มะพร้าวของผมอยู่ไหน


ช่วงนี้มะพร้าวอ่อนที่หาดใหญ่ราคาแพงและหาซื้อยาก ลูกละสิบห้าถึงยี่สิบบาท จากปกติราคาไม่เกินสิบบาท

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมานั้นอากาศแล้งมากทำให้มะพร้าวไม่ค่อยออกลูก ยายเนียนเจ้าประจำที่มาส่งมะพร้าวอ่อนถึงบ้านก็ไม่ได้มานานแล้ว เดาว่าคงไม่มีมะพร้าวเหมือนกัน

ตอนผมกลับบ้านคราวที่แล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พ่อบ่นว่ามะพร้าวขายได้ราคาถูกมาก ความที่พ่ออายุมากแล้วก็เลยต้องขายแบบให้เขามาตัดมะพร้าวเองถึงสวน ทำอย่างนี้เขาให้ราคาเพียงลูกละสองสามบาทเท่านั้น พ่อผมที่ผันตัวเองมาเป็นชาวสวนมะพร้าวหลังเกษียณอายุนึกว่าจะได้รายได้จากสวนมะพร้าวเสริมกลับไม่ได้เท่าไหร่ แม้จะปลูกอยู่หลายไร่ก็ตาม

คิดแล้วก็น่าสะท้อนใจ เรามีสวนมะพร้าวหลายไร่ที่ขายได้เพียงลูกละไม่กี่บาท กลับมาต้องซื้อมะพร้าวกินในราคาแพงกว่าหลายเท่าตัวเช่นนี้

แต่นี่เป็นปัญหาปกติของคนในวัยเช่นผมที่เป็น "แรงงานย้ายถิ่น" นั่นคือคนที่ต้องทำงานในสถานที่ที่ไม่ใช่เป็นบ้านเกิดของตัวเองโดยไม่มีทรัพย์สินเก่าของครอบครัวเป็นฐานในการเลี้ยงชีพ

ผมใช้คำว่าแรงงานย้ายถิ่น หลายคนอ่านแล้วอาจจะสงสัยว่าผมมีอาชีพรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ใช่หรือ ทำไมกลายเป็นแรงงานย้ายถิ่นไปเสียเล่า

ที่จริงแล้วเราทุกคนก็เป็น "คนงาน" ที่ "ขายแรงงาน" กันทั้งนั้นละครับ เพียงแต่เราเอาคำที่ดูดีกว่ามาแทนตัวเราในอาชีพของเราที่ใช้กำลังแรงน้อยกว่าใช้กำลังสมองมากกว่าเท่านั้นเอง

เหมือนคนที่เปิดร้านโชว์ห่วยเรียกว่าทำอาชีพ "ค้าขาย" แต่เปิดบริษัทขายโฆษณาเรียกว่า "ทำกิจการส่วนตัว" หรือเป็นพนักงานส่งเอกสารเรียกว่าทำอาชีพ "รับจ้าง" แต่เป็นผู้จัดการเรียกว่า "พนักงานบริษัท" ที่จริงแล้วคำเหล่านี้เป็นคำสนองอัตตาของเราทั้งสิ้น ดังนั้นบางทีเราทำแบบฝึกหัดลดอัตตาตัวเองโดยการเรียกลักษณะอาชีพของเราให้ตรงกับความเป็นจริงก็ทำให้อัตตาของเราบางเบาลงได้เหมือนกันครับ

สมัยผมหนุ่มๆ ผมอัตตาเยอะกับตัวตนและอาชีพนี้ พออายุมากขึ้นเห็นโลกมากเข้าอัตตาก็น้อยลงไปตามลำดับครับ

วิเคราะห์เข้าจริงๆ แล้ว ผมต้องมาขายแรงงานที่หาดใหญ่เพราะผมหางานทำที่ชุมพรไม่ได้ตามความต้องการที่มี เป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้ต่างกับแรงงานย้ายถิ่นตามโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเท่าไหร่ เพียงแต่ผมอยู่ในอุตสาหกรรมการศึกษาเท่านั้นเอง

เวลาผมเห็นข่าวว่าท่านผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมืองวิเคราะห์ถึงวิธีการที่จะทำให้กรรมกรตามโรงงานกลับบ้านเกิดโดยการหาอาชีพให้บ้าง เสริมอาชีพบ้าง ฯลฯ ผมก็แอบคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่าท่านเหล่านั้นอาจจะลืมไปว่าตัวท่านเองก็เป็นแรงงานย้ายถิ่นมาจากบ้านเกิดเหมือนกัน

คำถามที่น่าคิดคือ ถ้าท่านเองและลูกหลานท่านกลับไม่ได้แล้วท่านจะให้คนอื่นเขากลับได้อย่างไร?

เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบครับ คิดเล่นสนุกๆ ลับสมองมากกว่า เพราะบางทีถ้าเราเอาความคิดไปจริงจังกับเหตุการณ์ที่เราควบคุมไ่มได้ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเราเลย

ในวันนี้แรงงานย้ายถิ่นอย่างผมต้องกินมะพร้าวราคาแพง ผมลองคำนวนดูด้วยซ้ำว่าผมต้องทำงานเท่าไหร่เพื่อให้ได้มะพร้าวหนึ่งลูก ได้ตัวเลขที่น่าคิดทีเดียว ผมไม่รู้ว่าถ้าผมกลับไปทำสวนมะพร้าวแล้วใช้ความสามารถในการหาความรู้พลิกผันอะไรบางอย่างแล้วจะทำให้ผมมีคุณภาพชีวิตสูงขึ้นหรือแย่ลง

เราไม่มีทางรู้ ก็คงได้แต่เดากันไป

ฝรั่งมีสุภาษิตว่า "Grass is always greener on the other side of the fence" แปลว่า สนามหญ้าของเพื่อนบ้าน (ในอีกด้านหนึ่งของรั้ว) จะเขียวกว่าสนามหญ้าของบ้านเราเสมอ

หมายความว่ามนุษย์เรามักจะมองสิ่งที่ไม่ใช่ของเราหรือสิ่งที่เราไม่ได้ทำในมุมด้านดีแล้วมองข้ามด้านลบของสิ่งนั้น ในขณะสิ่งที่เราทำนั้นเรารู้ด้านลบของมันดีอยู่ทำให้เรามองข้ามด้านดีของมันไป

ในยุคปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าชีวิตชาวสวนน่าจะเป็นชีวิตที่มีความสุขดีมากกว่าชีวิตของคนทำงานกินเงินเดือนเพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ในขณะที่ชาวสวนก็มองว่าถ้ามีงานทำที่มีรายได้มั่นคงน่าจะดีกว่าชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความไม่แน่ไม่นอนของธรรมชาติ ต่างฝ่ายต่างก็มองในสิ่งดีของอีกฝ่ายและมองข้ามสิ่งดีของตัวเอง

เราไม่มีทางรู้จนกระทั่งเราได้ทำจริง และผมเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดดีที่สุดและไม่มีสิ่งใดแย่ที่สุด ก็คงต้องเรียนรู้ปรับตัวและอยู่กันต่อไปในโลกนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 500430เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ที่เมือง นคร มะพร้าว เยอะครับ แต่เป็น มะพร้าวกระทิ

เดี๋ยวนี้พ่อผมปล่อยให้มะพร้าวแก่คาต้นแล้วค่อยขายครับ ได้ราคาดีกว่ามะพร้าวอ่อนครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธวัชชัย สรุปว่า ควรมีความสุขกับปัจจุบัน อย่างนั้น นะครับ ..ทำให้ผมได้คิด ทั้งๆที่ก็รู้กันอยู่เต็มอกและก็มักจะลืมและเห็นหญ้าบ้านคนอื่นสวยงามกว่าของตนเองอยู่เรื่อยๆ ...จิตนี้น้า ช่างตะแคงอะไรเช่นนี้...ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ นะครับ มีความสุขกับวันอังคารนี้นะครับ

ที่นี่เราเรียกตัวเองว่า foreign talent แทนคำว่าแรงงานต่างด้วค่ะ ;))))

การศึกษาสูงๆ พรากผมให้ออกจากบ้านครับ

สวัสดีค่ะท่านBlank ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

มาชมสวนมะพร้าว และให้กำลังใจค่ะ

  • อาจารย์คิดละเอียดละออ งดงาม และมีสาระเยอะค่ะ
  • เกษตรกรน่าจะเป็นอาชีพที่รวยขึ้นๆ  เพราะที่ดินเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่ร่ำรวยสักที เหมือนชาวนาไทยไม่ร่ำรวย แต่โรงสีรวยเอา รวยเอา  (มาถึงยุคจำนำข้าว โรงสียิ่งรวย)
  • นานมาแล้ว พี่เคยเป็นชาวนานะอาจารย์ เวลาจะกินข้าวต้องนวดข้าวเอง ร่อนเศษฟางออก กอบข้าวเปลือกใส่ถัง หิ้วไปโรงสี กำเงิน 50 สตางค์ไปให้เถ้าแก่โรงสีเป็นค่าสีข้าว  ยายของพี่รำพึงทุกครั้งว่า "โรงสีได้รำข้าว ได้ปลายข้าว ไปแล้วยังต้องคิดเงินค่าสีข้าวเราอีก"
  • เดือนละ 2 ครั้งที่พี่ต้องไปซื้อรำข้าว ปลายข้าว จากโรงสีมาต้มเลี้ยงหมู (เออ มันก็เคยเป็นรำข้าว ปลายข้าวของเรานี่นะ)
  • ความเป็นเด็กทำให้เราไม่คิดอะไรมาก รู้แต่ว่า เพราะเราเป็นชาวนา เราถึงจน

เห็นด้วยครับ อาชีพเกษตรควรจะเป็นอาชีพที่ทำรายได้เลี้ยงตัวได้สบาย แต่ต้องมีปัญหาในหลายประเด็นที่ทำให้เกษตรกรมีปัญหาเช่นปัจจุบันครับ

ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญคือการขาดความรู้ในทางธุรกิจที่จะเท่าทันกับนักธุรกิจครับ เกษตรกรไม่รู้ว่าควรขายอะไรเท่าไหร่ในเวลาไหนและมีทางเลือกไหนบ้างครับ

อย่างที่บ้านผมนี้ ถ้าผมฮึดขึ้นมาหน่อย หาทางเอามะพร้าวมาส่งหาดใหญ่หรือแหล่งอื่นที่ราคาสูงกว่าก็น่าจะทำกำไรได้ดี แต่ก็ต้องเหนื่อยพอดูที่จะหาผู้รับส่งครับ

ที่จริงก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าคิดครับ ก็คงต้องช่วยกันคิดกันไปครับ

ใช่เลยค่ะ ใช้แรงงานอย่างหนักทุกวัน.. วันละหลายชั่วโมงเสียด้วย

แต่ทำไม๊ ทำไม "วันแรงงาน" ไม่ได้หยุดกะเค้าเลยคะอาจารย์

 

  • ขอบคุณครับ ได้ความคิด "แรงงานย้ายถิ่น"
  • ของผม "แรงงานอยากกลับถิ่น" แต่หากินกับท้องถิ่นไม่เป็น
  • ยิ่งถลำลึกจนกลับถิ่นไม่ได้เสียแล้ว

ดิฉันโชคดีคะอาจารย์ ที่ยังเป็นแรงงานที่พื้นที่ต้องการ

เวลาการทำงาน เกือบ ๓๐ ปี สำหรับการเป็นแรงงานให้ภาครัฐ ในฐานะพยาบาลในชุดสีขาว

เป็นอีกหนึ่งแรงงานที่ พื้นที่ สีแดงแห่งนี้ยังต้องการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท