ต้นทุน


แนะนำโดยนำมาจาก:http://home.kku.ac.th/anuton/cost%20accounting/mean%20and%20objective%20of%20cost.htm

การบัญชีต้นทุน : โดยอาจารย์อนุรักษ์  ทองสุโขวงศ์

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบัญชีต้นทุน
 ความหมายและวัตถุประสงค์การบัญชีต้นทุน

 

          การบัญชีต้นทุน (Cost Accounting) จัดเป็นวิธีการทางบัญชีที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางด้านต้นทุนของธุรกิจ ประเภทอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์พื้นฐานในการจัดทำรายงานทางการเงินตลอดจนวิเคราะห์ และจำแนกข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารต้นทุน (Cost Management) ตามความต้องการของผู้บริหาร ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่แต่กิจประเภทอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่จะต้องใช้วิธีการทางบัญชีหรือข้อมูลของบัญชีต้นทุน แต่ยังมีธุรกิจอีกหลายประเภท เช่น โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทสายการบิน และกิจการอื่น ๆ  อีกมากมายที่ได้มีการนำวิธีการบัญชีต้นทุนไปประยุกต์ใช้เพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ที่สำคัญของข้อมูลทางบัญชีต้นทุนพอสรุปได้ดังนี้

            1.1 เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการผลิต ตลอดจนต้นทุนขาย (Cost of goods sold) ประจำงวด ซึ่งจะนำไปหักออกจากรายได้ในงบกำไรขาดทุน เพื่อะช่วยให้ผู้บริหารได้ทราบผลการดำเนินงานของกิจการว่ามีผลกำไรหรือขาดทุนอย่างไร

            1.2 เพื่อใช้ในการตีราคาสินค้าคงเหลือ (Inventory Evaluation) ในธุรกิจอุตสาหกรรม สินค้าคงเหลือที่จะปรากฏในงบดุลจะประกอบด้วย วัตถุดิบ งานระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งการแสดงมูลค่าของสินค้าคงเหลือเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง หรือใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดจำเป็นต้องอาศัยวิธีการทางบัญชีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

            1.3 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจวางแผนและควบคุม (Planning and Control) ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถดำเนินธุรกิจไปอย่างมีแบบแผน และบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของธุรกิจในที่สุด นอกจากนี้ข้อมูลทางบัญชีต้นทุนยังช่วยให้ผู้บริหารได้ทราบถึงความผิดพลาดหรือจุดบกพร่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อหาทางกำหนดวิธีการปฏิบัติเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างทันท่วงที

            1.4 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อตัดสินใจ(Decision Making) ทั้งนี้ในการดำเนินธุรกิจ ผู้บริหารมักจะต้องประสบปัญหาที่จะต้องทำการแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้น หรือปัญหาที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวก็ตาม เช่น การตัดสินใจเกี่ยวกับการรับใบสั่งซื้อพิเศษ การปิดโรงงานชั่วคราว การเพิ่ม – ลดรายการผลิต การตั้งราคาสินค้า การวิเคราะห์กำไร การกำหนดกลยุทธ์ในการประมูลงาน เป็นต้น

            ขอบเขตของหลักการบัญชีได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ บัญชีการเงิน (Financial accounting ) และบัญชีต้นทุน (Cost Accounting) ซึ่งบัญชีการเงิน นั้นค่อนข้างที่จะมีขอบเขตกว้าง เนื่องจากเป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงินเพื่อเสนอต่อบุคคลภายนอก เช่น ผู้ถือหุ้น นักลงทุน เจ้าหนี้ เป็นต้น การวิเคราะห์งบการเงินจึงเป็นเครื่องมือที่จะให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจแก่บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าว เช่น นักลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในธุรกิจใดก็จะต้องทำการวิเคราะห์งบการเงินของกิจการหรือธุรกิจนั้น ๆ เสียก่อน ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทราบถึงความเสี่ยง และความเป็นไปได้ที่จะตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนั้น เป็นต้น และด้วยเหตุผลที่ว่า งบการเงินนี้จะต้องจัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อบุคคลภายนอก ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ดังนั้น งบการเงินนี้จึงต้องจัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principles : GAAP)  และจากการจัดทำงบการเงินภายใต้หลักการบัญชีที่ยอมรับกันทั่วไปนี้เอง จึงทำให้ข้อมูลทางการเงินที่ปรากฏในงบการเงินเป็นข้อมูลในอดีตทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะการจัดทำงบการเงินที่เสนอต่อบุคคลภายนอกนี้ควรจะมีความถูกต้องแน่นอน มีหลักฐาน และเชื่อถือได้นั่นเอง

            บัญชีต้นทุน เป็นหลักการบัญชีที่เกี่ยวกับการสะสมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ทั้งเพื่อการวางแผน ควบคุม และการตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ โดยปกติแล้วการบัญชีต้นทุนจะทำหน้าที่หลักในการสะสมข้อมูลทางด้านต้นทุนที่เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เพื่อคำนวณหาต้นทุนของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งใช้ประมาณมูลค่าของสินค้าคงเหลือ นอกจากนี้การบัญชีต้นทุนยังเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมาณหรือการพยากรณ์ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อการตัดสินใจอีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้เองจึงทำให้การบัญชีต้นทุนเข้ามามีบทบาทเพื่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ในปัจจุบันนี้การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและการผลิตได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น การนำเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นต้น การนำบัญชีต้นทุนเข้ามาใช้เพื่อทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านต้นทุนที่ถูกต้อง และมีความสามารถที่จะให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจแก่ฝ่ายบริหารได้อย่างรวดเร็ว ทันสมัย และเชื่อถือได้จึงเป็นสิ่งที่นักบัญชีต้นทุนจะต้องมีความเข้าใจ และสามารถที่จะประยุกต์การบัญชีต้นทุนให้ใช้ได้กับลักษณะของธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            จากขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของการบัญชีการเงิน และการบัญชีต้นทุน ทำให้เราสามารถสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบัญชีการเงินและการบัญชีต้นทุนได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

1) การคำนวณต้นทุนขาย (Cost of Goods sold)

การจัดทำงบการเงินเพื่อเสนอต่อบุคคลภายนอกถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบประการสำคัญของการบัญชีการเงิน ในกรณีที่กิจการเป็นธุรกิจซื้อขายสินค้าโดยทั่วไปการคำนวณต้นทุนขายเพื่อแสดงเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนก็สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องอาศัยหลักการบัญชีต้นทุน แต่ในกรณีที่กิจการมีลักษณะเป็นธุรกิจผลิตสินค้า การคำนวณต้นทุนขายจำเป็นต้องอาศัยหลักการบัญชีต้นทุนในการคำนวณต้นทุนการผลิตของสินค้าที่ผลิตได้เพื่อขาย ซึ่งสามารถทำความเข้าใจได้จากการเปรียบเทียบการคำนวณต้นทุนขายต่อไปนี้

ธุรกิจซื้อขายสินค้า

 

ธุรกิจผลิตสินค้า

 

 

 

สินค้าคงเหลือต้นงวด

xxx

 

สินค้าสำเร็วรูปคงเหลือต้นงวด

xxx

บวก : ซื้อสินค้า(สุทธิ)

xxx

 

บวก : ต้นทุนการผลิตสินค้าสำเร็จรูป

xxx

สินค้าที่มีไว้ขายทั้งสิ้น

xxx

 

สินค้าสำเร็จรูปที่มีไว้ขายทั้งสิ้น

xxx

หัก : สินค้าคงเหลือปลายงวด

xxx

 

หัก : สินค้าสำเร็จรูปคงเหลือปลายงวด

xxx

ต้นทุนขาย

xxx

 

ต้นทุนขาย

xxx

 

การจัดทำงบกำไรขาดทุน สำหรับธุรกิจซื้อขายสินค้า และธุรกิจผลิตสินค้าในส่วนอื่น ๆ ไม่มีความแตกต่างกัน คำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าสำเร็จรูปจะขออธิบายในส่วนต่อไป

2) การแสดงสินค้าคงเหลือ (Inventories)

งบดุล (Balance Sheet) เป็นงบการเงินชนิดหนึ่งที่การบัญชีการเงินมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับฐานะการเงินของกิจการให้มีความถูกต้อง เที่ยงธรรม และเชื่อถือได้มากที่สุด ในส่วนที่การบัญชีต้นทุนได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็คือการแสดงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ในหมวดของสินทรัพย์หมุนเวียน ซึ่งจะต้องใช้หลักการบัญชีต้นทุนในการรวบรวมข้อมูลและคำนวณต้นทุนของสินค้าคงเหลือ ซึ่งประกอบด้วย วัตถุดิบ งานระหว่างผลิต และสินค้าสำเร็จรูป

ธุรกิจซื้อขายสินค้า

 

ธุรกิจผลิตสินค้า

 

 

 

สินทรัพย์หมุนเวียน :

 

 

สินทรัพย์หมุนเวียน :

 

เงินสด

xxx

 

เงินสด

xxx

ลูกหนี้

xxx

 

ลูกหนี้

xxx

สินค้าคงเหลือ

xxx

 

สินค้าคงเหลือ  :

 

 

 

 

     สินค้าสำเร็จรูป

xxx

 

 

 

     งานระหว่างผลิต

xxx

 

 

 

     วัตถุดิบ

xxx

เมื่อได้ทราบถึงความสัมพันธ์ที่การบัญชีต้นทุนมีต่อการบัญชีการเงินแล้ว ขอให้สังเกตว่าในการทำหน้าที่ของการบัญชีต้นทุนนำเสนอข้อมูลให้แก่การบัญชีการเงินที่ต้องการข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ เพื่อเสนอข้อมูลให้แก่บุคคลภายนอก ดังนั้น การคำนวณต้นทุนการผลิตของสินค้าที่จะนำไปคำนวณต้นทุนขายในงบกำไรขาดทุน หรือแสดงมูลค่าสินค้าคงเหลือในงบดุล ที่ถือเป็นหน้าที่ของการบัญชีต้นทุนจึงต้องมีลักษณะเป็นหลักการบัญชีหรือวิธีการที่มีกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

เนื่องจากคำว่า บัญชีต้นทุน และ บัญชีบริหาร มีความหมายและลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก ดังนั้นเราจะพบวาในบางครั้งการใช้คำทั้งสองก็มักจะมีการใช้แทนกันอยู่ตลอดเวลา แต่โดยทั่วไปการบัญชีต้นทุนมีขอบเขตเพียงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณหาต้นทุนการผลิตของสินค้าหรือบริการเท่านั้น

ส่วนคำว่า บัญชีบริหาร หมายถึง กระบวนการที่เกี่ยวกับ

1) การรับรู้และประเมินภาวการณ์ของการดำเนินธุรกิจ และภาวการณ์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อนำมากำหนดวิธีการปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสม

2) การวัดและประมาณภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และภาวการณ์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้น

3) การกำหนดวิธีการในการจดบันทึกและเก็บสะสมรวบรวมข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ และภาวการณ์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ  เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงการบริหาร

4) การวิเคราะห์และการกำหนดวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมกับการตัดสินใจ

5) การตีความและการเสนอข้อมูล

6) การติดต่อสื่อสาร นั่นคือการจัดทำรายงานที่เหมาะสมต่อบุคคลที่ต้องการ กล่าวคือ รายงานภายในก็จะเสนอต่อฝ่ายบริหาร รายงานภายนอกก็จะเสนอต่อบุคคลทั่วไป

ดังนั้น การบัญชีบริหาร คือ กระบวนการทางบัญชีที่มุ่งไปในส่วนของการนำข้อมูลทางบัญชีการเงิน และบัญชีต้นทุน มาทำการวิเคราะห์ และแปลความหมายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหาร ทั้งในด้านการวางแผน การควบคุม การประเมินและวัดผลการดำเนินงานของบุคคลในองค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร แต่โดยส่วนใหญ่ข้อมูลที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารกิจการก็คือ ข้อมูลทางด้านต้นทุน (Cost Information) ดังนั้น จึงทำให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วไปว่าการบัญชีบริหารก็คือการบัญชีต้นทุน แต่ในทางหลักการที่ถูกต้องแล้วการบัญชีต้นทุนเป็นส่วนหนึ่งของการบัญชีบริหารเท่านั้น ซึ่งความสัมพันธ์ของการบัญชีการเงิน การบัญชีต้นทุน และการบัญชีบริหาร สามารถแสดงได้ ดังภาพ

 อ้างอิง:http://home.kku.ac.th/anuton/cost%20accounting/mean%20and%20objective%20of%20cost.htm

คำสำคัญ (Tags): #ต้นทุน
หมายเลขบันทึก: 499232เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท