ถอดบทเรียน นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โมเดลจิระศาสตร์ (JIRASART Teaching's Model)


จาก JIRASART Teaching Model สู่การปฏิรูปการเรียนรู้

1.กรอบความคิด หรือสาระของบทเรียนในภาพรวม

              เนื่องจากโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา มีปรัชญาโรงเรียน ความว่า “ฉลาดและมีคุณธรรม” กล่าวคือ นักเรียนทุกคนที่ได้รับการศึกษาจากสถานศึกษาแห่งนี้จะต้องมีความรู้ความสามารถ มีความเฉลียวฉลาดและต้อง
มีคุณธรรมประจำใจ โดยเฉพาะความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน เป็นต้น

              การพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพความพร้อมทั้งด้านความรู้คู่คุณธรรมอย่างสมดุลนั้น ผู้สอนอาจจะต้องใช้กลยุทธ์ หรือ กระบวนการ ตลอดจน “เทคนิควิธีการ” ต่างๆมากมายสอดแทรกบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้   ดังนั้นคณะครูผู้สอนจึงได้ร่วมกันคิดและพัฒนาโมเดลการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ (JIRASART Teaching’s Model)ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 ที่มุ่งเน้นจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็น “คนดี มีปัญญา และมีความสุข”

 

2.วัตถุประสงค์หรือสาเหตุ หรือแรงบันดาลใจ

              ในปี พ.ศ. 2542 เป็นช่วงเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในช่วงนั้นคณะครูได้ร่วมกันระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนของเรา “เป็นคนดี มีปัญญาและมีความสุข” สนุกสนานกับการเรียนรู้ จึงเกิดแนวความคิดว่าโรงเรียนของเราน่าจะมี “รูปแบบการสอนของตนเอง” ปรากฏว่าได้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน ชื่อว่า “โมเดลจิระศาสตร์ JIRASART Teaching’s Model”

3.ขั้นตอนการทำงานหรือการพัฒนางาน

              ในการออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์นั้น  คณะครูผู้สอนได้นำพยัญชนะต้นของ    คำว่า JIRASART มากำหนดเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้ คือ      J มาจากคำว่า Joyful to Learning หมายถึง การทำให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข  I มาจากคำว่า Integrating Knowledge หมายถึง การบูรณาการความรู้  R มาจากคำว่า Reflecting Observation หมายถึง การสะท้อนความรู้สึกนึกคิด  A  มาจาก  คำว่า Acting experimentation หมายถึง การลงมือปฏิบัติ/ทดลอง  S  มาจากคำว่า Satisfaction หมายถึง การสร้างความภาคภูมิใจในผลงาน  A มาจากคำว่า Achievement หมายถึง การดำเนินงานสู่ความสำเร็จ R มาจากคำว่า Research & Development หมายถึง การวิจัยและพัฒนา T มาจากคำว่า Teamwork หมายถึง การทำงานเป็นทีม

 

4.วิธีการนำสู่การปฏิบัติ

              หลังจากนั้นครูผู้สอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้มาประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำแผนการจัดกิจกรรม
การเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย 8 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นการให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข (Joyful to learning) โดยการใช้เกม เพลง หรือกิจกรรมประกอบบทเรียนทำให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น สนใจในการเรียนและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 2) ขั้นการบูรณาการความรู้ (Integrating Knowledge) โดยการทบทวนความรู้เดิมและเสริมความรู้ใหม่ให้แก่นักเรียน 3) ขั้นการสะท้อนความรู้และความคิด (Reflecting Observation) โดยการพูดหรือเขียนซึ่งสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออกของนักเรียน 4) ขั้นการลงมือปฏิบัติ/ทดลอง (Acting Experimentation) โดยการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ/ทดลองของนักเรียนทั้งในห้องเรียนและแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน 5) ขั้นการสร้างความภาคภูมิใจในผลงาน (Satisfaction) โดยให้นักเรียนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และชื่นชมผลงานซึ่งกันและกัน 6) ขั้นการดำเนินงานสู่ความสำเร็จ (Achievement) โดยให้นักเรียนได้ขยายผลและต่อยอดองค์ความรู้นำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จที่วางไว้ 7) ขั้นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) โดยการทบทวนผลงาน ผลการศึกษาค้นคว้าว่ามีปัญหาข้อควรแก้ไขอะไรบ้างและหาแนวทางปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น 8) ขั้นการทำงานเป็นทีม (Teamwork) โดยการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันในด้านการเรียนและการทำงานร่วมกัน 

              ในระยะเริ่มแรกครูผู้สอนมีความรู้สึกกังวลในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์พอสมควรเนื่องจากยังไม่คุ้นเคยและยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ต่อมาฝ่ายวิชาการได้ทดลองทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะการบูรณาการพร้อมทั้งสาธิตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดูเป็นตัวอย่างและให้ครูผู้สอนนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม จากการติดตามนิเทศภายในพบว่าครูผู้สอนมีความพึงพอใจค่อนข้างมาก

 

5.การประเมินผลบทเรียน

              จากการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ พบว่าครูผู้สอนได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง รู้จักยอมรับชื่นชมผลงานของเพื่อนๆ รู้จักปรับปรุงแก้ไขพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม  ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาที่ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน

 

6.การขยายผลบทเรียน

              ทุกๆภาคเรียนฝ่ายวิชาการได้จัดกิจกรรมการแสดงศักยภาพของครูและนักเรียน (Teachers & Students Show)   เป็นการเปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนร่วมกันจัดนิทรรศการแสดงผลงาน จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูผู้สอนในแต่ละระดับชั้นและในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมทั้งมีการนำเสนอผลงานการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ ทั้งยังได้ขยายผลบทเรียนไปยังโรงเรียนเครือข่ายที่มาศึกษา-ดูงาน และโรงเรียนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมตลาดนัดความรู้  จำนวน 20 โรงเรียน ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ในระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2554

              นอกจากนั้นโรงเรียนยังได้ขยายผลบทเรียนในลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมครูแต่ละสายชั้น เช่น สายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ประชุมทุกวันจันทร์ เวลา 16.30-17.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารอำนวยการ

โดยมีหัวหน้าสายชั้นเป็นผู้ดำเนินรายการ คณะครูทุกคนในสายชั้นร่วมกันระดมความคิดและเสนอแบบปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) พร้อมทั้งมีการจดบันทึกสรุปสาระสำคัญเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป

 

7.การทำให้เป็นแบบปฏิบัติในการทำงาน

              เนื่องจากโรงเรียนได้นำแนวทางการจัดการความรู้ (Knowledge Management) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการในโรงเรียน ดังนั้นจึงได้พยายามสร้างแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ เป็นการกระตุ้นเตือนทั้งระบบที่จะทำอย่างไรให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ใฝ่พัฒนา มองหาโอกาสในการที่จะพัฒนาตนเอง ปรับปรุงงานอยู่ตลอดเวลา โดยจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มสัมพันธ์เอื้ออาทร STAR (Small Team Activity Relationship) ร่วมกันคิด ร่วมปฏิบัติ ร่วมแก้ปัญหา และ
ร่วมพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

              การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความสำเร็จ เป็นแนวทางหนึ่งที่โรงเรียนได้จัดขึ้นเป็นประจำเพื่อเป็นการสกัดความรู้จากการปฏิบัติให้เป็นความรู้ที่แจ้งชัด นำเสนอเป็นบทความตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารจิระศาสตร์สัมพันธ์
ซึ่งออกเป็นประจำทุกภาคเรียน ทั้งยังได้จัดพิมพ์เป็นเอกสาร คู่มือ เพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องใช้ศึกษา อ้างอิงด้วย

              การเสริมแรงเป็นการส่งเสริมผู้ที่ทำงานประสบผลสำเร็จด้วยการให้รางวัล ให้การยอมรับและชื่นชมยินดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนพยายามส่งเสริมให้คณะครูและบุคลากรทำงานร่วมกันเป็นทีม ดังนั้นการพิจารณาความดีความชอบ เช่น การให้รางวัลในการไปศึกษาดูงานต่างประเทศมักจะไปเป็นทีม

              ดังนั้นการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์จึงสามารถทำให้เป็นแบบปฏิบัติในการทำงานได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยการสร้างแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความสำเร็จ และการเสริมแรงด้วยวิธีการที่หลากหลาย ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

8.ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

              การที่โรงเรียนประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจและภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนและฝ่ายวิชาการในการประสานความร่วมมือ การสร้างแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความสำเร็จ และการเสริมแรงคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

              นอกจากนี้โรงเรียนยังได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครองและครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

 

9.การทบทวนประสบการณ์

              ในการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ ถ้ามีโอกาสย้อนกลับไปพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบททางการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นต้น      ดังนั้นควรจะมีการพิจารณากำหนดขอบข่ายของคำว่าJIRASART ให้ครอบคลุม และชัดเจนมากขึ้น  ทั้งนี้คงต้องระดมความคิดนำเสนอแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยความร่วมมือจากครูทุกคนและผู้เกี่ยวข้องทุกๆฝ่าย

              อย่างไรก็ตามฝ่ายวิชาการได้เปิดโอกาสให้คณะครูผู้สอนได้มีการประยุกต์ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับเหตุผลความต้องการจำเป็นหรือข้อจำกัดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูและนักเรียน  โดยคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

10.ข้อเสนอแนะในการนำบทเรียนไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดบทเรียน

              เพื่อให้การนำบทเรียนนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์หรือเป็นการต่อยอดบทเรียน มีข้อเสนอแนะดังนี้ คือ 1) ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้ความสำคัญต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยนำนวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้โมเดลจิระศาสตร์ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา  2) ครูผู้สอนควรพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบและควรมีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน “เป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข” 3) ครูและผู้ปกครองควรร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้สอดคล้องกับโมเดลจิระศาสตร์ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

หมายเลขบันทึก: 497374เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาอ่านจิระศาสตร์โมเดล มีประโยชน์มากๆ

อาจารย์หายไปนานมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท