ธรรม ชื่อ ทุกข์


จากคำตรัสของพระพุทธองค์ที่ว่า

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

มีคำที่น่าสนใจคือ คำว่า ทุกข์ , สังขาร ,เที่ยง , อนัตตา แต่ในที่นี้ขอให้ความสนใจอยู่เพียงคำว่า ทุกข์ และ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา โดยสังเขป

ที่ว่าธรรมทั้งปวงนั้น เนื่องจากทุกปรากฏการณ์หรือสภาวะเรียกว่า ธรรม ทั้งสิ้นเนื่องจาก ธรรม คือ ทุกสิ่ง

ธรรมในพระพุทธศาสนา

ธรรมในพุทธศาสนา เมื่อกล่าวตามหลักแห่งพุทธศาสนา คำว่า ธมฺม ในภาษาบาลี ย่อมเล็งถึงของทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ยกเว้นอะไร และแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ตัวธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติทั้งหมด เรียกว่า สภาวธรรม

ข. กฎธรรมชาติทั้งหมด เรียกว่า สัจจธัมม์

ค. หน้าที่ของมนุษย์ตามกฎธรรมชาติ เรียกว่า ปฏิปัติธัมม์

ง. ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่ เรียกว่า วิปากธัมม์

พุทธทาสภิกขุ การทำงานคือการปฏิบัติธรรม หน้า ๑๔

ธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ มีจุดแยกคือ ธรรมใดที่มีลักษณะของความเป็นอนัตตา ** แต่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เรียก สังขตธรรม ส่วนธรรมใดแม้จะมีลักษณะของความเป็นอนัตตา แต่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เรียก อสังขตธรรม

ส่วนคำว่า ทุกข์ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณาตัว ทุกข์ ด้วย ลักษณะหรืออาการที่ปรากฏแก่ทุกสรรพสิ่ง (๑) และ ลักษณะหรืออาการที่ปรากฏแก่สัตว์คือมนุษย์ (๑) และ โดยสภาพที่ปรากฏ (๑)

เมื่อพิจารณาทุกข์ด้วยลักษณะที่ปรากฏโดยทั่วไป

ข้อกำหนดว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ มีลักษณะที่จัดเข้าในลักษณะของทุกข์ จะพบว่า ทุกข์มีลักษณะ ๓ คือ

ทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
๑. ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
๒. ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
๓. เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
๔. แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข;

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์

ดังนั้น ทุกสรรพสิ่งทั้งที่เราจับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ทุกขลักษณะนี้ เช่น ก้อนหิน อาคาร ร่างกายของเรา หรือแม้แต่ความสุข ก็จัดเป็นทุกข์ด้วย เพราะไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดเวลา

ทุกข์เมื่อพิจารณาด้วยลักษณะหรือสภาวะอย่างนี้ จะพบว่า ทุกขลักษณะนี้พบได้ทั่วไปทั้งในอุปาทินนกสังขาร (สังขารที่มีกรรมหรือใจครอง, หรือ สังขารถูกยึดถือด้วยอุปาทาน) และอนุปาทินนกสังขาร (สังขารที่ไม่มีกรรม หรือ ใจ ครอง, หรือสังขารที่ไม่ถูกยึดด้วยอุปาทาน)

ทุกข์เมื่อพิจารณาด้วยการปรากฏแก่สรรพสิ่งอย่างนี้ เรียก ทุกข์ในไตรลักษณ์

เมื่อพิจารณาด้วยลักษณะที่ปรากฏแก่สัตว์

คือ สภาวะที่เป็นทุกข์ คือ สภาวะที่คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แปรปรวนไปตลอดเวลา ที่ปรากฏ หรือ อาจปรากฏนั่นเอง แต่ จำเพาะว่าเกิดแก่สัตว์ หรือ ในอุปาทินนกสังขารเท่านั้น ซึ่ง พระพุทธองค์ตรัสทุกข์นี้ว่า ทุกขสัจจ์ อันหมายถึง ทุกข์ หรือ ทุกขสัจจ์ ในอริยสัจจ์ ๔

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้จำแนกทุกข์ในมนุษย์อันเกิดแต่เหตุไว้ ๑๐ ลักษณะ คือ

สภาวทุกข์ ทุกข์ประจำสังขาร คือ ความเกิด แก่ และตาย

อาหารปริเยฏฐิทุกข์ - ทุกข์ในการหาเลี้ยงชีพ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีวิต

นิพัทธทุกข์ - ทุกข์เนืองนิตย์ที่มีขึ้นประจำวัน เช่น การปวดอุจจาระ การปวดปัสสาวะ ความหิว ความร้อน ความหนาว

ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร คือ ทุกข์ที่มีขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น โสกะ - เศร้าใจ, ปริเทวะ - คร่ำครวญ, ทุกขโทมนัส - ถูกบีบคั้นทางใจ, อุปายาส - ใจแห้งเหี่ยว

พยาธิทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความป่วยไข้ จากอุบัติเหตุต่างๆ

สหคตทุกข์ - ทุกข์ที่มาด้วยกัน เช่น มีบ้านหลังใหญ่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายดูแลมาก

วิวาทมูลกทุกข์ - ทุกข์มีการวิวาทเป็นมูล

สันตาปทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความรุ่มร้อน กระวนกระวายเพราะ ราคะ โทสะ โมหะ

วิปากทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากผลของกรรม หรือผลอกุศลกรรมที่มาถึง

ขันธทุกข์ - ทุกข์ทั้งหมดนี้ เกิดเพราะ (ทุกข์เพราะมีอุปาทานในขันธ์ 5) เพราะเกิดความยึดถือมั่นในตัวตน ของตน จึงทำให้เกิดทุกข์

เมื่อพิจารณาด้วยสภาวะ

ทุกข์ คือสภาพที่ทนได้ยาก ความรู้สึกไม่สบาย ได้แก่ ทุกขเวทนา แบ่งเป็น 3 คือ ทุกข์ สุข และ อทุกขมสุข หรืออาจแบ่งย่อยออกไปได้อีกเป็น ๕ คือ ทุกข์ (ทุกข์กาย) โทมนัส (ทุกข์ใจ) สุข (สุขกาย) โสมนัส (สุขใจ) และ อุเบกขา

พระพุทธองค์ได้สอนให้เรารู้จักทุกข์ทั้งโดย รู้จักที่ตัวสภาวะทั้งหมด (สัจจญาณ) หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อทุกข์ คือ กำหนดรู้(กิจญาณ) และให้รู้ว่าหน้าที่ต่อทุกข์ใดได้กำหนดรู้แล้ว (กตญาณ)

รวมไปถึงได้ปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจจ์ทั้ง ๔ จนทุกข์ประเภทนั้นดับลงแล้ว

หากหน้าที่ต่อทุกข์ สมุทัย และมรรค ทั้งมวลได้กระทำจนหมดสิ้นแล้ว ก็หมดงานที่จะต้องทำอีกต่อไป (ปรินิพพาน)

เรื่องของทุกข์มีมากมาย เพียงเรื่องราวประมาณนี้ที่นำมาบันทึกไว้ คงไม่สามารถประมวลลักษณะและอาการของ ทุกข์ ได้ทั้งหมด

เพราะทุกข์ คือเรื่องราวใหญ่โตที่มนุษย์ต้องค้นหาสาเหตุ (สมุทัย) และนำมาสู่กระบวนการปฏิบัติเพื่อความดับ (มรรค) เพื่อบรรลุผลคือภาวะไร้ทุกข์ (นิโรธ) ซึ่งเราอาจจะใช้เวลาไปอีกแสนนาน

***********************

*อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา,
ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ
๑. เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ
๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง
๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ
๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นตามธรรมดาของมัน เช่น ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา;

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์

หมายเลขบันทึก: 499504เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ผมเริ่มคิดว่าการมาถ่ายทอด ธรรม นั้นเป็นภาระหน้าที่ แต่การถ่ายทอดจากผู้ที่เริ่มมาปฏิบัติอย่างผม มันไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ

มองเห็นภาพ จาก ชื่อบันทึกของ พี่ณัฐรดา "ธรรม ชื่อ ทุกข์"

เมื่อผมได้ โอปนยิกธรรม แล้ว ผมกำลังทำตัวเองให้เป็น ทุกข์ แทนที่จะ "ละ" กับ "ยึด"

มันก็แปลกนะครับ เดี๋ยวนี้ในชีวต.....ทุกเรื่องที่มาประสบ มันเหมือนกับ มันถูกจัดวางลำดับไว้ให้เราลงตัวมาก........มีสงสัย ครู่เดียวมีคำตอบ มีคำตอบ มีสงสัย ครู่เดียว มีคนหรือเหตุการณ์ชี้ทาง ....... เหมือน jigsaw ที่เราค่อยๆ ปะติตปะต่อ........อย่างลงตัว

 สวัสดีครับ
 ขอเสริมนิดหนึ่งอะนะครับ ว่าพี่ตั้งชื่อหัวข้อขัดแย้งกันเองนะครับ ธรรม ชื่อ ทุกข์ คงจะไม่จริงนะครับ แต่ถ้าทุกข์ เป็นชื่อธรรมนี้อะ ใช่แน่นอนครับ เพราะสภาพหรือสวภาวะของคำว่าธรรมเป็นสากลมากกว่าคำว่าทุกข์ ซึ่งทุกข์เป็นเพียงหัวข้อย่อยของธรรมไม่สามารถที่จะนำมาอธิบายเป็นหัวข้อเทียบกันได้ 

 คำว่าทุกข์แท้ที่จริงเป็นเพียงชื่อที่ใช่เรียก สวภาวะที่เกิดขึ้นนะครับ แท้ที่จริงมันไม่มีลักษณะ ไม่มีสภาพ  แต่ในทางธรรม เมื่อจะอธิบายให้คนเห็นก็ต้องอธิบายเป็นนามธรรม  โดยผ่านคำว่าทุกข์ และสร้างลักษณะของทุกข์ออกมาเป็นลักษณะต่าง ๆ ที่พี่ได้กล่าวไว้นะครับ 

สวัสดีค่ะ อ.Blank

ขอบพระคุณนะคะ มาเยี่ยม และฝากความเห็นไว้บ่อยๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Blank

ขอบคุณที่ฝากความเห็นไว้นะคะ

ดีใจ....ที่ได้เห็น Blank สนใจใน "ธรรม"  น่าชื่นชม

ขออนุญาติร่วมวงสนทนาอีกรอบ......เห็นแล้วรีบมาเลย  คุณBlank มีประเด็นที่น่าสนใจนะครับ ถ้ามองในเชิงตรรกะไม่รู้จะได้ไหมครับ

"ธรรม" = "ทุกข์" หรือไม่?  

"ธรรม" เท่ากับ "ทุกข์" หรือจะเป็น  "ทุกข์" เท่ากับ "ธรรม"

หรือ จะเป็น  ธรรม(ะ) ก็เท่ากับ ธรรม และ ก็เท่ากับ ทุกข์

หรือจะใช้ผังก้างปลาอธิบายดี?

เริ่มต้นจากจุุดบนสุดของผัง คือ ธรรม ลดหลั่นลงมาอีกลำดับ ก็คือ "ทุกข์" ฯลฯ

หรือ ผังก้างปลา กับความหมายของ คำว่า "ธรรม"  ถ้าเขียนกันจริงๆ ทุกอย่างจะอยู่บนฐานเดียวกัน ติดกันไปหมด สุดท้ายก็ยำเข้าหากันเป็น  "อนัตตา"

หรือ.... อะไรดีหนอ????

ขออนุญาตแจมกับทั้งสองท่านนะคะ

ที่ตั้งชื่อว่า "ธรรม ชื่อ ทุกข์" เพราะเห็นว่าคำว่า "ธรรม" ได้รวม "ทุกสิ่ง" เข้าไว้แล้ว ดังนั้น ธรรมชื่อทุกข์ จึงหมายความว่าธรรมๆหนึ่งซึ่งเรียกหาตามที่รับรู้กันว่า "ทุกข์" ค่ะ

เหมือนกับคำว่า "ศีลธรรม" ที่แปลว่า ธรรมคือศีล น่ะค่ะ (ไม่ใช่ "ศีล และ ธรรม" ตามที่มักแปลตามๆกันมา)

แต่ถ้าเห็นว่าใช้ชื่ออื่นน่าจะเหมาะสมกว่า ก็ขอความเห็นด้วยค่ะ จะเป็นพระคุณยิ่ง

 

  • รวมความ ได้ว่า ไม่ว่าจะลำดับอย่างไร
  • ศีล คือ ธรรม หรือ ธรรม คือ ศีล   (ไม่รู้อย่างไร วันนี้ทั้งวัน ผมเขียนสลับไปมาตลอด)
  • ธรรม คือ ทุกข์ หรือ ทุกข์ คือ ธรรม ก็คงมีความหมายไม่ต่างกัน
  • ธรรม มี Subset คือ ทุกข์ ซึ่ง ทุกข์ ก็คือ ธรรมๆหนึ่ง
  • สรุป ชื่อใดๆก็สมเหมาะ oopss!!!!  เหมาะสม ครับ .........:):)  

 

^_^ ขอสรุปตาม อ.วิชญธรรมเลยนะคะ

          เห็นยอดอ่อน ๆ ว่า...เป็นแก่น

          หลงสะเก็ดแห้ง  ว่า...เป็นแก่น

          หลงเปลือกสด ๆ ว่า...เป็นแก่น

           หลงกระพี้ไม้  ว่า...เป็นแก่น

           อืม...มองที่แก่น...ดีกว่าไหมหนอ....

           ขอบคุณบันทึกดี ๆ ที่มีประโยชน์นี้มากครับ

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวน (ไตรลักษณ์) เข้ากับหลัก "อิทัปปัจจยตา" ของ Buddha ครับคุณBlankณัฐรดา 

“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มีเพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ

วันนี้เพื่อนผู้สูงวัยสองคน เป็นชาวอังกฤษดั้งเดิม หมายถึงคนหนึ่งมาจากไอร์แลนด์ อีกคนหนึ่งมาจากแถบหมู่เกาะของชาวไวกิ้ง ชวนคุย(ถาม)เรื่องศาสนาพุทธ คุยกันถึงเรื่อง ศาสนาพุทธมาจากศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์หรือเปล่า ความเชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ ความเชื่อเรื่องบาปบุญ ฯลฯ

ทำให้ได้ใช้ความคิดว่า จริง ๆ แล้วเราเข้าใจแก่นของศาสนาพุทธดีหรือไม่ จะอธิบายคนต่างเชื้อชาติ ความเชื่อได้เพียงไหน

สนุกและได้บริหารความคิดและภาษาอังกฤษ(มือและภาษากายด้วย)ในการพูดแสดงความคิดเห็น

ที่พูดออกไปแล้วคือ ทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ให้รู้ทุกข์อย่าเป็นทุกข์

Know how suffering is but do not suffer.

จะเขียนลงบันทึกเมื่อมีเวลาว่างค่ะ

สวัสสดีครับพี่ณัฐรดา มาเรียนรู้ธรรมะ จากพี่เช่นเดิมครับ ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ

ขอเสริมตอนเย็นๆ นะครับ เห็นว่ามีประเด็นติดค้างอยู่นิดหน่อยนะครับ ที่พี่บอกว่า (เหมือนกับคำว่า "ศีลธรรม" ที่แปลว่า ธรรมคือศีล น่ะค่ะ (ไม่ใช่ "ศีล และ ธรรม" ตามที่มักแปลตามๆกันมา)  แท้ที่จริงคำนี้อาจแปลได้ สองแบบนะครับ 

ไม่ว่าจะแปลว่า ธรรมะ คือ ศีล หรือ ศีลและธรรม ก็ ถูกทั้งสองคำนะครับ ไม่มีคำไหนผิด อยู่ที่ว่าเราจะอธิบายอะไร ถ้าจะอธิบายว่าศีลเป็นธรรมที่สำคัญข้อหนึ่งก็ได้  แต่แบบที่สองนั้นดูผ่านๆ จะคิดว่าทำไมต้องแปลว่าศีลและธรรม เพราะว่าศีลฝึกเพื่อใช้ระงับกาย กับวาจา เท่านั้นนะครับ ใจระงับผ่านศีลไม่ได้ ถ้าจะระงับใจต้องใช้ธรรมะ ในการระงับนะครับ ถึงมีคนแปลแยกออกจากกันนะครับ

คุยเรื่องนี้แล้ว  มีคนมาแสดงความเห็นเยอะๆได้ความรู้ดีนะครับ อุ่นใจดีครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท