เวทีแห่งปัญญา


พี่ชลิต เกษรสวัสดิ์ ที่ร่วมเดินทางไปกับผมถึงกับประทับใจในครั้งแรกที่ได้เห็น และได้ร่วมลงมือทำเองด้วย จนมีคำถามกับผมในระหว่างที่ประชุมว่า “ทำไมที่บ้านเราเขาถึงไม่พูดกันอย่างนี้ เวลามีประชุม”

     วันนี้ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเพื่อพัฒนาชุดโครงการวิจัยสร้างความรู้ เรื่องภูมิปัญญาและทางเลือกในการดูแลคนพิการ ณ ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งจัดโดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) ก็มีผู้รับผิดชอบโครงการต่าง ๆ ที่ถูกเชิญเข้ามาเพื่อนำเสนอแผนงานโครงการที่จะขอรับการสนับสนุน เช่น
     1. โครงการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการด้วยกิจกรรมละครสอนธรรมะ โดยทีมงานโรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ เป็นการเน้นที่ศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหวร่างกาย (body movement) มุ่งหวังจะฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย จิตใจ และอารมภ์ความรู้สึกอย่างเชื่อมสัมพันธ์กัน โครงการนี้ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แนะนำให้ทบทวนวรรณกรรมเพิ่มเติม และถือว่าถ้าทำได้จะเป็นนวตกรรมของการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ รายละเอียดติดตามได้จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
     2. โครงการพัฒนาการเรียนรู้และศูนย์บริการด้านการแพทย์พื้นบ้านของวัดหนองหญ้านาง จว.อุทัยธานี โดยมุ่งหวังให้วัดหนองหญ้านาง ที่ซึ่งให้บริการด้านการแพทย์พื้นบ้านมานานแล้วเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งบริการทางด้านการแพทย์พื้นบ้าน โครงการนี้โดยเนื้อหาแล้วผู้ทรงคุณวุฒิได้ท้วงติงเรื่องการใช้งบประมาณไปพัฒนาเชิงโครงสร้างเสียส่วนใหญ่ จึงได้แนะนำให้ปรับเปลี่ยนเป็นการเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ ดังเช่นที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้ตั้งประเด็นคำถาม และมีการอภิปรายกัน คือ “โจทย์วิจัยนี้ของใคร (ควรจะเป็นของชุมชน?)”  “ผู้พัฒนาโครงการเข้าใจโจทย์ผิด คิดว่าเป็นโจทย์ปฏิบัติการฯ” “คนนอกต้องเข้ามาช่วยพัฒนา ส่วนที่เขาขาดและเขาต้องการ” “สสจ.-เภสัชเข้าไปรบกวนในการทำงาน (หลวงพ่อไม่มีใบประกาศฯ อะไร)”  “อย่าทำเพียงได้ชื่อว่าเข้าไปขโมยความรู้ แล้วออกไปไม่ได้ให้อะไรเลย” “ตั้งโจทย์ใหม่ว่าจะดำเนินการให้เกิด สถาบันการแพทย์พื้นบ้านในชุมชนได้หรือไม่ อย่างไร” “ตัวแทนหลวงพ่อ มีได้หรือไม่ โดยที่มีศรัทธาด้วย” “ต้องประชาสัมพันธ์+เพิ่มเครือข่ายให้มากขึ้น” “องค์ความรู้ที่มีมากเพียงอย่างเดียว ไม่ได้การันตีได้ว่าจะเกิคความยั่งยืน แต่องค์ความรู้นั้นน่าจะได้มีชีวิตชีวากับชุมชนด้วย” “กรอบในการดำเนินงานเพื่อคนพิการ ที่นี่ทำได้อย่างไรบ้าง” “Service Mind มีอย่างไรบ้าง “มี Resource Management อยู่ในโครงการ” “แนะนำให้เชื่อมโยงกับ สปสช., สสส. => เน้นไปที่การจัดบริการ” รายละเอียดติดตามได้จากศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคเหนือ
     3. โครงการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการด้วยภูมิปัญญาการแพทย์ท้องถิ่นอีสาน จว.อุบลราชธานี เป็นโครงการที่เน้นเพื่อพัฒนาวิจัยกระบวนการเรียนรู้และองค์ความรู้พื้นบ้านอีสาน การสร้างเครือข่าย และการเชื่อมต่อไปยังกลุ่มเยาวชน ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ให้คำแนะนำ เช่น การตีประเด็นเหล่านี้ให้ดี คือในด้าน Research จะเป็นการจัดการความรู้แบบกว้าง “เขาใช้ Methdology ตามแบบเขาอย่างไร” ในด้านการ Development เป็นการสร้าง Networking ที่เป็นเครือข่ายหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะได้องค์ความรู้ใหม่ เช่นการวินิจฉัยโรค ฯลฯ และเป็น wisdom รายละเอียดติดตามได้จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
     4. การจัดการความรู้ (KM) การดูแลความเจ็บป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต จว.เชียงใหม่ เป็นโครงการที่เน้นไปที่การพัฒนารูปแบบการจัดการองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนากับการดูแลสุขภาพคนป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต และเพื่อสังเคราะห์แนวทาวการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับความเจ็บป่วย และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค โครงการนี้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้คำแนะนำ และอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะวิธีการที่จะสังเคราะห์องค์ความรู้ เช่น “โจทย์มาจากที่ใด?” ในพื้นที่ หรือนักวิจัยคนนอก “ทีมนักวิจัยควรเพิ่มเติมการจัดการ ความรู้ให้กับชุมชนด้วย นอกจากการวิจัยอย่างเดียว” “ศึกษาการจัดการความรู้ ของกลุ่มหมอเมือง ? ถูกจัดการอย่างไร? โดยผู้ป่วย โดยหมอเมือง “ใช้วิธีอะไร มีระเบียบขั้นตอนอย่างไร สังคายนา? ชำระ สัมมนา ใช้วิธีสังเกตให้เห็นของจริงด้วย “ทุกวันนี้ความรู้มีเยอะ แต่จัดการดีแล้วหรือยัง อาจจะไม่ต้องทำวิจัยใหม่” รายละเอียดติดตามได้ที่มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
     5. โครงการสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและทางเลือกสุขภาพ ซึ่งเน้นที่การวิเคราะห์ภาพรวมขององค์ความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในชุมชน การกำหนดวาระการวิจัยและการปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพคนพิการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน อันจะนำไปเป็นแนวทางในการจัดการองค์ความรู้ใหม่ที่ผสมผสานภูมิปัญญาความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ให้เกิดเป็นศักยภาพของชุมชนเพื่อดูแลคนพิการ น่าเสียดายที่โครงการนี้ผมไม่สามารถอยู่ต่อเพื่อฟังการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิได้ (กลัวตกเครื่อง และวันพรุ่งนี้มีประชุมที่สำนักงานฯ วาระการระดมสมองเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนจังหวัดพัทลุง) ต้องรีบกลับ รายละเอียดติดตามได้จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
     สำหรับจังหวัดพัทลุง ที่ผมได้นำโครงการไปเพื่อร่วมอภิปรายคือ โครงการพัฒนาหมอนวดแผนไทย เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพฯคนพิการ ตามหลักการเวชศาสตร์ฟื้นฟู ในส่วนของรายละเอียดตลอดจนประเด็นที่ผู้ทรงคุณวุฒิแนะนำ คิดว่าจะต้องเปิดบันทึกใหม่เพื่อนำเสนอไว้อีกครั้ง (เรื่องมันยาวครับ)
     สำหรับวันนี้ผมคิดว่าเป็นเวทีแห่งปัญญาจริง ๆ และไม่เครียดด้วย พี่ชลิต เกษรสวัสดิ์ ที่ร่วมเดินทางไปกับผมถึงกับประทับใจในครั้งแรกที่ได้เห็น และได้ร่วมลงมือทำเองด้วย จนมีคำถามกับผมในระหว่างที่ประชุมว่า “ทำไมที่บ้านเราเขาถึงไม่พูดกันอย่างนี้ เวลามีประชุม” ผมตอบไปว่า “บ้านเราถ้าพูดกันอย่างนี้ ออกจากห้องประชุมไปแล้ว ก็ยังโกรธอยู่ ใครจะกล้าพูด” [แล้วเราก็หัวเราะน้อย ๆ กัน] ผมจึงคาดหวังว่าพี่ ๆ น้อง ๆ อีกเยอะที่หากได้มาเห็นบรรยากาศ จะได้เริ่มกล้ามากขึ้นในบ้านเรา


หมายเลขบันทึก: 4997เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2005 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท