ชีวิตที่พอเพียง:๑๖๑๙ . บันทึกตามัว (๓) คำพิพากษา


          วันที่ ๑๐ ก.ค. ๕๕ วันที่ ๖ ของอาการตามัวที่คงเดิม ไม่ดีขึ้นหรือเลวลง ผมไปร่วมงาน ลปรร. R2Rครั้งที่ ๕ (รายละเอียดที่นี่) ที่ อิมแพ็คท์ ฟอรั่ม เมืองทองธานี มีความสุขที่ได้เห็นความก้าวหน้าในเชิงคุณภาพหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งาน R2R ที่เป็นการขยายเครือข่ายบริการออกไปนอกโรงพยาบาล หรือออกไปยังชุมชน และได้เห็นว่างานนี้มีเครือข่าย R2R ทั่วประเทศเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของมากยิ่งขึ้น ที่ผมเรียกว่า R2R ประเทศไทย

          บ่ายผมไปทำฟันที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ม. มหิดล กับหมอฟันประจำตัว คือ ผศ. ทญ. วิภาดา เลิศฤทธิ์ ที่กรุณาผมมากว่า ๑๐ ปีแล้ว คราวนี้นัด ๖ เดือน แต่ผมขอเลื่อนขึ้นมา ๑ สัปดาห์เพราะครอบฟันของรากฟันเทียมหลุด ผมได้ความรู้ว่าพอเอาครอบฟันออกเพียง ๓ วัน เหงือกมันงอกออกมาทันที ดังนั้นนอกจาก อ. หมอวิภาดา จะช่วยยึดครอบฟัน (๒ ซี่) กับรากฟันแล้ว ท่านต้องตัดเหงือกผมด้วย ทุกอย่างในร่างกายเขาทำหน้าที่ตามธรรมชาติของเขา

          ก่อนไปหาหมอฟัน ผมมีเวลาว่างนิดหน่อยจึงไปหา ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่บ้านของท่านที่ถนนเศรษฐศิริ เพราะทราบว่าท่านอยากพบ จึงทราบว่าท่านเตรียมทำหนังสือชุดฉลองครบรอบอายุ ๗๒ ปีของท่านในปีหน้า ปราชญ์ใหญ่ของประเทศจะสร้างคุณูปการด้านปัญญาให้แก่สังคมโดยเชิญคน ๑๐๐ คนมาร่วมกันเขียนบทความขนาดยาวตามความถนัด จัดพิมพ์เผยแพร่ขยายปัญญาของสังคมไทย ผมได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมขบวนด้วย แถมยังได้รับเลี้ยงชาเขียวชั้นหนึ่งจากประเทศจีนคิอชาจิ่งหลง ผมบอกตัวเองว่า ช่างเกิดมามีบุญเสียจริงๆ

          การฝึกฝนพักสายตา เพิ่มพลังประสาทหู ด้วยการฟังมากกว่าดู ยังดำเนินต่อไป วันนี้ทดลองใช้ YouTube มากหน่อย ได้พบว่าบริการ True Broadband ที่บ้านผม พอตกบ่าย เย็น และค่ำ ความเร็วมันลดลงมาก (คงเพราะคนใช้มาก) จนดู YouTube ได้แบบตะกุกตะกัก ไม่คล่องตลอดเหมือนดูวิดีโอ ผมนึกถึง “หนังขาด” สมัยดูหนังกลางแปลง หรือดูหนังโรงที่ชุมพรสมัยเป็นเด็ก วันนี้ค้นด้วยคำว่า TED Science ได้เรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง

          วันที่ ๑๑ ก.ค. ๕๕ ครบ ๑ สัปดาห์ของอาการตาขวามัว ผมพบเรื่องที่ผมชอบมากใน YouTube คือTEDxDU Ramona Pierson #1 – Learning to learn, TEDxDU Ramona Pierson #2 – Education goes digitalแล้วผมก็ไปตรวจตาตามนัด และได้รับคำพิพากษาให้เข้าโรงพยาบาล โดยจักษุแพทย์ ๓ คน คือ อ. หมอจุฑาไลอ. หมอจักรพงศ์ นะมาตรและ อ. หมอวิม (ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว) เพราะต้องการให้ผมนอนนิ่งๆ ไม่เดินไปเดินมา หรือไปทำงาน

          เมื่อผมไปถึงห้องตรวจตา ที่ชั้น ๑ ของตึกสยามินทร์ รพ. ศิริราช เวลา ๑๐ น. อ. หมอจุฑาไลก็มาถามอาการ ผมตอบว่าคงที่ แต่เมื่อไปวัดสายตา พบว่าเลวลง จึงต้องหยอดยาขยายม่านตาเพื่อตรวจด้วย slit lamp ระหว่างรอ ท่านโทรศัพท์ไปตาม อ. วิม ให้มาเป็นเพื่อน อ. วิมจึงแอบตรวจก่อน

          วันนี้ผมจึงได้ประสบการณ์การตรวจตาด้วย slit lamp 3 แบบ คือ อ. วิม ให้ผมนอนราบบนเตียง แล้วท่านตรวจด้วย slit lamp ที่ท่านถือ อ. หมอจุฑาไลตาม อ. หมอจักรพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจอตา (retina) มาช่วยตรวจและให้ความเห็นด้วย ท่านตรวจโดยให้ผมนั่ง ท่านตรวจด้วย slit lamp ที่คาดศีรษะของท่าน และในมือมีแว่นขยายช่วยส่องด้วย คนตรวจคนสุดท้าย คือ อ. หมอจุฑาไล ตรวจแบบนั่งทั้งคนไข้และหมอ แบบเดียวกับที่ตรวจเมื่อวันที่ ๖ ก.ค. ซึ่งวันนั้นผมได้รับการตรวจโดยหมอ ๓ คนเหมือนกัน แต่ตรวจแบบนั่งเหมือนกันหมด

          วันนี้หมอทั้งสามคนลงมติพ้องกันว่าเลือดในวุ้นตาผมยังมีร่องรอยเลือดออกใหม่ ส่วนของเก่าก็จางลง ทำให้มองเห็นจอตาได้ อ. หมอจักรพงศ์กระซิบบอก อ. วิม ให้จองห้องพิเศษจับผมนอนโรงพยาบาลเลย เพื่อ absolute bed rest และก็ได้ห้องทันที ผมรีบเจรจาต่อรองขอไปนอนพักที่บ้าน โดยคราวนี้จะพักจริงๆ งดงานหมด ยกเว้นไปพูดที่งาน R2R เช้าวันที่ ๑๒ คือพรุ่งนี้เป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง หมอทั้งสามท่านยอม คงจะด้วยความเกรงใจและนัดไปตรวจดูความคืบหน้าเช้าวันจันทร์ที่ ๑๖

          ระหว่างนั่งรถกลับบ้าน ผมโทรศัพท์ไปรายงานสาวน้อย พอพูดถึงคำว่าหมอจับอยู่โรงพยาบาล เธอบอกว่าเห็นด้วย ผมบอกว่าตอนนี้กำลังนั่งรถกลับบ้าน เพราะต่อรองกับหมอได้ เธอกลับไม่เห็นด้วย เธอต้องการให้ผมนอนโรงพยาบาล จะได้พักจริงๆ

          ตกลงผมกลับมานอนบ้าน โดยขัดใจหมอถึง ๔ คน ผมจึงต้องทำตัวเป็นคนไข้ที่ดีตามหมอแนะนำให้ได้ คือไม่เดิน นอนนิ่งๆ ศีรษะสูง แต่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ โดยผมพยายามใช้ตาให้น้อยที่สุดได้ตะลุยเลือกฟังเรื่อง TED ใน YouTube ได้ความรู้มากมาย ที่หากไม่ถูกจองจำให้พัก ผมจะไม่มีโอกาสนี้เลย

          ผมค้นใน iPod 80GB พบคำบรรยายธรรมของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต) ในโอกาสนำพุทธศาสนิกไทยไปเยือนอินเดีย เรียกว่าปาฐกถาธรรมชุดจาริกบุญ จาริกธรรม ซึ่งผมคงจะเอาใส่ไว้เมื่อประมาณ ๖ ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้ฟังจริงจัง คราวนี้ต้องการเครื่องช่วยให้นอนนิ่งๆ ได้ และได้ปัญญาที่เชื่อมโยงยิ่ง

 

          วันที่ ๑๒ ก.ค. ๕๕ วันที่ ๘ ของอาการตามัว พอล้างหน้า รู้สึกว่าเมื่อโดนตาขวาปวดเล็กน้อย และบางขณะรู้สึกปวดตาขวาเล็กน้อย เกิดขึ้นครู่เดียวก็หายไป ไม่ได้ปวดตลอดเวลา และไม่ปวดมากมายจนเดือดร้อน

          รถของ สวรส. มารับไปบรรยายเรื่อง R2R Is Learning in The 21st Century ในงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานประจำสู่งานวิจัย ครั้งที่ ๕ แล้วส่งกลับบ้าน ระหว่างที่ยังไม่เริ่มประชุมผมมีโอกาสซัก อ. วิม เกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางตาของผม ก็สรุปได้ชัดว่า เรื่องนี้ยาวแน่ๆ และวิธีรักษาที่ดีที่สุดคือนอนพักอย่างถูกต้อง ผมจึงจัดการเลิกนัดทั้งหมดไปจนถึงวันที่ ๑ ส.ค. ๕๕ เพื่อ absolute bed rest จริงๆ

          ผมลองค้นใน Google ด้วยคำต้น “ปาฐกถาธรรม พระธรรมปิฎก ประยุทธ ปยุตโต” ได้หลายเว็บไซต์ที่มีเสียงปาฐกถาธรรม หรือธรรมบรรยายมากมาย ผมเลือกเข้าเว็บไซต์ของวัดญาณเวศกวัน และเข้าไปค้นธรรมบรรยาย ที่นี่ ได้ฟังเรื่องธรรมะกับการศึกษา ที่นี่ อย่างอิ่มเอมปัญญา

         ผมค้นพบปาฐกถาธรรมของท่านพุทธทาส เรื่อง การมีชีวิตด้วยจิตว่าง ใน YouTube ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 497702เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ท่านอาจารย์วิจารณ์ ด้วยความเคารพรักยิ่ง อาจารย์ขา อ่านบทความแล้ว ได้รับประโยชน์มากมาย แต่รู้สึกเป็นห่วงอาจารย์มากกว่า ขอให้กำลังใจค่ะ ขอให้อาจารย์พักผ่อนมากๆๆตามที่หมอบอก เพราะคิดว่าสังคมยังต้องการคนดีๆๆ ผู้ทรงคุณค่ายิ่ง เฉกเช่นอาจารย์อยู่คู่แผ่นดินไปนานๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท