่อกันอีก ความขัดแย้งจึงยังคงมีอยู่ ดังนั้นการออกคำสั่งย้ายผู้ฟ้องคดีจึงถือว่าเป็นการกระทำที่จำเป็นและเหมาะสมพอสมควรแก่เหตุแล้ว(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.263/2553)

     ทีนี้หากลองนำข้อเท็จจริงกรณีกระทรวงกลาโหม มาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คงพอที่จะเป็นข้อมูลที่ทำให้ทุกท่าน สามารถที่จะคาดเดาบทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้ได้ว่าจะจบลงอย่างไร สุดท้ายเราก็เป็นเพียงคนนอกเท่านั้นเอง

 

คำสำคัญ (Tags): #ศาลปกครอง
หมายเลขบันทึก: 500688เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท