ทำความเข้าใจระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร


ตั้งแต่เข้ามาอยู่ที่อุ้มผาง วันนี้เป็นวันแรกที่รู้ทิศทางของพระอาทิตย์เพราะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเป็นวันแรก 

ตอนนี้บอกตามความเป็นจริงว่าจิตใจยังคงมุ่งอยู่ที่น้องทั้งสามคนที่กำลังมีปัญหาสถานะสิทธิอยู่ ณ ในเวลานี้ ข้อเท็จจริงของน้องๆสามารถดูได้ที่นี่ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/495224และhttp://www.gotoknow.org/blogs/posts/495341

จากการเข้าไปปรึกษากับพี่วีนัส สีสุข หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎรและสัญชาติ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการประชุมสัญจรของคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็กกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จังหวัดตาก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่าข้อกฎหมายที่จะใช้กับข้อเท็จจริงของน้องๆที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่อย่างที่เราคิดไว้ซะแล้ว

เนื่องจากว่ามีน้องๆที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน(มาตรา๗(๒)แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒ และ ๓ )พ.ศ.๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑) ฉะนั้นการดำเนินการเกี่ยวกับสถานะบุคคลของน้องจึงเปลี่ยนแปลงไป จากที่เข้าใจเพียงว่าผู้ปกครองของน้องทั้งสามคนสามารถดำเนินการยื่นคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรฯตามมาตรา ๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่๔) พ.ศ.๒๕๕๑ การณ์กลับกลายเป็นว่ามีน้องเพียงคนเดียว(น้องฝ้าย)ที่สามารถดำเนินการตามวิธีการดั่งกล่าวได้เนื่องจากว่าเป็นบุคคลที่เกิดนอกราชอาณาจักรจากบิดาที่มีสัญชาติไทยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา(ตรงนี้เป็นความเข้าใจของตัวเราเองว่าเป็นแนวปฏิบัติของกระทวงมหาดไทยที่จะให้สิทธิการพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรฯของผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติติสัญชาติ(ฉบับที่๔)พ.ศ.๒๕๕๑ แก่ผู้ที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทยซึ่งมีบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา ดังนั้นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจากบิดาที่มีสัญชาติไทยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาซึ่งได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนแล้วนั้นไม่มีสิทธิใช้การพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรฯเพื่อแสดงว่าตนมีสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตอีก???)

แต่ปรากฎว่ามีน้องอีกสองคนที่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา๗ (๒) ตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๕ กล่าวคือน้องได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาสัญชาติไทยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา น้องทั้งสองคงต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรอันเนื่องจากผู้ปกครองของน้องไม่ได้แจ้งเกิดภายในกำหนดรวมไปถึงการลงรายการลงในเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่ไม่ครบถ้วนด้วย

เท่าที่เราค้นหาข้อกฎหมายแล้วพบว่าควรดำเนินการดังต่อไปนี้

กรณีของน้องดาวพระศุกร์เนื่องจากผู้ปกครองยังไม่ได้มีแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนท้องถิ่น กรณีจึงต้องดำเนินการแจ้งเกิดเกินกำหนดของผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๙/๒ มาตรา ๑๙/๓ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกเพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับข้อ ๕๗ วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕(ความในข้อ ๕๗ เดิมถูกยกเลิกและใช้ข้อความใหม่โดยข้อ ๔ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร(ฉบับที่ ๔ )พ.ศ.๒๕๕๑) ซึ่งข้อกฎหมายทั้งหลายนั้นได้ชี้ช่องให้มีการ”พิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติ”ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฎบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งพ.ศ.๒๕๕๑ โดยอนุโลม กรณีเช่นนี้หากผลการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติปรากฎว่าน้องเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้มีสัญชาติไทย นายทะเบียนก็จะออกสูติบัตร(ท.ร.๒)ให้แก่น้อง จากนั้นก็ดำเนินการเพิ่มชื่อน้องเข้าทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔) อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องของการจำหน่ายรายการบุคคลตามเลข ๑๓ หลักเดิมออกจากทะเบียนประวัติ(ท.ร.๓๘ ก) ด้วยซึ่งยังต้องศึกษาอีก

ส่วนน้องอีกคนคือน้องซันเมี๊ยไมทานั้นมีการแจ้งการเกิดและรับสูติบัตร(ท.ร.๐๓๑)แล้ว แต่เนื่องจากสูติบัติดังกล่าวเป็นการบันทึกและลงรายการที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง(กล่าวคือในสูติบัตรไม่มีการลงรายการสัญชาติของบิดาที่มีสัญชาติไทย) ผู้ปกครองของน้องสามารถยื่นคำร้องขอให้นายอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขรายการสัญชาติโดยเป็นไปตามข้อ ๑๑๕/๑ ประกอบข้อ ๑๒๑ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๔ )พ.ศ.๒๕๔๕ ในกรณีที่นายอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วเชื่อว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาแสดงน่าเชื่อถือนายทะเบียนก็จะแก้ไขสูติบัตรให้ถูกต้องกล่าวคือนายทะเบียนจะเพิ่มรายการสัญชาติไทยของบิดาและน้องซันเมี๊ยไมทา จากนั้นก็ดำเนินการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ต่อไป กรณีนี้ก็มีเรื่องการจำหน่ายรายการบุคคลตามเลข ๑๓ หลักเดิมออกจากทะเบียนประวัติ(ท.ร.๓๘ ก) ด้วยเช่นกัน

รู้สึกหัวหมุนเลยเพราะข้อกฎหมายเยอะมาก ท่านผู้รู้คนใดอยากแนะนำหรือแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้เชิญแนะนำได้เต็มที่ครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 498580เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โจ้งคะ ที่คิดไว้แต่แรก ก็มิใช่จะผิดนะคะ

แต่ "ในทางคดี" จะเป็นประโยชน์ต่อน้องดาวพระศุกร์มากกว่าที่จะไปใช้สิทธิตาม กม.การทะเบียนราษฎรได้เลย เพราะมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอยู่แล้ว

ในส่วนที่จะทำให้ดาวพระศุกร์มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ก็มาใช้การจดทะเบียนสมรสแทน อันนี้ที่พี่วีนัสแนะนำ เพราะจะง่ายกว่า การใช้สิทธิพิสูจน์ตามมาตรา ๗ วรรค ๒

แต่สำหรับ อ.แหววนะคะ ถ้าเพื่อพิสูจน์ข้อกฎหมาย อ.แหววก็จะยุให้โจ้งทำทั้งหมด ทั้งการจดทะเบียนสมรสระหว่างไนท์และภริยา ตลอดจนการยื่นของพิสูจน์สัมพันธภาพระหว่างดาวพระศุกร์และบิดา อ.แหววอยากเห็นหนังสือรับรองค่ะ เอาไว้มาสอนหนังสือไงคะ

แต่ อ.แหวว ก็เห็นด้วยกับ อ.วีนัสที่จะพาน้องเข้าสู่ ท.ร.๑๔ เร็วที่สุดค่ะ

ทาง มธ. มีกรณีลุงตู่ คนไร้รากเหง้าที่คนทั้งนางเลิ้งรู้จักว่า เกิดที่นางเลิ้งมาตั้งแต่ ๒๔๘๔ จากพ่อแม่ที่เป็นคนนางเลิ้ง เป็นงานของนักศึกษาภาคบัณฑิต ๔ ท่าน ในวิชาหลักวิชาชีพของนักกฎหมาย

โจ้งมา กทม.  อ.แหววจะพาไปเลี้ยงข้าว บอกล่ะกัน

ขอบคุณครับอาจารย์ เดี๋ยวมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้ทราบเป็นระยะผ่านทางบล๊อกนี้ พรุ่งนี้นัดกับทางทางอำเภอแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท