ไปชายแดน(กัมพูชา-ไทย) ก่อนเป็นประชาคมอาเซียน


ไปชายแดน (กัมพูชา-ไทย) ก่อนเป็นประชาคมอาเซียน

รภิญญ  ด้วงลอย/พลอยบุตร


          เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2555 มีเหตุให้ต้องไปอรัญประเทศ-ปอยเปต อีกครั้ง ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้ไปยังชายแดนไทยกัมพูชามาเป็นเวลาหลายปี  ด้วยเจตนาคืออยากรู้ว่าสภาพของชายแดนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะไม่ได้ไปนาน คงน่าจะเกือบ ๆ สิบปี ด้วยเหตุผลว่า (ก) ไม่มีกิจต้องไป หรือมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจำเป็นเช่นเป็นนักวิจัยในระดับมหาบัณฑิตเมื่อคราวที่ยังเรียนอยู่ (ข) ไม่ได้เป็นพ่อค้า ที่จำเป็นต้องไปซื้อของชายแดน เอามาขายต่อในเมืองในฐานะผู้ค้าชายแดนทั่วไป  (ค) ไม่ได้เป็นนักแสวงโชคด้วยการไปเล่นการพนันยังสถานบริการถูกกฎหมายในฝั่งชายแดนกัมพูชาแต่ประการใด  นั่นคือเหตุผลที่ไม่ได้ไปอีก  เป็นเวลาหลายปี  แต่เหตุผลที่ต้องไปอีกกรณีคืออยากไป และต้องการไปสังเกตการณ์เบื้องต้น ก่อนที่จะไปเก็บข้อมูลทำวิจัยยังประเทศกัมพูชาอีกครั้งในฐานะนักวิจัย ในประเด็นของอพยพเคลื่อนย้าย เรื่อง ความทรงจำร่วม เรื่องการอพยพของผู้เฒ่าใน[กัมพูชา] อาเซียน"

              เดินทางจากกรุงเทพในตอนเช้าเกือบ ๆ เจ็ดโมงเช้า วิ่งไปยังมีนบุรี-ฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม-เขาหินซ้อน-สระแก้ว-อรัญประเทศ-ตลาดโรงเกลือ-ปอยเปต ไปถึงชายแดนไทยประมาณ 11.00 น.  เห็นจะได้  จากนั้นก็เดินเท้าเข้าไปยังด่านตรวจลงตรา เพื่อเดินผ่านด่าน โดยใช้หนังสือเดินทาง (Passport) เป็นเอกสารผ่านทาง ซึ่งทำไว้นานแต่ไม่เคยใช้ เดินทางไปยังประเทศใด ๆ ตลอดเวลาที่ทำมาเป็นเวลาหลายเดือน จากนั้นก็เดินผ่านด่าน ซึ่งแปลกหู แปลกตา เพราะด่านถูกทำเป็นสัดส่วน ทำเป็นอาคารมั่นคง จึงเดินผ่านประทับลงตราเรียกว่าไปเอาไมล์ตราประทับพอเป็นพิธี แต่ใช้เวลาหลายนาทีพอสมควร เพราะคนไทยจากฝั่งไทยเยอะ เรียกว่าแฟนคลับ “นักเสี่ยงโชค” เยอะ ที่ยืนรอด้วยอาการแบบอยากผ่านไปเร็ว ๆ เพราะมีรถกอล์ฟบ้าง รถมินิบัสบ้างรอรับช่วงต่อไปยัง Casino รอเป็นเวลาหลายนาทีจึงผ่านไปได้  ส่วนด้านฝั่งลงตรวจตราเขมร ก็มีแต่ฝรั่งที่ไปเที่ยวนครวัต แล้วย้อนกลับมาเส้นทางเดิม ยืนรอกันหนาตาเช่นกัน เรียกว่าไทยไปเล่น ฝรั่งไปเที่ยวเดินสวนกันเข้ากันออกว่าอย่างนั้น

ด่านชายแดนไทย/ฝั่งโรงเกลือ อรัญประเทศ

ฝั่งชายแดนเขมรด้านปอยเปต


การสัญจร ขนส่ง และวิถีชีวิต


สถานกาสิโน ที่พี่น้องไทยไปท่องเที่ยว

สถานกาสิโน และบรรยากาศรอบ ๆ

         การมาในครั้งนี้ พบว่ามีความเปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งสิ่งก่อสร้าง และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ อาทิ อาคารสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มพื้นที่ขึ้นอย่างมาก มีผู้คนสัญจรไปมาจำนวนมาก ทั้งนักเสี่ยงโชค พ่อค้า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หลงใหลกลิ่นไอของโบราณสถานปราสาทนครวัตและต้องการไปเที่ยวหรือกลับเข้ามายังฝั่งไทย อาคารสำหรับประทับลงตรา ทั้งฝั่งไทย และเขมรก็เปลี่ยนไปอย่างผิดหู ผิดตา ต้องขอบอกว่าไม่ได้ไปนานพอสมควร นานจนเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือ การสัญจรของคนไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อแสวงโชคยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนแปลง

              สำหรับทิศทางของไทยและกัมพูชา ยังเป็นประเทศที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะการค้าชายแดน เพราะจากสถิติของหน่วยงานราชการ การขนส่งระหว่างประเทศทั้งสอง คือเขมรก็ขนสินค้าจากเขมรเข้ามาขายยังไทย ไทยก็ส่งสินค้าเข้าไปยังเขมรและประเทศเพื่อนบ้าน  คนเข้าคนออก แรงงาน การค้าชายแดนอีกสารพัดที่เกิดขึ้นที่ชายแดน  มีมูลค่าหลักหลายพันล้านบาทต่อเดือน และมูลค้าหลายหมื่นล้านต่อปีทีเดียว  (ดูสถิติที่http://bordertrade.dft.go.th/DFT/Report/4.7.2.Detail.Province.asp?Country_Code=KH ออนไลน์ เมื่อ 28 ก.ค.2555)

                เจตนาการไปครั้งนี้นอกเหนือจากไปสังเกตการณ์ คือการไปยังร้านหนังสือที่เป็นภาษาเขมร อยู่ที่ฝั่งของเขมรโดยตรง  เพื่อไปหาหนังสือที่จะเป็นฐานข้อมูลทำวิจัย  แต่เมื่อไปก็รู้สึกว่าไม่มี เพราะหนังสือที่วางจำหน่ายเป็นภาษาเขมรกับภาษาไทยเสียเป็นส่วนใหญ่  เป็นหนังสือทั่ว ๆ ไป เช่น แบบเรียน หนังสือนวนิยาย หรือนิตยสารที่ออกประจำทั่ว ๆ ไป แต่มุมหนึ่งของร้านให้ไปสะดุดตาและสนใจหนังสือสองสามเล่ม เช่น พจนานุกรมที่เขียนโดยสมเด็จพระสังฆราชจวนนาถ ราชบัณฑิตพระสงฆ์ชาวกัมพูชา หนังสือถามตอบอาเซียน หนังสือนิทานเขมร และหนังสือเรียนภาษาไทยเขมร อังกฤษเขมร เกาหลีเขมร  เป็นต้น  จึงอยากนำกรณีเหล่านี้มาเล่าเพื่อเป็นกรอบในการมองเขมร ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนชิดติดกันแยกไม่ออก  และยังมองต่อไป เมื่อพัฒนาเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558  ควรเป็นอย่างไร

หนังสือพจนานุกรมเขมร โดยสมเด็จพระสังฆราชจวน นาถ


หนังสือถามตอบเกี่ยวกับอาเซียน และหนังสือนิทานเขมร

             1.การเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาคนในประเทศ / จากหนังสือที่พบในร้าน อาจอธิบายได้ว่า กัมพูชามีความพร้อมโดยสถานการณ์บังคับ ที่คนเขมรต้องรู้ภาษาอื่น ๆ และภาษาประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เห็นได้จากหนังสือแบบเรียน คู่มือเตรียมความพร้อมทางภาษา โดยเฉพาะภาษาไทย สำหรับชาวเขมรมีจำนวนมาก เพราะเขมรอยู่ติดกับประเทศไทย ค้าขาย กับคนไทย หรือมีการลงทุนของนักธุรกิจชาวไทย จึงทำให้ภาษาไทยเป็นภาษาหนึ่งที่ชาวเขมรต้องรู้นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น หรืออื่น ๆ  การผลิตตำราเรียนด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาไทย  จึงมีวางจำหน่ายที่ชายแดนไทย จำนวนมาก ซึ่งหนังสือแบบเรียนนี้ คงไม่เฉพาะที่ชายแดน เพราะจากประสบการณ์ที่เคยไปอยู่และใช้ชีวิตในพนมเปญ และเสียมเรียบตำราเรียนภาษา มีอยู่มาก แต่เป้าหมายของการเรียนภาษา ก็คือตอบสนองต่ออาชีพ และงาน ตามเงื่อนไขของเจ้าของกิจการ เพราะการรู้ภาษาที่นอกเหนือจากภาษาของตัวเองคือโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพด้วย ดังนั้นการรู้ภาษาของเพื่อนบ้านในอาเซียน จีงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรู้ภาษาของอาเซียน คือภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน

          หนังสือเรือนภาษาไทย-เขมร ที่ร้านขายหนังสือ

          2. การเตรียมความรู้ในเรื่องการอพยพ  กล่าวคือเมื่อย้อนกลับมาทางเดิม สังเกตด้วยสายตาจะมองเห็นที่ชายแดน จะเห็นเคลื่อนของคนเข้าออกจำนวนมาก รวมทั้งการเดินทางของชาวกัมพูชาเพื่อเข้ามาค้าขาย เป็นแรงงาน และที่ทางไกลถึงกรุงเทพ ที่เป็นทั้งผู้ประกอบการ ผู้ค้า หรือแรงงาน ในลักษณะต่าง ๆ สิ่งที่ไทยควรตระหนักและเตรียมความพร้อมคือ การเคลื่อนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่แต่เดิมก็เยอะอยู่แล้ว แต่ต่อไปเมื่อเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว จะมีเคลื่อนผู้อพยพจำนวนมากขึ้น ไม่เฉพาะจากเขมร อาจรวมไปถึงลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศในอาเซียนอื่น ๆ มาแสวงหาการลงทุน ค้าขาย อาชีพ แรงงาน และการยังชีพในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นทั้งส่วนสนับสนุนปัจจัยการผลิต แรงงาน รวมไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม แต่ในเวลาเดียวกันยังจะคาบเกี่ยวต่อเนื่องไปถึงส่วนอื่น ๆ อย่างสำคัญด้วย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ระบบสาธารณสุข การศึกษา และการให้การศึกษา ปัญหาแรงงาน ระบบสวัสดิการ เป็นต้น

                ดังนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ควรเริ่มและเตรียมไว้ ส่วนจะเตรียมอย่างไร พร้อมแค่ไหน  ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาเอาเองว่าจะทำอย่างไร ?

           3. ปัจจัยเนื่องต่อจากระบบการอพยพ  เช่น ปัญหาด้านแรงงาน สวัสดิการด้านแรงงาน  สวัสดิการด้านการศึกษาแก่เด็ก   หรืออื่นใด  ๆ อันจะเป็นปัญหาเนื่องต่อจากความพร้อม และไม่พร้อมที่เกิดขึ้นกับคน พลเมือง และประชาชน ของความเป็นอาเซียนในอนาคต การแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ ช่องทางต่อปัญหาหรือการจัดการในอนาคต จึงย่อมเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็น

         ดังนั้นเมื่อจะต้องทำวิจัยเกี่ยวกับกัมพูชา ในประเด็นของการอพยพ เคลื่อนย้าย จึงมองไปที่ว่า ตัวแบบของการอพยพ ย่อมมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องการปรับตัว การเรียนรู้ต่อวิถีวัฒนธรรมในกันและกัน การดำเนินชีวิต และความเชื่อ อันจะเป็นปรากฏการร่วมในการอพยพของประชาชาติที่จะเกิดขึ้นในกัมพูชา และประชาชาติอาเซียนต่อไป

                การไปปอยเปต (POI-PET) หรือตลาดโรงเกลือในครั้งนี้ ให้ได้คิดอย่างนี้ จึงนำมาเล่า ส่วนจะตรงตามหลักวิชาการด้านอาเซียนศึกษาไหมนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะนี่เป็นเพียงทัศนะมุมมองที่เกิดจากการได้สบตากับชาวไทยที่ไปเสี่ยงโชค เรียกว่าอพยพกันไปเล่น และสบตากับเด็กน้อยชาวเขมรที่เดินมาและแบมือพร้อมพูดว่า “บอง โสม มะ บาท” แปลว่า ขอบาทหนึ่ง ทำให้สะท้อนคิดต่อไปว่า อนาคตของประชาชาติ ก่อนที่จะรวมกันและทิศทางหลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเข็งแกร่งว่า จะเป็นอย่างไร เรียกว่า มีความพร้อม เตรียมความพร้อม เพื่อสู่ความเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมต่อไป ภายใต้สโลแกนที่ว่า

                One Vision, One Identity, One Community"  

                เราจะเป็นหนึ่ง....ต่อไป

                กันแล้วหรือยัง ?

                ถ้ายังจะทำอย่างไร ?

[บันทึกไว้เมื่อไปชายแดนไทยเขมร 18082555/WB]

 

 หมายเหตุ : เดินทางกลับด้วยเส้นทางเดิม ระหว่างทางแวะที่วัดสมานรัตนาราม วัดที่สร้างพิฆเณศใหญ่สีชมพู ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ในตอนเกือบ 5 โมงเย็น จึงเดินทางกลับถึงกทม.ในตอนเกือบ ๆ 2 ทุ่ม

 

หมายเลขบันทึก: 499230เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท