เก็บตกจากกิจกรรมที่อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค)


       มาแล้วจ้า เก็บตกความรู้จากกิจรรม “หนังสือและสื่ออ่านเพื่อพัฒนาสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย” ที่ อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555  สด ๆ ร้อน ๆ เลยนะเนี้ย  กิจกรรมเริ่มสายกว่ากำหนดการเยอะพอสมควรเนอะ ก็เลยทำให้ต้องบีดอัดรวบรัดข้อมูลดี ๆ ที่แม่ดาวตั้งใจจะไปฟัง กล่าวเปิดกิจกรรมโดย คุณทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กิจกรรมก็มีให้ชมวีดีทัศน์ “หน้าต่างแห่งโอกาสกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย” แล้วก็มีการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ หลายท่าน ต้องขอบคุณทางอุทยานการเรียนรู้นะคะที่จัดกิจรรมดี ๆ แบบนี้              

       เรื่องแรกที่ได้ฟัง คือหัวข้อ “6 เดือนนมแม่ สานสายใยรักแท้สู่ 6 ปีการอ่าน”  โดย รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หน่วยพัฒนาการเด็ก คณะแพทย์ศาสต์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แม่ดาวชอบวิทยากรท่านนี้มาก ท่านดูมีเมตตาสูง ดูจะมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างมากกับการที่จะพยายามจะพัฒนาในเรื่องกระตุ้นให้เยาวชนไทยได้อ่านหนังสือกัน ใจความที่แม่ดาวจับประเด็นคือ ท่านบอกถึงเรื่องความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เราควรอ่านให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิดได้เลย อันที่จริงอ่านตั้งแต่ตั้งท้องเลยก็คงจะดีเนอะ  จะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เซลสมองของเด็กจะมีการได้รับการกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาไปอย่างมาก  เด็กที่มีผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟังสม่ำ เสมอ ไม่เพียงเด็กจะได้รับรู้ทั้งความรัก การอ่านหนังสือด้วยกันเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี และยังมีพัฒนาการที่ดีตามมาอีกด้วย

       มีงานวิจัยพบว่าเด็กในวัย 0-6 ปี เป็นช่วงวัยที่เซลล์สมองจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนามากที่สุด ดังนั้นการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก  เราคงทราบกันดีว่า หนังสือเด็ก นิทานเด็ก นั้นมีราคาค่อนข้างสูงทีเดียว  ระดับฐานะบ้านแม่ดาวก็ระดับกลาง ยังคิดว่าแพงเลย แล้วลองคิดถึงครอบครัวอื่น ๆ ที่เขามีฐานะต่ำกว่าเราซิ หากลดราคาพวกหนังสือลงได้ก็คงจะดีเนอะ หากอยากสนับสนุนให้คนไทยรักการอ่านกันจริง ๆ มีแนะนำวิธีการเลือกหนังสือให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัยด้วย ส่วนรายละเอียดขอผ่านนะคะ ใครสนใจจะไปดูรายการย้อนหลังกันได้ที่แนะนำไว้ใน facebook สมาคมคุณแม่ สร้างวินัยเชิงบวก

     เด็กในวัย 12-15 เดือน โดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถเข้าใจภาษาของเราได้ 50-200 คำ แต่แม่ดาวคิดว่าน้องดีโด้เนี้ยเข้าในเยอะกว่านี้นะคะ เพราะสังเกตุจากเวลาที่เราคุยอะไร เขาจะรู้เรื่องหมด แค่พูดสื่อสารออกมาไม่ค่อยได้ แต่แม่ดาวก็เข้าใจได้ดีนะ

       คุณหมอพูดเรื่องนมแม่ไว้ว่า เป็นอาหารที่สำคัญมากสำหรับทารก ทำให้เด็กทารกมีสุขภาพกายที่แข็งแรง เด็ก 0-6 เดือนแรกที่ได้ทานนมแม่จะลดโอกาสการเป็นโรคภูมิแพ้  แต่น้องดีโด้กินนมแม่ถึง 2 ขวบ ก็เป็นภูมิแพ้เยอะมาก ก็อาจจะด้วยทางสายเลือดด้วยทางสามีแม่ดาวเป็นกัน  ตัวแม่ดาวเองมาเป็นตอนแก่นี่แหละ แพ้ขนแมว แพ้ฝุ่น แพ้อากาศ อาจเพราะใช้ชีวิตในกรุงเทพฯนานด้วยมั้ง

ข้อดีของการอ่านหนังสือสรุปเป็นข้อๆ ออกมานะคะ

  1. เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว
  2. พัฒนาการภาษาได้ดีและรวดเร็ว การที่เราอ่านหนังสือภาษาไทยให้ลูกฟัง เป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนภาษาอื่น ๆ ต่อไปด้วย เช่นคุณหมอยกตัวอย่าง เด็กวัยปฐมวัยที่คุณแม่สอนภาษาไทยเป็นหลัก มีภาษาอังกฤษบ้าง เห็นรูปครุฑ ไม่เคยเห็นมาก่อนไม่รู้จัก ถามแม่ว่า นี่คืออะไร แม่บอกว่า “ครุฑ”  ลูกงงไม่เข้าใจเพราะไม่เคยได้ยินและรู้จักกับคำนี้มาก่อน พูดกับแม่เชิงถามว่า “มังคุด” แม่ก็บอกไม่ใช่มังคัด “ครุฑ” ลูกก็ใช้ความคิดสมองเชื่อมโยงความรู้เก่า ๆ ที่มีในหัวคำศัพท์ต่าง ๆ แล้วประมวลผลดึงข้อมูลออกมาใช้ใหม่ “มังคี่”  เด็กเขารู้จักคำว่า “มังคี่”  คำว่าลิง ในภาษาอังกฤษ และรู้จัก “มังคุด” ในภาษาไทย เลยเอามาผสมกัน น่ารักนะคะ  ดีโด้ก็เคยเกิดอาการผสมคำมั่วตามความเข้าใจแบบนี้บ่อย ๆ ตอนเป็นเด็กที่เริ่มหัดพูดไม่นาน ปัจจุบันภาษาไทยค่อนข้างแข็งแรงฮ่าๆๆ
  3. ทำให้เด็กมีความเข้าใจตัวเอง และเข้าใจผู้อื่น เปรียบเทียบกับตัวเองได้  การอ่านหนังสือเวลาที่ตัวละครในนิทานดำเนินไป เด็กก็จะเข้าใจความรู้สึกของตัวละครในนิทานตามไปด้วยผ่านการที่เราเล่าให้ฟังซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เด็กจะเรียนรู้ว่าแบบนี้รู้สึกอะไร ยังไง ตามความเข้าใจตัวเองนะคะ
  4. เรียนรู้การเข้าสังคมจากนิทาน
  5. เป็นการสร้างและปรับนิสัยรวมถึงพฤติกรรมของลูกได้ดีมาก อันนี้เติมเองเป็นความคิดเห็นส่วนตัว

         เรื่องต่อมาคือ “ความสำคัญของหนังสือกับการอ่าน และความเข้าใจผิด ๆ ของสังคมไทย” โดย คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก  แม่ดาวชอบมุมมองและวิธีการบรรยายของท่านนี้มาก เด็ดและขำกระจาย หลายท่านอาจรู้จัก แม่ดาวฟังชื่อแรก ๆ ก็ไม่รู้จัก คนห่างไกลหนังสือเนอะ  แต่พอบอกว่าเขียนหนังสือเรื่อง “กุ๊กไก่ปวดท้อง” แม่ดาวถึงบางอ้อทันที เพราะนิทานเรื่องนี้น้องดีโด้ก็ชอบมากเหมือนกัน  เรื่องนี้แม่ดาวจับประเด็นได้ว่า  คนไทยส่วนมากมีความเข้าใจผิด ๆ คือ มีวัตถุประสงค์การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือซื้อหนังสือให้ลูกอ่านเพื่อความเก่งฉลาด  แต่แท้จริงมันควรเป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่ได้รับ ความรัก มีความสุขร่วมกัน  นอกนั้นก็เล่าเรื่องประสบการณ์ที่คุณเรื่องศักดิ์ได้ทำงานเกี่ยวกับการพยายามพัฒนาการที่จะกระจายหนังสือไปให้เยาวชนที่อยู่ตามชนบท ห่างไกลได้อ่านหนังสือกันถ้วนหน้า กับโครงการหนังสือเล่มแรก ว่าเป็นอย่างไร คุณเรืองศักดิ์มีความคิดเห็นคล้าย  ๆ กับคุณหมอข้างต้น คือ หนังสือช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด          

ปัญญาที่พบ คือ

-          การเลือกหนังสือให้ลูกผิดประเภท บรรดาผู้ปกครองและครู มักยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองต้องการ อยากได้ให้เด็ก ไม่ได้ให้เด็กเลือกด้วยตัวเอง

-          เลือกวิธีใช้หนังสือผิดวิธี  ก่อนนอนควรอ่านประเภทนิทานให้ลูกฟัง ไม่ควรนอนคว่ำอ่าน ไม่ควรนอนหงายเพราะจะหลับง่าย คนอ่านจะหลับก่อนคนฟัง อันนี้ฮามาก

-          หนังสือภาพ ราคาแพง ภาพเยอะ คำน้อย ไม่คุ้ม ผู้ปกครองส่วนมากมักคิดแบบนี้ แต่หากมองกันจริง ๆ มันก็คุ้มค่ามากนะคะกับการลงทุน คุณเรืองศักดิ์ แนะนำให้เราประหยัดจากส่วนของเรามาให้ลูก เช่น แทนที่จะเอาเงินไปซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาวค์ ก็เอาเงินส่วนนั้นไปซื้อหนังสือให้ลูกเราแทน  ส่วนมากเด็กเล็ก ๆหากชอบหนังสือเล่มไหน ก็จะชอบเล่มนั้นอ่านเป็นร้อย ๆ ครั้งก็ไม่เบื่อ คุ้มนะ  หนังสือ 1 เล่มเราสามารถอ่านได้มากมายหลายแบบไม่จำเป็นต้องยึดตามตัวหนังสือที่พิมพ์มาตามเล่ม

         วิทยากรท่านต่อมา คุณ วิมล โรมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  พูดคุยเรื่อง “เชื่อมสัมพันธ์แม่-ลูก สร้างเสริมพัฒนาการด้วยการอ่าน”  ท่านนี้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ท่านมีลูก ว่าท่านอ่านหนังสือให้ลูกฟังโดยที่ทำไปเพราะทราบว่าดีกับลูก  แต่จะดียังไงแค่ไหน ณ ตอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก  ประสบการณ์ของท่านน่าใจมาก ท่านบอกว่า เมื่อลูกโตขึ้น เวลาที่ลูกจะทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ลูกจะไม่กล้าทำ เพราะบอกว่าหน้าของแม่จะลอยมาตลอด ๆ พร้อมได้ยินคำพูดที่แม่สอนตลอดๆ  น่าชื่นใจแทนจริง ๆ  ท่านบอกว่าเราสามารถยืมหนังสือนิทานเด็ก ๆ ต่าง ๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาแต่อย่างใด  แม่ดาวคิดว่าหากอยู่ในกรุงเทพฯก็คงทำเรื่องนี้ได้ไม่ยาก หากอยู่ต่างจังหวัดอาจลำบากหน่อย  นี่คือสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้กำลังพยายามจะผลักดัน และพัฒนากันต่อ ๆ ไป เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเนอะ เรื่องดี ๆ แบบนี้

          วิทยากรท่านต่อมา คุณบุญยัง วังเปรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พูดคุยเรื่อง “ชุมชนส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย”   เป็นอีกท่านที่น่าชื่นชม ท่านพยายามเสริมสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชนของท่าน ท่านได้มีการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน กิจกรรมคือแจกหนังสือเล่มแรก ให้กับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น สร้างศูนย์การเรียนรู้ประจำหมู่บ้าน  ท่านบอกว่าหากใครสนใจจะบริจาคหนังสือท่านยินดี  ใครสนใจลองไปค้นหาท่านได้ใน Facebook ได้นะคะ

           ท่านสุดท้ายของกิจกรรมช่วงเช้าคือ รศ.ถิรนันท์  อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานกรรมการคัดสรรหนังสือวัย 6-12 ปี พูดคุยในหัวข้อ “วัฒนธรรมการอ่านความสำคัญที่สร้างได้จากครอบครัวถึงระดับชาติ”  ท่านบอกถึงปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน (อย่างต่อเนื่อง) คือ การกระจายหนังสือให้ทั่ว, ปรับสภาพแวดล้อมในการอ่าน, ปรับภาพลักษณ์ของการอ่านและพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ  ท่านพยายาม ท่านพยายามจะผลักดันและต้องการให้เกิดมีห้องสมุดในทุก ๆ ที่ แต่ละตำบลควรจะมีห้องสมุดแบบบนี้อยู่ 

            จากการสำรวจพบว่าหนังสือเด็ก 0-2 ปี ไม่มีหนังสือแปล เป็นคนไทยเขียนกันเอง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ มีทั้งหนังสือของไทยและหนังสือแปล และเกินกว่าครึ่งของหนังสือแปลเป็นหนังสือกลุ่มเด็กอายุ 4-6 ปี  

                แนวคิด/แก่นเรื่อง  หากนำไปเทียบกับคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการตามแนวกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการส่งเสริม อันได้แก่ ความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคีและมีน้ำใจ พบว่าแนวคิดของเรื่องการส่งเสริมในเรื่อง ความซื่อสัตย์ไม่ปรากฎในหนังสือคัดสรรทั้งไทยและหนังสือแปล (นั่นซิ..ทำไมน้อ)

            หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย จากการสำรวจเด็กและเยาวชนไทยในปีพ.ศ. 2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาชิกในบ้านกับเด็ก 0-5 ปี แม่มีกิจกรรมร่วมกับลูกในสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมาคือคนอื่น ๆในบ้าน น่าแปลกใจมากที่พ่อมีสัดส่วนต่ำสุดในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว  และร้อยละของสมาชิกในครัวเรือนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับเด็ก 0-5 ปี กิจกรรมที่ทำมากที่สุดคือ การเล่นร่วมกับเด็ก รองลงมาคือ การพาเด็กไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน ร้องเพลงร่วมกับเด็ก/ร้องเพลงกล่อมเด็ก  ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่นวาดรูป นับเลข  อ่านหนังสือ/ดูสมุดภาพกับเด็ก  และอันดับสุดท้ายคือเล่านิทานเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เด็กฟัง  เห็นได้ชัดนะคะว่าการอ่านหนังสือและการเล่านิทานจะอยู่ลำดับท้าย เลย

                มาในเรื่องการสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย ปีพ.ศ. 2551 

-มีการสำรวจจำนวนหนังสือสำหรับเด็กที่มีอยู่ในบ้าน กำหนดให้มีอย่างน้อย 3 เล่ม พบว่า เด็ก 0-5 ปี อาศัยอยู่ในบ้านที่มีหนังสือสำหรับเด็กร้อยละ 40.7  หากแบ่งสัดส่วนเป็นทั่วราชอาณาจักร กรุงเทพฯ จะมีสูงสุด ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลำดับสุดท้าย

- พบว่าเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ทั่วประเทศมีประมาณ 5.9 ล้านคน มีผู้อ่านหนังสือเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง(นอกเวลาเรียน) ประมาณ 2.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของเด็กเล็กทั้งหมด

- ในกลุ่มเด็กเล็กที่อ่านหนังสือหรือมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง อ่านหนังสือสัปดาห์ละ 2- 3 วัน มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 39.6 และใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 27 นาทีต่อวัน

หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย

        -เนื้อหาหนังสือที่แต่งโดยคนไทยจะมีแก่นเรื่องความมีน้ำใจมากที่สุด เมื่อพิจารณาในประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ก็มีประเด็นการสร้างความผูกพันธ์มากกว่าประเด็นอื่น ๆ  **ความมีน้ำใจและการสร้างความผูกพันธ์ฐานของสังคมอุปถัม? เรื่องนี้น่าคิดเนอะ

        -ลักษณะตัวละครส่วนมากจะเป็น “แม่” ปรากฎมากกว่า “พ่อ” สะท้อนบทบาทการเลี้ยงดูลูกถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่เพศหญิง อันนี้ปกติเนอะ

        -จากการวิเคราห์ประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” หนังสือที่แต่งโดยคนไทย ไม่มีการนำเสนอในประเด็น “ไม่ใช้ความรุนแรง”  อืม....หรือคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงปัญหาของการใช้ความรุนแรงกับเด็กอย่างแท้จริง  อาจจะเห็น .... แต่มองว่าเรื่องเล็ก ทั้งที่จริง ๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก

        -หนังสือของไทยส่งเสริมในเรื่องความสุภาพ แต่เป็นลักษณะด้านการใช้คำพูด เช่นการพูดมีหางเสียง ไปลามาไหว้อารมณ์นั้น

        -หนังสือภาพส่วนหนึ่งส่งเสริมให้ภูมิใจกับภูมิปัญญาไทย นำเสนอการละเล่นของไทย ขนมไทย วัสดุที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และชีวิตในท้องทุ่งแบบดั่งเดิมของไทย ส่งเสริมให้เด็กภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของความเป็นไทย  สังเกตุได้ว่าหนังสือภาพเปล่านี้ล้วนนำเสนอในรูปแบบร้อยกรองแทบทั้งสิ้น  แต่แปลกนะคะ เด็กไทยที่แม่ดาวเห็นส่วนมากก็ยังนิยมชาติอื่น ๆ ในโลกมากกว่าที่ไม่ใช่ชาติไทย เช่นเกาหลี อะไรแบบนี้เป็นต้น หรือเรายังปลูกฝัง ส่งเสริมกันน้อยเกินไป 

         ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่จะสร้างโอกาสให้เด็กได้รับเรื่องราวเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด  ขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์งานเขียน สำนักพิมพ์ว่าจะสร้างโอกาสให้เด็กได้รับเรื่องราวอย่างไร  เรื่องนี้น่าสนใจและน่าติดตามกันต่อจริง ๆ เนอะ จบไปกับช่วงเช้า 

        ช่วงพักแม่ดาวก็เดินเลือกซื้อหนังสือนิทานตามสัญญากับน้องดีโด้ว่าแม่จะซื้อนิทานมาฝาก  ตอนแรกก็ไม่ตั้งใจจะอุดหนุนมากมายขนาดนี้ แต่ด้วยความเห็นใจที่ทางสำนักพิมพ์ต่าง ๆ อุตส่าหอบหิ้วหนังสือมาวางขาย แต่ดูแล้วเห็นคนที่จะซื้อน้อยจริง ๆ และแม่ดาวเองเข้าใจความรู้สึกตรงนี้มากเคยทำงานอยู่สำนักพิมพ์และอยู่ฝ่ายจัดจำหน่ายมาก่อน  ไหนจะขนหนัก ขายไม่ดีกลับไปก็โดนเจ้านายว่าอีก ก็เลยร่วมด้วยช่วยกัน ซื้อเกือบทุกสำนักพิมพ์ที่เขามาวางขาย 

        กิจกรรมช่วงบ่ายก็เรื่อย ๆ แบบวังเวงมากมาย คนหายไปไหนกันหมด มองไปเห็นแต่เก้าอี้กับคนจัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหายไปเกือบจะหมด ช่วงบ่ายมีการแสดงความสามารถของเด็กน้อยคนนึงมาเล่านิทานเรื่อง “ปลาสายรุ้งและผีเสื้อโบยบิน” เก่งมากเลยค่ะ ต้องชื่นชมทั้งเด็กและผู้ปกครอง น้องกล้าแสดงออกแบบไม่ตื่นเวทีเลย  ต่อมาก็มีการร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “อ่านอย่างไรกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการลูกรัก” 

        ตอนแรกแม่ดาวคาดหวังกับกิจกรรมนี้มาก ว่าวันนี้จะต้องได้เทคนิคดี ในการเล่านิทานกลับไปประยุกต์ใช้กับลูก แต่ผลิกโผค่ะ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั่ว ๆ ไป เช่น หนังสือประเภทไหนที่ลูกชอบ  พฤติกรรมและผลที่เกิดกับลูกเมื่อเราอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ดำเนินกิจกรรมโดยคุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และทีมงาน  น่าเสียดายที่หัวข้อ “อ่านอย่างไรให้ลูกสนใจ” ไม่ค่อยได้รับการเน้นเท่าไหร่ ตัวแม่ดาวตั้งใจมากกับหัวข้อนี้  แต่ก็ได้รับประสบการณ์ดี ๆ มากมาย และได้รับเกียรติอย่างยิ่งให้เข้าร่วมเป็นคนต้นเรื่อง เป็น 1 ในคุณแม่ที่มีประสบการณ์อ่านหนังสือให้ลูกฟัง 

         เป็นอะไรที่ค่อนข้างกดดันเล็ก ๆ ค่ะ ที่เชิญมาทุกท่านดูจะเป็นประเภทครอบครัวนักอ่านกันทั้งนั้น ส่วนแม่ดาวเนี้ย แกะดำที่สุด ตัวเองก็ไม่มีนิสัยรักการอ่านสักเท่าไหร่ อุตส่าหน้าด้านไปเข้าร่วมกิจกรรมกับเขาได้ แต่ก็ประทับใจนะคะ ทุก ๆ ท่านล้วนเป็นกัลยาณมิตรกันทั้งนั้น บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง แต่แอบกดดันตัวเองเล็กน้อย ยิ่งได้พูดเป็นคนที่ 3 แถมคุณแม่คนก่อนหน้าแม่ดาวเนี้ยที่สุดของนักอ่าน และครอบครัวนักอ่าน แถมมาไกลจากต่างจังหวัดเลย มีความมุ่งมั่น ตั้งใจมากที่จะมาร่วมงานนี้  ยังดีที่แม่ดาวเป็นคนประเภท “ยอมรับ และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น” ขำ ๆ กันไปค่ะ ไม่คิดมาก ขากลับ กลับบ้านพร้อมขนมเค้กที่ทางทีมงานแจกมาอร่อยมากค่ะ ต้องขอบคุณมา ณ โอกาสนี้   เป็นอีก 1 วันที่เหนื่อย ๆ กายนะ แต่ไม่เหนื่อยใจเท่าไหร่  บวก ๆ เข้าไว้ ความรู้อยู่รอบ ๆ ตัวเราค่ะ  เพียงแต่เราจะมองเห็นและพร้อมที่จะเรียนรู้มันไหม    

หมายเลขบันทึก: 497803เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท