การออกจากกับดักแห่งทุกข์ทางเศรษฐกิจ : ประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากเศรษฐกิจ (๑)


ในสังคมเศรษฐกิจส่วนประกอบของ “ความต้องการ” และ “การสนองตอบ” โดยที่มีกลไกในการทำให้บรรลุเป้าหมายได้แก่ “ราคาและการแลกเปลี่ยน” ซึ่งมีเงื่อนไขในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือ “เงิน” อาศัยในเหตุปัจจัยที่ไล่เรียงดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินเนื่องไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน ปรากฏการณ์เศรษฐกิจที่พันผูกวิถีชีวิตของมนุษย์เอาไว้ในสังคมล้วนเป็นการสั่งสมปัญหานำพามาสู่กระบวนการ “เกิดทุกข์”

 

         เศรษฐกิจโดยพื้นฐานที่มีความสำคัญกับมวลมนุษยชาติ สามารถพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่เป็นปรากฏการณ์อันผูกพันกับวิถีของการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นสาระสำคัญเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ “ความต้องการและการสนองตอบ” โดยเบื้องแรกมนุษย์นั้นมีความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นสำคัญอันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค หรือที่เรียกว่า “จตุปัจจัย” ครั้นเมื่อสังคมมีวิวัฒนาการอันนำไปสู่ความจำเริญมากขึ้น ความต้องการพื้นฐานดังกล่าวได้ก้าวกระโดดเข้าไปสู่มาตรฐานของการดำเนินชีวิตที่สูงขึ้นเพื่อแปรเปลี่ยนหรือยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะพึงสังเกตได้จากความหลากหลายของเทคโนโลยีและสินค้าที่มีอย่างมากมายเพื่อสนองตอบต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

 

         ในสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันนั้น  ความโลภ (โลภะ) ถือได้ว่าเป็นปฐมฐานที่บังคับ บีบคั้นให้ผลิต “ความต้องการ” อยากได้นั่น อยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งเป็นรากฐานแห่งโทสะ (โกรธ,โมโห) เมื่อไม่ได้สมใจปรารถนาทำให้เกิดการขัดเคืองใจไม่สบอารมณ์ นำพามาซึ่งความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนโมหะ (ความหลง) ถือได้ว่าเป็นแรงเสริมส่งสนับสนุนโลภะ (ความโลภ) อย่างเด่นชัดเจนที่สุด เมื่อมีความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ความหลงที่มีอวิชชา (ความไม่รู้ในสภาวธรรมตามจริง) เป็นหัวจักรก็จะลากจูงความคิดให้ไปเสพติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ทำให้เกิดความลุ่มหลงในวัตถุที่เสพบำรุงบำเรอว่า สภาวะเหล่านั้นคือความสุข ปลูกฝังหยั่งรากลึกลงไปในความรู้สึกที่แนบแน่น ทำให้พลังอำนาจแห่งโมหะแข็งแกร่งเสริมสร้างเป็นแรงขับเคลื่อนโลภะต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด...  

        เศรษฐกิจที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ ความต้องการกับการสนองตอบนั้น หากแม้นว่ามนุษย์ทุกคนเมื่อมีความต้องการในสิ่งใดแล้วสามารถเนรมิตสิ่งนั้นขึ้นมาเองได้สมใจปรารถนา ปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดขึ้น (การผลิต การแลกเปลี่ยนรวมทั้งเงิน ก็ไม่มีความจำเป็น) แต่ในความเป็นจริงเมื่อมนุษย์มีความต้องการก็จะพยายามดิ้นรนขวนขวายทุ่มเทกำลังแรงกายและสมองรวมทั้งเทคโนโลยี เพื่อที่จะแปรสภาพจากของสิ่งหนึ่งให้กลายไปเป็นของอีกสิ่งหนึ่งตามความต้องการ หรือที่เรียกกันว่า “กระบวนการการผลิต” นั่นเอง

         เมื่อมนุษย์มีการผลิต มนุษย์ไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าขึ้นมาทุกอย่างได้ตามใจที่ปรารถนา เพราะว่า มีแรงบังคับ บีบคั้นจากการจำกัดของทรัพยากร ในกระบวนการผลิตจึงมีความคิดในการวิเคราะห์ถึงเรื่อง “ความคุ้ม – ไมคุ้ม” รวมทั้ง "ทางเลือก - การเลือก" ในการใช้ทรัพยากรเพื่อมาผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งจากประเด็นปัญหาพื้นฐานที่ว่าดังกล่าวสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องจึงจำต้องมี “มูลค่าหรือราคา” ที่เปรียบเสมือนกลไกในการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน โดยที่มีเครื่องมือที่สำคัญอีกประการก็คือ “เงิน” ที่มีบทบาททำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปด้วยความคล่องตัวและความสะดวกยิ่งขึ้นนั่นเอง ซึ่งสามารถแสดงถึงความสัมพันธ์ของกระบวนการดังกล่าวได้ดังภาพ

                 

 

        ภาพ : ความสัมพันธ์และตัวเชื่อมส่วนประกอบของเศรษฐกิจ

 

         จากภาพ : ในเบื้องแรก เมื่อความต้องการมาผสานและบรรจบกับการสนองตอบแต่ยังไม่ถือว่าครบรอบแห่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเบื้องปลายท้ายสุดคือการบริโภค ดังนั้น กลไกทางด้านราคาและการแลกเปลี่ยนจึงถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรรสินค้าและบริการโดยมี “เงิน” เป็นเครื่องมือที่สำคัญในกระบวนการดังกล่าว

          เมื่อแก่นแท้ของความสัมพันธ์และกลไกในส่วนประกอบของเศรษฐกิจ “เงิน” ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลไก (ราคาและการแลกเปลี่ยน) ในการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบและความสัมพันธ์ดังกล่าว จะได้ว่า

     ๑.  สภาวะตัวการ ของเศรษฐกิจประกอบไปด้วย

          ๑.๑ ความต้องการ ซึ่งมีแรงบีบคั้น บังคับจาก “ความโลภ” เป็นสำคัญ

          ๑.๒ การสนองตอบหรือการผลิต ซึ่งมีแรงบังคับ บีบคั้นจาก “การจำกัดของทรัพยากร” เป็นสำคัญ

     ๒. สภาวะเงื่อนไข ของเศรษฐกิจประกอบไปด้วย

         ๒.๑ กลไกในการจัดสรรสินค้าและบริการก็คือ ราคาและการแลกเปลี่ยน  

         ๒.๒ เครื่องมือซึ่งก็คือ “เงิน”

 

          หากพิจารณาจากตัวสภาวะของเศรษฐกิจ ในภาคส่วนของ ตัวการและเงื่อนไข จะพึงเห็นได้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะถูกเพ่งพินิจโยนความผิดไปที่ตัวเงื่อนไขโดยหัวใจหลักก็คือ “เงิน” เป็นไปในลักษณะของทัศนะที่ว่า ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีมาก (น้อย) เกินไป จึงทำให้เกิดวิกฤติ แท้ที่จริงแล้วหากว่าเราเข้าใจในความสัมพันธ์และกลไกในส่วนประกอบของเศรษฐกิจตามจริง ก็จะรู้ได้ว่า “เงิน” เป็นเพียงเครื่องมือในภาคส่วนของเงื่อนไขในการทำให้กลไกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งสายไม่ขาดตอนเท่านั้นเองหาใช่ปัจจัยเหตุที่แท้จริงไม่

 

        "เงิน"  แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงตัว เงื่อนไข ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ถูกผลิตคิดค้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำให้กลไก (ราคาและการแลกเปลี่ยน) ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน ปัญหาทางเศรษฐกิจที่พ่นพิษอยู่ทั่วทุกมุมโลก เกี่ยวเนื่องจาก คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในส่วนประกอบของเศรษฐกิจตามจริง จึงทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เปรียบเสมือนเป็นการบิดเบือน ปิดบังอำพรางแก่นแท้ของปัญหาเอาไว้นั่นเอง

 

        การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยทั่วไปในปัจจุบันเป็นเพียงการผลักภาระปัญหาไปข้างหน้า เกี่ยวเนื่องจาก มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่ตัวเงื่อนไขซึ่งก็คือเงิน แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เหตุปัจจัยในสภาวะตัวการ (ความต้องการและการสนองตอบ) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปฐมฐานของกระบวนการทั้งหมด ดังนั้นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญจะซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะถูกบังคับ บีบคั้นจากวิกฤติธรรมชาติเป็นแรงหนุนส่ง

                

         ตัวการ (ความต้องการ + การสนองตอบ) และเงื่อนไข (ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน) ในความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจเมื่อพิจารณาเกี่ยวเนื่องกับ “สังสารวัฏฏ์” หรือที่เรียกว่า วัฏฏะ ๓ (ไตรวัฏฏ์ : วน ๓) ตามหลักพระพุทธศาสนา สามารถเชื่อมโยงได้ว่า

        ตัวการ : ความต้องการ       =   กิเลส

                    การสนองตอบ      =   กรรม (การกระทำหรือกระบวนการการผลิต)

       เงื่อนไข : ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน   =   วิบาก (ผล)

 

         การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหากแก้ที่เงื่อนไข (ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิบาก จึงเป็นเสมือนการแก้ปัญหาเพื่อก่อปัญหาในภายภาคหน้าไม่รู้จบ เกี่ยวเนื่องจาก สภาวะตัวการ (ความต้องการ + การสนองตอบ) ที่เป็นตัวสาเหตุหลักใหญ่ยังไม่ได้ถูกแก้ไขในเบื้องแรกนั่นเอง การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องตาม (สภาวะ) จริง ต้องแก้ที่ต้นเหตุ (ตัวการ : ความต้องการและการสนองตอบ) จึงจะถือเป็นกรอบของการแก้ปัญหาที่นำพาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

 

          ปฐมฐานของความต้องการได้ก่อกำเนิดความทุกข์ และการสนองตอบโดยการแสวงหาสิ่งที่จะมาบำบัด (เป็นความพยายามที่จะคลายทุกข์) ก็กลับกลายไปเป็นการสร้างทุกข์ขึ้นไปอีก เป็นไปในลักษณะของความพยายามที่จะปลดเปลื้องแก้ไขไถ่ถอนทุกข์ก็กลับกลายไปเป็นการสั่งสมทุกข์ขึ้นไปอีกโสตหนึ่ง ขยายกลายเป็นวงจรที่เข้มข้นซับซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งสภาพเช่นนี้ในทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า สภาพความเป็นไปในกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏฏ์ (กิเลส – กรรม – วิบาก) หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนแก่กัน เช่น เมื่อมีความต้องการ (กิเลส) อยากได้ จึงทำให้แสวงหาสิ่งที่นำมาบำบัด (ทำกรรม) เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเสพเสวยบำรุงบำเรอเมื่อสมปรารถนาได้รับความพึงพอใจสูงสุด (วิบาก) จึงเกิดแรงทะยานของความต้องการอยากได้ยิ่งขึ้นไป แล้วก็เหนี่ยวนำให้ทำกรรมและได้รับวิบากต่อไปอีก...

           หรือในทางตรงกันข้าม เมื่อมีความต้องการ (กิเลส) และได้แสวงหาสิ่งที่นำมาบำบัด (ทำกรรม) แต่ไม่สมปรารถนานำพามาไปสู่ความขัดเคืองใจสูงสุด (วิบาก) หรือทุกข์ ก็จะก่อเกิดกิเลสขึ้นใหม่ในรูปของโทสะ จึงเหนี่ยวนำให้ทำกรรมแล้วได้รับวิบากอีกแบบหนึ่งต่อไปอีก... เป็นต้น

 

********************************************************************************************************************

     ข้อพึงสังเกต : กิเลสทั้ง ๓ (โลภะ โทสะ และโมหะ) มีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

         ๑. ความโลภ (โลภะ) : ท่านว่า มีโทษน้อยแต่คลายช้า เป็นไปในลักษณะที่ว่าเมื่อความโลภก่อเกิดขึ้นมาในจิตใจโทษของมันจะมีไม่มากนัก ส่วนมากจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทรัพย์สินและของมีค่าแต่ทว่าเมื่อความโลภเข้าครอบงำแล้วก็จะตั้งมั่นแน่วแน่อยู่นานในจิตใจกว่าที่ไฟ (โลภะ)จะดับไปได้ เช่น เมื่อมีความโลภอยากได้เงินทองหรือทรัพย์สินมาก ๆ หากแม้ได้มาสมใจปรารถนาแล้วก็พอใจในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ความต้องการก็จะทะยานต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด...ดังคำที่ท่านว่า “ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อหรือมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำฉันใด คนโลภนั้นไซร้ก็ไม่เคยอิ่มด้วยอามิสฉันนั้น”

         ๒. ความโกรธ (โทสะ) : ท่านว่า มีโทษมากแต่คลายเร็ว เป็นไปในลักษณะที่ว่าเมื่อโทสะก่อเกิดขึ้นมาในจิตใจโทษของมันจะมีมากมายทั้งเกี่ยวเนื่องจากเรื่องทรัพย์สินและของมีค่ารวมถึงชีวิต แต่ทว่าเมื่อโทสะเข้ามาครอบงำแล้วก็จะตั้งมั่นอยู่ได้ไม่นานนักก็จะดับไปจากจิตใจ เช่น เมื่อมีความโกรธหรืออาฆาตก็อาจจะทำให้ควบคุมสติและอารมณ์ของตนเองไม่ได้ทำให้เกิดการทำลายทรัพย์สินของมีค่าและร้ายแรงสุดอาจถึงกับชีวิตแต่พอได้ระบายออกแล้วอารมณ์ร้ายก็จะคลายลง ดังข่าวสารที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนั้นเอง

         ๓. ความหลง (โมหะ) : ท่านว่า มีโทษมากและคลายช้า เป็นไปในลักษณะที่ว่าเมื่อโมหะก่อเกิดขึ้นมาในจิตใจ โทษของมันจะมีมากมายทั้งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทรัพย์สินและของมีค่ารวมถึงชีวิตและที่สำคัญโมหะนั้นเมื่อเข้ามาครอบงำนำทางแล้วก็จะตั้งมั่นอยู่นานกว่าที่จะดับไปจากจิตใจ เกี่ยวเนื่องจาก โมหะ (ความหลง) ถือเป็นเชื้อโดยตรงที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนโลภะและโทสะนั่นเอง เช่น เมื่อมีความหลง (โมหะ) ที่เชื่อว่า บาป – บุญ คุณ – โทษ ไม่มีจริงก็จะยิ่งทำให้เกิดการกระทำที่ล่วงล้ำละเมิดศีลธรรมนำไปสู่ความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตที่เกิดจากการปล้น จี้ ฆ่า ข่มขืน เป็นต้น

              โดยสรุป : โลภะ คือความชอบใจ ติดใจ อยากได้นี่ อยากได้นั่นเป็นรากฐานแห่งโทสะเป็นบ่อเกิดของโทสะ เช่น เกิดชอบใจอยากได้สิ่งใดก็ตามเมื่อไม่ได้ดังใจชอบก็เสียใจ น้อยใจ คือเกิดโทสะขึ้น หรือติดใจชอบใจในสิ่งใดอยู่สิ่งนั้นกลับมีอันเป็นให้พลัดพรากจาก สูญไป ก็เสียดาย เสียใจ กลุ้มใจ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นถ้าไม่มีโลภะซึ่งเป็นต้นเหตุแล้วโทสะอันเป็นปลายเหตุก็ย่อมไม่มีเป็นธรรมดา ส่วนโมหะนั้นย่อมต้องเกิดพร้อมกับโลภะหรือโทสะโดยมีโลภะหรือโทสะเป็นตัวนำโมหะเป็นตัวสนับสนุน เมื่อไม่มีโลภะตัวนำแล้วโมหะตัวสนับสนุนก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งที่จะสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันนั่นเอง

 

  “สังสารวัฏฏ์” หรือที่เรียกว่า วัฏฏะ ๓ (ไตรวัฏฏ์ : วน ๓) คือ

            ๑. กิเลส คือ ตัวสาเหตุผลักดันให้คิดปรุงแต่งกระทำการต่าง ๆ เรียกว่า กิเลสวัฏฏ์

            ๒. กรรม คือ กระบวนการกระทำหรือกรรมทั้งหลายที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไปในลักษณะต่าง ๆ เรียกว่า กรรมวัฏฏ์

            ๓. วิบาก คือ สภาพชีวิตที่เป็นผลแห่งการปรุงแต่งของกรรม (การกระทำ) และกลับมาเป็นเหตุปัจจัยในการเสริมสร้าง สนับสนุนเกื้อกูล “กิเลส” ต่อไปได้อีก เรียกว่า วิปากวัฏฏ์

           ซึ่งวัฏฏะทั้ง ๓ นี้ ก็จะหมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนจุนเจือแก่กัน เป็นไปในลักษณะของวงจรที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย

 

 

 

*** บันทึกนี้ขอขอบพระคุณ อาจารย์ kwancha และ คุณปริม รวมทั้งกัลยาณมิตรท่านอื่น ๆ ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ


 

 

หมายเลขบันทึก: 500361เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2012 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

               

ชอบตรงที่เป็นDiagram มากค่ะ.....เข้าใจง่าย...ได้ใจความ มากค่ะ

ขอบคุณบทความดีดีมีคุณภาพนี้ค่ะ

                

 

     มหัศจรรย์แ่ห่ง "การกอดด้วยรักค่ะ" (Hugs by love is magical)

 

ขอบพระคุณ อาจารย์ P' Ple มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆ เสมอ

....ผมแวะไปในวงโคจรอ้อมกอดของ (บันทึก) P' Ple มาแล้วครับ...อบอุ่นมาก...(๕๕๕)

       ขอบพระคุณมากครับ

คุณจตุเศฐษธรรม@นำ หลั กธรรมมา บวกกั บเศรษฐศาสตร์ ได้น่าอ่านมากนะคับ@

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

การแก้ปัญหาที่สาเหตุทำให้เรานอนหลับสนิทและสบายในตอนกลางคืนนะคะ

ยิ่งอ่านบทความของอาจารย์ยิ่งทำให้รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรณรงค์ให้ชาวไทยมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

และดีใจที่บ้านเราเป็นเมืองพุทธ ขอเพียงเราน้อมนำคำสอนขององค์พระศาสดามาปฏิบัติ ชีวิตเราก็จะสงบสุขและปัญหาต่างๆ ก็จะลดลง

เพราะในที่สุด YOU CAN NEVER GET ENOUGH OF WHAT YOU DON’T NEED....ดังที่ Mary Ellen Edmunds กล่าวไว้

ขอบคุณบทความดีดีที่ให้ความกระจ่างและความมั่นใจนี้ค่ะท่านอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์จัตุเศรษฐธรรม,

อาจารย์คะ..ขอบพระคุณค่ะ ..สำหรับบันทึกที่สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างปลอดภัยด้วยเศรษฐธรรม และกรุณาขยายความคำตอบในอนุทิน   "บางคราวเมื่อแปลงค่าผิดเป็น...“สิ่งไหนที่ต้องการ สิ่งนั้นก็คือความจำเป็น แต่สิ่งไหนที่จำเป็น (ตามจริง) อาจไม่ใช่ในสิ่งที่ต้องการ”   อืมม์...เริ่มเห็นแสงรำไรปลายอุโมงค์แล้วหล่ะค่ะ ...ทางออกจากกับดักทุกข์ทางเศรษฐกิจ และหากจะไม่ให้แปลงค่าผิดไป  ควรปฏิบัติและฉลาดเลือกอย่างไร??

จากรายละเอียดในบันทึกนี้ เห็นทีจะต้องฝึกอย่างเข้มข้นนะคะ ในการตัดกิเลส (ตัวการที่เป็นความต้องการและการสนองตอบ) ซึ่งเป็นอาหารของอวิชา ...ตัดวงจรไตรวัฏฏ์ ไ่ม่ให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อผดุงความสมดุลและยั่งยืนในชีวิต....เศรษฐธรรม นำใจ :-))

ขอบคุณ คุณแสงแห่งความดี มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดเห็นที่ดี ๆ อยู่เสมอ...

ปล. ภาพสวยมากครับใน  เสพงานศิลป์ของน้องชายผ่าน gotoknow.org จากความตั้งใจของอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ขอบคุณ คุณปริม และ อาจารย์ kwancha มากครับสำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอมารวมทั้งความคิดเห็นดี ๆ ที่มีมาฝากอยู่เป็นประจำ

เห็นด้วยกับคุณปริมและอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง...จริง ๆ แล้วหากจะว่าไปเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (ทุนนิยม) กับเศรษฐศาสตร์กระแสรอง (เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐศาสตร์แบบคานธี) มีมุมมองเหมือนกัน คือ ทรัพยากรมีจำกัดแต่ความต้องการของมนุษน์มีไม่จำกัด จะแตกต่างตรงที่การบริหารจัดการ คือ

        - เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มองว่าความต้องการของมนุษย์หรือปัจเจกชนเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้หรือนัยก็คือ บริหารจัดการยาก ดังนั้นจึงปล่อยความต้องการให้ทำงานเต็มที่ โดยไปมุ่งเน้นที่การบริหารจัดการทรัพยกรที่มีอยู่อย่างจำกัดแทน นัย คือ มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ด้วยเทคโนโลยี นั่นเอง...

         - เศรษฐศาสตร์กระแสรอง มองว่าความต้องการของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้ (ถึงแม้จะยาก)...โดยเชื่อมั่นศักยภาพในตัวของมนุษย์...มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แต่สามารถที่จะเป็นผู้รู้ได้จากการเรียนรู้ทั้งจากในตำรา ประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นก็คือความสามารถในการฝึก พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ คำศัพท์ที่แท้ของท่านว่า "ทมะ" แปลว่า ผู้ที่จะพึงฝึก คือ ฝึกได้หรือต้องฝึก และฝึกได้จนถึงขั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ มองอีกแง่หนึ่งก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และจะประเสริฐสุดได้ด้วยการฝึก มนุษย์จึงมีศักยภาพสูงสุดในการฝึก ซึ่งหมายถึง การพัฒนาตน...ดังนั้น ความต้องการก็สามารถที่จะบริหารจัดการได้ให้อยู่ในมิติของความพอประมาณ สมเหตุสมผล สมดุล เพื่อเสริมสร้างเป็นภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดพายุหรือสึนามิทางเศรษฐกิจ

    โดยสรุปสาระสำคัญ ก็คือ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมุ่งบริหารจัดการความจำกัดของทรัพยากรโดยมีเครื่องมือคือเทคโนโลยีที่ (มองว่า) สามารถเอาชนะความจำกัดของเหล่านั้นได้... ส่วนเศรษฐศาสตร์กระแสรองมองเน้นที่การบริหารจัดการความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์เป็นเบื้องแรกเพื่อส่งผ่านในการบริหารจัดการทรัพกรที่มีอย่างจำกัดให้สอดคล้องและสมดุลเป็นเบื้องถัดไป...


        

 

สวัสดีค่ะอาจารย์จัตุเศรษฐธรรม,

อาจารย์คะ... เข้ามาอ่านคำอธิบาย ขยายความมากขึ้น ทำให้้เข้าใจได้ดีขึ้น และเชื่อมั่น "ทมะ"..จะฝึกอย่างเข้มข้นต่อไป ๆ ๆ ..ขอบพระคุณค่ะ .:-))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท