กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๙๒) : หน่ออ่อนของความหวัง


 

ภาคเรียนฉันทะที่ผ่านมาเด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องพืช ซึ่งนักเรียนทุกคนจะได้ปลูกพืชจากเมล็ดที่ตัวเองได้เตรียมมา  เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการดูแลรักษาต้นไม้  ให้เจริญเติบโต  บางคนก็ประสบความสำเร็จ  บางคนก็ล้มเหลว และก็ไม่ยอมแพ้ขอปลูกใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด 

 

ก่อนปิดภาคเรียน คุณครูแคท – คัทลียา รัตนวงศ์ และ คุณครูต้อง – นฤตยา ถาวรพรหม ให้นักเรียนนำกระถางต้นไม้ของตนเองกลับไปดูแลต่อที่บ้าน และก่อนจากกันไปก็ให้ทุกคนถ่ายรูปกับกระถางต้นไม้ของตนเองไว้ เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตเมื่อเปิดภาคเรียน คือ ในอีก ๗ วันข้างหน้า

 

มีเด็กๆ ห้อง ๒/๔ หลายคน วิ่งมาบอกกับครูแคทในวันสุดท้ายว่า “หนูยังไม่ได้ถ่ายรูปเลย” บางคนมาบอกว่า “เมื่อวานหนูลืมเอาต้นไม้ไปดูแลต่อที่บ้าน” พอได้ยินแบบนั้นก็รู้สึกดีใจว่า เด็ก ๆ เขาก็ความรับผิดชอบโดยที่เราไม่ต้องตามไปเสียทุกเรื่อง  และที่ทำให้อมยิ้มก็คือ แทนที่เขาจะบอกว่า “หนูลืมเอาต้นไม้กลับบ้าน” แต่เขากลับพูดว่า “หนูลืมเอาต้นไม้กลับไปดูแลต่อที่บ้าน” ทั้งๆ ที่ ครูถามออกไปเพียงสั้นๆ ว่า “หนูเอาต้นไม้กลับบ้านหรือยังคะ”

 

ช่วงเวลา ๗ วันที่เด็กๆ นำต้นไม้กลับไปดูแลเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ทำให้ครูได้เห็นอะไรดี ๆ อยู่หลายอย่าง

 

สัปดาห์แรกที่เปิดเทอมมีเด็กนำต้นไม้กลับมาประมาณ ๔-๕ คน ซึ่งมีทั้งต้นเดิม และต้นใหม่ ที่ต้องปลูกใหม่เพราะต้นเดิมได้ตายไปเสียแล้ว  ส่วนที่เหลือครูต้องเตือนให้นำกลับมาโรงเรียน...

 

โฟกัส  นำต้นไม้กลับมาพร้อมกับคำบอกเล่ายืดยาวว่า  ต้นไม้ต้นเดิมมันโตขึ้นมานิดเดียวเองครับ  แต่ว่ามีต้นไม้อีก ๕ ต้นที่กำลังงอก... ครูแคทก็เลยงงว่า  ๕ ต้นที่กำลังงอกนี้มาจากไหน  ถามไปถามมาจึงทราบว่า เป็นต้นเดิมที่ปลูกครั้งแรก  ซึ่งตอนนั้นคิดว่าไม่งอกแล้ว  จึงปลูกต้นใหม่  พอเอากลับไปดูแลที่บ้าน คงดูแลใกล้ชิดกว่าที่โรงเรียนเสียอีก เมล็ดเหล่านั้นจึงค่อยๆ งอกออกมา

 

เย็นวันหนึ่งครู เดินไปเห็นจินจินและพิงค์  รดน้ำต้นไม้อยู่  ก็เลยถามว่า “ทำอะไรกันอยู่คะ” เด็ก ๆ ตอบว่า “ดูแลต้นไม้ค่ะ” (พวกเขาใช้คำว่า “ดูแล” ไม่ใช่ “รดน้ำต้นไม้”) ก็เลยขอถ่ายรูปไว้

 

พราว เล่าให้ฟังว่า “ต้นมะเขือเทศของหนูโตแล้ว  แต่ยังไม่ออกผลเลย  แต่ใบมันเหลือง ๆ แล้ว  หนูกลัวมันตายค่ะ”  ครูแคทก็เลยถามว่า “ไหนคะ  ต้นไหน” พราวตอบว่า “อยู่บ้านค่ะ” “อ้าวทำไมไม่เอากลับมาล่ะคะ” “หนูกลัวมันตายค่ะ”

 

จำนวนต้นไม้ที่ได้กลับมาคงไม่ครบอย่างแน่นอน  เพราะบางต้นตายไป  บางต้นเจ้าของลืมไปแล้วว่าไปวางไว้ที่ไหน  แต่...ก็มีบางคนที่ไม่เอามาเพราะเป็นห่วงต้นไม้ของตัวเองก็มี

 

แม้ว่าเด็กๆ จะรู้ว่า การที่มีต้นไม้กลับมาส่งคุณครูในตอนเปิดเทอมนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ และเป็นสิ่งที่ครูคาดหวังแต่สำหรับพราวสิ่งที่สำคัญกว่าคือความอยู่รอดของต้นไม้ที่เขาดูแล   

 

ครูแคทไปอ่านหน้าปกแฟ้มสะสมงานของเด็กๆ แล้วพบหน้าปกของโฟกัสที่เขาเขียนถึงตัวเองว่า

 

สีที่ชอบคือ สีเขียว

อาชีพที่ใฝ่ฝันคือ นักปลูกต้นไม้

บุคคลต้นแบบในชีวิตคือ ครูแคท

แรงบันดาลใจคือ ครูแคท

 

ส่วนในข้อสอบวิชาจินตทัศน์ที่ให้ต่อเติมรูปภาพสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมและวงกลม ที่วางอย่างไม่เป็นระเบียบเหล่านั้นตามจินตนาการ ในจินตนาการของโฟกัสภาพเหล่านั้นคือ ตึกพิทักษ์โลกรักสิ่งแวดล้อม

 

การเรียนรู้ที่เริ่มจากแรงบันดาลใจ  เกิดฉันทะ  และเพียรพยายามดูแลเอาใจใส่จนเกิดความรักในการงานที่ทำ  จนกระทั่งเรื่องที่ทำอยู่กลายเป็นเนื้อเป็นตัวของเขานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก  แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย...

 

หมายเลขบันทึก: 499670เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท